การเคลื่อนไหวของข้อ
ครั้งที่แล้วได้กล่าวถึงความหมายของข้อต่อ และการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆ เช่น ข้อไหล่ ข้อศอก ต่อไปนี้จะว่าถึงข้อต่ออื่นๆ ต่อไป
ข้อมือเป็นข้อที่เคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง คือ งอและเหยียด เอียงเข้าและเอียงออก และหมุนเป็นวงกลมการหวายมือและคว่ำมือ เป็นข้อต่อที่บริเวณข้อมือ ข้อศอก และระหว่างกระดูกแขนด้านนอกและด้านใน
ข้อมือ เป็นข้อที่บาดเจ็บได้ง่ายในกีฬาที่ต้องใช้มือจับไม้ตี เช่น ปิงปอง เทนนิส แบดมินตัน กอล์ฟ หรือกีฬาอื่น เช่น บาร์คู่ บาร์เดี่ยว วิดพื้น (ยกข้อ) เนื่องจากข้อมือเป็นข้อต่อที่มีแต่เส้นเอ็นผ่าน ไม่มีกล้ามเนื้อป้องกันอยู่รอบๆ จึงบาดเจ็บได้ง่ายมาก และหายลำบาก เพราะคนเราต้องใช้มืออยู่ตลอดเวลาในการทำกิจวัตรประจำวัน รวมทั้งการเขียนหนังสือและทำงานอื่นๆ ด้วย การเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายจึงควรมีผ้ารัดข้อมือ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
การบริหารข้อมือให้แข็งแรงอาจทำได้โดยบีบสปริงมือ
ข้อนิ้วและข้อของฝ่ามือ มีความสำคัญมากในการกำด้ามของไม้ตี หรือจับยึดห้อยโหนบาร์ มีกล้ามเนื้อเล็กๆ อยู่เต็มฝ่ามือ
การเคลื่อนไหวที่วิเศษมาก ซึ่งทำให้มนุษย์แตกต่างจากลิงชั้นต่ำคือ หัวมือแยกออกเป็นแนวตั้งฉากกับนิ้วทั้ง 4 ทำให้จับด้ามเครื่องมือกำได้แน่นมาก กำลังการบีบมือจึงมีความสำคัญ ในการทำให้การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
การบริหารมือนั้นทำได้หลายวิธี เช่น ใช้สปริงสำหรับฝึกกำลังมือ บีบปั้นดินน้ำมัน ฝึกกำลังมือ หรือออกแรงกำลูกเทนนิสให้แน่น
ข้อสะโพก การเคลื่อนไหวคล้ายคลึงกับข้อไหล่ แต่ข้อสะโพกมีความแข็งแรงมากกว่าข้อไหล่มาก จึงมีโอกาสเคลื่อนออกได้ยาก เราใช้ข้อสะโพกมากในการเตะตะกร้อ เตะลูกบอล กรีฑาชนิดต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการวิ่ง การกระโดดข้ามรั้ว การกระโดดไกล กระโดดสูง อย่างไรก็ดี ข้อสะโพกอาจบาดเจ็บได้จากการหกล้ม หรือการกระแทกโดยตรง
วิธีบริหารกล้ามเนื้อบริเวณข้อสะโพกให้แข็งแรงขึ้น คือการกระโดดเชือก ว่ายน้ำ และขี่จักรยาน
ข้อเข่า เคลื่อนไหวได้โดยการงอและเหยียด แต่ขณะที่ข้อเข่าอยู่ในลักษณะงอ ข้อเข่าจะมีความมั่นคงน้อยมาก
เนื่องจากเวลาเหยียดตรง กระดูกหน้าแข้งจะหมุนเพื่อให้ข้อเข่าอยู่ในท่าตรง เพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานได้น้อยลงการเหยียดข้อเข่าจึงมีความมั่นคงมาก การงอเข่าทำให้ข้อเข่าบาดเจ็บได้ง่าย การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายโดยต้องทิ้งน้ำหนักบนข้อเข่ามาก เช่น การเตะลูกบอล การกระโดด จึงจำเป็นต้องพยายามให้ข้อเข่าอยู่ในท่าเหยียดตรง แทนที่จะงออยู่และควรใส่สนับเข่า (ปลอก ผ้าพันยืดสำหรับสวมที่บริเวณเข่า)ไว้ เวลาเล่นกีฬาไม่ควรบิดข้อเข่ามากเกินไป และป้องกันการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายในพื้นที่เปียกหรือลื่น
กล้ามเนื้อด้านหน้า และด้านหลังต้นขา มีความสำคัญมากในการลดการบาดเจ็บของข้อเข่า จึงควรบริหารกล้ามเนื้อเหล่านี้ โดยนั่งยกถุงทรายที่วางอยู่บนปลายเท้า ขี่จักรยาน ก้าวขึ้นลงบันได (อย่าใช้ลิฟท์) นั่งยองๆ แล้วลุกขึ้นยืนตรง
ข้อเท้า เคลื่อนไหวได้โดยการงอ (กระดกลง) หรือเหยียด (กระดกขึ้น) และข้อต่อของฝ่าเท้ายังทำให้แหงนฝ่าเท้าเข้าและออกได้
พังผืดที่เชื่อมระหว่างตาตุ่มนอกเป็นพังผืดที่บางและไม่แข็งแรง จึงแพลงหรือฉีกได้ง่าย พังผืดที่ตาตุ่มด้านในแข็งแรงมาก แต่ถ้าเกิดการฉีกขาดกระดูกข้อเท้าอาจหักตามด้วย การแพลงที่ข้อเท้าด้านใน จึงต้องระมัดระวังมาก อย่างไรก็ตาม ข้อเท้าแพลงเป็นการบาดเจ็บที่พบบ่อย เนื่องจากข้อเท้าซึ่งมีขนาดเล็กเมื่อเทียบข้อสะโพกและข้อเข่าต้องรับน้ำหนักและแรงกระทบกระแทกเท่ากันหรือมากกว่าข้อที่กล่าวมาทั้ง 2 ข้อ การป้องกันข้อเท้า โดยใส่ปลอกหุ้มข้อเท้า (แองเคิ้ล) จึงมีความจำเป็นสำหรับกีฬาที่ต้องวิ่งกระโดดหรือเตะลูกบอล ข้อเท้าเช่นเดียวกับข้อมือ ไม่มีกล้ามเนื้อห่อหุ้มอยู่รอบๆ จึงต้องพึ่งรองเท้าที่หุ้มข้อเท้าได้มิดชิดและพยุงข้อเท้าได้ดี รองเท้าที่ดีสามารถลดการบาดเจ็บของข้อเท้าได้ดีมากทีเดียว
การบริหารข้อเท้าให้แข็งแรงอาจทำได้โดยทำการกระโดดเชือก
การเคลื่อนไหวของร่างกายยังมีการก้มลงและแหงนขึ้นไปข้างหลัง เอียงไปข้างซ้ายและขวา ซึ่งรวมทั้งการเคลื่อนไหวของคอและศีรษะด้วย โอกาสที่กระดูกสันลังจะบาดเจ็บที่ค่อนข้างมาก เพราะมีมนุษย์เท่านั้นที่เดินอยู่บน 2 ขา นั่งตัวเหยียดตรง และนอนหงาย หลังและคอจึงต้องตั้งตรงอยู่ตลอดเวลา และถูกฉุดด้วยแรงของแขนและขาเมื่อทำการออกกำลังกาย การเล่นกีฬาทุกชนิด ต้องคำนึงถึงการยืดหลังให้ตรงและให้เกิดการเคลื่อนไหวที่แขนขา แทนที่จะเคลื่อนไหวที่หลัง
การบาดเจ็บของหลัง ไม่เพียงแต่ทำให้ข้อต่อของหลังและหมอนรองกระดูกบาดเจ็บแล้ว ยังอาจทำให้รากประสาทที่ออกจากข้างกระดูกสันหลังถูกทับหรือถูกดึง ทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงที่แขนขา และเกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขาด้วย ซึ่งเป็นผลทำให้การเล่นกีฬาและการออกกำลังกายไม่ดีเท่าที่ควร และเกิดการบาดเจ็บที่ข้อต่ออื่นๆ ได้ง่าย ตามที่ได้กล่าวมาแล้วด้วย
การป้องกันไม่ให้หลังบาดเจ็บคือ ไม่ให้หลังก้มลงและบิดไปด้วย และสร้างคามแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อท้องและกล้ามเนื้อคอด้วยการว่ายน้ำ ยิมนาสติก
ข้อต่อที่ดี คือ ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้ตามแนวและทิศทางของโครงสร้างของข้อต่อนั้น และการเคลื่อนไหวจะน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น การออกกำลังกายจึงควรคำนึงถึงความรุนแรงของกีฬาหรือท่าการออกกำลังกายชนิดนั้น และไม่ควรแข่นขันกันระหว่างวัยที่แตกต่างกันมาก
และเมื่อเกิดการบาดเจ็บของข้อต่อใดข้อต่อหนึ่ง สิ่งที่ดีที่สุด คือการพักข้อต่อนั้นชั่วคราว โดยการนั่งพัก นอนพักพันด้วยผ้าพันยืด เอาไม้หรือเฝือกดามไว้ จนกว่าข้อต่อนั้นจะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ
- อ่าน 16,328 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้