• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อยู่อย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคสัตว์เลี้ยงสู่คน?

ระยะไม่ถึงเดือนที่ผ่านมานี้มีข่าวพาดหัวชวนให้น่ากลัวต่อสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่ในบ้าน ทำให้หลายคนมองหน้ากันไม่สนิทไปหลายวัน หรือบางรายถึงกับอัปเปหิสัตว์ที่เคยเลี้ยงออกไประเห็ดเตร็ดเตร่เป็นสัตว์ "จรจัด" เดือดร้อนพระสงฆ์ต้องรับเลี้ยงแมวที่เจ้าของทิ้ง ด้วยเหตุของโรคหวัดแมวและโรคหัดแมว โรคลึกลับ (ข่าวว่าไว้) ที่ทำให้แมวล้มตายเป็นร้อยๆ (บางฉบับว่า 500 ตัว)

ซ้ำร้ายหนังสือพิมพ์บางฉบับจับแพะชนแกะ นำข่าวแมวตายด้วยโรคหัดแมว (ซึ่งไม่ติดต่อถึงคน) มาผูกกับโรคไข้ขี้แมว (ซึ่งติดต่อคนได้) ทำให้กลายเป็นว่าโรคหัดแมวติดต่อถึงคนไปได้โน่น !!

คนละเรื่อง คนละทิศ คนละทาง ทั้งหัดและหวัดแมวไม่ติดต่อถึงคน !

กว่าจะทำความเข้าใจให้ชาวบ้านลดความตื่นตระหนกลงได้ แมวหลายตัวก็รับเคราะห์ถูกเฉดหัวออกจากบ้านดังกล่าวไว้ข้างต้น

นี่แหละครับความไม่รับผิดชอบต่อการให้ข้อมูลต่อสาธารณะ หรือแม้แต่กระต่ายก็ไม่วายโดนไปด้วย แม้จะเกิดเรื่องราวเป็นข่าวขึ้นก่อนคือ "โรคทูลารีเมีย" ทำให้มีคนตายรายแรกของบ้านเรา (ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน)

โรคทูลารีเมียนี้มีในอเมริกามานมนานแล้ว เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบในกวางป่า หนูป่า กระต่ายป่า มีเห็บ หมัด เป็นตัวพาหะแพร่โรค ฝรั่งเขาจึงเรียกว่าโรคไข้เห็บกวาง หรือโรคไข้กระต่าย ฯลฯ

ดังที่ว่าไว้ข้างต้นคือโรคนี้ไม่เคยพบว่าเกิดทั้งในคนและสัตว์ในบ้านเรามาก่อน จึงไม่มีชื่อไทย แต่ใครไม่รู้ช่างไปเลือกเอาชื่อฝรั่งที่แปลเป็นไทยคือ "โรคไข้กระต่าย" มาใช้ เท่านั้นแหละ กระต่ายกลายเป็นแพะอย่างทันตาเห็น ผู้คนสอบถามมาจะเลิกเลี้ยงกระต่ายกันอีกแล้ว

นี่ถ้าเลือกชื่อ "โรคไข้หัดกวาง" กระต่ายและผู้คนคงไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจกันให้วุ่นวายจริงไหมครับ?
จากตัวอย่างทั้งสองเรื่อง สองโรคข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความมี "สติ" เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถสู้กับกระแสข่าวไม่ดี ไม่งาม ข่าวร้ายทั้งหลายที่นับวันจะมากขึ้น ถี่ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวที่เป็นโรคภัยจากสัตว์แล้วมาสู่คน ก่อให้เกิดโรคต่างๆ อย่างน่ากลัว

ฉะนั้น ถ้ามี "สติ" สงบใช้ความคิดตริตรองพิจารณาข้อมูลให้ถี่ถ้วนรอบด้าน แม้ว่าปัจจุบันเราจะถูก ครอบงำด้วยปริมาณข้อมูลข่าวสารล้นพ้นเกินกว่าจะบริโภคแล้วย่อยได้หมด อีกทั้งสื่อบางสื่อสามารถโน้มน้าวให้เราโอนอ่อน หลงใหลเชื่อไปได้ง่ายๆ แต่ถ้าหากมี "ปัญญา" คือความรู้จริง ค้นหา หรือได้ข้อมูลจากแหล่งที่ถูกต้องมาประกอบการตัดสินใจ รับรองได้ว่าไม่พลาดพลั้งเผลอไปกับข้อมูลลวงโลกแน่ ผลเสียทั้งหลายย่อมไม่เกิดตามมาเป็นแน่แท้ โลกคงไม่ยุ่งเหมือนทุกวันนี้เมื่อตั้งสติใช้ปัญญา

อันว่าโรคจากสัตว์เลี้ยงติดต่อสู่คน หรือฝรั่งเรียกว่า "Zoonosis" นั้นเป็นสิ่งที่สามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงของคุณที่เลี้ยงเป็นเพื่อน เช่น หมา แมว นก ไปจนถึงปลา หรือม้า และสัตว์แปลกๆ อินเทรนด์ เช่น กิ้งก่าอิกัวน่า เต่าญี่ปุ่น งูหลาม งูเหลือม เม่นแคระ ซาลามานเดอร์ หนูตะเภา (หนูแกสบี้) หนูแฮมสเตอร์ ชินชิลล่า กระต่ายแคระ และ ฯลฯ แต่ว่าเราสามารถเลี้ยงและอยู่กับเขาได้หากปฏิบัติตามกติกาอันเป็นบัญญัติ 10 ประการ ที่จะให้ไว้ต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด และสม่ำเสมอ คุณและครอบครัวสามารถมีสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมบ้านได้อย่างปลอดภัยโดย :-

1. สอนเด็กทุกคนในบ้านให้รู้จักอันตรายและเทคนิคจับต้องสัตว์อย่างถูกวิธี สิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำกับสัตว์เหล่านั้น อันจะไม่เป็นการนำเชื้อโรคเข้าสู่คน เช่น ไม่ให้กอดจูบสัตว์เลี้ยง หรือถ้าเด็กเล็กมากอย่าให้สัมผัสโดยตรง ฯลฯ

2. เลือกสัตว์ที่จะนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงให้เหมาะสม กับทุกคนหรือไม่ก่อปัญหากับคนบางคน เช่น ถ้ามีใครในบ้านเป็นโรคภูมิแพ้ ฉะนั้นการเลี้ยงสัตว์ขนยาว เช่น หนูแกสบี้ หรือกระต่าย จะทำให้อาการแพ้กำเริบรุนแรงขึ้น จึงควรเลือกสัตว์เลี้ยงที่ไม่ต้องสัมผัส ไม่มีขนที่จะฟุ้งปลิว แต่สามารถให้ความเพลิดเพลินทางอื่นได้ เช่น ปลาสวยงาม หรือแม้แต่สัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่า หรือกิ้งก่า ก็ยังสัมผัสได้ ฯลฯ

3. แหล่งที่มาของสัตว์เลี้ยงที่น่าเชื่อถือ คือถูกกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ อาจเป็นการนำโรคแปลกๆ เข้ามาอย่างไม่ตั้งใจ เพราะบางแห่งหลบซ่อนนำสัตว์ต้องห้ามเข้ามาจึงไม่มีการกักโรค หรือเป็นฟาร์มที่เพาะสัตว์อย่างมีคุณภาพ มีความสะอาดอนามัยดี มีการควบคุมโรคในสัตว์ที่ถูกต้อง ทำให้เป็นแหล่งขายสัตว์ที่ปลอดโรคมาสู่คนได้ เช่น เชื้อราผิวหนังที่กระจายติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ฯลฯ

4. หากในครอบครัวมีเด็ก คนชรา คนท้อง และคนป่วย จำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะคนเหล่านี้มีภูมิต้านทานโรคที่ไม่ดีนักหรือยังไม่เข้มแข็งพอ โอกาสติดโรคจากสัตว์แม้ไม่ใช้โรครุนแรงก็มิอาจป้องกันตนได้ จำเป็นต้องควบคุมการสัมผัสต่อสัตว์และเน้นการรักษาความสะอาดให้มากกว่าปกติ มีสถานที่เลี้ยงแยกเป็นสัดส่วน ฯลฯ

5. เน้นให้ทุกคนรู้จักและตระหนักปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะลูกเด็กเล็กแดง คนใช้ คนครัว จนถึงปู่ย่าตายาย เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสเล่นกับสัตว์หรือไม่เอาสัตว์เลี้ยงมาเล่นขณะกินอาหารไปด้วย ฯลฯ เป็นการลดโอกาสรับเชื้อหรือสัมผัสโรคให้น้อยลง

6. สร้างเสริมสุขภาพสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรงปราศจากโรคที่อาจมาสู่คน เช่น ได้รับวัคซีนที่จำเป็น อาหารครบถ้วน มีการถ่ายพยาธิตามระยะเวลาอันควร ปราศจากโรคผิวหนังที่อาจติดถึงคนได้ง่าย เช่น เชื้อรา และปราศจากเห็บหมัด อาจเป็นพาหะโรค ฯลฯ เมื่อสัตว์มีคุณภาพสุขภาพที่ดีย่อมมีโอกาสรับและแพร่โรคสู่คนได้ยากขึ้น จำไว้ว่าสัตว์แข็งแรงคนปลอดภัย

7. เลี้ยงสัตว์ให้เป็นสัดส่วนมีที่อยู่จำเพาะ ไม่ปะปนกับความเป็นอยู่ของคน เช่น เลี้ยงหมาต้องหัดให้นอนกรงของตน ไม่ใช่นอนบนเตียงเด็ก หรือไม่เลี้ยงนกในห้องนอน หรือห้องที่ปราศจากอากาศถ่ายเท เพราะเชื้อหลายชนิดจากนกปลิวมากับเศษขน ตลอดจนไม่เลี้ยงสัตว์หรือปล่อยให้สัตว์เข้ามาเพ่นพ่านในครัวหรือสถานที่ประกอบอาหารเนื่องจากมีเชื้อโรคท้องร่วง ซึ่งอาจปนเปื้อนกับอาหารได้ ฯลฯ

8. รักษาสุขภาพของสิ่งแวดล้อมให้แข็งแรง คือกำจัดสิ่งปฏิกูลจากสัตว์เลี้ยงให้ถูกวิธี ไม่ใช่พาหมาไปขี้หน้าบ้านคนอื่น แต่ต้องเก็บและทำลายอย่างเหมาะสม มีทั้งเศษอาหารหรือปล่อยให้สัตว์เลี้ยงคุ้ยเขี่ยเศษอาหารจากถังขยะซึ่งเป็นการแพร่เชื้อโรคไปกับสิ่งสกปรก ฯลฯ จำไว้ว่าสิ่งที่ปนเปื้อนในสภาวะแวดล้อมตัวเราจะเป็นตัวบั่นทอนสุขภาพคนให้อ่อนแอลงจนเกิดโรค

9. เสริมสร้างสุขภาพของสมาชิกในบ้านให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารที่ครบหมู่ มีโภชนาการบริบูรณ์ ปราศจากการปนเปื้อน และภูมิต้านทานโรคาพยาธิ ซึ่งอาจมาจากสัตว์เลี้ยงได้ดีกว่าคนที่มีร่างกายอ่อนแอ

10. หมั่นสังเกตสังกาอาการ ความเจ็บไข้ ได้ป่วยของสัตว์เลี้ยง หากเกิดขึ้นเมื่อใดควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อเยียวยาเสียแต่ต้นมือ เช่นเดียวกับสมาชิกที่เป็นคนในบ้านหากเจ็บป่วยขึ้นเมื่อต้องไปพบแพทย์ควรเล่าถึงสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในบ้านเป็นข้อมูลแก่คุณหมอประกอบการวินิจฉัยโรคที่อาจมาจากสัตว์เลี้ยงทำให้การตรวจรักษาได้เที่ยงตรงแม่นยำ เป็นประโยชน์แก่ตัวผู้ป่วยเอง

ด้วยบัญญัติ 10 ประการนี้คุณและครอบครัวจะสามารถอยู่ร่วมชายคากับสัตว์เลี้ยงที่มีอย่างเป็นสุขทุกๆ ฝ่ายตลอดไป

 

ข้อมูลสื่อ

349-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 349
พฤษภาคม 2551
เรื่องน่ารู้
ผศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร