• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เวียนหัว มึนหัว หน้ามืด

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

เวียนหัว มึนหัว หน้ามืด

ครั้งที่แล้วได้พูดถึงขั้นตอนที่ 3 ในการหาและรักษาสาเหตุ อาการเวียนหัว มึนหัว แบบร้ายแรง และในครั้งนี้จะได้กล่าวถึงสาเหตุ อาการเวียนหัว มึนหัว แบบไม่ร้ายแรงต่อไป

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว มึนหัว แบบไม่ร้ายแรง ส่วนใหญ่แล้วจะไม่รู้สาเหตุ และมักจะดีขึ้นเองในเวลาไม่นานนัก จึงไม่จำเป็นที่จะต้องหาสาเหตุ แต่อาจจะแยกเป็นชนิดต่างๆ ได้ เช่น

1. อาการเวียนหัวบ้านหมุนเพราะเปลี่ยนท่า (benign positional vertigo) :

ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหมุนที่พบบ่อยที่สุด (ประมาณร้อยละ 25 ของคนไข้ที่มีอาการหมุน) คนไข้จะเกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุน เมื่อนอนพลิกตัวไปมา หรือเอี้ยวศีรษะไปมา อาการจะมากที่สุดเมื่อนอนตะแคงทับหูข้างที่ผิดปกติ อาการจะเป็นอยู่ประมาณ 5 นาทีแล้วก็หาย แต่ก็อาจเป็นอีกเมื่อเปลี่ยนท่า (อาการเวียนหัวบ้านหมุนจากสาเหตุอื่น แม้จะสัมพันธ์กับอาการเอี้ยวศีรษะ แต่ก็เกิดในภาวะอื่นด้วย) อาจจะตรวจให้แน่ได้โดย

วิธีตรวจของนัยเล็น-บารานี (Nylen-Barany maneuver) : ให้คนไข้นั่งอยู่บนเตียงตรวจ โดยกะให้ศีรษะและคอพันขอบเตียงออกมาเมื่อนอนลง ผู้ตรวจประคองศีรษะของคนไข้ไว้ ให้คนไข้นอนหงายลงทันที ผู้ตรวจประคองศีรษะของคนไข้ต่ำกว่าระดับเตียงประมาณ 45 องศา และหมุนศีรษะไปทางด้านหนึ่งด้านใด ประมาณ 45 องศา ถ้าคนไข้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนแบบที่แคยเป็น และอาการเวียนหัวบ้านหมุน อาการตากระตุกและอื่นๆ ตรงกับลักษณะของอาการเวียนหัวบ้านหมุนแบบไม่ร้ายแรง (ดู “มาเป็นหมอกันเถิด” หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 74) คนไข้ก็น่าจะเป็นอาการเวียนหัวบ้านหมุนเพราะการเปลี่ยนท่า อาการเวียนหัวบ้านหมุนจะเป็นๆ หายๆ อยู่หลายสัปดาห์ แต่อาการจะค่อยๆ ห่างออกแล้วหายไป

2. หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน (acute peripheral vestibulopathy acute tabyrinthitis)

ซึ่งเป็นอาการเวียนหัวบ้านหมุนที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวโดยไม่มีสาเหตุ และอาการจะคงอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน บางครั้งจะเกิดตามหลังอาการหวัด คนไข้จะมีอาการรุนแรง มีตากระตุก แต่อาการมักจะดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง แต่อาจคงอยู่ 7-14 วัน หลังหายจากอาการเวียนหัวบ้านหมุน ประมาณครึ่งหนึ่งคนไข้ จะมีอาการโงนเงนโซเซต่ออีกเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่ไม่มีอาการทางหูเลย

คนไข้บางคนอาจจะมีอาการเวียนหัวบ้านหมุนเป็นครั้งคราวไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจเรียกว่า หูชั้นในอักเสบเป็นๆ หายๆ (acute and recurrent peripheral vestibulopathy)

3. โรคมีเนีย (Meniere’ s disorder)

ซึ่งนอกจากจะมีอาการเวียนหัวบ้านหมุนแล้ว คนไข้จะมีอาการหูอื้อและหูตึงตามด้วย ในระยะแรกอาจจะรู้สึกตื้อๆ ในหู และปวดหูเมื่อได้ยินเสียงดัง เมื่อเป็นนานๆ เข้า หูอาจหนวก แต่อาการเวียนหัวบ้านหมุนจะหายไปเมื่อหูหนวกแล้ว

การรักษา : ให้รักษาอาการเวียนหัวบ้านหมุนด้วยยาและวิธีปฏิบัติดังได้กล่าวไว้ในฉบับก่อนๆ แล้ว ร่วมกับการให้นอนพักในท่าที่เวียนหัวน้อยที่สุด และมักนิยมให้งดของเค็ม (เกลือ) ด้วย

ในคนที่เป็นมาก และเป็นกับหูทั้ง 2 ข้าง ควรพิจารณาใช้สเตร็ปโตมัยซิน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อวันละ 2 กรัม เป็นเวลา 5-7 วัน เพื่อทำลายเส้นประสาทที่เลี้ยงหูชั้นในเสีย ในคนไข้ที่เป็นมากและเป็นข้างเดียว อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อทำลายหูชั้นใน หรือเส้นประสาทที่เกี่ยวข้อง

4. โรคอื่นๆ เช่น

4.1 พิษของยาต่อหูชั้นใน : มียาจำนวนมากที่กระทบกระเทือนหูชั้นใน ทำให้หูอื้อ หูหนวก หรือเวียนหัว เดินโซเซ เช่น สเตร็ปโตมัยซิน คานามัยซิน แม้แต่ยาที่ใช้แก้อาการเวียนหัว มึนหัว เช่น ไดเมนฮัยดรีเนต ก็ทำให้เกิดอาการเวียนหัว มึนหัวในคนบางคนได้ เพราฉะนั้นถ้าเกิดอาการเวียนหัว มึนหัวหลังการใช้ยา หรือในขณะที่ใช้ยาอยู่ ควรจะลองหยุดยาที่ใช้อยู่ดูก่อน ถ้าอาการเวียนหัว มึนหัวหายไปหลังจากหยุดยา ก็แสดงว่าอาการเวียนหัว มึนหัวน่าจะเกิดจากยานั้น

4.2 ศีรษะถูกกระทบกระเทือนมาก : การถูกตีหัว การหกล้มหัวฟาดของแข็ง อุบัติเหตุรถหรืออื่นๆ อาจทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือนมาก จนเกิดอาการเวียนหัว มึนหัวหลังจากเหตุการณ์นั้นได้ ในกรณีเช้นนี้ ควรจะหาหมอตรวจกะโหลกศีรษะและสมองให้ละเอียด ว่าต้องทำการตรวจรักษาพิเศษอย่างอื่นหรือไม่ ถ้ากินยารักษาอาการเวียนหัว มึนหัวสักพักหนึ่งแล้วไม่ดีขึ้น

4.3 หูน้ำหนวก (otitis media) คนที่หูชั้นกลางอักเสบ หรือเป็นหูน้ำหนวก ก็อาจจะเกิดอาการเวียนหัว มึนหัว หรือปวดหัวได้ ต้องรักษาอาการอักเสบของหูหรือหูน้ำหนวกให้ดีขึ้น โดยการกินยาและหยอดยาปฏิชีวนะเข้าในหูข้างที่เป็น หลังจากเช็ดหนองออกจากรูหูให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ (ยาหยอดหู เช่น ยาหยอดหูขององค์การเภสัชกรรม (introfurazone ear drops ขวดละ 2.50 บาท ใช้หยอดหูครั้งละ 1-2 หยด วันละ 2-3 ครั้ง) เมื่อหูน้ำหนวกหายแล้ว อาการเวียนหัว มึนหัวก็จะหายไป

4.4 กระดูกคอผิดปกติ : ทำให้กระดูกคอกดทับเส้นเลือดหรือเส้นประสาทบริเวณคอ อาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว มึนหัวได้ ดังนั้น ถ้าเกิดอาการเวียนหัว มึนหัวเวลาเอี้ยวศีรษะ เอี้ยวคอ ก็ให้นึกถึงสาเหตุนี้ และพยายามแก้ไขโดยใส่ปลอกคอป้องกันไม่ให้คอเคลื่อนไหวมาก แล้วต้องพยายามบริหาร (ออกกำลัง) ให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรงขึ้น จะได้ป้องกันไม่ให้กระดูกคอไปกดทับเส้นเลือดหรือเส้นประสาทบริเวณคอได้

4.5 โรคทางจิตใจ : ภาวะเครียดทางจิตใจ เป้ฯสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการมึน งง วิงเวียน โหวงเหวง หัวเบาๆ ได้ และเป็นสาเหตุของอาการเวียนหัวที่พบบ่อยที่สุด (มากกว่าครึ่ง) เช่น

ภาวะหายใจเกิน (hyperventilation syndrome) : ซึ่งทำให้เกิดอาการเวียนหัวที่พบบ่อยที่สุดในคนไข้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ในคนไข้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป การหายใจเกินก็เป็นสาเหตุที่พบบ่อยเป็นที่สองรองจากภาวะหูชั้นใน (และระบบประสาทที่เกี่ยวข้อง) ผิดปกติ

ในรายที่เป็นรุนแรง และฉับพลัน คนไข้มักจะมีอาการแน่น หายใจไม่สะดวก หรือหายใจไม่เต็มปอด ใจสั่น มึน งง หน้ามืด มือเท้าชา มือ เท้า แขนขา แข็งเกร็ง และรู้สึกตกใจกลัวมาก เมื่อตรวจและสังเกตคนไข้จะเห็นว่าคนไข้หายใจเร็วกว่าปกติ จึงทำให้เกิดภาวะหายใจเกินขึ้น

ในรายที่เป็นไม่รุนแรง จะวินิจฉัยโรคนี้ได้ยาก เพราะคนไข้จะมีอาการเป็นครั้งคราว นั่นคือ หายใจเร็วเป็นครั้งคราว หรือถอนหายใจ ลึกๆ บ่อยๆ ทำให้เกิดภาวะหายใจเกินขึ้น ทำให้มึนหัว เวียนหัว และมือเท้าชาได้

การรักษา: ในกรณีที่เป็นรุนแรงจนชัก หรือหมดสติ การฉีดแคลเซียมเข้าเส้นจะช่วยหยุดอาการชัก และแขนขาเกร็งได้อย่างรวดเร็ว และในกรณีที่คนไข้หายใจเร็วมาก การฉีดไดอะซีแพม 5-10 มิลลิกรัมเข้าเส้น ก็จะช่วยลดอาการของคนไข้ลงได้อย่างรวดเร็ว

ในกรณีอื่นๆ ผู้ให้การรักษาไม่ควรจะตกอกตกใจ เพราะจะทำให้คนไข้ตกใจกลัวมากขึ้น ควรพูดกับคนไข้อย่างสงบและหนักแน่น ไม่ต้องกลัวเดี๋ยวจะหาย ให้เอาถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกขนาดคลุมหัวได้ ครอบปากและจมูก (แนบปากถุงกับแก้มและคางให้แน่นพอสมควร) แล้วให้คนไข้หายใจเข้าออกยาวๆ ช้าๆ ในถุงนั้น สักพักเดียว อาการมือเท้าแขนขาเกร็งและชาจะดีขึ้น อาการกระสับกระส่ายและแน่น หายใจไม่ออก จะดีขึ้น แล้วในที่สุดคนไข้จะรู้สึกเป็นปกติ แต่อาจจะยังอ่อนเพลียเล็กน้อย

แนะนำให้คนไข้รู้จักวิธีใช้ถุงช่วยในการหายใจ เวลาเกิดอาการต่างๆ ดังกล่าว แล้วคนไข้จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการเวียนหัว แขนขาเกร็งและอื่นๆ ได้โอกาสต่อไป

ยาที่จะใช้ในกรณีนี้ ควรใช้ยาไดอะซีแพมครั้งละ ครึ่งเม็ด หลังอาหารเช้า-เย็น และ 1 เม็ดก่อนนอน ถ้ายังเวียนหัวมากหรือนอนแล้วเวียนหัว อาจให้ยาไดเมนฮัยดรีเนต อีก 1 เม็ดก่อนนอน

และให้คนไข้ออกกำลังกายเพิ่มขึ้นๆ และออกกำลังกายเป็นประจำ และถ้าในขณะใดรู้สึกตื่นเต้น กังวล หงุดหงิด หรือเครียด ให้กินยาไดอะซีแพม ครึ่ง-1 เม็ด ในขณะนั้น มิฉะนั้นอาจจะเกิดภาวะหายใจเกิน ทำให้แน่น หายใจไม่สะดวก มึนงง หน้ามืด มือ เท้าชาแข็ง ฯลฯ ได้

4.6 ภาวะความดันเลือดตก เมื่อเปลี่ยนท่า (orthostatic hypotension) ซึ่งทำให้เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืด เป็นลม เวลาลุกขึ้นเร็วๆ (เปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่ายืนเร็วๆ จากท่านอนเป็นท่ายืนเร็วๆ)

ถ้าเป็นเช่นนั้น ให้คนไข้เปลี่ยนท่าช้าๆ เช่น ถ้านอนอยู่ ก็ลุกขึ้นมานั่งสักพักก่อน จึงจะลุกขึ้นยืนหรือถ้านั่งยองๆ อยู่ แล้วจะลุกขึ้นยืน ควรยงโย่ยงหยก (ลุกขึ้นเล็กน้อย แล้วนั่งลงใหม่สัก 2-3 ครั้ง) ก่อนจะลุกขึ้นยืน เพื่อป้องกันอาการเวียนหัว หน้ามืดที่จะเกิดขึ้น

ภาวะความดันเลือดตก เมื่อเปลี่ยนท่า มักเกิดขึ้นเพราร่างกายอ่อนแอ อายุมาก (คนแก่) กินยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันเลือด เป็นต้น จึงจะต้องรักษาสาเหตุด้วย เช่น ถ้าเกิดจากยา ก็ต้องลดยา หยุดยา หรือเปลี่ยนยา ถ้าเกิดจากอายุมากหรือร่างกายอ่อนแอ ก็ต้องออกกำลังกายเพิ่มขึ้นและออกเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารให้เพียงพอด้วย

อาการเวียนหัว มึนหัว หน้ามืด เป็นอาการที่พบบ่อย และส่วนใหญ่ไม่ใช่อาการอันตรายที่จะเป็นเหตุให้ตายหรือถึงแก่ชีวิต จึงไม่ควรตกใจ พยายามศึกษาทบทวนวิธีตรวจรักษาที่ให้ไว้ จะสามารถตรวจรักษาอาการเวียนหัว มึนหัว หน้ามืดเกือบทั้งหมดได้ และต้องแนะนำให้คนไข้ออกกำลังเป็นประจำ พักผ่อนให้พอ กินอาหารให้พอ และควบคุมรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้ดี จึงจะไม่มีอาการเหล่านี้ได้

ข้อมูลสื่อ

77-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 77
กันยายน 2528
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์