• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาต้นตำรับ...ราคาสูง?

คำถาม ทำไม? ยาต้นตำรับ..จึงมีราคาสูง จะเป็นยาที่ดีกว่ายาอื่นๆ หรือไม่?

ยาต้นตำรับ

ยาต้นตำรับ (original drugs) หมายถึง ยาที่ผลิตโดยบริษัทที่เป็นผู้วิจัยคิดค้นยาชนิดนั้นๆ ขึ้นมา หรือบริษัทที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรในการวิจัยและพัฒนายาชนิดนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ของยาต้นตำรับจะเป็นยาจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น

บริษัทผู้คิดค้นยาชนิดใหม่ให้แก่วงการแพทย์ หรือยาต้นตำรับนี้มีคุณประโยชน์ต่อการรักษาความเจ็บป่วย ของชาวโลกอย่างมาก ทำให้วงการแพทย์มียาชนิดใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าของวิทยาการสมัยใหม่ ช่วยเพิ่มทางเลือกในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการได้

ประกอบกับในการคิดค้นยาใหม่แต่ละชนิดจะต้องมีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ตั้งแต่การสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ การนำไปทดลองฤทธิ์และพิษของยากับสัตว์ทดลอง ถ้าพบว่ามีการปลอดภัยและมีฤทธิ์ที่ต้องการ ก็จะทำการศึกษาฤทธิ์และพิษยาต่อในคนที่มีสุขภาพดี ซึ่งนับเวลาตั้งแต่คิดค้นยาใหม่จนกระทั่งผ่านการทดลองฤทธิ์และความปลอดภัยแล้ว จึงจะได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและ (อย.) ให้สามารถจำหน่ายได้

การคิดค้นยาใหม่มาสัก 1 ชนิด จึงต้องทุ่มเททั้งเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ตามข้อตกลงระหว่างประเทศจึงให้เจ้าของสิทธิบัตรการคิดค้นยาใหม่นี้ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองการค้นพบเป็นสิทธิบัตรยา ซึ่งได้รับการรับรองให้สิทธิห้ามผู้ผลิตรายอื่นๆ มาผลิตยาเลียนแบบเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนการคิดค้นยาใหม่ชนิดนั้นเป็นต้นมา

ยาต้นตำรับ..มักมีราคาสูง
จากค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนายาใหม่ ซึ่งใช้ระยะเวลายาวนานและเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีผลต่อราคายาต้นตำรับที่มีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับยาที่เลียนแบบ (metoo drugs) หรือยาสามัญ (generic drugs) และบริษัทยามักใช้เป็นเหตุผลอ้างในประเด็นราคายาต้นตำรับมีราคาแพง ว่า มาจากการทุ่มทรัพยากรในการวิจัยและพัฒนายาใหม่

ระยะเวลาที่ได้คุ้มครองจากสิทธิบัตรยา ตั้งแต่จดทะเบียนประมาณ 15 ปี และโดยปกติเมื่อยาออกสู่ตลาดจะมีระยะเวลาเหลือประมาณ 5 ปี ซึ่งไม่มียาเลียนแบบออกมาสู่ตลาด จึงเสมือนมียาชนิดนั้นจากผู้ผลิตเพียงรายเดียวในตลาด ถ้ายาชนิดนั้นมีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการของแพทย์ในการสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วย ผู้ผลิตยาต้นตำรับชนิดนั้นก็เสมือนได้ผูกขาดยาชนิดนี้แต่เพียงผู้เดียว และเพื่อต้องการให้ผลตอบแทนจากการลงทุนวิจัยและพัฒนายาใหม่ให้คุ้มค่าและให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงตั้งราคายาให้สูงที่สุด ที่แพทย์และผู้ป่วยยอมจ่าย และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ยาต้นตำรับจึงมักมีราคาสูง

จากประสบการณ์ของผู้เขียน สังเกตว่ายาใหม่ๆ ที่ออกวางตลาดในปัจจุบัน มักมีราคาสูงมากขึ้นๆ เม็ดละหลายสิบบาท (แต่กินวันละ 1-2 ครั้ง) จะหายาที่เป็นยาต้นตำรับและเม็ดละบาทสองบาท คงหายากในยุคปัจจุบัน

