• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยเหลือคนหมดสติ

การช่วยเหลือคนหมดสติ

เคยมีคนถามผมว่า วิงเวียนเป็นลมหมายความแค่ไหน บางคนก็แค่วิงเวียนนิดหน่อย หรือเป็นลมหน้ามืดทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าหมดสติก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย พูดไปแล้วหมดสติสำคัญมากกว่า เพราะถ้าอยู่ดีๆ หมดสติใครช่วยไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ ทีนี้อะไรบ้างที่ทำให้หมดสติ ก็ขอเชิญฟังคำอธิบายจาก ผศ.วัชราภรณ์ ทิสาสุนทร จากภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

นพ.วิชนารถ: การหมดสติมีลักษณะอย่างไรครับ

ผศ.วัชราภรณ์: ภาวะที่หมดสติ หมายถึง การที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หมดความรู้สึกทุกอย่าง อันนี้มีสาเหตุมาจากการที่สมองถูกกด ทำให้การทำหน้าที่ของสมองผิดปกติ

นพ.วิชนารถ: สมองทำหน้าที่ผิดปกติเกิดจากสาเหตุอะไร

ผศ.วัชราภรณ์: สาเหตุที่เราพบได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ผู้ป่วยพวกโรคเบาหวาน จะได้รับยาเพื่อลดน้ำตาลในเลือด บางรายได้รับยาแต่ได้รับอาหารไม่เพียงพอ ภาวะที่ขาดน้ำตาลในเลือด หรือน้ำตาลในเลือดต่ำลงไปก็จะเกิดภาวะผิดปกติได้ อันนี้แก้ไขโดยให้น้ำตาลแก่ผู้ป่วยก็จะฟื้นรู้สึกตัวได้

นพ.วิชนารถ: เพราะฉะนั้นใครกินยาเบาหวานต้องระวังไว้ หาน้ำตาลกินไม่ได้ก็ใช้น้ำหวานแทน แล้วมีสาเหตุอย่างอื่นอีกไหมครับ

ผศ.วัชราภรณ์: สำหรับสาเหตุที่เราจะพบได้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังมักจะเกิดในผู้สูงอายุ บางรายก็จะได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ แต่บางรายก็ไม่สะดวกขาดยาบ้าง พอขาดยาแล้วก็มีโอกาสทำให้ความดันสูงขึ้น เมื่อปล่อยให้ความดันโลหิตสูงขึ้นมากๆ โอกาสที่จะเกิดเส้นเลือดในสมองแตกได้ ที่เราเห็นกันว่าอยู่ดีๆ ก็ล้มเป็นอัมพาตลงไป

ส่วนพวกที่เป็นลมบ้าหมูจะเกิดอาการชักเกร็ง ในขณะที่เกิดอาการชัก ผู้ป่วยจะหมดสติได้ นอกจากนี้ในชนบทเราจะพบผู้ป่วยเป็นโรคมาลาเรีย เราจะพูดว่าเชื้อมาลาเรียขึ้นสมอง ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไข้หมดสติไปเหมือนกัน

นพ.วิชนารถ: แล้วกลุ่มอื่นมีอีกไหมครับ

ผศ.วัชราภรณ์: เราพบได้ในกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ถูกรถชนกระแทกล้มลงไปหมดสติ หรือในกลุ่มที่ถูกไฟดูด ถ้าถูกมากกระตุก คนไข้ก็จะหมดสติไป หรือคนที่มีโอกาสได้รับสารพิษต่างๆ เช่น เราเปิดแก๊สรั่วทิ้งไว้ ห้องไม่มีทางระบายแก๊สวนเวียนอยู่ในห้องนั้น ผู้ที่อยู่ในห้องก็ได้รับสารพิษนี้ทำให้เป็นลมหมดสติไป หรือผู้ที่อ่อนเพลียมากๆ แล้วไปอยู่ในบริเวณที่มีความร้อนจัดมาก เช่น ท่านออกกำลังภายในห้องที่ปิดหน้าต่างทั้งหมดก็ไม่ดี เพราะห้องนั้นร้อนมาก ท่านอาจจะเป็นลมหมดสติได้

นพ.วิชนารถ: ถ้าเผื่อเห็นคนนอนอยู่เฉยๆ จะรู้ได้อย่างไรว่าหมดสติ

ผศ.วัชราภรณ์: เรามีวิธีการตรวจง่ายๆ คือ ปกติถ้าผู้ป่วยหมดสติเขาจะนอนหลับตา เราก็ใช้นิ้วของเราเขี่ยขนตา หรือใช้สำลีม้วนให้เป็นชายแล้วเขี่ยตาขาว ถ้าผู้ป่วยหมดสติก็จะไม่มีการกระพริบตา

นพ.วิชนารถ: พวกเป็นลมบ้าหมูหมดสติแต่มันกระตุก ไปเขี่ยตาได้ไหมครับ

ผศ.วัชราภรณ์: ถ้าเราเห็นเขาชักเกร็งเป็นลมบ้าหมู เราต้องช่วยเขาก่อน เพราะคนไข้พวกนี้พอหมดสติจะกัดลิ้น หาวัสดุที่อยู่ใกล้ๆ เช่น ปากกา ช้อน พันผ้าก่อนแล้วสอดไปใต้ลิ้นระหว่างลิ้นกับฟัน เพื่อไม่ให้เขากัดลิ้น

นพ.วิชนารถ: ถ้าตรวจดูแล้วพบว่าหมดสติ ควรให้การช่วยเหลืออย่างไรต่อไป

ผศ.วัชราภรณ์: ก่อนที่เราจะให้การช่วยเหลือ ควรจะทราบวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยหมดสติ เราจะมีการช่วยเหลือเบื้องต้นคือ จะต้องช่วยเพื่อป้องกันการอุดตันทางเดินหายใจของผู้ป่วย เพราะว่าหมดสติแล้วเกิดมีสิ่งอุดตันทางเดินหายใจ อาเจียน ชัก น้ำลายฟูมปาก ไปอุดตันทางเดินหายใจ จะทำให้ผู้ป่วยขาดออกซิเจนได้

อีกจุดประสงค์หนึ่ง เราจะต้องรีบส่งผู้ป่วยไปรพ. เมื่อทราบวัตถุประสงค์แล้วก็จะมาถึงหลักการช่วยเหลือผู้ป่วยหมดสติ คือ ต้องดูในปาก ในจมูกมีสิ่งอุดตันไหม เช่น มีฟันปลอม ฟันหัก หรือเศษอาหารที่ผู้ป่วยอาเจียนหรือมีเลือด เราจะต้องพยายามรีบนำออก เอาเศษผ้าพันนิ้วเราแล้วล้วงออกมา เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะไปอุดตันทางเดินหายใจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

หลังจากนั้นดูว่าผู้ป่วยหายใจเองได้ไหม ถ้าหายใจเองได้เราก็ไม่ต้องผายปอด แต่ถ้าตรวจดูแล้วหายใจเองช้าหรือหยุดหายใจ เช่นผู้ถูกไฟฟ้าช็อต ผู้ป่วยจะหยุดหายใจ เราก็ต้องช่วยด้วยการเป่าปาก ซึ่งเป็นวิธีการหายใจที่ดีที่สุด และได้ผลมากที่สุด เมื่อดูการหายใจแล้วต้องดูว่าหัวใจเขาหยุดเต้นไหม

นพ.วิชนารถ: วิธีการอย่างไรที่ช่วยให้ทราบว่าหัวใจเขาหยุดเต้นหรือไม่

ผศ.วัชราภรณ์: เราอาจจะใช้การจับชีพจรบริเวณต้นคอหรือที่ข้อมือ ในผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้น เราต้องช่วยเขานวดหัวใจ อันนี้เป็นนาทีทองของเราที่จะช่วยให้เขามีชีวิตรอดหรือไม่ แต่ถ้าผู้ป่วยหายใจเองได้ หัวใจไม่หยุดเต้น จับชีพจรแล้วก็ปกติดีเราก็ไม่ต้องช่วยนวดหัวใจ เมื่อดูแล้วทางเดินหายใจสะดวกโล่งไม่มีสิ่งอุดตัน ก็จับผู้ป่วยให้นอนตะแคงเกือบคว่ำ ให้หันหน้าไปทางด้านใดด้านหนึ่งเพราะเกิดเขาอาเจียนออกมาเขาจะได้ไม่สำลักเข้าปอด ถ้าสำลักสิ่งอาเจียนออกมาเข้าปอดจะทำให้ผู้ป่วยเกิดปอดบวม ต้องเสียเวลารักษาโรคปอดบวมอีก หลังจากนั้นเราต้องรีบนำผู้ป่วยส่งรพ.

นพ.วิชนารถ: ระหว่างการนำส่งรพ. ควรปฏิบัติอย่างไร

ผศ.วัชรภรณ์: ต้องให้ความอบอุ่นเขา หาผ้าหนาๆ ห่ม และสิ่งสำคัญผู้ป่วยหมดสติไม่รู้สึกตัว ห้ามให้น้ำและอาหารทางปาก เพราะว่าจะสำลักเข้าปอด หรือในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติและเราดูแล้วทราบว่าหมดสติจากการดื่มสารพิษหรือยาพิษ หรือรับประทานยาเกินขนาดพวกยานอนหลับ สารพิษพวกดีดีที ให้นำสารพิษนั้นไปรพ. ด้วย แพทย์จะได้ให้ยาแก้ฤทธิ์กันได้

และในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปรพ. ถ้าเป็นกรณีเป็นผู้ป่วยที่หมดสติจากการประสบอุบัติเหตุ เราควรดูว่ามีกระดูกหักหรือไม่

นพ.วิชนารถ: เห็นคนหมดสติชาวบ้านชอบเอายาดม แอมโมเนียไปให้ดมจะเป็นยังไงครับ

ผศ.วัชรภรณ์: ในกรณีที่เป็นการหมดสติเพียงชั่วคราว พวกนี้แอมโมเนียยาดมช่วยได้

นพ.วิชนารถ: ก็สรุปได้ว่าถ้าพบคนหมดสติก็ต้องดูว่าหัวใจผู้ป่วยยังเต้นอยู่หรือเปล่า และคนไข้หายใจได้สะดวกดี ดูทางเดินของลมที่จะหายใจเข้าไปในปอดให้มันโล่ง ถ้าเผื่อหัวใจเต้น หายใจสะดวกรีบพาไปส่งรพ. แต่ถ้าเผื่อ 2 อย่างไม่ดี ก็ต้องรีบแก้ไขก่อน

ข้อมูลสื่อ

78-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 78
ตุลาคม 2528
นพ.วิชนารถ เพรชบุตร