• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทศวรรษใหม่ของการถ่ายภาพหลอดเลือด

ทศวรรษใหม่ของการถ่ายภาพหลอดเลือด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระบบถ่ายภาพเรโซแนนแบบแม่เหล็ก ไม่ต้องฉีดสารละลายไอโอดีนเข้าสู่กระแสเลือด สามารถแยกแยะว่าส่วนใดคือหลอดเลือด ขณะที่เลือดกำลังไหล

**********************************************************************************************

ที่ผ่านมาการถ่ายภาพของระบบไหลเวียนโลหิต ใช้วิธีใส่ท่อเล็กๆสอดเข้าไปในหลอดเลือดแล้วแล้วฉีดสารละลายไอโอดีนเข้าไป ไอโอดีนที่อยู่ในหลอดเลือด จะดูดกลืนแสงเอกซเรย์ที่ฉายเข้ามา ทำให้ปรากฏภาพถ่ายของหลอดเลือดได้
ฟิล์มเอกซเรย์ที่ถ่ายได้จากวิธีดังกล่าวเรียกว่า “แองจิโอแกรม” (angiogram) มีประโยชน์มากในการวินิจฉัยผู้ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดต่างๆ เช่น โรคอะเทอโรสเคลอโรซิส (atherosclerosis) โรคที่เกิดจากผนังหลอดเลือดมีชั้นไขมันมาสะสม ทำให้ผนังหนาแข็ง ในที่สุดหลอดเลือดก็จะอุดตัน อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวมีข้อเสียอยู่ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ต้องถ่ายภาพของหลอดเลือดแดงของหัวใจ เพราะอาจทำให้หัวใจเต้นแรงผิดจังหวะ เลือดออก และยังเกิดปฏิกิริยาเป็นพิษอื่นๆได้อีก
เมื่อไม่นานมานี้ที่อเมริการได้พัฒนาวิธีการถ่ายภาพหลอดเลือดแบบใหม่ขึ้นมา 2 วิธี เพื่อลดหรือขจัดข้อเสียที่เกิดจากการถ่ายภาพเอกซเรย์แองจิโอแกรมแบบเก่า

วิธีแรกพัฒนาโดยคณาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ถ่ายภาพโดยการฉีดสารละลายไอโอดีนเข้าไปในเส้นเลือดดำ แล้วฉายเอกซเรย์ไป 2 ครั้ง ทิ้งช่วงห่างกันเศษหนึ่งส่วนพันของวินาที โดยให้พลังงานของเอกซเรย์ที่ฉายครั้งแรกมีค่ามากกว่า และพลังงานของเอกซเรย์ที่ฉายครั้งหลังมีค่าน้อยกว่าค่าพลังงานสูงสุดที่ไอโอดีนสามารถดูดกลืนได้ ความเข้มของเอกซเรย์แต่ละครั้งที่ฉายไปที่ผู้ป่วยจะถูกบันทึกด้วยเครื่องบันทึกดิจิตอล เสร็จแล้วเครื่องนี้จะนำค่าความเข้มทั้งสองครั้งมาหักลบกัน วิธีนี้ทำให้สามารถลบหรือขจัดภาพของอวัยวะที่ไม่ใช่หลอดเลือดออกไปได้ หลังจากนั้นเครื่องจะสร้างภาพของหลอดเลือดออกมา วิธีนี้มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องสวน ใส่ท่อพิเศษเข้าไปในหลอดเลือดที่ต้องการตรวจเพื่อฉีดน้ำยาอย่างในอดีต เพียงแต่ฉีดไอโอดีนที่มีความเข้มข้นต่ำมากเข้าไปทางเส้นเลือดดำเหมือนการฉีดยาเข้าเส้นเลือดโดยทั่วไป

วิธีที่สองพัฒนาโดยนายแพทย์วีเดนและเพื่อนแห่งโรงพยาบาลกลางแม็สซาซูเซตทำได้โดยการใช้ระบบถ่ายภาพเรโซแนนก์ แบบแม่เหล็ก (magnetic-resonance imaging system) ที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปในอเมริกา วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่ต้องฉีดสารละลายไอโอดีนเข้าไปเลย
หลักการของวิธีนี้อยู่ที่เมื่อนิวเคลียสของอะตอมไฮโดรเจนปะทะคลื่นวิทยุ ขณะที่อยู่ภายใต้สนามแม่เหล็กกำลังสูง นิวเคลียสเหล่านี้จะส่งสัญญาณที่เรียกว่า สัญญาณเสียงสะท้อนแบบแม่เหล็ก โดยที่ช่วงกว้าง ความถี่ และวัตภาคของคลื่นสัญญาณนี้จะขึ้นกับการเคลื่อนที่ของวัตถุที่ปล่อยนิวเคลียสนี้ออกมา ดังนั้นระบบนี้จึงสามารถแยกแยะว่าส่วนใดคือหลอดเลือดขณะที่เลือดกำลังไหลผ่านอยู่
วิธีหลังนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในอเมริกา เพราะทำได้สะดวกสบาย และไม่ต้องกังวลกับผลเสียอันเนื่องมาจากไอโอดีนอีกด้วย (เพราะไม่ต้องฉีดสารไอโอดีนเข้าสู่ร่างกายเรา)


จาก “Viewing Vessels” Scientific American, June 1986.

 

ข้อมูลสื่อ

88-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 88
สิงหาคม 2529