อีกประเด็นหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อราคายาของยาต้นตำรับ ก็คือกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ซึ่งได้แก่ ค่าโฆษณา ค่าประชาสัมพันธ์ การจัดอบรมวิชาการ การแจกตัวอย่างให้ทดลองใช้ การแจกของชำร่วย การส่งเสริมการตลาดด้วยเภสัชกร การทัศนศึกษาและดูงานทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

มีรายงานว่า ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการ ส่งเสริมการตลาดเพื่อให้แพทย์ได้รู้จัก จดจำได้ และสั่งจ่ายยาใช้กับผู้ป่วย รวมทั้งสิ้นเป็นเงินที่มีมูลค่ามากกว่า ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนายาใหม่เสียอีก ซึ่งสรุปได้ว่า บริษัทยาใช้จ่ายเงินเพื่อส่งเสริมการตลาดมากกว่าเสียค่าวิจัยและพัฒนายาเสียอีก ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่แฝงอยู่ในราคายาต้นตำรับ ทำให้ราคายาต้นตำรับมีราคาสูง

ยาต้นตำรับ..มักมีราคาสูง จะเป็นยาที่ดีกว่ายาอื่นๆ จริงหรือ?
โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า "ยาต้นตำรับหรือยาที่ผู้ผลิตคิดค้นมาด้วยตนเอง จะรู้จักยาชนิดนั้นดีกว่าผู้อื่น จึงมีความสามารถหรือมีความชำนาญในการผลิตให้ได้ยาต้นตำรับที่มีคุณภาพดีกว่าผู้ผลิตรายอื่น" ซึ่งข้อนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นจริง แต่ไม่ใช่ทุกกรณี

อีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องพิจารณาควบคู่กันไป คือเรื่องราคายาและคุณภาพ ซึ่งเรารับรู้แล้วว่ายาต้นตำรับมักมีราคาสูงกว่ายาสามัญที่ทำเลียนแบบ แต่คุณภาพของยาต้นตำรับส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างจากยาสามัญที่ทำเลียนแบบอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันขั้นตอนการผลิตยาทั้งหมด จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานการผลิตยาที่ดี (Good Manufacturing Practice หรือ GMP) ซึ่งมีขั้นตอนการผลิตที่ถูกสุขอนามัย ตลอดจนมีการตรวจวิเคราะห์ยาให้ได้ตามมาตรฐานสากลทั้งยาต้นตำรับและยาสามัญ จึงจะสามารถนำสู่สถานพยาบาลและโรงพยาบาลได้

ประเทศไทยและนานาชาติพยายามส่งเสริมให้มีการใช้ยาสามัญแทนยาต้นตำรับกันมากขึ้น ทั้งนี้เพราะคุณภาพได้ตามมาตรฐานทั้งสองชนิด แต่ชนิดหนึ่งราคาแตกต่างจากอีกชนิดหนึ่งเป็นจำนวนมาก ประเทศเหล่านั้นต้องการคงคุณภาพการรักษาและต้องการประหยัดงบประมาณ จึงเลือกใช้ยาสามัญมาทดแทนยาต้นตำรับเป็นจำนวนมาก

จากประสบการณ์ของผู้เขียนก็พบว่ายาสามัญให้ผลการรักษาได้ใกล้เคียงกับยาต้นตำรับ และประหยัดกว่า

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่สนับสนุนความจริงนี้ก็คือ โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งนิยมใช้ยาสามัญแทนยาต้นตำรับ เพื่อลดต้นทุนราคายา แต่ไม่ค่อยได้ลดราคาขายยาให้กับผู้ป่วย การใช้ยาสามัญในโรงพยาบาลเอกชนจึงช่วยให้โรงพยาบาลได้ผลกำไรมากขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนมักนิยมจ่ายยาต้นตำรับให้กับผู้ป่วยที่โรงพยาบาล แต่ที่คลินิกของแพทย์กลับใช้ยาสามัญเกือบทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของยาพร้อมๆ กับลดค่าใช้จ่ายที่คลินิกของตนเอง เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียจากราคายาที่สูงขึ้นโดยตรง ต่างจากที่โรงพยาบาลซึ่งแพทย์จะนิยมใช้ยาต้นตำรับมากกว่ายาสามัญ เพราะยาต้นตำรับมักมีกิจกรรมทางการตลาดที่ดีกว่ายาสามัญ

