• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัวใจของเรา(ตอนจบ)

เรื่องนี้เขียนจากประสบการณ์เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะสูงวัยแล้วหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้เพราะโรคหัวใจนั้นไม่เลือกเพศเลือกวัย แต่จะกล่าวถึงเฉพาะโรค "หลอดเลือดหัวใจตีบตัน" ซึ่งเกิดกับตัวเองจนต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช

ฉบับที่แล้วได้เล่าถึงที่มาที่ไปของอาการต่างๆ ที่เกิดกับตัวเองจนกระทั่งต้องไปทดสอบสมรรถภาพร่างกายและการฉีดสีเอกซเรย์ ผลที่ออกมาก็คือหลอดเลือดหัวใจอุดตัน จะต้องเยียวยาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น

ได้เวลาผ่าตัด
วันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2548 (ก่อนผ่าตัด 3 วัน) แพทย์ให้ผมเข้าโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูความพร้อมของร่างกายอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าทุกอย่างพร้อมแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับน้ำตาลในเลือดก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ

วันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2548 ผมตื่นแต่เช้า ไม่มีความรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นเต้นเพราะได้เตรียมตัวเตรียมใจมานาน ประกอบกับมีความเชื่อถือในความสามารถและประสบการณ์ของแพทย์ที่จะทำการผ่าตัด ประมาณ 07.30 น. พยาบาลนำยาเม็ดชนิดหนึ่งมาให้กิน (ยานอนหลับ) แต่ผมก็ไม่หลับในเวลาสั้นๆ กว่าจะหลับ 09.00 น. ไปแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่เข็นเข้าไปในห้องผ่าตัด หลังจากนั้นก็หลับสนิทไม่รู้สึกตัวเลย

ทีมผ่าตัดผมมีนายแพทย์สมชาย ศรียศชาติ ศัลยแพทย์เป็นหัวหน้าทีม วิสัญญีแพทย์คือแพทย์หญิง อังกาบ ปราการรัตน์ และยังมีศัลยแพทย์ผู้ช่วยวิสัญญีแพทย์ผู้ช่วยพยาบาลประจำห้องผ่าตัด พนักงานวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

ศัลยแพทย์หัวหน้าทีมจะต้องมีประสบการณ์ในการผ่าตัดหัวใจ 5-10 ปีขึ้นไป ส่วนคนอื่นๆ นั้นจะต้องเข้ารับการอบรมมาโดยเฉพาะ และถูกฝึกให้ทำงานร่วมกันอย่างมีระเบียบและสอดคล้องกันเป็นอย่างดีเพื่อพยายามจะมิให้มีข้อผิดพลาดเลย ดังนั้นการผ่าตัดหัวใจจึงจัดเป็นทีม ยิ่งทำงานร่วมกันนานๆ ไปก็ยิ่งดี ได้ยินพูดกันว่าทีมคุณหมอสมชายนี้จัดว่าเป็นทีมในฝัน (dream team) ตัวคุณหมอสมชายนั้นผ่าตัดหัวใจคนมามากมาย นานกว่า 10 ปี เกือบจะทุกวัน บางวันก็ 2-3 ราย ถ้าเป็นกรณีที่ใช้เวลาไม่มากนัก)

เวลาประมาณ 15.00 น. ผมรู้สึกตัวขึ้นในห้องไอซียู ตึกสยามินทร์ (อาคารเดียวกันกับห้องผ่าตัด) ไม่ รู้สึกเจ็บปวดที่ไหนมากมายนัก เพียงแต่รำคาญที่มีสายยางอยู่ในปาก ที่ไหล่ ที่แขน หน้าท้องและท่อปัสสาวะ หลังจากนั้นก็หลับๆตื่นๆ ไปเรื่อยๆ โดยมีพยาบาลมาให้ยาระงับปวด และยาอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่กระทำผ่านสายยางที่แขน ส่วนร่างกายยังเคลื่อนไหวได้เพียงจำกัด

