• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อ้อย: ดับร้อนผ่อนกระหาย

อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดโรคและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

 

อ้อย: ดับร้อนผ่อนกระหาย

พอพูดถึงนํ้าตาล ลูกกวาด เด็กๆ (รวมทั้งผู้ใหญ่บางคน) ก็ต้องร้องว่า อ๋อ! อร่อยจัง สุภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า “ดื่มนํ้าให้คิดถึงต้นนํ้า” เมื่อกินนํ้าตาล เราควรคิดถึงอ้อยเพราะเหตุว่า อ้อยเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดนํ้าตาล

ชื่อวิทยาศาสตร์ Saccharum offcinarum Linn. วงศ์ Gramineae

จีน เป็นประเทศที่รู้จักการปลูกอ้อยมานาน ก่อนที่มนุษย์จะมีภาษาสำหรับสื่อความหมาย (เกินกว่า 5พันปีมาแล้ว) ราว 400 ปี ก่อนคริสตศักราช ชวีเยวียน ได้บันทึกถึงการนำอ้อยมาคั้นกิน ในหนังสือ จาวหุนฟู่ เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึง ฉาวพี (โจผี) ในสามก๊ก เป็นกษัตริย์ที่โปรดปรานอ้อยเป็นที่สุด ขณะเมื่อปรึกษางานแผ่นดินกับอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ พระองค์จะเคี้ยวอ้อยและปรึกษางานไปพร้อมๆ กัน

ชาวจีนรู้จักกรรมวิธีการเคี่ยวนํ้าตาลจากอ้อยมาเป็นเวลานานกว่า 2,000 ปี ดังบันทึกไว้ในหนังสือ หนานฟางฉ่าว มู่จ้วง โดยการนำเอานํ้าอ้อยไปตากแดดก็จะได้นํ้าตาลเหลวๆ ต่อมาได้พัฒนาโดยเอานํ้าอ้อยไปเคี่ยวจนเหลว และวิธีสุดท้ายที่บันทึกไว้ในหนังสือ จี้หมิงเอี้ยวสู คือ การนำเอานํ้าอ้อยไปเคี่ยวจนเหลวแล้วนำไปตากให้แห้ง กรรมวิธีการทำนํ้าตาลแบบนี้ เป็นพื้นฐานที่ทำให้เรารู้จักการทำนํ้าตาลจากอ้อยในยุคปัจจุบัน

จากการบันทึกในสมัยถัง ชาวจีนได้มีการปลูกอ้อยกันอย่างแพร่หลายและเริ่มมีอาชีพการทำนํ้าตาลจากอ้อยขายกันอย่างกว้างขวาง ต่อมาในปี ค.ศ. 754 (พ.ศ. 1297) เทคนิคการทำนํ้าตาลนี้ ได้แพร่เข้าไปในญี่ปุ่น โดยพระชื่อ ถางเจี้ยนเจิน หลังจากนั้นก็ได้แพร่ไปยังยุโรปตะวันตก อเมริกาใต้ และเอเชียอาคเนย์ นํ้าอ้อยเป็นยาสมุนไพรขนานหนึ่งที่นิยมใช้กันมากในหมู่นายแพทย์จีน

สรรพคุณ

นํ้าอ้อยมีรสหวาน คุณสมบัติเย็น(เป็นยิน) แก้ร้อนในกระหายนํ้า แก้ไอ และขับปัสสาวะ แก้พิษเหล้าเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคอแห้งกระหายนํ้า ไข้สูง ปัสสาวะน้อยและเหลือง อุจจาระแข็ง อาเจียน เป็นต้น

ตำรับยา

1. อาการไอขณะออกหัด : ต้นอ้อยแดง (ทั้งเปลือก ให้ตัดส่วนข้อทิ้ง) และหัวแห้ว จำนวนพอสมควร ต้มดื่มต่างนํ้าชา

2. ทางเดินปัสสาวะอักเสบ : นํ้าอ้อยคั้น นํ้าเง่าบัวคั้น อย่างละ 30 มิลลิกรัม ผสมกัน กินวันละ 2 ครั้ง

3. สตรีมีครรภ์อาเจียน : นํ้าอ้อยคั้น 1 แก้ว ใส่นํ้าขิง 1 ช้อนชา ดื่มวันละ 2-3 ครั้ง

4. คอแห้งกระหายนํ้า : ให้ดื่มนํ้าอ้อยบ่อยๆ หรือจะใส่นํ้าขิงลงไป เล็กน้อยก็ได้

5. กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง : นํ้าอ้อยคั้น 1 แก้ว ใส่นํ้าขิงลงไปเล็กน้อยวันละ 2-3 แก้ว

6. ท้องผูก : นํ้าอ้อยและนํ้าผึ้งปริมาณเท่ากัน ดื่มก่อนนอน

7. ทอลซิลอักเสบชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง : ใช้อ้อย หัวแห้ว รากหญ้าคาจำนวนพอประมาณ ต้มดื่มต่างนํ้าชา

สารเคมีที่พบ

ในอ้อยส่วนที่กินได้ 100 กรัม มีนํ้า 84 กรัม โปรตีน 0.2 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม คาร์โบไฮเดรท 12 กรัมแคลเซี่ยม 8 มก. ฟอสฟอรัส 4 มก. เหล็ก 1.3 มก.

นอกจากนี้ที่บริเวณยอดสุดของอ้อย (จุดเจริญเติมโต) มีวิตามินบี 1 236-563 ไมโครกรัม/100 กรัม (นํ้าหนักแห้ง) วิตามินบี 2 110-330 ไมโครกรัม/100 กรัม (นํ้าหนักแห้ง) วิตามินบี 6 10 ไมโครกรัม/100 กรัม (นํ้าหนักลด) และวิตามินบี 6 จะมีมากในลำต้นส่วนบนที่อ่อน นอกจากนี้ยังมีวิตามินซีที่ส่วนใบของอ้อน

ข้อควรระวัง

ผู้ที่ม้ามพร่อง มีอาการ ท้องอืด ท้องแน่น อาหารไม่ย่อย ลิ้นมีฝ้าหนาและขาว ถ้าไม่มีอาการดังกล่าวในตำรายา ไม่ควรดื่มนํ้าอ้อย (อาจดื่มได้บ้างเล็กน้อย โดยเติมนํ้าขิงลงไป)

หมายเหตุ

อ้อยที่เปลี่ยนสี (เหลืองเข้ม) มีรสเปรี้ยว หรือบูด ไม่ควรกิน ถ้าได้รับพิษจะทำให้อาเจียน ชัก หรืออาจถึงสลบได้

ข้อมูลสื่อ

73-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 73
พฤษภาคม 2528
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล