• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

( ตอนที่ 5 ) ไหล่

( ตอนที่ 5 ) ไหล่


ไหล่ เป็นบริเวณที่ต่อเนื่องมาจากคอและแขน ฉะนั้นบริเวณไหล่จึงมีเส้นที่ทำหน้าที่สัมพันธ์กันระหว่างคอกับแขน ซึ่งไหล่คนเราโดยมากมักจะต้องรับภาระในการแบกหามของหนักๆ เช่น การแบกข้าวสาร หรือการหาบตะกร้าของแม่ค้า ซึ่งมีน้ำหนักมาก
ดังนั้นกล้ามเนื้อตรงบริเวณหัวไหล่จึงต้องเกร็งตัวมาก มักจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งและหดตัวมาก ทำให้ปวดบริเวณไหล่ บางครั้งอาจจะปวดร้าวไปถึงสะบัก ปวดตามต้นแขน อาการเหล่านี้ไม่ค่อยอันตรายเท่าไร พักผ่อนสัก 3-5 วัน อาการก็จะหาย

ถ้าต้องการให้หายปวดอย่างรวดเร็วก็ต้องอาศัยการนวด โดยให้ใช้หัวแม่มือกดลงตรงบริเวณตั้งแต่หัวไหล่จนไปจดกับต้นคอช่วงล่าง โดยให้กดทั้งด้านหน้าเหนือกระดูกไหปลาร้า ด้านหลังให้กดตั้งแต่ด้านหลังของต้นแขนเหนือสะบักจนจดบริเวณคอต่อทั้งหน้าและหลัง จากนั้นให้ใช้ผ้าชุบน้ำร้อนประคบและบีบช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว อาการปวดก็จะทุเลาและหายไปในที่สุด
หากการนวดด้วยตนเองกระทำได้ไม่สะดวกแล้ว อาจจะผลิตเครื่องมือช่วยนวดไหล่เป็นเครื่องมือประกอบง่ายๆช่วยก็ได้ (ดูรูป)



หากท่านต้องโหนรถเมล์ในการไปหรือกลับจากกิจธุระ แล้วรถเบรกอย่างกะทันหัน ตัวเองต้องเกร็งแขนอย่างแรง หรือเกิดจากการที่ต้องออกแรงผลัก-ดันของหนักๆ แล้วทำให้ปวดหัวไหล่ตรงช่วงบริเวณต้นแขนหรือเวลายกแขนแล้วปวดก็ตาม ให้กดลงตรงบริเวณหัวไหล่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ซึ่งอาการของการปวดหัวไหล่หรืออาจจะเรียกว่าต้นแขนก็ได้ บางครั้งผู้ที่มีอาการดังกล่าวมักจะตกใจเพราะยกแขนไม่ขึ้นหรือยกได้ไม่สุดแขน เวลาถอดเสื้อจะทำให้ขัดหรือปวดบริเวณหัวไหล่ มือไขว้ไปข้างหลังไม่ได้ถนัด เวลาอาบน้ำจะทำให้มือถูหลังได้ไม่สะดวก คนที่มีอาการดังกล่าวโดยมากมักจะไปหาหมอตามโรงพยาบาลหรือตามคลินิก หายาแก้อักเสบเส้นมาใช้แก้อาการดังกล่าว บางคนไปหาหมอแผนกกายภาพบำบัด ซึ่งแพทย์ก็จะใช้วิธีดึงด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์

อาการดังกล่าวที่ว่านั้นหากจะใช้วิธีรักษาด้วยตนเองหรือไปหาหมอนวดที่มีความรู้เรื่องเส้นแล้วก็ไม่เป็นการยากเลยที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไหล่ หรือบางทีก็เรียกว่า ไหล่ติดได้ โดยใช้เวลาเพียงเล็กน้อยอาการหัวไหล่ติดหรือปวดหัวไหล่นั้น มักจะเกิดกับบุคคลที่ต้องใช้กำลังออกแรงยกของหนัก หรือนักกีฬาประเภทแบดมินตัน เทนนิส นักเพาะกายหรือนักยกน้ำหนักที่เพิ่งจะหัดใหม่ๆ