สรุปว่าการผ่าตัดใช้เวลา 6 ชั่วโมงเศษ ทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ 4 เส้น โดยใช้หลอดเลือดดำที่ขาขวาซึ่งเลาะมาตั้งแต่เหนือตาตุ่มเล็กน้อยจนถึงโคนขา ตรงขาหนีบ และยังใช้หลอดเลือดแดงจากกระดูกหน้าอกอีกด้วย การผ่าตัดดังกล่าวต้องเปิดเข้าไปถึงหัวใจ โดยผ่ากลางกระดูกหน้าอกและถ่างออกจึงจะทำทางเบี่ยงหลายๆเส้นได้ ระยะนี้ต้องใช้หัวใจและปอดเทียมทำหน้าที่เพราะในขณะต่อเลือดต้องทำในขณะหัวใจหยุดเต้นชั่วคราว (แต่ถ้าเป็นการทำทางเบี่ยงไม่มากนัก เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบเพียง 1 เส้น ก็สามารถทำได้โดยหัวใจไม่ต้องหยุด ซึ่งขณะนี้แพทย์ไทยทำได้แล้ว ทำได้เป็นชาติที่ 3 ในโลก เก่งจริงๆครับ)

ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งจากการผ่าตัดครั้งนี้ก็คือคุณหมอพบว่ากระดูกหน้าอกของผมผิดปกติคือลอยๆ ไม่ติดแน่น อันเป็นผลจากการที่ผมขับรถไปชนอะไรเข้าจนปางตายเมื่อปี พ.ศ.2528 คุณหมอจึงเย็บกระดูกท่อนนั้นให้มันติดแน่นและเข้าที่เข้าทาง หลังจากที่คลอนแคลนมา 20 ปีเต็ม

ในระยะเวลา 4-5 วันหลังการผ่าตัดผมมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ คือเคลื่อนไหวได้มากขึ้น และไม่เจ็บปวดอะไรมากนัก เพียงแต่เจ็บหน้าอกมากเวลาไอ ซึ่งเป็นปกติวิสัยของผู้ที่รับการผ่าตัดใหม่ๆ (แต่แพทย์ได้ให้แขวนป้าย "ห้ามเยี่ยม" ไว้ที่หน้าห้องเนื่องจากเคยปรากฏว่าผู้ที่มีเพื่อนมากญาติแยะถูกเยี่ยมจนเกิดอาการไม่ดีมาหลายคนแล้ว) หลังการผ่าตัด 8-9 วัน คุณหมอเจ้าของไข้คือ นายแพทย์สมชาย ก็บอกให้ผมกลับบ้านได้ แต่ผมขออยู่ต่อไปอีก 4-5 วัน เนื่องจากอยากจะให้แข็งแรงพอจะช่วยตัวเองได้มากกว่านี้ เพราะกลับไปอยู่บ้านจะไม่สะดวกเหมือนอยู่โรงพยาบาลซึ่งมีผู้พร้อมบริการตลอดเวลา สรุปแล้วผมอยู่ที่โรงพยาบาล 18 วัน (รวมทั้งเวลา 3 วัน ที่เข้าอยู่ก่อนการผ่าตัด)

อนึ่ง แผลผ่าตัดที่หน้าอก และที่ขาแห้งสนิทไปประมาณวันที่ 12 หลังการผ่าตัด คุณหมอจึงลอกพลาสเตอร์ซึ่งปิดเอาไว้ออกและอีก 2-3 วัน ต่อจากนั้นก็ให้อาบน้ำโดยแผลถูกน้ำได้ ซึ่งก่อนหน้านั้นใช้วิธีขัดตัว โดยทั่วไปแล้วแผลทั้งสองแห่งจะหายเป็นปกติในระยะเวลา 6-8 สัปดาห์แต่ก็จะยังมีการเจ็บที่หน้าอกต่อไปอีกนานเพราะเป็นการผ่าตัดที่ลึกมาก

การปฏิบัติตัวระยะพักฟื้นที่บ้าน
- ระยะเวลาในการพักฟื้นที่บ้านน่าจะเป็น 6-8 สัปดาห์ อย่างน้อย
- สัปดาห์แรกยังไม่ควรมีกิจกรรมอะไร นอกจากนั่งๆ นอนๆ พักผ่อนเท่านั้น เช่น ขึ้น-ลงบันได วันละหลายๆ ครั้ง (ผมใช้วิธีค่อยๆ ลงบันไดไปชั้นล่างในตอนเช้า หลังจากกินอาหารแล้วก็พักผ่อนโดยการนั่ง-นอนดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ นอนหลับ กินอาหารแล้วก็ขึ้นบันไดไปข้างบนและอาบน้ำนอนแต่หัวค่ำเพราะยังอ่อนเพลียอยู่)
- ระยะแรกๆ มีสิ่งที่ห้ามเด็ดขาดคือการยกของหนักๆ เกิน 4-5 กิโลกรัม หรือผลักดันของหนักๆ เพราะกระดูกหน้าอกจะยังไม่ติดดีจนกว่าจะถึงประมาณ 7 สัปดาห์ การขับรถก็เป็นสิ่งที่ห้ามเช่นกัน
- สัปดาห์ที่ 2 ของการพักฟื้น ควรออกกำลังแต่พอสมควรเช่นการเดินในบริเวณบ้าน และเพิ่มระยะทาง ขึ้นเป็นลำดับ แต่ถ้ารู้สึกเหนื่อยต้องหยุด ห้ามฝืนเป็นอันขาด (สำหรับผมนั้นนอกจากการเดินแล้ว บางครั้งเปิดเพลงลีลาศในจังหวะที่ไม่ค่อยเหนื่อยเต้นอยู่คนเดียว พอรู้สึกว่าสมควรแล้วก็หยุด)
- การออกกำลังในระยะนี้เน้นการใช้ขา ส่วนออกกำลัง โดยใช้แขนยังไม่ควรทำเพราะจะรบกวนต่อการติดของกระดูกหน้าอก ในระยะเวลาต่อไปก็เพิ่มการออกกำลังมากขึ้นตามลำดับโดยไม่หักโหม การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่จำเป็น ควรกระทำไปโดยตลอดให้เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย
- การควบคุมความดันเลือดและหลีกเลี่ยงอาหารไขมัน เป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันขึ้นมาอีก ซึ่งต้องกระทำโดยเคร่งครัดตลอดไป นอกจากนี้การควบคุมอารมณ์และจิตใจก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

ขณะที่เขียนเรื่องนี้การผ่าตัดมาแล้ว 10 สัปดาห์ เริ่มใช้ชีวิตตามปกติแต่ระมัดระวังไม่ให้เหน็ดเหนื่อย และขับรถบ้างในระยะทางใกล้ๆ ส่วนการไปเดินตามศูนย์การค้าใหญ่ๆ นั่นเป็นสิ่งที่แพทย์แนะนำ เพราะถือว่าเป็นการผ่อนคลายและการออกกำลังไปด้วยกันในสถานที่ซึ่งมีอากาศสบายและบรรยากาศดี เมื่อเหนื่อยก็หยุดพักได้

แผลที่หน้าอกและขานั้นสะเก็ดหลุดออกหมดแล้ว กลายเป็นแผลเป็น ซึ่งคงจะจางตามระยะเวลา แต่บริเวณซี่โครงหน้าอกนั้นยังเจ็บๆอยู่บ้างเวลาเคลื่อนไหวแรงๆ ซึ่งจะต้องใช้เวลาเช่นกัน สำหรับความแข็งแรงของร่างกายนั้นขณะนี้ประเมินได้ว่าราวๆ 60 เปอร์เซ็นต์ของสภาพเดิม คิดว่าน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าจะเต็ม 100 เมื่อใดนั้นก็ยังบอกไม่ได้ แต่เชื่อว่าในที่สุดจะต้องดีกว่าก่อนผ่าตัดเพราะผมมีหัวใจหลอดเลือดที่ไม่ตีบตันแล้ว

ผมเขียนมายืดยาวและค่อนข้างละเอียด เพราะต้องการที่จะให้เป็นประโยชน์ต่อทุกท่านที่ได้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัยหรือยังอายุไม่มากนัก เพราะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน ไม่เลือกทั้งเพศ และวัย สุดท้ายนี้ขอกล่าวว่าการฉีดสีเพื่อตรวจหลอดเลือดหัวใจก็ตาม การผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงก็ตามมีความเสี่ยงน้อยมาก เนื่องจากความก้าวหน้าของยาและเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของแพทย์ไทยซึ่งไม่ด้อยกว่าใครทั้งสิ้น
 

ข้อมูลสื่อ

350-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 350
มิถุนายน 2551
พล.อ.ท.ระวีวงศ์ บุนนาค