• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยากับผู้สูงอายุ

ยากับผู้สูงอายุ


เครื่องจักที่ถูกใช้งานมานานย่อมที่จะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ร่างกายคนเราก็มีสภาพดั่งเดียวกัน เมื่อมีอายุมากขึ้นมักจะมีปัญหาสุขภาพจึงไม่เป็นที่ประหลาดใจเลยที่มักจะได้ยินคำทักทายไต่ถามทุกข์สุขในเรื่องสุขภาพระหว่างกันในผู้สูงอายุ

สุขภาพของผู้สูงอายุแท้จริงแล้วมิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนปีของอายุที่ล่วงเลยไป บางคนอายุยังไม่ถึงวัยเกษียณก็อาจมีชีวิตที่รุมเร้าด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ตรงกันข้ามในบางคนที่อายุมากแล้ว แต่ยังมีสุขภาพที่แข็งแรงและสนุกสนานกับการทำงาน ทำให้ผู้พบเห็นกังขากับอายุจริงก็มีอยู่มาก ในเรื่องสุขภาพจึงขึ้นอยู่กับการปรับตัวของแต่ละบุคคล เพราะโดยปกติเมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะสำคัญๆ เช่น ตา หู การรับรู้ การรับกลิ่น การรับรส เริ่มที่จะเสื่อมสภาพ หลงๆลืมๆ ที่เคยเห็นกลับฝ้าฟาง ที่เคยได้ยินก็เริ่มตึงเสียแล้ว รวมทั้งที่เคยชื่นชมกับการกิน การชิม อาหารระดับดาว ก็จะรู้สึกเบื่อไม่เจริญอาหารเหมือนเช่นเคย บางคนถึงกับเลิกกินเลยทีเดียว เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคขาดอาหารในผู้สูงอายุได้ซึ่งเป็นอาการที่มักไม่ค่อยมีใครนึกถึง จะมาสนใจอีกครั้งต่อเมื่ออาการนั้นนำไปสู่โรคอื่นๆที่ร้ายแรงกว่าที่จะเยียวยาได้ง่ายๆเสียแล้ว การดูแลสุขภาพในวัยสูงอายุจึงต้องเริ่มเอาใจใส่อย่างถูกต้อง อย่างเข้าใจ ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่วัยต้นๆของชีวิตเลยทีเดียว เพราะถ้าในวัยหนุ่มสาวเสพแต่สิ่งที่ทำลายสุขภาพ เช่น บุหรี่ ยาเมา ยาอี ยาโด๊ป ยาชุด เอาทั้งเชื้อโรค ทั้งกามโรค ซิฟิลิส ฯลฯ แน่นอนในช่วงวัยชราอาจต้องเผชิญด้วยโรคบางโรคที่ไม่สมควรจะเป็น

โอกาสในการใช้ยาของผู้สูงอายุจึงมีค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตาม เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพปัญหาการใช้ยาอยู่มาก เช่น การขาดแคลนยาที่จำเป็นต้องใช้ ขณะเดียวกันก็มีการใช้ยาที่ไม่จำเป็นมากเกินไป ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองการใช้ยายิ่งขึ้นไปอีก ก่อให้เกิดการสูญเสียเงินทอง ซึ่งพบว่ามูลค่าการบริโภคยาปัจจุบันมีค่าประมาณ 27,000 ล้านบาทต่อปี
ผู้สูงอายุในเมืองไทยจึงมีโอกาสที่จะผจญปัญหายาได้เช่นกัน ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็นสภาพดังนี้


เจ็บป่วย ที่ไม่ได้รับยา
ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้มักพบได้ในชนบท หรือคนยากจนในเมืองซึ่งมักเป็นโรคเรื้อรังที่ร้ายแรง เช่น วัณโรคปอด ปวดข้อ เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง แรกเริ่มที่มีอาการผู้ป่วยบางคนอาจเริ่มต้นรับการรักษากับทางโรงพยาบาลแต่อาการป่วยที่เรื้อรังประกอบกับความขัดสน หรือเกรงใจลูกหลาน จึงใช้วิธีหายากลางบ้าน กินยาชุดอันตรายที่กระจายในหมู่บ้านบ้างเท่าที่จะช่วยตัวเองได้ โดยไม่ได้รับยาที่เหมาะสม ทำให้อาการทรุดหนัก บางคนถึงขั้นเป็นอัมพาตนอนทรมานเป็นภาระต่อลูกหลานยิ่งนัก
แต่ตรงกันข้าม ผู้ป่วยสูงวัยบางกลุ่มที่มีสภาพเศรษฐกิจดีที่สามารถจะจ่ายค่าตอบแทนการรักษาพยาบาลได้ แต่จะมีความกลัวยามาแต่วัยต้นๆแล้ว เมื่อถึงคราวสูงวัยความเจ็บป่วยบางอย่างจำเป็นต้องพึ่งยาให้ถูกขนาด ถูกวิธี ครบระยะเวลากลับจะไม่ไว้ใจยา กลัวแพ้ยา กลัวอันตรายจากยา กินยาแต่ละครั้งจะกินเพียงครึ่งขนาด หรือจะไม่กินยาเลย ซึ่งจะเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาที่เหมาะสมเช่นกัน


