• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผึ้ง (ตอนที่ 1)

ผึ้งเป็นสัตว์สังคมที่อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ มีความสามัคคีกัน และแบ่งงานกันทำตามหน้าที่ มีความขยันหมั่นเพียร ซื่อตรงต่อหน้าที่ ผึ้งเป็นสถาปนิก อุตสาหการ และเภสัชกรชั้นเลิศ เราแบ่งผึ้งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกันคือ
1. นางพญาผึ้ง (Queen) มีหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือ วางไข่และมีเพียงตัวเดียวในรังหนึ่งๆ ถ้ามีหลายตัวก็จะต่อสู้กันเองจนเหลือตัวเดียวหรือแยกไปสร้างรังใหม่ นางพญาผึ้งเป็นศูนย์รวมของผึ้งทั้งหมดในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นหมู่คณะ ถ้าขาดนางพญาผึ้งเพียงไม่กี่สิบนาที ก็จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในหมู่ผึ้ง การทำงานต่างๆก็จะวุ่นวาย และยุ่งเหยิง

ถ้าไม่มีนางพญาผึ้งเพียง 20 วัน ผึ้งงานทั้งหลายก็จะกินเยลลี่ผึ้งและวางไข่ หลังจากนั้นก็จะเกิดเป็นผึ้งตัวผู้น้อยๆ จำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเจอกับวิกฤตการณ์ขึ้น

ปรากฏการณ์ที่นางพญาผึ้งส่งสัญญาณเพื่อควบคุมผึ้งงานทั้งหลายนั้น เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมของ “สารนางพญาผึ้ง” (เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหนึ่ง) ซึ่งมีอยู่ในนางพญาผึ้ง ถ้านางพญาผึ้งหายไปเพียง 1 นาที ผึ้งงานก็จะรู้สึกทันที แม้นางพญาผึ้งจะมีหน้าที่วางไข่ แต่จะวางเมื่อไร เพศอะไร จำนวนเท่าไร วางไว้ที่ไหน เหล่านี้ถูกกำหนดโดยการเลี้ยงดูของผึ้งงานทั้งสิ้น

ตลอดชีวิตของนางพญาผึ้งจะทำการผสมพันธุ์กับผึ้งตัวผู้เพียงตัวเดียว หรือหลายตัว แต่จะเป็นเวลาเพียงวันเดียวเท่านั้น การผสมพันธุ์จะใช้วิธี วิวาห์เหาะ หลังจากนางพญาผึ้งเกิดประมาณ 1 สัปดาห์

ในวันที่อากาศดีนางพญาผึ้งก็จะบินขึ้นไปในท้องฟ้า ขณะเดียวกันก็จะปล่อยกลิ่นชนิดหนึ่งออกมา บรรดาผึ้งตัวผู้ทั้งหลายเมื่อได้กลิ่นหอมนี้ก็จะบินไล่ตามขึ้นไป ผึ้งตัวผู้ที่แข็งแรงกว่าก็จะไล่ตามไปทันและผสมพันธุ์ก่อน ในการผสมพันธุ์ อวัยวะเพศของผึ้งตัวผู้ก็จะหลุดติดไปกับตัวเมีย หลังจากผสมพันธุ์เสร็จแล้ว นางพญาผึ้งก็จะบินกลับรัง ผึ้งงานก็จะช่วยกันดึงอวัยวะเพศของผึ้งตัวผู้ที่ฝังอยู่ที่นางพญาผึ้งออก ผึ้งตัวผู้ก็จะไม่คืนรังอีก มันได้ตายไปหลังจากผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้ง

สำหรับนางพญาผึ้ง ตลอดชีวิตของมันจะบินเพียงครั้งเดียว หลังจากผสมพันธุ์แล้ว มันก็จะทำหน้าที่วางไข่ บุคลิกภาพที่เคยกระฉับกระเฉงว่องไวก็จะเฉื่อยลง ทั้งนี้เพราะมันเริ่มเป็นแม่แล้ว