ยาสามัญ...มักมีราคาต่ำกว่า และได้ผลในการรักษาที่ดีเช่นกัน
จึงขอสรุปว่า ยาสามัญได้ผลในการรักษาที่ดีเช่นกัน แต่ราคาต่ำกว่ายาต้นตำรับ
อย่างไรก็ตาม มียาบางชนิดที่ยาต้นตำรับมีความแตกต่างจากยาสามัญในด้านการรักษาอย่างเห็นได้ชัด แต่กรณีเช่นนี้พบได้น้อยมาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ อย. มีหน่วยงานรับผิดชอบแก้ไขปัญหานี้ โดยติดตามและไม่อนุมัติให้ยาที่ไม่ได้มาตรฐานออกสู่ตลาดให้เป็นอันตรายกับผู้ป่วยเป็นอันขาด

ยาต้นตำรับจะปรับลดราคายาเมื่อมีคู่แข่งขันในตลาด
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ทางการตลาด ก็คือ ถ้ามีบริษัทคู่แข่งนำยาเลียนแบบหรือยาสามัญมาวางตลาดแข่งขันกับยาต้นตำรับ จะพบว่า ราคายาของยาต้นตำรับเริ่มอ่อนตัวลง (ราคาถูกลง) เมื่อมีคู่แข่งเข้ามาสู่ตลาด

ดังนั้น การเลือกใช้ยาอย่างพอเพียงจึงควรเลือกใช้ยาสามัญมากกว่ายาต้นตำรับ เพราะจะช่วยตนเองและประเทศชาติประหยัดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศได้อย่างมากมาย และขอทวนหลักการซื้อยาให้มีราคาย่อมเยา ซึ่งย่อจากครั้งก่อน ดังนี้

1. จำเป็นไหม?
ควรเลือกใช้ยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ด้วยการซักถามถึงประโยชน์หรือข่อบ่งใช้ของยาแต่ละชนิด ทั้งในด้านจำนวนชนิดของยา และปริมาณยา และไม่ควรใช้ยาเมื่อไม่จำเป็น เพราะยาเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดคุณและโทษได้ในขณะเดียวกัน สมกับคำว่า "ยามีคุณอนันต์ มีโทษมหันต์"Ž

2. ใช้อย่างไร?
หมายถึง ระยะเวลาในการใช้ยา ซึ่งมีทั้งแบบใช้ยาอย่างต่อเนื่องกันในโรคเรื้อรัง แบบใช้ยาติดต่อกันจนหมดในโรคติดเชื้อ และแบบใช้ยาเมื่อมีอาการในการบรรเทาอาการ โดยเฉพาะในแบบหลังสุดนี้ ไม่ควรใช้เมื่อไม่มีอาการ

ตัวอย่างหนึ่งที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญ คือ ยานอนหลับ ที่แพทย์นิยมสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยใช้ก่อนนอน ซึ่งไม่ควรใช้ประจำ ควรใช้เฉพาะเมื่อนอนไม่หลับเท่านั้น ถ้าวันไหนง่วงนอนและหลับได้ด้วยตนเอง ก็ไม่ควรใช้ยา เพราะอาจเกิดอาการติดยานอนหลับได้ ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ

3. ซื้อที่ไหน?
ข้อนี้แนะนำให้หาข้อมูลราคายาจากหลายแหล่ง แล้วเลือกตัดสินใจซื้อจากแหล่งที่เหมาะสมที่สุด และส่วนใหญ่พบว่า ยาจากร้านยาหรือโรงพยาบาลรัฐบาลมักมีราคาถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิก

เรื่องราคายา เป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญของวงการสุขภาพไทยที่ยังต้องพึ่งยาอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับยามีราคาแตกต่างกันมากตามแหล่งที่จ่ายยา จึงควรเลือกสถานที่จ่ายยาที่คุ้มค่าเงินที่สุด และควรพิจารณาใช้ยาสามัญแทนยาต้นตำรับด้วย เพราะยาสามัญประหยัดเหมือนแก๊สรถยนต์ที่ราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินในปัจจุบันอยู่หลายเท่าตัว

ข้อมูลสื่อ

351-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 351
กรกฎาคม 2551
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด