ท้องเสีย กินยาอะไรดี?
ท้องเสีย คือ อาการถ่ายอุจจาระเหลว ถี่ผิดปกติ จนกระทั่ง ถ่ายเป็นน้ำ คนที่ท้องเสียมักจะเหนื่อยและอ่อนเพลียมาก อาจหมดแรงและร่างกายทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีอาการถ่ายมากและคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย เพราะร่างกายต้องสูญเสียทั้งน้ำและเกลือแร่ต่าง ๆ ไปอย่างรวดเร็ว
อาการท้องเสียเกิดจากสาเหตุมากมาย เช่น
1. เกิดจากความผิดปกติของอารมณ์และจิตใจ เช่น ตื่นเต้น มีความวิตกกังวล นักเรียนใกล้สอบ ต้องเดินทาง ถ้าท้องเสียจากสาเหตุนี้ มักจะเป็นไม่มากอาจบ่อยและเรื้อรัง แต่สุขภาพของร่างกายโดยทั่วไปยังคงปกติดี
2. เกิดจากการกินอาหารที่ไม่สะอาด เช่น กินผักสดที่ล้างไม่สะอาด อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารทะเลที่ไม่สด ดื่มน้ำที่ไม่สะอาดและไม่ได้ต้มสุก ฯลฯ ถ้ามีอาการท้องเสียพร้อมกันหลายๆคนในหมู่ที่กินอาหารด้วยกัน ก็มักจะมีสาเหตุมาจากอาหารเป็นพิษ ซึ่งปกติจะไม่ร้ายแรงนัก และอาจหายเองได้ โดยไม่ต้องกินยาฆ่าเชื้อ เพียงแต่กินยาแก้ท้องเสียก็พอ ยกเว้นในรายที่กินอาหารกระป๋องที่มีพิษเนื่องจากเชื้อคอสทิเดียมเท่านั้น ที่จะมีอันตรายได้
3. ร่างกายได้รับสารเคมีที่เป็นพิษบางชนิดเกินขนาด กรณีนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่เกิดจากการที่ร่างกายค่อย ๆ สะสมสารพิษนั้นไว้ในร่างกายทีละเล็กละน้อย จนถึงขนาดที่เป็นพิษต่อร่างกาย ทำให้เกิดอาการท้องเสียขึ้น บางทีเราอาจได้รับสารพิษจากอาหารที่มีสารนั้นสะสมอยู่ หรือเนื่องจากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารพิษนั้นๆ อยู่ แล้วเราค่อยๆ สูดดมเอาสารพิษนั้นเข้าไป ซึ่งเป็นปัญหาที่เราพบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน ตัวอย่างสารเคมีที่เป็นพิษ เช่น ปรอท แมงกานีส ตะกั่ว ฯลฯ
4. โรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น บิด ทัยฟอยด์ อหิวาต์, การติดโรคพยาธิบางชนิด ฯลฯ
5. กินยาบางชนิด เช่น กินยาถ่ายมากไป, ยาหลายชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ พวกแอมพิซิลลิน มีผลข้างเคียงทำให้ท้องเสียได้
6. อาการแพ้ของทางเดินอาหาร มักเกิดจากร่างกายของเราไม่สามารถย่อยอาหารชนิดหนึ่งชนิดใดได้ เช่น ในผู้ใหญ่ที่แพ้นมสด จะท้องเสียทุกครั้งที่ดื่มนมสด เพราะร่างกายขาดสารที่ย่อยน้ำตาลแลคโต๊สในนมได้, ในเด็กบางคนอาจแพ้นมผงบางชนิด ทำให้มีอาการท้องเสีย ทั้ง ๆ ที่การเตรียมการชงก็สะอาดถูกหลักอนามัย ต้องเปลี่ยนไปใช้นมผงชนิดอื่นแทน
7. อาการอักเสบหรือโรคเรื้อรังของทางเดินอาหาร
อาการที่ต้องนำส่งแพทย์โดยด่วน
1. มีอาการท้องเสียขึ้นมาทันทีอย่างรุนแรง อาเจียน แต่ไม่ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำซาวข้าว แสดงว่าเป็นโรคอหิวาต์ ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง
2. ท้องเสียแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ตาพร่า กลืนน้ำลายไม่ได้ น้ำลายฟูมปาก หายใจไม่ออก หลังกินอาหารกระป๋อง เกิดจากพิษของคอสติเดียม ในอาหารกระป๋องนั้น ต้องรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน ถ้าช้าอาจตายภายใน 24 ชั่วโมง
