• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลเด็กออกผื่น

การดูแลเด็กออกผื่น


เด็กออกผื่น” หมายถึง เด็กที่ป่วยเป็นไข้และมีผื่นขึ้น ซึ่งมีอยู่หลายโรคด้วยกัน เช่น ส่าไข้ อีสุกอีใส หัด หัดเยอรมัน และไข้เลือดออก เป็นต้น ซึ่งผื่นของโรคที่กล่าวมาแต่ละอย่างมีลักษณะแตกต่างกัน

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการดูแลเด็กออกผื่นของอีสุกอีใสและหัดเท่านั้น เนื่องจากผื่นที่ปรากฏมีระยะเวลาที่เป็นอยู่นานวัน และยังมีความสัมพันธ์กับการเบื่ออาหารและเจ็บคอ เนื่องจากมีผื่นขึ้นบริเวณของทางเดินอาหารด้วย
“อีสุกอีใส” และ หัด” “เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโรคตัวเล็กที่สุดที่เรียกว่า ไวรัส มักพบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ขณะนี้ สามารถป้องกันโรคหัดได้ ด้วยการฉีดวัคซีนให้เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป ซึ่งฉีดครั้งเดียวสามารถป้องกันได้ตลอดไป

สำหรับอีสุกอีใสนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นทดลองเพื่อหาวัคซีนป้องกัน ซึ่งหมายความว่า “ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส” นั่นเอง แต่คนที่เคยเป็นอีสุกอีใสแล้วจะไม่เป็นอีกตลอดชีวิต
“ลักษณะผื่นของอีสุกอีใส” นั้น เมื่อแรกขึ้นจะเป็นตุ่มนูนเล็กๆ ต่อมาเปลี่ยนเป็นตุ่มใส และต่อมาตุ่มจะมีสีขุ่นขาว บางตุ่มจะแตกตกสะเก็ดเป็นสีดำและหายไปราว 6-7 วัน พบได้บริเวณกกหู หน้า ลำคอ แขน ขา ซึ่งบริเวณดังกล่าวนี้จะปรากฏผื่นหรือตุ่มหลายชนิดปนกัน เด็กจะรู้สึกเจ็บๆคันๆ ไม่อยากให้แตะต้อง บางรายผื่นขึ้นมากจนลืมตาไม่ขึ้น อ้าปากไม่ได้ ไม่อยากนั่งและนอนเพราะเจ็บ
สำหรับ “หัด” นั้น จะมีผื่นเล็กบ่งใหญ่บ้างลักษณะเดียวกัน กระจายอยู่บริเวณไรผม หลังหู ต้นคอ หน้าผาก แขน ลำตัว ประมาณ 4 วันจะหายไป เหลือแต่รอยดำๆไว้ และหายไปในที่สุด


การดูแลรักษา

การดูแลขณะออกผื่น มีความสำคัญเพราะนอกจากจะทำอย่างไรเด็กจึงจะไม่เจ็บไม่ร้องกวนและยอมกินอาหารแล้ว ยังต้องดูแลระมัดระวังในเรื่องความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการที่ตุ่มแตกตกสะเก็ดอีก การดูแลปฏิบัติดังนี้

1. ให้ดื่มน้ำอุ่นๆ เพื่อละลายเสมหะไม่ให้มาระคายเคืองผื่นบริเวณลำคอ ทำให้ไม่ไอ ซึ่งถ้าไอจะเจ็บคอมากขึ้น

2. ให้กินอาหารอ่อนๆ เช่น ไข่ตุ๋น สาคูกวน ข้าวต้มเละๆ โจ๊กไม่ใส่ผัก ไข่ลวก ถ้าเด็กไม่ยอมกินให้ป้อนนมสดหรือเครื่องดื่มอุ่นๆแทน ครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ แต่ถ้ายังไม่ยอมกินอีกให้งดไว้ก่อน ไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะขาดอาหาร

3. งดการอาบน้ำ ให้เช็ดบริเวณที่ไม่มีผื่นขึ้นด้วยผ้านุ่มๆเบาๆ แต่ถ้าผื่นขึ้นทุกบริเวณเต็มไปหมด ให้งดเช็ดตัว

4. ใส่เสื้อผ้าบางๆ สะอาด และหลวมเพื่อไม่ให้กดผื่น สำหรับผ้าปูที่นอนควรเป็นผ้าที่นิ่มๆ เปลี่ยนทุกวัน อย่าให้นอนแช่ปัสสาวะ

5. ระวังแมลงวัน อย่าให้ตอมผื่น ถ้ามีแมลงวันมากควรต้องกางมุ้งหรือใช้มุ้งครอบ (มุ้งประทุน)

6. ไม่ต้องใส่ยา หรือทายาทุกชนิด แม้แต่ยาเขียวเพราะผื่นเหล่านี้จะหายไปเอง

7. ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ แต่ถ้าเด็กกินยาเขียวแล้ว ต้องงดยาลดไข้ เพราะเป็นยาประเภทเดียวกัน

8. ถ้ามียาอื่นๆที่ได้รับจากแพทย์ให้กินตามสั่ง

อีสุกอีใสและหัด ถ้าไม่มีโรคแทรกจะหายไปเองในระยะเวลาดังกล่าว และเด็กจะกลับกินอาหารได้มาก อย่างที่เรียกกันว่า “ฟื้นไข้” ระยะนี้พยายามให้อาหารที่มีประโยชน์ทดแทนช่วงที่กินอาหารไม่ได้

 

ข้อมูลสื่อ

88-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 88
สิงหาคม 2529
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์