• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาอย่างไรที่ไม่เหมาะสม

ยาอย่างไรที่ไม่เหมาะสม

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ผู้ใช้ยาต้องประสบอยู่เนืองๆ ก็คือ การได้รับข้อมูล ข่าวสารที่เกี่ยวข้องไม่ครบถ้วน ทำให้มีความรู้ในการพัฒนาตัดสินใจเลือดใช้ยาไม่พอ หรือ มีการโฆษณา การส่งเสริมการขายอย่างเสรีพลิกแพลง มุ่งเน้นเอาผลประโยชน์ทางธุรกิจการค้าเป็นสำคัญ ทำให้ประชาชนใช้ยาโดยไม่รู้จัก “ยา” อย่างแท้จริง เพราะรู้จักแต่ด้านดีของยาด้านเดียว และรู้แต่ชื่อทางการค้า ซึ่งมีชื่อแตกต่างกันมากมาย ทั้งๆ ที่เป็นตัวยาชนิดเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ยาปฏิชีวนะ แอมพิซิลลิน นั้น มีชื่อการค้าต่างๆ กันไม่น้อยกว่า 25 ชื่อทั้งๆ ที่เป็นตัวยาเดียวกัน หรือ ยาลดกรดในกระเพาะอาหารมีมากถึง 50 ชื่อ หรือ ยาแก้ปวดไดพัยโรนมีถึง 40 ชื่อ เหล่านี้เป็นต้น

ในปัจจุบัน ปรากฏแน่ชัดว่าคงยังมีสูตรตำรายาในท้องตลาดโดยทั่วไปที่ “ไม่น่าใช้” อันเนื่องมาจากไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ ทั้งๆ ที่บางสูตรตำรากระทรวงสาธารณสุขห้ามขึ้นทะเบียนอีกต่อไป เพราะไม่สมควรใช้ แต่ทว่าไม่มีผลต่อยาที่ขึ้นทะเบียนมาก่อนแล้ว

ฉะนั้น ประชาชนจึงต้องบริโภคยาที่ไม่มีประโยชน์ และไม่ปลอดภัยต่อไป หรือตัวยาบางชนิดเลิกใช้แล้วในประเทศต่างๆ มากมาย แต่ยังมีจำหน่ายในประเทศไทยเหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น องค์กรพัฒนาเอกชนทางด้านสาธารณสุขต่างๆ จึงได้ร่วมกันพิจารณาจัดทำ “รายการยาสาธารณสุขมูลฐาน” และ “รายการยาที่ไม่เหมาะสม” เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ตามโครงการรณรงค์เพื่อการใช้ยาที่เหมาะสมของประชาชน

สำหรับยาสาธารณสุขมูลฐานนั้น ได้จัดพิมพ์เป็น “คู่มือในการใช้ยาสาธารณสุขมูลฐาน” ออกเผยแพร่ต่างหาก ฉะนั้น บทความนี้จึงมุ่งเสนอเฉพาะ “รายการที่ไม่เหมาะสม” ซึ่งไม่สมควรที่จะใช้ต่อไป เพราะไม่ปลอดภัย ทำให้เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

“รายการยาที่ไม่เหมาะสม” นี้ ถูกจัดทำขึ้นโดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้ เอาสารรายการยาที่ไม่เหมาะสมตามกฏหมายใหม่ของบังคลาเทศ เอกสารสรุปผลการพบที่ปรึกษา องค์การอนามัยโลกของคณะกรรมการจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติ และจากประสบการณ์ความรู้ของนักวิชาการ และบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขจังหวัด โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสรุปได้ดังนี้ คือ

1. เป็นยาสูตรผสมที่กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยประกาศมิให้มีการขึ้นทะเบียนยาใหม่ แต่ทว่า สูตรตำรับเดียวกันที่ได้ขอขึ้นทะเบียนก่อนประกาศนี้ ก็ยังผลิตขายอยู่ทั่วไปอย่างกว้างขวาง

2. เป็นยาสูตรผสมที่ผิดหลักวิชาการ ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง และยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ยาด้วย

3. เป็นยาเด็กที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากเกินไป ซึ่งมีฤทธิ์ในการกดประสาทส่วนกลางของเด็ก หรือ มีตัวยาที่ขดขวางต่อการเจริญเติบโตของเด็ก

4. เป็นตัวยาที่มีอัตราเสี่ยงต่อพิษของยาสูง เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพของยา และประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ก็ห้ามมิให้มีการขายในประเทศของตน

จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จึงได้จัดทำเป็น “รายการยาที่ไม่เหมาะสม” ขึ้น และเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจจึงได้ประมวลรายการยาเหล่านี้เป็นกลุ่มให้ชัดเจน

ชื่อยาหรือสูตรตำรับยา

1) กลุ่มยาแก้ปวด-ลดไข้

  • 1. ไดพัยโรน และ/หรือยาที่มีพัยโรนผสม

เหตุผล

1. ไดพัยโรนทำลายระบบเลือด ทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแตก ไขกระดูกฝ่อ ร่างกายอ่อนแอ ติดชื้อได้ง่าย และอาจตายได้

2. สหรัฐอเมริกาเลิกใช้ยานี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ส่วนประเทศอื่นๆ ที่เลิกใช้แล้วได้แก่ออสเตรเลีย, สวีเดน, อังกฤษ, ญี่ปุ่น เป็นต้น

  • 2. ออกซีเฟนบิวตาโซน

เหตุผล

1. ทำให้ไขกระดูกฝ่อ เม็ดเลือดขาวต่ำ ติดเชื้อง่าย กระเพาะทะลุ และอาจตายได้

2. ประเทศที่เลิกใช้ยานี้แล้ว ได้แก่ นอรเวย์, ฟินแลนด์, อังกฤษ เป็นต้น

3. บริษัทผู้ผลิตคิดค้นยานี้ ได้เลิกผลิตยาตัวนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2528 แต่บริษัทอื่นๆ ที่ผลิตยาออกเลียนแบบยังผลิตและจำหน่ายยานี้อยู่

  • 3. เฟนิลบิวตาโซน

เหตุผล

1. ทำให้ไขกระดูกฝ่อ เม็ดเลือดขาวต่ำ ติดชื้อง่าย กระเพาะทะลุ และอาจตายได้

2. ประเทศที่เลิกใช้ยานี้แล้ว ได้แก่ นอรเวย์, ฟินแลนด์, อังกฤษ เป็นต้น

3. ประเทศผู้ผลิตคิดค้นยานี้ ได้กำหนดสรรพคุณจำกัดการใช้ในเฉพาะบางโรคเท่านั้น

  • 4. ยาแก้ปวดผสมคาเฟอีน

เหตุผล

คาเฟอีนที่ผสมอยู่ในยาแก้ปวด ทั้งรูปแบบยาซอง และยาเม็ด ทำให้ผู้ป่วยติดยา ซึ่งทำให้กินยาแก้ปวดมากเกินความจำเป็น เกินขนาด และเกิดอันตรายได้ เช่น กินแอสไพรินในยาสูตรเอพีซี มากเกินไป ทำให้กระเพาะทะลุ ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด

ส่วนพาราเซตามอลในยาสูตร เอพีซีใหม่ ทำให้เป็นโรคตับ ตัวเหลือง ตาเหลือง ตายได้

  • 5. ยาแก้ปวดผสมกับวิตามิน (มักอยู่ในรูปยาแก้หวัด ที่มียาแก้ปวดและผสมวิตามินซี)

เหตุผล

1. กระทรงสาธารณสุขเลือกปฏิบัติ โดยประกาศห้ามขึ้นทะเบียนผลิต แต่ยาที่ขึ้นทะเบียนก่อนหน้าประกาศนี้ยังคงให้ผลิตและจำหน่ายต่อไป

2. เป็นการใช้ยาเกินจำเป็น และเพิ่มภาระการขับถ่ายยาให้กับร่างกาย ตับ ไต ทำงานหนักขึ้น

  • 6. ยาแก้ปวด ผสมกับยานอนหลับ

เหตุผล

1. เป็นสูตรผสมที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศไม่ให้ขึ้นทะเบียนยาใหม่

2. ยานอนหลับที่ผสมอยู่ในยาแก้ปวด ทำให้ผู้ป่วยง่วงซึม ติดยา ไร้สติ ทำอะไรโดยไม่รู้ตัว และเมื่อติดยาก็จะทำให้ได้รับยาแก้ปวดพร้อมไปด้วยเป็นประจำก่อให้เกิดอันตรายจากยาแก้ปวดเพิ่มขึ้น

  • 7. ยาแก้ปวด ผสมกับยากล่อมประสาท

เหตุผล

1. เป็นสูตรผสมที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศไม่ให้ขึ้นทะเบียนใหม่

2. ยากล่อมประสาท ทำให้ผู้ป่วยง่วงซึม ติดยาได้ นอกจากนี้ ยาแก้ปวดที่ผสมอยู่ มักเป็นพวก ไดพัยโรน ซึ่งเป็นอันตรายมาก
 

2) ยาปฏิชีวนะ

  • 8. เพนิซิลลิน จี 5 แสน ชนิดเม็ด

เหตุผล

ยาชนิดนี้ตามหลักวิชาการ ต้องทำให้รูปยาฉีด เพราะถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหาร ดังนั้น การกินจึงไม่ได้ผล ยากินที่ถูกต้อง คือ ยาเพนิซิลลิน-วี

  • 9. คลอแรมเฟนิคอล ในรูปผง หรือน้ำเชื่อมสำหรับเด็ก

เหตุผล

ยานี้ใช้ได้เฉพาะภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะยานี้อาจทำให้ไขกระดูกฝ่อ เม็ดเลือดขาวต่ำ อาจตายได้ ดังนั้นในเด็กซึ่งระบบกำจัดยาไม่ดียิ่งเป็นอันตรายมาก

  • 10. เตตราซัยคลิน ในรูปผลน้ำเชื่อม หรือแคปซูล

เหตุผล

ยานี้ห้ามใช้ในเด็กต่ำกว่า 12 ปี เพราะจะทำให้เด็กฟันดำ กระดูกไม่เจริญ

  • 11. ยาปฏิชีวนะ ผสมกับวิตามิน

เหตุผล

1. เป็นสูตรผสมที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ให้ขึ้นทะเบียนใหม่

2. เป็นการใช้ยาเกินความจำเป็น และเป็นการเพิ่มภาระให้กับร่างกายในการขับถ่าย นอกจากนี้ วิตามินที่ผสมอยู่ยังทำให้ยาหมดอายุเร็วขึ้น เพราะความคงตัวของยาลดลง เป็นอันตรายต่อร่างกาย

  • 12. ยาสตีรอยด์ ผสมกับยาฆ่าเชื้อรา (ทารักษาโรคผิวหนัง)

เหตุผล

ยาสูตรผสมนี้ไม่ได้ให้ผลการรักษาดีกว่ายาเดี่ยว นอกจากนี้ กลับทำให้โรคลุกลามมากขึ้น

  • 13. ยาสตีรอยด์ ผสมกับยาปฏิชีวนะ

เหตุผล

ยาสูตรผสมนี้ไม่ได้ให้ผลการรักษาดีกว่ายาเดี่ยว นอกจากนี้ยังกลับทำให้โรคลุกลามากขึ้น และยาปฏิชีวนะที่ใส่เข้าไป ยังเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแพ้ยานั้นๆ ได้ ซึ่งเป็นอันตราย เมื่อไปกินยาหรือฉีดยาที่แพ้นั้น อาจทำให้แพ้จนช็อกตายได้
 

3) วิตามินสูตรผสม

  • 14. วิตามิน ผสมกับซัยโปรเฮปตาดีน หรือคีโตติเฟน (มักโฆษณาเป็นยาเจริญอาหารสำหรับเด็ก)

เหตุผล

ซัยโปรเฮปตาดีน และ คีโตติเฟน เป็นยาที่ไม่เหมาะสมเพราะกดการเจริญเติบโตของเด็ก

  • 15. ยาอนาโบลิคสเตียรอยด์

เหตุผล

ทำให้บวมน้ำ ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ในเด็กหญิงจะเกิดลักษณะผู้ชายขึ้น
 

4) ยาเด็กที่แอลกอฮอล์มากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์

16. ยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

เหตุผล

แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายยา ถ้ามีมากเกินไป ทำให้เด็กเมามึนงง ขัดขวางการพัฒนาการของสมอง ทั้งนี้เพราะตับ ซึ่งมีหน้าที่ทำลายสารพิษยังเจริญไม่เต็มที่ โอกาสเกิดอันตรายจึงมากกว่าผู้ใหญ่
 

5) ยาแก้ท้องเสีย

  • 17. คลิโอควินอล หรือยาผสมคลิโอควินนอล

เหตุผล

1. ยานี้ทำเกิดอาการข้างเคียงทำลายเส้นประสาท ทำให้ตาบอด แขน ขาลีบ

2. บริษัทผู้ผลิตคิดค้นได้เลิกผลิตยานี้แล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2528 และบริษัทอื่นๆ ที่ผลิตยาลอกเลียนแบบยังผลิตและจำหน่ายยานี้อยู่

3. ประเทศที่เลิกใช้ยานี้แล้ว ได้แก่ ญี่ปุ่น, นอรเวย์, เดนมาร์ก, สวีเดน, สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
 

6) ยากล่อมประสาท

  • 18. ยากล่อมประสาท ผสมกับวิตามิน

เหตุผล

1. เป็นยาที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศเช่นเดียวกับยาแก้ปวดผสมกับวิตามิเป็นการใช้ยาเกินความจำเป็นและเพิ่มภาระให้กับร่างกาในการขับถ่ายยา

  • 19.ยากล่อมประสาท ผสมกับยานอนหลับ

เหตุผล

ยาทั้งสองมีฤทธิ์กดสมองส่วนกลางทั้งคู่ถ้าใช้มาก นอกจากติดยาแล้ว ยังทำให้ไร้สติ มึนงง และหายใจไม่ออกถึงตาได้

ข้อมูลสื่อ

79-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 79
พฤศจิกายน 2528