การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกระดูกสันหลังหัก
เหตุเกิดหลายปีมาแล้ว แต่ยังเกิดซ้ำขึ้นได้อีกเสมอ มีทหารอากาศหนุ่มแน่นทั้งนั้น อายุไม่เกิน 22-23 ปี
3-4 คน ช่วยกันโค่นต้นไม้ใกล้สนามบินเชียงใหม่ บังเอิญต้นไม้ล้มลงมาทับกลางหลังทหารหนุ่มคนหนึ่งเข้าล้มลงเพื่อนๆ ช่วยกันยกต้นไม้ออกไป ทหารหนุ่มพยายามจะยันกายลุกขึ้นยืน แต่เจ็บหลังมาก ลุกไม่ไหว เพื่อนจึงอุ้มผู้ป่วย (ดูรูปที่ 1) ขึ้นรถมาโรงพยาบาล
เมื่อถึงโรงพยาบาล คนหามเปลก็เข็นเปลลงไปรับถึงรถ ผู้ป่วยพยายามจะขยับตัวเลื่อนลงมาบนเปล แต่ทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะขาทั้งสองข้างไม่มีแรง เมื่อช่วยกันหามมาลงเปล เข็นมาให้หมอตรวจ หมอบอกว่าเขาเป็นอัมพาตครึ่งตัว เนื่องจากกระดูกสันหลังหัก และไปกดประสาทไขสันหลัง
ผมจำได้ว่าชายผู้นี้ต้องพบกับชะตากรรมลำบากเหมือนกับคนที่เป็นอัมพาตทั้งหลายไป จนกระทั่งผมย้ายมากรุงเทพฯ โอกาสที่จะฟื้นคืนดีขึ้นมาได้มีน้อยมาก
เหตุการณ์แบบนี้ป้องกันได้เพราะเมื่อโดนต้นไม้ทับใหม่ๆ ขายังขยับได้เพียงแต่เจ็บหลัง
ไม้ที่ทับมาจากข้างหลัง อาจทำให้กระดูกสันหลังหัก แต่น้อยรายที่จะทำให้เกิดอัมพาตทันที เพราะกระดูกสันหลังจะไม่เลื่อนไปกดประสาทไขสันหลังในท่าหลังแอ่น (ดูรูปที่ 2) แต่พอคนไข้พลิกตัวหรือขยับเขยื้อนกระดูกสันหลัง ซึ่งหัก จะรวนและไปกดประสาทไขสันหลังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถูกอุ้มแบบช้อนคอ ข้อพับ จะทำให้หลังงอ (ดูรูปที่ 1) ซึ่งเป็นท่าอุ้มที่คนนิยมทำกัน เพราะทำได้ง่าย กระดูกสันหลังจะเลื่อนไปกดประสาทไขสันหลัง ทำให้เกิดอัมพาตได้ (ดูรูปที่ 3)
ถ้าสงสัยว่า จะมีกระดูกสันหลังหัก เช่น ผู้ได้รับบาดเจ็บบอกว่าเจ็บหลัง การขนย้ายต้องทำด้วยความระมัดระวัง ให้มีการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังน้อยที่สุด เช่น ไม่ให้ผู้ป่วยขยับเขยื้อนตัวหรือบิดตัว อันจะทำให้ ข้อกระดูกสันหลังที่หักขยับเขยื้อนได้ ไม่หามหัวหามท้าย (ดูรูปที่ 4) เพราะจะทำให้หลังงอและกระดูกข้อที่จะหักเคลื่อนไปกดประสาทไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตได้ ในคนที่ไม่สามารถบอกกับเราได้ว่าเจ็บหลังเช่นผู้ป่วยที่มึนเมาหรือสลบเนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง
แม้ในคนที่มีอาการของไขสันหลังถูกกด ทันทีที่ได้รับบาดเจ็บ ก็ต้องเคลื่อนย้ายด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เห็นว่าไหนๆ ก็เป็นอัมพาตไปแล้ว ถึงระวังอย่างไรต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อีก เหมือนแก้วที่แตกไปแล้ว แม้ประคับประคองอย่างไรก็ไม่ดีขึ้นมาได้ ไม่เหมือนกันครับ ในคนที่ได้รับบาดเจ็บและขาชาหรือไม่มีแรงจะเป็นชนิดอ่อนแรงหรือหมดแรงก็ตามอาจเกิดการกระแทกที่ไม่ได้ทำให้มีการฉีกขาดของไขสันหลังได้ ถ้าระมัดระวังในการเคลื่อนย้าย ไม่ให้กระแทกซ้ำเข้าไปอีก ผู้ป่วยจะฟื้นจากอาการอัมพาตได้ ภายในเวลาที่ไม่ช้านัก นั่นก็คือ ในผู้ป่วยที่มีบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังทุกคน ไม่ว่าจะมีอัมพาตหรือยังไม่มีก็ตาม ต้องเคลื่อนย้ายด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ข้อกระดูกสันหลังเคลื่อนที่โดยไม่จำเป็นอีกต่อไป จนกว่าจะหาย หรือได้รับการรักษาเรียบร้อยดีแล้ว
