• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หญ้าขัด

“สมุนไพรที่นำเสนอนี้ ผู้เขียนได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ “พจนานุกรมสมุนไพรจีน” ของประเทศจีน ขนาดน้ำหนักของสมุนไพรที่ใช้นี้แปลและคิดคำนวณมาจากที่จีนบันทึกไว้ ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ ดังนั้นเวลานำมาใช้จึงต้องดัดแปลงน้ำหนักของยาให้เหมาะสมกับอายุ น้ำหนักและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย”

หญ้าขัด

ชื่ออื่น

ยุงปัด (ไทย-พายัพ), ยุงกวาด (กรุงเทพฯ), หญ้าขัดใบยาว (พายัพ), เน่าะเค้ะ, นาคุ้ยหมี่ (กะเหรี่ยงฮ่องสอน), ลำมะเท็ง (ศรีราชา) : อึ่งฮวยอิ๋ว, อวกตักซั่ว (จีน)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Sida acuta Burm F. วงศ์ Malvaceae

ลักษณะต้น

เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 0.3-1 เมตร ลำต้นแข็งแรง เปลือกต้นมีใยเหนียวดีมาก เป็นลักษณะพิเศษของต้นไม้ในวงศ์พวกชบานี้อย่างหนึ่ง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก

ใบ ออกสลับกัน มีขนสั้นๆ หรือเกือบจะไม่มีขน ปลายใบแหลม ใบยาว 3-5 เซนติเมตร กว้าง 0.5-1.5 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมออกไป ฐานใบกว้างเล็กน้อย มนเข้าขอบใบมีรอยหยักเป็นซี่คล้ายฟัน ด้านบนไม่มีขนสีเขียว ด้านล่างสีเขียวอ่อนกว่า มีก้านใบ

ดอก ออกจากซอกข้างใบ อาจออกเป็นดอกเดี่ยวหรือมีหลายดอกเกิดที่เดียวกัน มีก้านดอก มีกลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น 5 กลีบ แต่ละกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมแหลมสั้นสีเขียว กลีบดอกมี 5 กลีบ ติดกันที่โคนมีสีเหลือง ใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงประมาณ 2 เท่า มีเกสรตัวผู้อยู่มาก มีก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่มีผนังกั้นแยกเป็น 5-9 ห้อง อยู่ในกลีบเลี้ยง เมื่อเป็นผลแก่เป็นรูปทรงจานกลมแบนมีรอยแยก 5-9 ซีก เป็นเมล็ดสีดำ มักพบขึ้นเองตามที่รกร้างต่างๆ ในที่แห้งแล้งก็ขึ้นได้ ตามริมถนนหนทางต่างๆ ก็พบได้

การเก็บมาใช้

เก็บทั้งต้นมีรากด้วย ในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงตัดทั้งต้น ล้างสะอาด หั่นเป็นท่อน ตากแห้งเก็บเอาไว้ใช้

สรรพคุณ

ทั้งต้น รสเย็น ฉุนเล็กน้อย ใช้ดับร้อน แก้พิษ แก้บวม แก้ปวด สมานเนื้อ แก้กวัด เต้านมอักเสบ บิด ลำไส้อักเสบ หกล้มกระดูกหัก แผลบวมเป็นพิษ เลือดออก

วิธีและปริมาณที่ใช้

ทั้งต้น แห้งหนัก 15-30 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอก ใช้ต้นสดตำ พอก หรือต้นแห้งบดเป็นผงโรย

ตำรับยา

แก้เต้านมอักเสบ ใช้ต้นแห้งร่วมกับ โพกงเอ็ง (Tara xacum mongolicum Hand-Mazz) ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอก และใช้ต้นแห้งร่วมกับหัวผักกาดขาวสด น้ำตาลแดง ตำพอกใช้ภายนอก

ผลทางเภสัชวิทยา

น้ำสกัดจากต้น ทำให้ชีพจรเต้นช้าลง ลดความโลหิตของกระต่ายที่ทำให้สลบแล้วก่อนลดลง ลดการเต้นของหัวใจกบที่แยกออกมาจากตัว และที่อยู่ในลำไส้ มีผลกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้เล็กของกระต่ายที่อยู่ในตัวให้บีบตัวเพิ่มขึ้น เมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ถ้าฉีดน้ำสกัดของต้นนี้ เข้าช่องท้องของหนูเล็กขนาด 12.5-50 กรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว ภายใน 24 ชั่วโมง หนูยังไม่ตาย แต่ถ้าให้มากเกินกว่านี้หนูเล็ก 5 ตัวที่ฉีดจะตาย 1 ตัว

ใบอังไฟพอสุก ทาน้ำมันเอามาปิดฝี ทำให้ฝีหัวแก่เร็วขึ้น (กลัดหนองเร็วขึ้น) นอกจากนี้ใบพืชนี้ยังใช้ทำให้แท้งลูกได้

รากใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร เป็นยาเย็น ฝาดสมาน บำรุงธาตุ ขับเหงื่อและแก้ไข้ ใช้ในโรคประสาท อาการไข้ผิดปกติต่างๆ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ โรคเรื้อรังเกี่ยวกับท้อง และแก้อ่อนเพลีย โดยใช้รากต้นนี้ผสมกับขิงต้มน้ำดื่มวันละ 2 ครั้งๆ ละขนาด 1 ถ้วยชาเล็กๆ

ในชนบทเมื่อต้นนี้เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ต้นสูงประมาณเมตรกว่าๆ เขาตัดมาตากให้แห้ง ใบจะหลุดร่วงหมดแล้วเอา 2-3 ต้น มามัดเป็นกำรวมกัน ใช้กวาดลานบ้านให้สะอาดได้ดีเรียกว่า ไม้กวาดขัดมอญเพราะต้นนี้มีลำต้นเหนียวแข็งแรงดี

ข้อมูลสื่อ

12-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 12
เมษายน 2523
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