ช่วงที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสไปชมงานวันเกษตร ประจำปี 2551 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในงานมีพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ มาจำหน่ายมากมาย รวมทั้งไม้ดอกชนิดต่างๆด้วย ผู้เขียนแวะชมร้านกล้วยไม้ ได้ชื่นชมความงามของดอกกล้วยไม้หลากหลายชนิดซึ่งล้วนแล้วแต่สวยสดงดงามด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะกล้วยไม้ สกุลหนึ่งซึ่งได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งกล้วยไม้ นั่นคือ คัทลียา
คัทลียา : งามสง่าดั่งราชินี
คัทลียา เป็นกล้วยไม้อยู่ในสกุล Cattleya อยู่ในวงศ์ Orchidaceae ซึ่งเป็นวงศ์กล้วยไม้
คัทลียามีรูปทรงต้นคล้ายกล้วย คือมีลำต้นที่เรียกว่า ลำลูกกล้วย ซึ่งความจริงเป็นก้านใบ ส่วนลำต้น จริงเป็นเหง้า เช่นเดียวกับกล้วย ต่อจากลำลูกกล้วย (ก้านใบ) ก็เป็นใบ ซึ่งแต่ละลำลูกกล้วยอาจมีใบได้ 1 ถึง 3 ใบ แล้วแต่ชนิด ใบที่เจริญเต็มที่เป็นรูปใบพาย เส้นกลางใบเห็นเป็นร่องชัดเจน
ดอกออกที่ปลายยอดของลำลูกกล้วย ปกติจะมีซองดอกปรากฏออกมาก่อน แล้วจึงมีช่อดอกเจริญโผล่ออกมาจากซอง บางครั้งดอกก็ออกมาโดยไม่มีซอง หรือมีซองแต่ไม่มีดอกก็ได้ ดอกคัทลียาอาจเป็นดอกเดี่ยวในหนึ่งช่อหรือหลายดอก บางชนิดมีกลิ่นหอม บางชนิดก็ไม่มีกลิ่น
ดอกของคัทลียาแบ่งเป็นกลีบนอก 3 กลีบ และกลีบใน 3 กลีบ กลีบนอกอยู่ด้านบน 1 กลีบ และกลีบด้านล่าง 2 กลีบ ส่วนกลีบในอยู่ด้านบน 2 กลีบ และด้านล่าง 1 กลีบ กลีบในด้านล่างมีรูปร่างพิเศษ เรียกว่าปากหรือกระเป๋า เพราะขอบปีกจะม้วนเข้าทั้งสองข้าง และริมกลีบมักหยักเป็นคลื่นและมีสีเข้มกว่าส่วนอื่นๆ ภายในปากมีเส้าเกสรค่อนข้างยาวและ โค้งเล็กน้อยยื่นออกมา
ดอกคัทลียา เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกสรตัวผู้อยู่ตอนปลายเส้าเกสร มี 2 คู่ เกสรตัวเมียอยู่ตอนล่างรังไข่อยู่ติดกับเส้าเกสรด้านล่าง เมื่อผสมติดแล้วจะกลายเป็นฝัก มีเมล็ดขนาดเล็กเป็นผงจำนวนมาก เมื่อฝักแก่จัดจะแตกเมล็ดจะปลิวไปได้ไกล ๆ
คัทลียามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในป่า แถบอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ตั้งแต่เม็กซิโกลงไปถึงบราซิล
ชื่อคัทลียา มาจากชื่อของนาย William Cattley นักธรรมชาติวิทยา ที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ การปรับปรุงพันธุ์คัทลียา เริ่มทำครั้งแรกในประเทศอังกฤษ และเริ่มเป็นที่รู้จักกันในทวีปยุโรปราว พ.ศ. 2358 เกือบ 200 ปีมาแล้ว คัทลียาถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ช่วงรัชสมัย รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรป
คัทลียาที่พบในธรรมชาติมีอยู่ประมาณ 40 ชนิด ที่นิยมนำมาเพาะเลี้ยงราว 18 ชนิด ช่วงเวลาราว 200 ปีที่ผ่านมา คัทลียาได้รับการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ จนมีความหลากหลาย และงดงามยิ่งขึ้นมากมาย เพราะนอกจากจะผสมข้ามระหว่างคัทลียาต่างชนิดกันแล้ว ยังผสมข้ามไปสกุลข้างเคียงด้วย คัทลียาในปัจจุบันบางสายพันธุ์มาจากการผสมข้ามสกุลไปมาถึง 4 สกุล ทำให้เกิดลักษณะใหม่ๆ ที่แปลกตาและงดงามยิ่งกว่าเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ดอกคัทลียามีหลายสี เช่น ขาว เหลือง แสด ชมพู แดง ม่วง เขียว เป็นต้น บางดอกมีหลายสี โดยเฉพาะกลีบในล่างหรือปาก จะมีสีต่างจากกลีบอื่นๆ และมีหลายสีในปากเดียว นอกจากหลายสีแล้ว ความเข้ม - จาง ของสีในแต่ละกลีบก็ยังแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์
จากรูปทรงสีสัน และขนาดของดอกคัทลียา ซึ่งมีความงดงามเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น จึงทำให้คัทลียาได้รับการยกย่องเป็น "ราชินีแห่งกล้วยไม้" กลายเป็นสัญลักษณ์สากลของกล้วยไม้ที่ปรากฏในตราของสมาคมกล้วยไม้โลก สำหรับคนไทยคงรู้จักคัทลียาพันธุ์ "ควีน สิริกิติ์" ซึ่งผู้ผสมพันธุ์ได้ขอพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นับเป็นคัทลียาที่งดงามยิ่งสายพันธุ์หนึ่งของโลก
คัทลียาสามารถปลูกได้ดีในประเทศไทย และออกดอกได้ตลอดปี นอกจากมีความงดงามอย่างยิ่งแล้ว บางสายพันธุ์ยังมีกลิ่นหอมชื่นใจอีกด้วย
- อ่าน 18,727 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้