• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สภาพผิดปกติ (หนึ่งสัปดาห์ถึงครึ่งเดือน)

สภาพผิดปกติ (หนึ่งสัปดาห์ถึงครึ่งเดือน)

42. เลือดออกทางสะดือ

เด็กบางคนเมื่อสะดือหลุดและแห้งไประยะหนึ่งแล้ว กลับแฉะขึ้นมาอีก และเมื่อเอาสำลีซับจะมีเลือดติดออกมาระยะเวลาที่สะดือเด็กจะแห้งก็มี เด็กบางคนจะมีก้อนเนื้อแดงเรื่อขนาดเท่าถั่วแดงอยู่ในสะดือ ซึ่งไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร ทิ้งไว้จะหายไปเองตามธรรมชาติ การที่สะดือแห้งช้าหลังจากที่สะดือหลุดแล้ว ไม่ได้หมายความว่า เป็นเพราะคุณแม่รักษาความสะอาดไม่พอ ถึงจะรักษาความสะอาดอยู่เสมอสะดือก็อาจมีก้อนเนื้อและแห้งช้าได้ แต่คุณแม่ควรระวังอย่าให้แป้งฝุ่นเข้าสะดือเวลาทาตัวให้เด็ก เพราะจะทำให้เกิดก้อนเนื้อนี้ได้ง่ายขึ้น

การรักษาก้อนเนื้อในสะดือนี้ ควรทิ้งให้หายไปเองตามธรรมชาติจะดีที่สุด เพราะถ้าไปหาหมอ หมอก็จะรักษาให้ตามประเพณีปฏิบัติ คือ ใช้น้ำยาซิลเวอร์ไนเตรท จี้ ซึ่งถึงไม่ทำอย่างนี้ ก้อนเนื้อนั้นก็จะหายไปเองได้ และยิ่งกว่านั้น อันตรายที่จะเกิดขึ้นก็คือ คุณต้องพาเด็กอ่อนอายุไม่ถึงครึ่งเดือนไปหาหมอทุกวันเพื่อทำการรักษาโดยไม่จำเป็น และระหว่างที่นั่งคอยในห้องคอยคนไข้ซึ่งมีเชื้อโรคสารพัดชนิดอยู่ ลูกของคุณอาจได้รับเชื้อโรคชนิดหนึ่งชนิดใดได้

ถ้าสะดือเด็กเกิดอักเสบขึ้นเนื่องจากการติดเชื้อรอบสะดือจะบวมแดงผิดปกติ ในกรณีเช่นนี้คุณต้องรีบพาลูกไปหาหมอเพื่อทำการรักษาโดยเร็ว

43. ตัวเหลืองไม่หาย

ตามปกติ เด็กทารกจะเริ่มตัวเหลืองในวันที่ 3 หรือที่ 4 หลังคลอด และอาการตัวเหลืองจะหายไปภายในหนึ่งสัปดาห์ แต่มีเด็กบางคนที่ตัวจะเหลืองอยู่ถึงครึ่งเดือน บางคนถึงเดือนครึ่งก็มี คุณแม่ที่อ่านตำราเลี้ยงลูก เมื่อเห็นลูกตัวไม่หายเหลืองตามตำราสักที ก็กลัวว่าลูกจะเป็นโรคตับบ้าง ท่อน้ำดีตันบ้าง จึงมักจะรีบพาไปหาหมอ

อันที่จริง ถึงแม้ว่าเด็กจะตัวเหลืองอยู่นาน แต่ถ้าเด็กดูดนมดี ร้องเสียงดังฟังชัด ไข้ก็ไม่มี อุจจาระมีสีเหลืองตามปกติ คุณแม่ไม่ต้องรีบร้อนพาไปหาหมอ เพราะถึงคุณจะพาไป คุณหมอก็คงบอกให้รอดูอาการสักระยะหนึ่งก่อน ดังนั้นถึงแม้เด็กจะตัวเหลือง แต่ถ้าแข็งแรงดี น้ำหนักขึ้น และสีเหลืองที่ตัวค่อยๆ จางลง คุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นห่วง เลี้ยงดูให้นมต่อไปได้ตามปกติ

44. เวลาหายใจมีเสียงดังในคอ

เด็กบางคน หลังคลอดได้สักหนึ่งสัปดาห์ คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าทุกครั้งที่หายใจเข้า จะมีเสียงดังฟี้ในลำคอ โดยเฉพาะเวลาร้องไห้ เสียงหายใจจะดังมากจนคุณแม่ตกใจสงสัยว่าจะมีอะไรติดคออยู่ แต่เด็กไม่มีอาการอะไรอื่นเวลาร้องเสียงก็ไม่แหบแห้ง กินนมดี ไม่มีไข้ และดูแข็งแรง ถึงจะพาไปหาหมอ หมอก็จะบอกว่าไม่ได้เป็นอะไร

เสียงดังฟี้ในลำคอเวลาเด็กหายใจเข้านั้น เกิดขึ้นเนื่องจาก กล่องเสียงยังนิ่มอยู่ เวลาหายใจเข้ารูปร่างของกล่องเสียงส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลง ทำให้แคบลงและเกิดเสียง ซึ่งส่วนที่นิ่มนี้จะค่อยๆ แข็งขึ้นตามธรรมชาติ และเสียงดังเวลาหายใจก็จะหายไปเอง บางคนหายได้ใน 6 เดือน บางคนอาจช้ากว่านั้น แต่ทุกคนจะหายก่อนอายุถึงหนึ่งขวบ อาการนี้ไม่มีอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น จึงไม่จำเป็นต้องรักษา

45. เป็นฝ้าในปาก

เด็กบางคน เมื่อคลอดได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์คุณแม่อาจสังเกตเห็นฝ้าสีขาวที่กระพุ้งแก้มและเหงือกลองให้เด็กดูดน้ำสุก ฝ้าก็ไม่หาย แสดงว่าไม่ใช่คราบน้ำนม แต่ เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในช่องคลอดของแม่ และเด็กได้รับมาตอนคลอด

อาการนี้จะเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กที่แข็งแรงและอ่อนแอ แต่สำหรับเด็กที่แข็งแรง อาการจะหายไปเองในครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน การรักษา อาจใช้ยาทาสีม่วง (เจนเชี่ยนไวโอเล็ต) ทาในปาก แต่ไม่ควรใช้มากนัก เพราะเท่ากับเอาสีใส่ปากเด็กทารก ถ้าปล่อยให้หายเองได้จะดีกว่า

ในกรณีที่ปากของเด็กเป็นฝ้าในช่วงที่กำลังใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคอยู่ คุณต้องรีบแจ้งให้หมอทราบทันที เพราะฝ้านี้เป็นผลของยา ถ้าลูกมีฝ้าในปากคุณต้องเคร่งครัดเรื่องการทำความสะอาดหัวนมและขวดนมให้มาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำอีก

ถ้าเด็กคลอดไม่ครบกำหนดเป็นฝ้าในปากและกินนมน้อยลงทุกที คุณต้องรีบพาไปหาหมอ แต่ตัวปัญหาใหญ่ก็คือ เรื่องเด็กกินนมน้อยลง ไม่ใช่เรื่องฝ้าในปาก

(ครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน)

ลักษณะของทารก

ระยะครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน

นิสัยของเด็กแต่ละคนจะเริ่มเห็นเด่นชัดขึ้น เด็กบางคนไม่กวนเลย นอนนานจนกระทั่งหิวเต็มที่จึงตื่นขึ้นกินนมและดูดเอาๆ จนนมแม่หมดทั้งสองข้างหรือถ้าเป็นนมชงก็จะกินถึง 120 ซี.ซี. กินนมเสร็จก็ฉี่ พอเปลี่ยนผ้าอ้อมให้และกินนมอิ่มก็นอนหลับต่อ ถ่ายอุจจาระวันละครั้ง คุณแม่ที่มีลูกเลี้ยงง่ายอย่างนี้ พอเห็นลูกใครผิดไปจากนี้มักจะคิดว่าไม่สบาย หรือมีอะไรผิดปกติ แต่อันที่จริงเด็กที่เลี้ยงง่ายอย่างนี้มีน้อย เด็กทั่วไปมักจะกวน โดยเฉพาะเด็กที่รับรู้สภาพแวดล้อมเร็วและรู้จักแสดงออก จะกวนมาก ร้องเก่ง มีเสียงอะไรนิดก็ตื่น พอตื่นขึ้นผ้าอ้อมเปียกจะร้องเสียงดังแสดงว่ารำคาญ พอเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ ถ้าท้องหิวก็จะร้องต่อไม่ยอมหยุด ให้กินนมก็ดูดเพียง 5 นาที พอรู้สึกไม่หิวจะเลิกดูดไปเลย

ถ้าแม่พยายามบังคับให้ดูดต่อ ก็จะแหวะออกมาหมด อีก 10 นาทีต่อมาก็จะร้องหิวอีก พอให้กินต่อ จะดูดเพียง 5-6 นาทีแล้วหลับไปเลย บางครั้งจะนอนถึง 4 ชั่วโมง สำหรับเด็กแบบนี้มักจะให้นมตามตารางเวลาไม่ได้ โดยเฉพาะถ้านมแม่ไม่ค่อยไหล แม่จะไม่ค่อยมีเวลาพัก ลูกก็กวน แม่ก็โมโห ทำไปทำมามักเลิกให้นมแม่ไปเลย พอเปลี่ยนเป็นนมผง อาจกวนน้อยลงหน่อย แต่ถ้าหัวนมไม่ดี นมไม่ค่อยออก เด็กแบบนี้จะร้องลั่นแล้วไม่ค่อยยอมดูด พอเปลี่ยนหัวนมให้ ดูดไปได้สัก 10 นาทีจะแหวะออกมาหมด ส่วนมากมักเป็นเด็กผู้ชายที่เป็นอย่างนี้ ปริมาณที่แหวะออกมาแต่ละครั้งจะไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงหิวเร็วช้าไม่เท่ากัน บางครั้งเพียงชั่วโมงครึ่งก็หิว บางครั้ง 2 ชั่วโมงจึงหิว ทำให้เวลาให้นมไม่แน่นอน เราเรียกอาการอย่างนี้ของเด็กว่าเป็น ‘นิสัย ’ ของเด็กแต่ละคนเพราะอาการอย่างนี้ให้กินยาอะไรก็ไม่หาย แต่จะหายไปเองตามธรรมชาติ

เด็กแต่ละคนกินนมไม่เท่ากัน ถ้าเป็นเด็กที่กินนมแม่ แม่มักไม่รู้ปริมาณที่กินเข้าไป แต่ถ้าเป็นนมผง แม่สามารถเห็นได้ด้วยตาว่าลูกกินนมมากหรือน้อย ถ้าลูกกินนมมาก แม่ส่วนมากจะดีใจ เพราะคิดว่าลูกจะได้แข็งแรงโตเร็ว แต่ถ้าเด็กกินนมมากเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน เด็กที่อายุยังไม่ถึงเดือน ถ้ากินนมแต่ละครั้งถึง 180 ซี.ซี. นั้น ก็ถือว่ากินมากเกินไป

แม่ส่วนใหญ่จะไม่สบายใจเมื่อลูกกินนมน้อย แม่ชงนมให้ตามปริมาณข้างกระป๋องมักจะเหลือ 20-30 ซี.ซี. ทุกครั้ง เด็กแบบนี้มักไม่ค่อยหิว กลางคืนก็นอนได้นาน กลางวันก็ไม่ค่อยร้องหิว เป็นเด็กเลี้ยงง่าย แต่แม่มักกลุ้มใจ ยิ่งเห็นเด็กอื่นกินนมทีละ 180 ซี.ซี. มากกว่าลูกของตัวเองถึงเท่าตัว ทั้งยังตัวอ้วนใหญ่ผิดกันมาก แม่เลยคิดไปว่าลูกของตนคงมีอะไรผิดปกติ พาไปหาหมอให้ฉีดยาบำรุงให้ ฉีดแล้วก็คงไม่ได้ผลอะไร แม่เลยยิ่งกลุ้มใจหนักเข้าไปอีก อันที่จริงเรื่องกินนมมากน้อยนั้น เป็นนิสัยของเด็กเอง ถ้าเด็กแข็งแรงดีก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

นิสัยในการขับถ่ายของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกัน โดยทั่วไปเด็กจะฉี่บ่อยกี่ครั้งแม่มักไม่ค่อยสนใจเพราะฉี่มันซึมไปในผ้าอ้อมมองไม่เห็น แต่พอถึงเรื่องอึซึ่งมองเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้วแม่มักจะสนใจว่าอึบ่อยหรือไม่ ท้องเสียหรือไม่ ท้องผูกหรือเปล่า นิสัยขับถ่ายของเด็กจะเริ่มเห็นเด่นชัดขึ้นเมื่อเด็กอายุได้ 1 เดือน เด็กบางคนท้องผูกเป็นประจำ 2-3 วันจึงจะอึครั้งหนึ่ง แต่เรื่องนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นเรื่องของนิสัย ผู้ใหญ่บางคนถ่าย 2-3 วันครั้งก็มี ซึ่งมิได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด

เด็กบางคนตอนเกิดมีปุ่มเล็กๆ คล้ายสิวที่แก้ม พออายุใกล้ 1 เดือน กลับแดงไปทั้งแก้มเป็นก้อนแข็งและมีน้ำเหลืองไหลออกมา เด็กบางคนมีขี้รังแคที่คิ้ว บางคนมีไขมันดำๆ เป็นคราบจับที่หน้าผากหรือบนศีรษะ บางคนปลายหูด้านหลังแดงมีน้ำเยิ้ม พาไปหาหมอ หมอก็บอกว่าเป็นผด เป็นผื่น หรือเป็นลักษณะเฉพาะของเด็กเอง ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

เด็กบางคนชอบออกแรงเบ่งจนสะดือโป่งกลายเป็นสะดือจุ่น เด็กที่ร้องบ่อยมักจะสะดือโป่งเช่นกัน

เด็กบางคนที่ชอบแหวะนม โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย เมื่ออายุได้หนึ่งเดือนมักจะอาเจียนพ่นออกมาทีเดียว บางคนแหวะทุกครั้งที่กินนมถึงกับน้ำหนักคงที่ไม่เพิ่ม แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ ‘โรค’ แต่เป็น ‘นิสัย’ ของเด็กซึ่งปรากฏตามอายุ จึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงสำหรับวิธีแก้ไขนิสัยแต่ละอย่างนี้ ขอให้อ่านหัวข้อ ‘การเลี้ยงดู’ ซึ่งเป็นหัวข้อถัดไป

เด็กอายุใกล้ 1 เดือนนี้ ตายังมองไม่เห็น แต่ถ้ามีอะไรสบอารมณ์จะยิ้ม แขนขาจะเคลื่อนไหวมากขึ้น ถ้ารู้สึกร้อนจะเอาเท้าถีบผ้าห่มออกจากตัว บางครั้งจะเอามือไว้ที่หน้า คุณแม่ควรดูแลตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอเพราะจะข่วนหน้าเอา

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคุณแม่ในระยะนี้ คือ พยายามจำหน้าตาตอนที่ลูกน้อยกำลังอารมณ์ดีไว้ให้ได้ ถึงแม้ลูกจะอึบ่อย จะแหวะนมหรือน้ำหนักไม่ค่อยเพิ่ม แต่ถ้าลูกยังแสดงหน้าตาว่ามีอารมณ์ดีอยู่ละก็ไม่มีปัญหา คนที่จะรู้จักว่าลูกทำหน้าอย่างไรจึงแสดงว่าอารมณ์ดีนั้นมีคนเดียว คือคุณแม่เท่านั้น ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกหน้าตาไม่สบาย มักจะแสดงว่าเด็กมีอะไรผิดปกติ คุณแม่ควรจะรู้ดีกว่าคุณหมอ ซึ่งเห็นหน้าเด็กเพียง 5-6 นาทีว่าลูกสบายดีหรือไม่ เพราะคุณแม่เห็นหน้าลูกมาตั้งแต่เกิด ดังนั้นคุณแม่ทุกคนควรเอาใจใส่จดจำสีหน้าของลูกไว้ให้ดี

การเลี้ยงดู

47. เลี้ยงด้วยนมแม่

นมแม่ซึ่งไม่ค่อยไหลในระยะแรกๆ พอเลยครึ่งเดือนไปแล้วส่วนใหญ่จะไหลดีขึ้น กาววัดว่านมแม่พอหรือไม่นั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ ชั่งน้ำหนักเด็กก่อนและหลังให้นม ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้น 100 กรัมขึ้นไป ก็แสดงว่าพอเพียง แต่การชั่งน้ำหนักอย่างละเอียดเอาไว้ที่บ้าน นอกจากบ้านที่เป็นร้านค้า แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ ควรชั่งน้ำหนักเด็กทุก 5 วัน เพื่อสังเกตความเจริญเติบโต ถ้าทุก 5 วัน น้ำหนักเด็กเพิ่มขึ้น150 กรัมขึ้นไป แสดงว่าน้ำนมพอ แต่ถ้าเพิ่มต่ำกว่า 100 กรัม แสดงว่านมแม่ไม่พอ นอกจากนั้นการชั่งน้ำหนักยังช่วยให้คุณแม่สบายใจว่าลูกไม่ได้เป็นอะไรถ้าน้ำหนักเพิ่มดี เพราะเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ มักจะอุจจาระเหลวจนแม่สงสัยว่าลูกท้องเสียหรือเปล่า หรือในกรณีที่ลูกชอบอาเจียนทุกครั้งหลังให้นม ถ้าน้ำหนักเพิ่ม 150 กรัมขึ้นไปทุก 5 วัน คุณแม่ก็สบายใจได้ว่าที่อาเจียนก็เพราะกินนมมากเกินไปนั่นเอง ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ สำหรับเด็กที่ทุก 5 วันน้ำหนักเพิ่มเพียง 100 กรัม และเวลากินนมก็ดูดเพียง 15 นาที แล้วนอนหลับสบายไม่ร้องกวนแสดงว่านมแม่พอ แต่เด็กมีนิสัยกินน้อยเอง

48. นมแม่ไม่พอ

ถ้าเด็กดูดนมหมดทั้งสองข้างแล้วร้องเหมือนไม่พอ และช่วงห่างระหว่างเวลาให้นมนานไม่ถึง 2 ชั่วโมง คุณแม่ควรชั่งน้ำหนักลูกดู ถ้าทุก 5 วันน้ำหนักเพิ่มเพียง 100 กรัม แสดงว่านมแม่ไม่พอ แต่ถ้าเพิ่มระหว่าง 100-150 กรัม ควรพยายามเลี้ยงด้วยนมแม่ล้วนๆ ต่ออีกหน่อย นอกจากเด็กจะร้องกวนมาก โดยเฉพาะกลางคืนตื่นร้องกวนบ่อยๆ จนนอนไม่หลับกันทั้งบ้าน คุณแม่ค่อยให้นมผงเพิ่ม การให้นมผงเพิ่มควรใช้วิธีสลับกับนมแม่ (ดู ข้อ 9, ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 4 ปีที่ 1)

ในกรณีที่น้ำหนักทุก 5 วันเพิ่มไม่ถึง 100 กรัม ลองให้นมแม่วันละ 3-4 ครั้ง นมผง 3 ครั้ง ถ้าน้ำหนักเพิ่มระหว่าง 100-150 กรัม ให้นมแม่วันละ 4-5 ครั้ง นมผง 2 ครั้ง และปริมาณนมผงครั้งละ 100-120 ซี.ซี. หลังจากใช้วิธีนี้ 5 วัน ลองชั่งน้ำหนักดู ถ้าน้ำหนักเด็กเพิ่มขึ้น 150 กรัมขึ้นไป ก็ใช้วิธีนี้ต่อไปเรื่อยๆ

ในกรณีที่ปริมาณนมแม่ที่ให้ในแต่ละวันน้อยกว่านมผง เช่น ให้นมแม่เพียง 2 ครั้ง นมผง 4-5 ครั้ง ควรให้วิตามินเพิ่มด้วย

ข้อมูลสื่อ

11-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 11
มีนาคม 2523