หลังจากผสมพันธุ์ไปแล้ว 3 วัน นางพญาผึ้งก็จะเริ่มวางไข่ ไข่มี 2 ชนิดคือ
ชนิดแรกเป็นไข่ที่ยังไม่ผสมกับน้ำเชื้อ จะเก็บไว้ในรวงผึ้งที่มีห้องใหญ่ ตัวอ่อนเหล่านี้จะค่อยๆเติบโตเป็นผึ้งตัวผู้
ชนิดที่สองคือ ไข่ที่ผสมกับน้ำเชื้อแล้ว ไข่ประเภทนี้จะถูกผสมกับน้ำเชื้อแล้วเก็บไว้ในรวงผึ้งสำหรับผึ้งงานโดยเฉพาะ หลังจากนั้นก็จะฟักเป็นผึ้งงาน แต่ถ้าไข่ที่ผสมกับน้ำเชื้อนี้ถูกเก็บไว้ในรวงนางพญาผึ้งก็จะกลายเป็น นางพญาผึ้งต่อไป

นางพญาผึ้งตัวหนึ่งในวันหนึ่งจะวางไข่ 1,500-2,000 ใบ โดยเฉลี่ย 1 นาที/ใบ มีผู้คำนวณไว้ว่าชั่วชีวิตหนึ่งผึ้งจะวางไข่ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านใบ

2. ผึ้งงาน (Worker) ซึ่งเป็นผึ้งตัวเมียล้วนๆ ตัวยาวประมาณ 13 ม.ม. นางพญาผึ้งจะยาวกว่าประมาณ 1 เท่าตัว ผึ้งงานหนักเพียง 100 ม.ก. ส่วนนางพญาผึ้งจะหนักกว่า 3 เท่า สำหรับอายุของผึ้งนั้น ในฤดูที่ต้องทำงานหนัก ผึ้งงานจะมีอายุไม่ถึง 45 วัน ที่มีอายุมากก็ 2-3 เดือน แต่นางพญาผึ้งจะมีอายุ 4-5 ปี

แม้ผึ้งงานจะวางไข่ไม่ได้ แต่การเลี้ยงดูผึ้งอ่อนล้วนเป็นหน้าที่ของผึ้งงานทั้งสิ้น
ผึ้งงานจะบินออกจากรวงรังด้วยความขยันหมั่นเพียร ไปยังเรือกสวนไร่นาที่มีดอกไม้ แล้วดูดน้ำหวานจากดอกไม้ และเกสรดอกไม้ที่ติดขาและตัวของมัน ซึ่งมีน้ำหนักประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัวมัน แล้วบินกลับรัง

เมื่อผึ้งตัวใดพบแหล่งน้ำหวานแห่งใหม่เข้ามันก็จะบินกลับมายังรัง แล้วบินวนไปรอบๆ คล้ายกับเป็นสัญญาณบอกบรรดาผึ้งทั้งหลายให้รู้ แล้วบรรดาผึ้งทั้งหลายก็จะบินตามกันไป

ในช่วงที่ดอกไม้ต่างๆบานสะพรั่ง ผึ้ง 6 หมื่นตัวจะสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 1.2 กิโลกรัม จะต้องบินไปดูดน้ำหวานประมาณ 5 ล้านกว่าครั้ง เฉลี่ยแล้วผึ้งตัวหนึ่งจะต้องบินไปออกจากรัง 100 กว่าครั้ง นับว่าเป็นการออกไปทำงานอย่างขันแข็ง และหนักเอาการเลยทีเดียว

3. ผึ้งตัวผู้ (Drone) ซึ่งในภาษาอังกฤษมีความหมายว่า ขี้เกียจหรือกาฝาก มีผึ้งตัวผู้จำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ผสมกับนางพญาผึ้ง ดังนั้นในสถานการณ์ที่เสบียงมีน้อย ผึ้งตัวผู้ก็จะถูกอัปเปหิออกจากรัง

ผึ้งตัวผู้ก็จะออกจากรังไปโดยไม่มีการต่อกรใดๆ ทั้งนี้เพราะผึ้งตัวผู้ไม่มีเหล็กใน และไม่มีกำลังที่จะต่อสู้ และหลังออกจากรังแล้วมันก็ตายไปเนื่องจากไม่มีอาหารกินหรือหนาวตาย
 

ข้อมูลสื่อ

108-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 108
เมษายน 2531
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล