การตรวจรักษาอาการปวดท้อง (ต่อ)
สำหรับผู้ป่วยที่ปวดท้องฉุกเฉินและมีอาการเจ็บหนัก รีบให้การปฐมพยาบาล และการตรวจรักษา สำหรับผู้ป่วยเจ็บหนัก (ดู “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 64) เมื่ออาการเจ็บหนัก
สำหรับผู้ป่วยที่ปวดท้องฉุกเฉินแต่ไม่มีอาการเจ็บหนัก ให้ทำดังนี้
1. งดอาหารและน้ำทางปาก
2. รักษาอาการ เช่น
ถ้าท้องอืดมาก อาจวางกระเป๋าน้ำร้อนที่หน้าท้อง (แต่ถ้าวางกระเป๋าน้ำร้อนแล้วอาการเป็นมากขึ้น ให้เลิกวางกระเป๋าน้ำร้อน)
ถ้าอาเจียนมาก โดยเฉพาะถ้าอาเจียนแล้วมีแต่น้ำลาย น้ำเมือก หรือน้ำสีเหลือง หรือสีเขียวออกมาเพียงครั้งละเล็กครั้งละน้อย ควรให้ยาแก้อาเจียน เช่น เมโตโคลปราไมด์ (metoclopramide) หรือที่มีขายในชื่อการค้า เช่น Maxolon, Nausil, Plasil, Primperan เป็นต้น โดยให้กิน 1-2 เม็ด หรือฉีด
½ - 1 หลอดเข้ากล้ามหรือเข้าเส้น และให้กินยาลดกรดชนิดน้ำครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะทุก ½ - 1 ชั่วโมง (อย่าดื่มน้ำตามหรือถ้าจะดื่มน้ำตามให้ดื่มเพียงอึกเดียว)
ถ้าปวดท้องมาก อาจให้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือให้ยาแก้ปวดแบบฉีด หรือยาคลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เช่น ทิงเจอร์ฝิ่น การบูร อะโทรปีน (Atropine) บาราลแกน (Baralgan) อะวาฟอร์แตน (Avafortan) เป็นต้น
ถ้าปัสสาวะไม่ออก และคลำได้ก้อน (กระเพาะปัสสาวะ) บริเวณเหนือหัวหน่าว (ดูรูป) ให้สวนปัสสาวะ
ออกถ้าอุจจาระไม่ออก ให้ใช้นิ้วล้วงก้นคนไข้ (ดูวิธีตรวจทางทวารหนัก ดู “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 52) ถ้าพบก้อนอุจจาระเต็มไปหมด ให้ล้วงเอาก้อนอุจจาระเท่าที่ล้วงได้ออกให้หมด แล้วสวนอุจจาระให้คนไข้ ถ้าคนไข้ถ่ายอุจจาระออกได้ อาการปวดท้องจะดีขึ้น ถ้ายังถ่ายไม่ได้ ให้ล้วงก้อนอุจจาระแข็งๆ ที่อุดอยู่ออกให้หมด แล้วคนไข้จะถ่ายอุจจาระได้ (แต่ถ้าล้วงก้นคนไข้ แล้วไม่พบก้อนอุจจาระ ห้ามสวนอุจจาระเด็ดขาด)
3. รีบส่งโรงพยาบาล เพื่อการตรวจหาสาเหตุและรักษาให้คนไข้หายโดยเร็ว ถ้ายังส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลไม่ได้ จะเพราะสาเหตุอะไรก็ตาม (เช่น ไม่มีรถที่จะพาคนไข้ไปโรงพยาบาล) ควรทำการรักษาดังต่อไปนี้ ถ้าทำได้
3.1 ให้น้ำเกลือเข้าเส้น น้ำเกลือที่ให้ควรเป็น 5% กลูโคสในน้ำเกลือ (5% dextrose in normal Saline) หรือ น้ำเกลือแลกเตตริงเกอร์ (lactated ringer’s solution) โดยให้ประมาณ 1 ขวด (1000 ซี.ซี.) ในเวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง
3.2 ใส่ท่อ (สายยาง) ผ่านจมูกลงไปในกระเพาะอาหารเพื่อดูดน้ำและลมออกจากกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะถ้าคนไข้มีอาการท้องอืด หรืออาเจียนเป็นเลือด
สำหรับผู้ป่วยที่ปวดท้องแบบไม่ฉุกเฉิน จำเป็นต้องซักประวัติและตรวจร่างกายโดยเฉพาะท้อง และแยกออกเป็นประเภทต่างๆเช่น
1. ประเภทที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน (ระดู) จึงเกิดได้เฉพาะในเพศหญิง เช่น
1.1 ปวดประจำเดือน (ปวดระดู menstrual pain menorrhalgia) หมายถึงอาการปวดบริเวณท้องน้อย บริเวณหลังส่วนล่างและก้นกบ ร่วมกับการมีประจำเดือน บางคนปวดมาก บางคนปวดน้อย บางคนไม่ปวดเลย คนที่ปวดประจำเดือนมักจะปวดมากในวันแรกๆ และมักจะมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรืออาเจียนได้ถ้าปวดมาก โดยทั่วไปอาการปวดประจำเดือนมักจะเกิดขึ้นตั้งแต่การมีประจำเดือนครั้งแรกๆ และมักจะหายไปหรือดีขึ้นหลังให้กำเนิดลูก
การรักษา
ถ้าไม่ปวดมาก ไม่ต้องกินยา อาจใช้กระเป๋าน้ำร้อนวาง เล่น หรือทำงานให้เพลินๆ ก็จะบรรเทาปวดได้
ถ้าปวดมาก ให้ใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือแอสไพริน กินครั้งละ 1-2 เม็ด ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจใช้ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงขึ้น (แต่มีพิษมากขึ้นด้วย) เช่น บาราลแกน (Baralgan) ครั้งละ 1-2 เม็ด
การป้องกัน
ออกกำลังกายเป็นประจำโดยเฉพาะการวิ่ง การกระโดดเชือก หรือจะใช้วิธีบริหารอื่นๆ (ดูหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 70,71,72) หรือจะใช้วิธีกดจุด (ดูหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 74)
สำหรับผู้ที่ปวดประจำเดือนรุนแรงมากจนมีอาการคล้ายคนเจ็บหนักทุกครั้งที่มีประจำเดือน หรือไม่เคยปวดมาก่อน ควรตรวจภายใน (ตรวจทางช่องคลอด) และอาจต้องตรวจพิเศษเพื่อหาสาเหตุ เพราะอาการปวดประจำเดือนที่รุนแรงมักมีสาเหตุ อาจต้องกินยาคุมเพื่อไม่ให้ประจำเดือนมา หรืออาจต้องผ่าตัดเอาสาเหตุออก
สำหรับผู้ที่ปวดประจำเดือนแล้วมีไข้สูง โดยเฉพาะถ้าไม่เคยปวดประจำเดือนมาก่อน หรือถ้าเคยปวดมาก่อน แต่ปวดครั้งนี้รุนแรงมากกว่าและมีไข้สูงด้วย มักจะมีการอักเสบของมดลูกและปีกมดลูก ซึ่งมักจะเป็นอยู่ก่อนแต่ไม่รุนแรง พอมีประจำเดือนจึงกำเริบ ทำให้ปวดมากและไข้ขึ้น ซึ่งจะรู้ได้เพราะประจำเดือนมีสีช้ำเลือดช้ำหนองและมีกลิ่นเหม็น}
ก่อนมีประจำเดือนก็มักจะมีตกขาวที่มีกลิ่นเหม็นและมีลักษณะคล้ายหนอง เพราะมีเชื้อโรคที่ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ (การร่วมประเวณี) ไปทำให้ช่องคลอด มดลูก และปีกมดลูกอักเสบเล็กๆน้อยๆอยู่ พอมีประจำเดือนก็จะอักเสบมากขึ้น ถ้าทำได้ควรตรวจตกขาวหรือประจำเดือนที่ผิดปกติว่ามีเชื้อโรคอะไรบ้าง แล้วให้ยาเพื่อฆ่าเชื้อโรคนั้น ถ้าทำไม่ได้ อาจให้กินยาแอมพิซิลลิน (เม็ดละ 500 มิลลิกรัม) ครั้งละ 2 เม็ด ก่อนอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอน (วันละ 8 เม็ด) เป็นเวลาอย่างน้อย 5-10 วัน และให้สามี (หรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย) กินยาในขนาดเดียวกันด้วย
1.2 ปวดระหว่างประจำเดือน (ปวดท้องจากไข่ตก mittelschmerz) คือ อาการปวดบริเวณท้องน้อยข้างขวาหรือข้างซ้าย ซึ่งเกิดขึ้นประมาณกลางเดือน (ตรงกลางช่วงระหว่างประจำเดือน 2 ครั้ง) ตรงกับระยะเวลาที่ไข่ตก คือ มีการแตกของถุงน้ำรังไข่ (graafion follicle cyst) เพื่อปล่อยไข่ออกมา และมีเลือดออกจากรังไข่เล็กน้อย
อาการมักจะไม่รุนแรง และมักเป็นในผู้หญิงอายุน้อย แต่ในบางครั้งอาจรุนแรง ทำให้ต้องแยกจากโรคไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งมักจะแยกกันได้ เพราะอาการปวดระหว่างประจำเดือนมักจะเคยเป็นมาก่อน และเกิดขึ้นตรงกลางช่วงระหว่างประจำเดือน มักไม่มีไข้ และมักไม่มีอาการเบื่ออาหารและอาการคลื่นไส้อาเจียน
ถ้าไม่แน่ใจให้อดน้ำและอาหารไว้ก่อน กินแต่ยาพาราเซตามอลแก้ปวด ถ้าอาการทรุดลงๆ อาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ ควรไปโรงพยาบาล
1.3 ปวดท้องร่วมกับการขาดประจำเดือน ถ้ามีอาการดังกล่าว ควรไปตรวจที่โรงพยาบาล แม้จะไม่ใช่กรณีฉุกเฉินอาการปวดท้องที่ร่วมกับการขาดประจำเดือนได้ไม่นาน อาจเกิดจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก (ท้องนอกมดลูก) การเริ่มแท้งหรือมีการผิดปกติของประจำเดือน
ส่วนอาการปวดท้องที่เกิดในขณะตั้งครรภ์ (รู้ว่าตั้งครรภ์เพราะท้องโตขึ้น เต้านมโตขึ้น และอาจมีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ในระยะแรก) อาจเกิดจากการตั้งครรภ์หรือไม่ก็ได้
ถ้าไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์มักจะมีอาการทางอุจจาระปัสสาวะ อาการไข้ (ตัวร้อน) หรืออาการอื่นๆร่วมด้วย ให้ดูการตรวจรักษาตามหัวข้ออื่นๆ ของอาการปวดท้อง
ถ้าเกิดจากการตั้งครรภ์ มักจะมีอาการเด็กดิ้นมากหรือดิ้นน้อยลงมาก หรือมีเลือดหรือน้ำออกทางช่องคลอด ซึ่งในกรณีดังกล่าว ถ้ามีอาการไม่มากนัก ให้นอนพักประมาณ 2-3 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรไปตรวจที่โรงพยาบาล
ถ้าเกิดในการตั้งครรภ์ระยะหลัง (ในขณะท้องแก่) อาจเกิดจากการปวดท้องคลอด (เจ็บท้องคลอด) ซึ่งอาจเป็นอาการเจ็บท้องคลอดเทียม (false labour pain) ซึ่งจะเจ็บไม่สม่ำเสมอ ถี่บ้าง ห่างบ้าง แรงบ้าง ค่อยบ้าง ซึ่งมักจะเกิดก่อนอาการเจ็บท้องคลอดจริง (true labour pain) และต่างจากอาการเจ็บท้องคลอดจริง ซึ่งแต่ละครั้งที่เจ็บจะรุนแรง ขึ้นเรื่อยๆ จะนานขึ้นเรื่อยๆ และจะถี่ขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ที่ท้องแก่จึงควรรู้จักลักษณะอาการเจ็บท้องคลอดเทียมและจริงไว้จะได้ไม่เสียเวลาไปโรงพยาบาลหรือตามหมอมาทำคลอดในระยะที่ยังเจ็บท้องคลอดเทียมอยู่ โดยเฉพาะคนที่ตั้งครรภ์ (ท้อง) ครั้งแรก อาการเจ็บท้องคลอดเทียมอาจจะเกิดก่อนคลอดจริงๆ เป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่คลอดง่าย และมีอาการเจ็บท้องคลอดเทียมไม่นานก่อนคลอดจริง หรือผู้ที่มีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอดแล้ว ควรจะไปโรงพยาบาลหรือเตรียมคลอดได้
1.4 ปวดท้องร่วมกับการมีตกขาวที่มีกลิ่นเหม็นออกทางช่องคลอด มักเกิดจากการอักเสบภายในช่องเชิงกราน มดลูก ปีกมดลูก และช่องคลอด ให้การรักษาแบบข้อ 1.1 ที่ปวดประจำเดือน แล้วมีไข้สูง
ฉบับหน้าเราจะมาว่ากันด้วยเรื่องการปวดท้องประเภทที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหาร
(อ่านต่อฉบับหน้า)
- อ่าน 25,266 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้