• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เปลี่ยนมะเร็ง เป็นพลัง

ในนามสำนักพิมพ์หมอชาวบ้านและมูลนิธิหมอชาวบ้าน ต้องขอขอบคุณผู้อุปการคุณทุกส่วน ตั้งแต่กองบรรณาธิการ ผู้เขียน โรงพิมพ์ สายส่ง ร้านค้า ผู้อุดหนุนทุน (สปอนเซอร์) ในการจัดพิมพ์ ตลอดทั้งสมาชิกหมอชาวบ้าน และผู้อ่านทุกท่านที่ได้เกื้อหนุนให้เรายืนหยัดเติบโตมาจนถึงวันนี้

เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานใหม่ๆ เพื่อให้หมอชาวบ้านเกิดประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป

เรายินดีต้อนรับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ น้ำแรงและน้ำใจจากผู้สนใจและแฟนๆ หมอชาวบ้าน ในการสรรค์สร้างงานตามอุดมการณ์ที่ตั้งไว้แต่แรก คือ "ทำชาวบ้านให้เป็นหมอ (ดูแลตนเอง ครอบครัวและเพื่อนบ้าน) และทำหมอให้เป็นชาวบ้าน (ที่เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ประชาชนด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์)"Ž

วันที่ 31 พฤษภาคม เป็นวัน "งดสูบบุหรี่โลก"Ž
ฉบับนี้จึงได้ลงเรื่อง "มะเร็งปอด" ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
ทุกวันนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า บุหรี่เป็นต้นตอ ของการเกิดโรคร้ายอันมากมาย นอกจากมะเร็งปอดแล้ว ก็ยังมีมะเร็งของอวัยวะอื่น (เช่น ช่องปาก กล่องเสียง ทางเดินอาหาร กระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก เป็นต้น) ถุงลมปอดโป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ความจำเสื่อม เซ็กซ์เสื่อม เป็นต้น

การรณรงค์ให้ผู้คนลด ละ เลิกบุหรี่ จะช่วยป้องกันโรคเหล่านี้ได้อย่างมาก รวมทั้งลดความทุกข์ทรมานและความสูญเสียได้อย่างมากมายมหาศาล

แต่เนื่องจากบุหรี่เป็นสินค้าที่มีลักษณะพิเศษคือ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจระดับชาติและระดับโลก และพฤติกรรมของประชาชนที่มีรากเหง้ามาจากปัญหาทางจิตวิทยาและค่านิยมทางสังคม จึงเป็นเรื่องที่จะต้องรณรงค์ต่อสู้กันทุกปีต่อไป

พูดถึงมะเร็งปอด ขอแนะนำให้อ่านหนังสือที่มีชื่อว่า "เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง" ของคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และอดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรก

คุณหมอป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะท้าย ขณะรับตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. ใหม่ๆ
หนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงประสบการณ์ ความรู้สึก แง่คิด มุมมอง เกี่ยวกับการเจ็บป่วย การรักษา การดูแล ตนเอง การเกิดแรงบันดาล พลังและความคิดสร้างสรรค์ ในการดำเนินชีวิตส่วนตัวอย่างมีสติ รู้เท่าทัน และมีความสุข รวมทั้งการรังสรรค์งานใหม่ๆ เพื่อประโยชน์สุขของผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสและเข้าไม่ถึงบริการที่มีคุณภาพ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดต้อกระจก ฟอกไต ผู้ป่วยเอดส์ที่เข้าไม่ถึงยารักษา (เพราะราคาแพง) เป็นต้น รวมทั้งได้เป็นแกนนำในการรวมกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งให้มีกำลังใจ มีคุณค่าในการดำเนินชีวิต และมีความรู้ในการดูแลตนเองให้มีชีวิตยืนยาวและมีความสุข

นอกจากนี้ ด้วยอาศัยประสบการณ์ตรงของการเป็นผู้ป่วย คุณหมอยังได้สะท้อนถึงปัญหาความสัมพันธ์ ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งจุดอ่อนจุดแข็งของระบบบริการสุขภาพในปัจจุบัน

คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์
นอกจากได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งหลักประกันสุขภาพไทย" แล้วยังเป็น "นักสู้มะเร็งผู้ยิ่งยง" ที่สามารถแปรวิกฤติให้เป็นโอกาส และแปรการเจ็บป่วยเป็นคานงัดเปลี่ยนชีวิตและจิตวิญญาณของตนเอง จนเกิดพลังสร้างสรรค์ และความมีชีวิตชีวายิ่งกว่าผู้ที่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยในช่วง 4 ปีของการเป็นผู้ป่วยมะเร็ง

บทส่งท้ายของหนังสือ "เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง" คุณหมอได้มอบ "บัญญัติสิบประการของนักสู้มะเร็ง" ไว้ดังนี้
1. เมื่อแรกรู้ต้องตั้งหลักให้มีสติ คิดและปรึกษาหารือหาทางรักษาโดยเร็ว
2. เชื่อในทางบวก ไม่ฝังใจกับสถิติว่ามะเร็งหมายถึงตาย
3. รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสม ทั้งแผนปัจจุบัน และทางเลือกอื่นๆ และปรับใช้อย่างเหมาะสม
4. เป็นเจ้าของไข้ร่วมกับแพทย์ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับมะเร็ง เพื่อที่จะปฏิบัติตัวและร่วมมือกับแพทย์ในการรักษา
5. เปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ ปรับเปลี่ยนอาหารการกินและจัดกิจวัตรประจำวันใหม่
6. ฝึกตัวเองให้อดทน เพราะต้องเผชิญกับการรักษาพยาบาลและผลข้างเคียงต่างๆ เป็นระยะเวลานาน
7. เข้าใจความสำคัญของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ และรักษาสุขภาวะทางจิตวิญญาณให้ดี เพราะมีผลกระทบถึงสุขภาพกายอย่างมาก
8. ดูแลใจ ปล่อยวาง รวมทั้งอภัยให้กับเรื่องราวต่างๆ และทุกคน
9. ช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อฟื้นตัวจากความเจ็บป่วยควรหาโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น อาจจะเป็นในรูปแบบอาสาสมัคร หรือกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ
10. มีมรณานุสติ เตรียมใจและจัดการเรื่องต่างๆ เพื่อที่จะจากไปอย่างมีสติ

ข้อมูลสื่อ

349-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 349
พฤษภาคม 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