วิธีการแก้ไขด้วยตนเองอาจจะกระทำได้ดังนี้คือ ให้กดบริเวณเหนือรักแร้ด้านหน้า ถ้าคลึงดูจะรู้สึกว่ามีเส้นเอ็นใหญ่อยู่ ให้กดบริเวณเส้นเอ็นนั้นให้นิ่งนานประมาณ 10 วินาทีแล้วจึงค่อยๆคลายออกช้าๆ
จุดถัดไปให้กดที่จุดกดห่างจากจุดแรกประมาณ 1-2 นิ้ว จุดนี้จะอยู่บริเวณกึ่งกลางของหัวไหล่พอดี ให้กดเหมือนกับจุดแรก จุดที่สามอยู่ด้านหลังของหัวไหล่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดที่ 2  จุดสุดท้ายอยู่เหนือรักแร้ด้านหลังที่อยู่บริเวณตรงกันข้ามกับจุดแรก โดยให้กระทำการกดจุดแต่ละจุดให้นิ่งหนักพอประมาณนานประมาณ 10 วินาที โดยกดเรียงตามจุดต่างๆรอบหัวไหล่ประมาณ 3-5 ครั้ง อาการปวดหัวไหล่หรือไหล่ติดก็จะทุเลาหรือหายจากอาการดังกล่าวได้
เมื่อกดจุดต่างๆดังกล่าวจนอาการปวดทุเลาดีแล้ว ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นมากๆ หรือเกือบร้อนพอทนได้ประคบบริเวณที่ปวดหรือกด เพื่อช่วยให้คลายอาการอักเสบของกล้ามเนื้อได้ หรืออาจจะใช้น้ำมันที่ให้ความร้อนแก่ผิวหนัง ถู นวดบริเวณที่กดก็ได้

หมอที่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับเส้นมักจะทราบดีว่า อาการของโรคปวดไหล่หรือไหล่ติดนั้นจะใช้วิธีการนวดอย่างเดียว จะไม่ใช้วิธีการคัดหรือดึงแขน ฉะนั้นผู้ที่จะหัดหรือกำลังศึกษาอยู่ควรจะพิจารณาถึงความละเอียดอ่อนและเรียนรู้ถึงกลไกต่างๆของเส้นรอบๆบริเวณหัวไหล่ ให้ดี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไหล่ติดหรือปวดไหล่อันเนื่องมาจากการอักเสบของเส้นเอ็นที่ทอดลงมาจากบ่า สามารถนวดได้ที่บริเวณรอบหัวไหล่ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ให้เว้นไว้ตรงกลางของหัวไหล่ซึ่งที่จุดกึ่งกลางนี้ ภายในกล้ามเนื้อจะมีถุงน้ำเลี้ยง ข้อต่ออยู่ภายใต้กล้ามเนื้อ การกดบริเวณนี้อาจจะทำให้ถุงน้ำเลี้ยงข้อต่ออักเสบ ซึ่งการอักเสบของถุงน้ำเลี้ยงข้อต่อนั้นมีความรุนแรงมาก หากเกิดอาการอักเสบแล้วจะมีอาการบวมปวดมาก แดงร้อนอย่างเฉียบพลัน ฉะนั้นจึงควรที่จะหลีกเลี่ยงการกดที่จุดบริเวณกึ่งกลางของหัวไหล่

ในกรณีที่ผู้ป่วยยกแขนตนเองไม่ขึ้น แต่คนอื่นยกให้จึงจะยกได้ อาการเช่นนี้เป็นอาการของกล้ามเนื้อที่ยึดข้อไหล่ฉีกขาด จึงไม่ควรนวดหรือดัดเพราะอาจจะทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดมากขึ้น 

                                                                                                                                (อ่านต่อฉบับหน้า)

ข้อมูลสื่อ

94-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 94
กุมภาพันธ์ 2530
นวดไทย
บุญเทียม ตันติ์เตชรัตน์