3. ท้องเสีย แล้วมีอาการคลื่นไส้ หน้ามืด ตัวเย็น กระสับกระส่าย มีอาหารปากแห้ง หมดแรง ไม่รู้สึกตัว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ
ในกรณีนี้ถ้าเป็นเด็ก จะสังเกตได้โดยที่เด็กจะซึมผิดปกติ ไม่ซน ถ้ามีอาการขาดน้ำมาก ๆ จะมีลักษ-ณะกระหม่อมบุ๋ม หมดแรง ผิวเหี่ยวย่น จับดูจะไม่สามารถตื่นตัวได้เร็ว
แต่ถ้าท้องเสียเพียงเล็กน้อย ไม่มีไข้ มีอาเจียนด้วยก็เล็กน้อย ไม่หอบเหนื่อย ปากไม่แห้ง ผิวไม่เหี่ยว ยังมีแรง มีสติ พอกินอาหารได้ ในเด็กก็ยังมีแรง ไม่ซึม เล่นได้ กระหม่อมไม่บุ๋ม ตาไม่ลึกโบ๋ ก็พอหายากินเองได้ แต่อาการท้องเสียควรจะดีขึ้นภายใน 2 วัน ถ้ายังไม่ดีขึ้น ควรไปหาหมอ
เมื่อมีอาการท้องเสียไม่รุนแรง ควรปฏิบัติอย่างไร
1. งดอาหารแข็ง อาหารรสจัด มันจัด ผัก ผลไม้ นม ถ้ายังกินได้ ก็ให้กินข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าวผสมเกลือร้อน ๆ แต่ถ้ากินไม่ได้หรือไม่อยากกิน ก็ให้ชงกลูโคลินผสมน้ำและเกลือเล็กน้อย ถ้าหาไม่ได้ ก็อาจใช้น้ำตาลทรายผสมกับเกลือก็ได้ หรืออาจดื่มน้ำชา (น้ำชาแก่ ๆ ช่วยได้มาก) ด้วยก็ได้ ในเด็ก ๆ อาจงดนมและอาหาร ให้ดื่มน้ำชา สลับกับน้ำเกลือ ซึ่งอาจเตรียมเองได้ โดยผสมเกลือครึ่งช้อนชากับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำต้มสุก 1 ลิตร (หรือ 1 ขวดแม่โขงกลม) แบ่งให้เด็กกินแทนนม
2. ควรดื่มน้ำสะอาดที่ต้มสุกแล้ว ถ้าดื่มอุ่นได้จะยิ่งดี ไม่ควรกินน้ำแข็ง เพราะจะทำให้มีอาการปวดท้องมากขึ้นได้
3. กินยาแก้ท้องเสีย ที่จะแนะนำต่อไปดู สัก 1-2 วัน ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ก็ควรไปหาหมอ ไม่ควรกินยาเองต่อไปแล้ว
4. อาการท้องเสีย ที่เกิดจากภาวะที่มีอารมณ์ตึงเครียด มีความวิตกกังวล ดังสาเหตุข้อแรกที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากกินยาแก้ท้องเสียแล้ว อาจกินยาไดอาซีแพม (ชนิดเม็ดละ 2 มิลลิกรัมหรือ 5 มิลลิกรัม ก็ได้ แล้วแต่จะมีความวิตกกังวลมากหรือน้อย) วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้าและก่อนนอนด้วย
ยาแก้ท้องเสียที่พอใช้เองได้
1. ยาที่ช่วยดูดซับพิษของเชื้อโรค เช่น คาโอลิน มิกซ์เจอร์ (Kaolin Mixture) หรือ มิกซ์ คาโอเพคติน (Kaolin et. pectin ) ขวด 180 ซีซี. ราคา 5 บาท
คาโอเพคตาล (Kaopecta)
คาโอเพคเตท (Kaopectate)
คาโอลีน เอท เบล (Kaolin et Bell) ขวด 180 ซีซี. ราคา 3.50 บาท
คาโอเพคตาล-เอ็น (Kaopectal-N) หรือ มิกซ์ เค-เพคติน-เอ็น (Mixt. K – pectin-N) ขวด 60 ซีซี. ราคา 6 บาท
บิสมัสโซดา (Bismuth et. Soda) ขวด 180 ซีซี. ราคา 10.50 บาท
ยาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทุกตัวออกฤทธิ์แก้ท้องเสีย โดยช่วยดูดซับพิษของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ใช้ได้ทั้งท้องเสียเนื่องจากอาหารเป็นพิษ หรือเนื่องจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงในคาโอลีน เอทเบล จะมีตัวยาช่วยลดอาการปวดเกร็งของลำไส้ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดท้องเวลาท้องเสีย ส่วนคาโอเพคติน- เอ็นมียาปฏิชีวนะ พีโอมัยซิน ผสมอยู่ ช่วยฆ่าเชื้อโรค อาจเลือกใช้ตัวใดตัวหนึ่งได้
วิธีใช้ เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ไม่แนะนำให้ใช้ยาเอง ควรพาไปหาหมอ