การเคลื่อนย้าย
1. กรณีที่ผู้ป่วยติดอยู่ในรถ ในซากปรักหักพัง การเอาผู้ป่วยออกมาจากที่แคบๆ ควรใช้การลาก ลากทางหัว ดีกว่าลากทางเท้า แต่ถ้าลากออกทางหัวไม่ได้ ลากออกทางเท้าก็ได้ (ดูรูปที่ 5) การลากควรใช้ผ้าขาวม้าคล้องแขนใต้รักแร้ แล้วดึงออกมาตรงๆ (ดูรูปที่ 6) จนพ้นเครื่องกีดขวาง
2. เมื่อออกมาแล้ว เอาแผ่นกระดานมาเทียบข้างตัวผู้ป่วย จับผู้ป่วยพลิกตะแคง โดยพลิกไหล่และตะโพกไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้กระดูกสันหลังอยู่กับที่ (ดูรูปที่ 7) สอดแผ่นกระดานให้ชิดตัวผู้ป่วย แล้วปล่อยให้ผู้ป่วยกลับนอนลงบนแผ่นกระดานนั้น (ดูรูปที่ 8) ใช้ผ้าขาวม้าผูกตัวผู้ป่วยกับแผ่นกระดาน กันผู้ป่วยร่วงลงมาขณะหาม (ดูรูปที่ 9) แล้วจึงหามผู้ป่วยไปขึ้นรถ การเอาลงจากรถก็ทำได้ในทำนองเดียวกัน แผ่นกระดานนี้มีผู้คิดทำเป็นพิเศษ ซึ่งใช้สะดวกและไม่ยาก วัสดุและค่าทำก็ถูก เหมาะสำหรับรถพยาบาล ทำด้วยไม้อัดขนาด 10 มิลลิเมตร มีรูเจาะเพื่อใส่เข็มขัดรัดตัวสะดวกกว่าใช้ผ้าขาวม้ารัด และมีช่องสำหรับใส่มือหามผู้ป่วย ซึ่งถนัดกว่าไม้กระดานธรรมดา (ดูรูปที่ 10)
3. ในกรณีที่หาไม้กระดานไม่ได้ แต่มีคนช่วยกันหลายคน ดังในกรณีของทหารโค่นต้นไม้ ตามตัวอย่างที่เล่ามาให้ฟังข้างต้น อาจช่วยกันหามหลายๆ คน ซึ่งทำได้หลายวิธี (ดูรูปที่ 11)
ในกรณีที่กระดูก (สันหลัง) ส่วนต้นคอหัก อันตรายมากกว่ากระดูกสันหลังส่วนอื่นหักมากเพราะถ้าเป็นอัมพาตจะเป็นทั้งแขนขา และลำตัวด้วย การหายใจทำได้แค่กระบังลมและมักจะเสียชีวิต ดังนั้น ถ้าได้รับบาดเจ็บและรู้สึกเจ็บต้นคอ อย่าเคลื่อนไหว โดนเฉพาะถ้าแขนขาเคลื่อนไหวได้นับว่าโชคดีมากแล้ว แม้ว่าจะรู้สึกชา อ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ค่อยได้ หรือไม่ได้เลย ก็ยังไม่สิ้นหวัง เพราะอาจเป็นเพียงอัมพาตชั่วคราว อย่าให้เคลื่อนไหว จะกดซ้ำลงไปอีก ทำให้รอยโรคที่เกิดชั่วคราวจะกลายเป็นถาวร
ควรให้ผู้บาดเจ็บนอนเฉยๆ หาของหนักๆ มาวางไว้ สองข้างของใบหน้า เช่น ก้อนดินหรือก้อนหิน โดยเอาผ้ารองไว้ระหว่างก้อนหินกับใบหน้า กันเกลียวหน้าด้วยความเผลอ จะทำให้กระดูกต้นคอเคลื่อนและเกิดอันตรายซ้ำเติมกับไขสันหลัง
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยต้องทำด้วยความระมัดระวังมาก การสอดแผ่นกระดานเขาใต้คอต้องค่อยๆ ทำ อาจสอดทางศีรษะลงมาถึงเอวแล้วผูกตัว อก หน้าผาก ติดกับกระดาน เพื่อกันความเคลื่อนไหว (ดูรูปที่ 12)
มีผู้ทำกระดานพิเศษสำหรับการนี้เหมือนกัน ราคาถูก และทำเองก็ได้ (ดูรูปที่ 13)
การใช้ปลอกคอ จะเป็นชนิดอ่อนหรือแข็งก็ตาม ช่วยได้น้อยมากมีข้อเสียที่ทำให้ผู้ช่วยเหลือมีความเข้าใจที่ผิด นึกว่ามีปลอกคอแล้ว จะเคลื่อนย้ายอย่างไรก็ได้ และทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำซ้อนขึ้น
- อ่าน 44,675 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้