ไม่เจ็บไม่ป่วย แต่แสวงหายา

ผู้สูงวัยกลุ่มนี้ชอบแสวงหายากินตามคำบอกเล่า คำโฆษณา ซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหามาก เพราะนอกจากจะเอาร่างกายไปเสี่ยงกินยาอันตราย โดยไม่มีความเจ็บป่วยแล้วยังตกเป็นเหยื่อดูดซับเงินของพ่อค้ายา ตั้งแต่พ่อค้ายาเร่ พ่อค้าร้านขายยา พ่อค้าโรงงานผลิตยาท้องถิ่น จนกระทั่งพ่อค้าระดับค้ายาข้ามชาติได้ง่าย เมื่อไม่นานมานี้ที่สหรัฐอเมริกาโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดการเพิกถอนและสั่งยุติการโฆษณาขายยาบำรุงชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวยาพิเศษที่มีอยู่ในยาที่โฆษณาโอ้อวดว่าชะลอความแก่ได้ว่าเป็นตัวยาอะไร แต่ขณะนี้บริษัทยาได้ทุ่มยานี้เข้ามาขายในบางประเทศแถบเอเชีย โดยคาดว่าสามารถทำกำไรได้มากเพราะมาตรการควบคุมและคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้มักหย่อนยานและมีเสรีในในการโฆษณามาก จึงน่าเป็นห่วงสุขภาพของผู้ชราชาวเอเชียทั้งปวง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีพฤติกรรมชอบเสาะแสวงหายามารักษาจนเป็นที่รู้กิตติศัพท์กันในหมู่ญาติ ซึ่งถ้าเกิดอาการป่วยขึ้นจริงๆอาจจะไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องในทันทีทันใดเพราะคิดว่า เป็นผลจากยาหรือเป็นอาการปกติของผู้สูงอายุเอง
ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องสุขภาพจะต้องให้ความสำคัญในการคุ้มครองดูแลสุขภาพโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่น แพทย์ เภสัชกร กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้สูงอายุเองก็จะต้องรู้เท่าทัน และมีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง อย่าให้ความกังวลในสุขภาพของผู้สูงวัยตกเป็นเหยื่อของผู้ฉวยโอกาส เช่น พ่อค้ายาที่คอยโฆษณาชวนเชื่อเพื่อขายยาเอาเงินกับผู้สูงอายุอย่างไม่เป็นธรรม เพราะสรรพคุณที่โฆษณามักเกินความจริง บางครั้งอาจก่อให้เกิดความเจ็บป่วยยิ่งขึ้น ถ้าหากยาที่ได้รับเป็นยาอันตราย


กินยาต้องติดตาม
ปัจจุบันมีตำรับยาที่ขายในท้องตลาดอยู่มากมายนับได้ถึงประมาณ 25,000 ตำรับ ทั้งผู้บริโภคยาเอง มีโอกาสเสี่ยงจากการได้รับยาอันตรายต่างๆจากหลายทางทั้งจากผู้รู้คือแพทย์ เภสัชกร และจากพ่อค้ายา ในการคัดเลือกยาให้ผู้สูงอายุโดยเฉพาะยาใหม่ๆจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องรู้ถึงฤทธิ์ข้างเคียงของยาที่เกิดกับผู้สูงอายุได้ เนื่องจากประสบการณ์ต่อฤทธิ์ข้างเคียงของยาใหม่ๆยังมีไม่มากจำเป็นต้องให้ผู้รู้ เช่น แพทย์ เภสัชกรเป็นผู้คอยให้คำแนะนำในการใช้อย่างถูกต้องเพราะแม้แต่กลุ่มยาที่ใช้กันมานานบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ในผู้สูงอายุได้ ดังแสดงในตาราง 1


                                                                        ตารางที่
1
 

ชื่อกลุ่มยา

อาการที่ไม่พึงประสงค์

1. กลุ่มยาแก้ปวด - ลดไข้

1.1 ไดพัยโรน และหรือยาที่มีไดพัยโรนผสม

 

1.2 เฟนิลบิวตาโซน และออกซีเฟนิลบิวตาโซน

 

1.3 ยาแก้ปวดผสมกาเฟอีน

 

 

 

1.4 ยาแก้อักเสบ แก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)

1.5 ยาแก้ปวดผสมยานอนหลับ

 

 

 

1.6 ยาแก้ปวดกับยากล่อมประสาท หรือยาคลายกล้ามเนื้อหดเกร็ง

 

- อาจเกิดผื่นแพ้หรือผิวหนังอักเสบ และทำลายระบบเลือด เม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแตก

- อาจเกิดไขกระดูกฝ่อ เม็ดเลือดขาวต่ำ กระเพาะอาหารทะลุ อ่อนแรง ผื่นขึ้น ปากเป็นแผล บวม

- ทำให้ติดยา กระวนกระวาย ตื่นเต้น วิตกกังวล เกิดความกลัว นอนไม่หลับ วิงเวียน ปวดหัว การรับความรู้สึกผิด (รู้สึกแปร่ง ชา) คลื่นไส้ อาเจียน

- โรคกระเพาะ ชีพจรเต้นเร็ว บางคนอาจมีชีพจรช้า ใจสั่น ความดันเลือดสูง หายใจลึกแรง

- ยานอนหลับทำให้ง่วงซึม ไร้สติ ที่สำคัญคือทำให้ติดยา เกิดอันตรายจากยาแก้ปวดเพิ่ม เป็นอันตรายถ้ากินร่วมกับสุรา

- ยาคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง อาจทำให้เกิดความดันในลูกตาสูง (อาจทำให้ตาบอดได้ถ้าเป็นโรคต้อหินอยู่ก่อนแล้ว) ถ่ายปัสสาวะลำบาก เกิดการคั่งของปัสสาวะ โดยเฉพาะผู้ที่มีต่อมลูกหมากโต ปากคอแห้ง ตื่นตกใจง่าย อ่อนเพลีย เป็นอันตรายถ้ากินร่วมกับสุรา

2. ยาแก้ไอที่เข้าทิงเจอร์ฝิ่น เช่น ยาน้ำดำ หรืออนุพันธ์ฝิ่น

- ทำให้ท้องผูก

3. ยาธาตุที่มีเหล้าปริมาณสูงๆ หรือยาดองเหล้า

- เสริมฤทธิ์รุนแรงกับยาบางตัวที่ใช้อยู่

4. ยาขับปัสสาวะบางชนิด

- อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียเกลือแร่ ท้องผูก

5. ยาลดความอ้วน (ระย่อม)

- จิตไม่ปกติสุข มักตื่นกลางดึก

6. ยานอนหลับบาบิทูเรต

- หลงลืมง่าย

7. ยากล่อมประสาท

- หลงลืม สับสน ซึม


นอกจากนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีอาการเจ็บป่วยหลายอาการ การรักษาจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ปัจจัยที่จะทำให้ยาเสริมฤทธิ์กันหรือยาต้านฤทธิ์กัน ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะในวัยนี้มีความเป็นไปได้สูง ดังที่แสดงในตาราง 2

                                                                      ตารางที่ 2 

ยาผสมระหว่างกัน

อาการที่ไม่พึงประสงค์

ยาลดกรด + ยาปฏิชีวนะ (เตตราซัยคลีน)