เด็กอายุ 6-12 เดือน ให้ครั้งละ 1/2 ช้อนชา
เด็กอายุ 1-3 ขวบ ให้ครั้งละ 1 ช้อนชา
เด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป ให้ครั้งละ 2 ช้อนชา ทุก 4-6 ชั่วโมง จนกว่าจะหยุดถ่าย
ผู้ใหญ่ กินครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ทุก 4-6 ชั่วโมง จนกว่าจะหยุดถ่าย ก่อนใช้ยาทุกตัวนี้ ต้องเขย่าขวดให้ตัวยาเข้ากันดีทั่วทุกครั้ง เพราะเป็นยาแขวนตะกอน
ถ้าเลือกใช้ 3 ตัวแรก อาจให้กินเท่าขนาดที่ระบุไว้ข้างต้น หลังถ่ายทุก ๆ ครั้งจนกว่าจะหยุดถ่าย
ข้อควรระวัง
ถ้าใช้ติดต่อกัน 2 วัน แล้วยังไม่หยุดถ่าย ควรไปหาหมอ และถ้าเป็นเด็กเล็ก ๆ (อายุต่ำกว่า 3 ขวบ) ควรพาไปหาหมอ และไม่ควรใช้ในคนไข้ที่มีอาการอุดตันของกระเพาะ ลำไส้ที่มีอาการปวดท้อง อาเจียน กินอาหารไม่ได้เลย
ถ้าหยุดถ่ายดีแล้ว ก็ไม่ควรกินยาต่อ เพราะอาจทำให้ท้องผูกได้
2. ยาที่ช่วยลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ ใช้แก้อาการท้องเสียที่มีอาการอาเจียน ปวดบิดท้องอย่างรุนแรง หรืออาการท้องเสียฉับพลัน และเนื่องจากอาหารเป็นพิษ ที่ไม่รุนแรงนัก แต่ช่วยฆ่าเชื้อโรค อาจให้ยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มนี้ร่วมกับยากลุ่มแรก เช่น คาโอลีนเพคตินได้ ยา 2 ตัวหลัง คือ โลโมติลและอิโมเดี้ยม เหมาะที่จะใช้รักษาอาหารท้องเสียในขณะที่เดินทาง
ยาในกลุ่มนี้ไม่ควรใช้บ่อย ๆ เพราะจะติดได้ และถ้าใช้รักษาอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ จะทำให้หายช้าลง เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในลำไส้นานขึ้น นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการท้องอืด ปากแห้ง ใจสั่น ตาพร่า มึนงงได้ ถ้าอาการท้องเสียหยุดแล้ว ไม่ควรกินยาต่อ เพราะจะทำให้กลับท้องผูก และไม่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์
3. ยาซัลฟา ยาซัลฟารักษาอาการท้องร่วง ท้องเสีย เนื่องจากการติดเชื้อมีอยู่ 2 ตัว เป็นยาสามัญประจำบ้านทั้งคู่ ใช้ได้ดีกับอาการท้องเสียจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงนัก เพราะยาซัลฟาทั้ง 2 ตัวนี้ จะออกฤทธิ์เฉพาะที่ลำไส้เท่านั้น
บางคนอาจแผลยาซัลฟา โดยจะมีอาการเป็นผื่นแดง คัน คล้ายเป็นลมพิษ หรือบางทีจะเกิดมีเม็ดใส ๆ ขึ้นตามปาก ตา ทวารหนัก ช่องคลอด ถ้าพบว่ามีอาการดังกล่าว ให้หยุดยาทันทีแล้วรีบไปหาหมอ
อย่างไรก็ตามอาการท้องเสีย ท้องร่วง เป็นอาการที่สามารถป้องกันได้ เพราะมักมีสาเหตุจากการกิน ถ้าเรารู้จักสุขอนามัยในการกิน โดยเลือกกินอาหารที่สุก สะอาด ร้อนๆ ไม่มีแมลงวัน ตอม ดื่มน้ำที่ต้มสุกแล้ว ถ้าต้องกินนอกบ้าน ก็ควรเลือกร้านที่สะอาด ถ้าจำเป็นต้องกินผัก ก็ควรล้างแล้วแช่ด้วยน้ำด่างทับทิม แล้วล้างออกให้เกลี้ยงด้วยน้ำสะอาด หลายๆครั้ง เพื่อช่วยให้ผักสะอาด และช่วยลดปริมาณยาฆ่าแมลง ที่อาจมีเหลือตกค้างอยู่ด้วย ถ้ารู้จักกินให้สะอาด และปรุงอาหารให้สุก ถูกวิธี เราก็จะปลอดภัยจากอาการท้องเสียได้ไม่ยากนัก
ยาต่าง ๆ ที่ได้แนะนำมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้รวมถึงยารักษาอาการท้องร่วง ท้องเสีย เนื่องจากเป็นบิด ซึ่งเราจะนำมากล่าวถึงในโอกาสต่อไป
- อ่าน 237,416 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้