• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลดความเจ็บปวดจากการคลอดบุตร

ลดความเจ็บปวดจากการคลอดบุตร

ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อกำลังย่างเข้าสู่การเป็นแม่ มักจะรู้สึกภูมิใจ แต่อีกส่วนหนึ่งก็จะมีความวิตกกังวลอยู่ในใจเสมอ โดยเฉพาะตอนคลอดบุตร และมักจะได้ยินคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่ามันช่างแสนเจ็บปวดทรมานแทบจะขาดใจ

ตอนที่ดิฉันเริ่มตั้งท้อง ก็มักจะมีคนโน้นคนนี้พูดให้ได้ยอนเสมอ ถึงเรื่องความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัสตอนคลอดบุตร ทำให้ดิฉันเกิดความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับคำบอกเล่าเหล่านั้น ทำให้คิดมาก ยิ่งคิดก็ยิ่งกลัวมาก ดิฉันนึกท้อถอยไม่อยากจะมีบุตร แต่คำว่าแม่นั้นยิ่งใหญ่นัก ดังนั้น ดิฉันจึงพยายามตัดใจ เลิกคิดกังวลถึงสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เกิดความกลัว

ดิฉันเริ่มไปฝากท้องกับโรงพยาบาลเมื่อท้องได้ 2 เดือน พยายามทำใจให้เป็นปกติ นึกเสียว่าเราอยู่ใกล้หมอและเวลามาคลอดก็มาคลอดที่โรงพยาบาล ถ้าเป็นอะไรไปหมอคงช่วยเหลือได้เต็มที่ นึกได้อย่างนี้แล้วพอทำให้ใจค่อยคลายกังวลลงไปบ้าง

เอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในระหว่างตั้งครรภ์ ได้ถูกรื้อออกมาจากตู้หนังสือ เมื่ออ่านพบก็นำมาปฏิบัติตามทุกอย่าง เป็นต้นว่า การพักผ่อน การรับประทานอาหาร การรับประทานยา และสิ่งหนึ่งที่สะดุดใจ คือ การออกกำลังกายหรือการบริหารก่อนคลอดบุตร ในหนังสืออธิบายไว้ว่า การฝึกกายบริหารก่อนคลอดมีประโยชน์มาก เพื่อช่วยให้คลอดอย่างธรรมชาติ โดยไม่มีความเจ็บปวดหรือลดความเจ็บปวดให้น้อยลง

ดิฉันเริ่มฝึกท่าบริหารสำหรับเตรียมคลอดตั้งแต่เดือนที่ 4 หลังการตั้งท้อง ดิฉันทำวันละครั้ง คือตอนช่วงเย็น หลังจากกลับจากทำงานแล้ว และทำงานบ้านเสร็จเรียบร้อยทุกอย่างแล้ว เพื่อให้หมดความกังวลจากสิ่งอื่นๆ เพราะตอนทำกายบริหารต้องทำในขณะที่จิตใจสบายและมีสมาธิ ดิฉันฝึกกายบริหารทุกวันโดยไม่เว้น แต่ไม่หักโหม ถ้าหักโหมมากอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กในท้องได้

ตั้งแต่นั้นมาทำให้ดิฉันเกิดความมั่นใจขึ้นว่าจะต้องเอาชนะความเจ็บปวดให้ได้ ถึงแม้คนในบ้านและสามีจะหัวเราะนึกขัน ที่ดิฉันต้องมาตั้งหน้าตั้งตาทำท่าแปลกๆ ก็ตาม จนกระทั่งย่างเข้าเดือนที่ 9 ใกล้ครบกำหนดคลอดเข้ามาทุกที และเริ่มสงสัยคล้ายๆ กับว่าเด็กไม่ได้กลับหัว เพราะเวลาคลำท้องดูพบก้อนแข็งๆ อยู่ใต้ชายโครงด้านซ้ายและใกล้ๆ หัวหน่าว คล้ายๆ เด็กเอาเท้าถีบอยู่ด้านล่าง แต่ได้รับคำยืนยันจากพยาบาลว่าเด็กเอาหัวลงแล้ว ดิฉันค่อยโล่งใจขึ้น เพราะถ้าคลอดท่าก้นอาจมีอันตรายต่อตัวเด็กได้มากกว่าการคลอดท่าหัวถึง 13 ท่า เพราะถ้าหัวเด็กมาติดตรงบริเวณเชิงกรามนานๆ อาจทำให้สมองเด็กขาดออกซิเจน จะทำให้เซลล์สมองของเด็กบางส่วนตายได้ และถ้าช่วยไม่ทันเด็กอาจถึงแก่ชีวิตได้ และนอกจากนั้นส่วนอื่นๆ ของร่างกายอาจได้รับอันตรายอีกด้วย เป็นต้นว่า แขน ขาหัก เลือดออกในสมองตับหรือม้ามแตก (นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 70)

ตอนนั้นประมาณตีหนึ่งกว่าๆ ของวันที่ 12 มีนาคม ดิฉันเริ่มปวดท้องเหมือนอยากจะเข้าส้วม พอสักพักก็หาย ไม่ถึง 5 นาที ก็เริ่มปวดใหม่ แต่ไม่มากนัก สามีจึงพาดิฉันไปโรงพยาบาล พอไปถึงก็เข้าห้องรอคลอดและได้รับคำยืนยันจากพยาบาลว่าเด็กไม้ได้เอาหัวลง ดิฉันได้ยินพยาบาลปรึกษาว่า เด็กคลอดท่าก้นมีอันตรายมากแต่ก็ต้องเสี่ยงกันหน่อย ทำให้ดิฉันใจไม่ดีเลย กลัวลูกจะเป็นอันตรายถึงชีวิต และอีกอย่างหนึ่ง กลัวความเจ็บปวดที่เด็กคลอดท่าผิดปกติ และในที่นั้นก็มีพยาบาลแค่ 2 คนเท่านั้นอยู่เฝ้ากลางคืน

อีกสักพักก็มีน้ำเดิน และไม่กี่อึดใจก็เริ่มปวดมีแรงเบ่ง พยาบาลจึงให้เข้าห้องคลอด ในห้องคลอดก็มีคนกำลังทำคลอดอยู่แล้วอีกคน ดิฉันก็เริ่มมีแรงเบ่งมากขึ้นทุกที และในขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงคนที่กำลังคลอดร้องอย่างเจ็บปวด ดิฉันนึกในใจว่า เราจะปวดมากมายขนาดนี้ไหมนะ

เมื่อพยาบาลทำคลอดเตียงข้างดิฉันเสร็จก็มาทำคลอดดิฉัน ความรู้สึกในขณะนั้น ปวด...แต่ปวดในที่นี้ไม่ได้ปวดมากมายอะไรอย่างที่ได้ยินได้ฟังจากที่เขาพูดกันมา เมื่อมีแรงเบ่งมากขึ้นเด็กก็คลอดออกมา แต่ติดอยู่ที่ศีรษะ ดิฉันรวบรวมพลังเพื่อให้เด็กออกมาให้ได้ พร้อมกันนั้นพยาบาลก็ให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ เป็นเวลาถึง 8 นาที เด็กถึงออกมา เด็กไม่หายใจ พยาบาลต้องใช้เครื่องมือช่วยหายใจ และเด็กอยู่ในความดูแลของทางโรงพยาบาล 5 วัน ส่วนดิฉันทางโรงพยาบาลให้กลับก่อน

ถ้าดิฉันคลอดในท่าปกติ ดิฉันคิดว่าตัวเองคงคลอดง่ายกว่านี้หลายเท่า แต่ถึงแม้ดิฉันจะคลอดในท่าผิดปกติ ก็พูดได้ว่าดิฉันประสบความสำเร็จในการเอาชนะความเจ็บปวดได้อย่างงดงาม ถ้าพูดถึงความเจ็บปวดขณะทำการคลอดนั้น มิได้เจ็บปวดมากมายอะไรเลย

จนกระทั่งบัดนี้ย่างเข้าเดือนที่ 2 แล้ว บุตรสาวของดิฉันอ้วนท้วนแข็งแรงดี อวัยวะทุกอย่างไมได้รับอันตรายจากการคลอดเลย ส่วนดิฉันก็แข็งแรงดีทุกอย่าง ดังนั้นดิฉันจึงอยากจะให้ความมั่นใจแด่เพื่อนหญิงทุกคนที่กำลังจะเป็นคุณแม่ ว่าอย่ากังวลเกี่ยวกับการเจ็บปวดในขณะที่คลอด และความมั่นใจดังกล่าวก็เนื่องมาจากผลของการบริหารก่อนคลอด ซึ่งให้ประโยชน์ คือ ลดความเจ็บปวดในขณะคลอด ทำให้ร่างกายแข็งแรงกระฉับกระเฉงในขณะตั้งครรภ์ ไม่ทำให้ปวดหลัง ทำให้จิตใจสบาย หลังคลอดบุตรแล้ว ส่วนต่างๆ ของร่างกายคืนสู่สภาพเดิมอย่างปกติ

เพื่อนหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ลองปฏิบัติการบริหารก่อนคลอดดูนะคะ แล้วท่านจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการลดความเจ็บปวดขณะคลอดบุตร (ท่าบริหารก่อนคลอด อยู่ในนิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 16 )

ข้อมูลสื่อ

76-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 76
สิงหาคม 2528
สุทีป หงสไกร