- ทำให้ฤทธิ์ฆ่าเชื้อของยาปฏิชีวนะลดลง ทำให้ได้ยาไม่ตรงขนาดรักษา

ยาลดกรด + ยาควินินดีน

- ควินินดีนถูกดูดกลับในไตอาจมีอันตราย

เหล้า + ยากล่อมประสาท

- เพิ่มฤทธิ์กล่อมประสาทอาจทำให้ไม่รู้สึกตัว

เคาลินเปกติน + ยาปฏิชีวนะ

- ลดฤทธิ์ยาฆ่าเชื้อ

ยาแก้หวัดสูตรผสม + ยาแก้หวัดสูตรผสม

- ง่วงซึม ปากคอแห้ง ตื่นตกใจง่าย ขนาดยามากขึ้นไปอาจเกิดอาการ


คาวมหลงลืมในการกินยาตามคำแนะนำของแพทย์ ก็เป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ถ้าไม่มีลูกหลานคอยตักเตือนด้วยแล้ว จะทำให้การรักษาสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร แต่บางคนไม่สนใจทำตามคำแนะนำด้วยเห็นว่าไม่สำคัญซึ่งถ้ามีอาการมากขึ้นก็จะเป็นที่หงุดหงิด และบ่นว่าจากลูกหลาน ก็จะทำให้กำลังใจของผู้สูงวัยจะเสียไปเปล่าๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการ “หวงยา” ของผู้สูงอายุบางคนกล่าวคือ เมื่อกินยาไปได้ระยะหนึ่งก็อยากจะเก็บยาไว้ใช้ในคราวที่มีอาการต่อไป ซึ่งถ้าเก็บยาไว้หลายๆชนิด อาจถึงขั้นสับสน หยิบยาผิดรักษา เป็นอันตรายในภายหลัง

วิธีการที่ดีที่สุดที่จะไม่ให้เกิดสภาพปัญหาการใช้ยาต่างๆดังที่กล่าวก็คือ การรณรงค์โดยทุกวิธีการเพื่อป้องกันมิให้ผู้สูงอายุเจ็บป่วยหรือมีสุขภาพเลวลง โดยการทำให้เกิดการรับรู้เท่าทันต่ออาการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น

- เมื่อมีการรับรส กลิ่น เสื่อม จะทำให้ไม่ค่อยอยากกินอาหาร ดังนั้น เพื่อการกระตุ้นการกินควรแต่งรสชาติอาหารให้น่ากินมากขึ้น เช่น การประกอบอาหารด้วยเครื่องเทศหรือเพิ่มรสชาติ

- การกินอาหารเร็วจะเป็นสาเหตุที่ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารและทำให้อาหารดูดซึมสารอาหารได้ครบถ้วน

- สาเหตุการขาดอาหารจำพวกโปรตีน ซึ่งได้จากพวกเนื้อเป็นส่วนใหญ่ นั้นเกิดจากผู้สูงอายุมักจะไม่ชอบกิน เนื่องจากมีความเหนียว หรือแข็งเกินกว่าฟันที่จะเคี้ยวกลืนได้ อาหารของผู้สูงอายุจึงต้องทำให้นุ่มพอจะเคี้ยวกลืนได้

- การไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำให้ใช้พลังงานน้อย ซึ่งนำไปสู่ความต้องการอาหารน้อยลง สารอาหารก็ได้น้อยลงตามไปด้วย

นอกจากทางกายแล้ว สภาพจิตใจก็ต้องให้การดูแลเอาใจใส่ เฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน ทำให้สภาพความใกล้ชิดในครอบครัวได้เหินห่างมากขึ้น ผู้สูงอายุมักจะถูกทอดทิ้ง กรณีนี้รัฐเองจะต้องเข้ามามีบทบาทรับผิดชอบมากขึ้น เพราะรัฐเป็นผู้ทำให้เกิดสภาพนี้ขึ้นและรัฐจะต้องถือคติว่า “หนุ่มสาวให้ใช้งาน แก่เฒ่าต้องดูแล” โดยจะต้องจัดสรรให้มี
1. สวัสดิการและการประกันสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยต้องให้ได้รับอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ให้เฉพาะแต่ข้าราชการทหาร ตำรวจ แม้ชาวนา ชาวไร่ กรรมกร ลูกจ้าง พ่อค้า ก็ควรจะได้รับเช่นกัน

2. มาตรการคุ้มครองผู้สูงอายุในเรื่อง ยาอันตราย ยาที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งป้องกันมิให้มีการใช้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมายในการโฆษณาชักชวนให้หลงบริโภคสินค้ายา อาหารเกินความจำเป็น

3. จัดให้มีชมรมผู้สูงอายุ คลินิกผู้สูงอายุ เพื่อให้บริการและการเพิ่มพูนความรู้ในการดูแลตนเองให้ถูกต้อง โดยจัดให้มีการกระจายไปทั่วถึงชุมชนจนถึงหมู่บ้าน

ช่วยกันคุ้มครองสุขภาพผู้สูงอายุเสียแต่วันนี้ เพราะเราอยากเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีในวันข้างหน้า

 

ข้อมูลสื่อ

93-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 93
มกราคม 2530
กลุ่มศึกษาปัญหายา