• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ


                     

เอาอีกแล้วทำหน้าอย่างนั้นอีกแล้ว ก็มันปัสสาวะไม่ออกนี่

อย่ารีบร้อนนักซิ ใจเย็นๆ รถยังไม่ออกหรอกน่า

ไม่ใช่......มันไม่ออกเหมือนมีอะไรมาอุด หรือจะเป็นนิ่วเห็นปัสสาวะทีไรทำหน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่เสมอ

ครับ....คนที่ตั้งชื่อโรคนี้ว่า นิ่วไม่ทราบว่าเห็นคนเป็นโรคนี้แล้วทำหน้าตาหน้านิ่วคิ้วขมวดหรือเปล่า ( ใครทราบก็ช่วยบอกกันด้วยครับ )
ในบางครั้งขณะที่อยู่ในสถานที่สาธารณะ หรือกำลังทำงานติดพันอยู่จวนจะเสร็จ ท่านคงเคยปวดถ่ายปัสสาวะ ทำให้ต้องอดกลั้นจนหน้าซีดหน้าเซียวมาบ้างแล้ว แต่คนเป็นนิ่วที่กระเพาะปัสสาวะ
นั้นกับมีอาการตรงกันข้าม ไม่ได้อดไม่ได้กลั้น จะให้ถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก เบ่งอย่างไรก็ไม่ออก หรือออกบ้างก็ยากเย็นแสนเข็ญ

คิดดูซิครับว่ามันทุกข์ทรมานเพียงใด
ดังนั้น “โรคน่ารู้” ฉบับนี้จึงขอพาท่านมาพบกับ ศจ.นพ.อารี วัลยะเสวีผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่องนิ่วในทางเดินปัสสาวะ


⇔มาเข้าใจโรคนิ่ว
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า โรคนิ่วนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิดคือ
1.นิ่วในถุงน้ำดี

2.นิ่วในทางเดินปัสสาวะซึ่งมี 2 ชนิด
ก) นิ่วในไตและท่อไต
ข) นิ่วในกระเพาะปัสสาวะและท่อทางเดินปัสสาวะ

เพราะฉะนั้น เวลาคนที่ว่าเป็น โรคนิ่ว โรคนิ่ว จึงต้องรู้ว่า เป็นนิ่วที่ไหน


⇔แล้วทำไมชื่อนิ่วเหมือนกัน
อันนี้คงเป็นเพราะว่า ลักษณะเกิดนั้น เป็นก้อนคล้ายหินเหมือนกันจึงใช้เรียกชื่อเหมือนกันว่า นิ่ว
มันน่าแปลกนะครับ.......ก้อนหินมันเกิดขึ้นในร่างกายของคน
โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้นเป็นโรคที่ว่าไปแล้ว เป็นโรคที่ดึกดำบรรพ์ทีเดียว เพราะได้มีคนรายงานพบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะในโครงกระดูกศพมัมมี่ของประเทศอียิปต์ มัมมี่ตัวนั้นเข้าใจว่าเป็นเด็กชายอายุประมาณ 16 ปี ซึ่งตายมาแล้วประมาณ 7,000 ปี


⇔ มาทำความเข้าในระบบทางเดินปัสสาวะ
ก่อนที่จะพูดถึงนิ่วในทางเดินปัสสาวะก็ขอแยกให้เข้าใจว่า ทางเดินปัสสาวะนั้น เราแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนบนกับส่วนล่าง
ส่วนบน
ก็มีไตและท่อไต
ส่วนล่าง ก็มี กระเพาะปัสสาวะ และท่อทางเดินปัสสาวะ
โรคที่จะกล่าวถึงในทางเดินปัสสาวะจึงมี นิ่วในไต และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

   


⇔ชายหญิงใครเป็นนิ่วมากกว่ากัน
นิ่วในไต หญิงชายเป็นได้เหมือนกัน แต่ในอัตราส่วนชายเป็นมากกว่า
แต่นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะ เท่าที่พบจากคนไข้ที่มารักษาจะเป็น ขาย 8 ถึง 10 คนต่อหญิง 1 คน ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะว่า ท่อปัสสาวะในผู้ชาย ยาวกว่าและคดเคี้ยวกว่า ส่วนของหญิงนั้นสั้นและตรงกว่า หญิงจึงถ่ายออกได้ง่ายกว่า ส่วนชายมักออกยาก จึงมีโอกาสทำให้ตะกอนนิ่วติดในทางเดินปัสสาวะได้ง่าย


⇒นิ่วในไตและในกระเพาะปัสสาวะจะจัดเป็นโรคเดียวกันได้หรือไม่ ?
ควรจะจัดเป็นคนละโรค ด้วยเหตุผลที่ว่า
1.ลักษณะของการเกิดโรคนิ่วนั้น นิ่วในไตมีอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน แต่นิ่วในกระเพาะปัสสาวะมีอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลางและเอเชีย

2. นิ่วในไตจะเกิดในผู้ใหญ่เกือบทั้งหมด นิ่วในกระเพาะปัสสาวะครึ่งหนึ่งเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กลายเป็นโรคเด็กเสียมากกว่า

3. โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะมักเกิดกับประชาชนที่มีภาวะเศรษฐกิจต่ำหรือในชนบทเป็นส่วนมาก ในประเทศไทยมีมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ( อีสาน ) หรือภาคเหนือ แต่ภาคกลางและภาคใต้พบค่อนข้างน้อย


⇔จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนิ่วในไตหรือในทางเดินปัสสาวะ
อาการที่จะกล่าวนี้จะเป็นมากหรือเป็นน้อยขึ้นกับระยะเวลาและขนาดของนิ่วที่เป็น

อาการของนิ่วในไต
มีอาการปวดบริเวณเอวด้านหลังที่เป็นตำแหน่งของไต เวลาที่ก้อนนิ่วมันหลุดมาอยู่ในท่อไต จะปวดชนิดที่รุนแรงเหลือเกิน เหงื่อตก เกิดเป็นพักๆ ปัสสาวะอาจมีเลือดหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อร่วมด้วยได้
เรื่องปวดหลังต้องเข้าใจนะครับว่า ถ้าปวดเพราะทำงานหนักหรือนั่งทำงานมานานๆกล้ามเนื้อหลังอาจล้า หรือปวดได้ อันนี้เป็นเรื่องของการปวดเมื่อยซึ่งเป็นกันมาก

อาการของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ปัสสาวะจะขัด ถ่ายเจ็บ ไม่สะดวก บางทีออกกะปริดกะปรอยหรือออกเป็นหยดขุ่นหรือขาวเหมือนมีผงแป้งอยู่ บางครั้งมีเลือดหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ อาจมีสิ่งที่คล้ายกรวดทรายปนออกมากับปัสสาวะ ถ้านิ่วไปอุดท่อทางเดินปัสสาวะก็จะทำให้เกิดการอยากถ่ายปัสสาวะอยู่เสมอ แต่ก็ถ่ายไม่ออก

ยังมีโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากนิ่วในทางเดินปัสสาวะอีก อย่างที่ทราบแล้ว นิ่วจะเป็นก้อนแข็ง ซึ่งเหมือนหินมีทั้งเล็กและใหญ่ หากเกิดไปสีหรือรบกวนผนังของไตหรือกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ จนเป็นแผลขึ้นมาก็ได้ก็มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน ปกติปัสสาวะของคนเรา จะมีเชื้อแบคทีเรียปะปนอยู่แล้ว เมื่อมีแผลก็ทำให้เกิดโรคแทรกได้ง่าย ทำให้มีไข้หรือปัสสาวะมีเลือดหรือมีหนองออกมาให้เราเห็นได้

เรื่องปัสสาวะไม่ออกนี้ ก็ต้องทำความเข้าใจนะครับว่า ไม่ใช่เป็นนิ่วเสมอไป บาทีที่ถ่ายไม่ออกอาจเป็นโรคบางโรคที่ไต ทำให้ไตไม่ทำงานหรือทำไม่ปกติ ก็มีการผลิตน้ำปัสสาวะน้อยได้ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่นอีก เช่น บางครั้งบางคราวเกิดจากการตีบของท่อปัสสาวะก็ได้


⇔มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
การเกิดนิ่วในไตนั้น พูดกันจริงๆแล้วยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัดอัตราการเกิดในเวลานี้มีมากขึ้น ทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ กำลังให้ความสนใจเรื่องนิ่วในไตมากเพราะคนของเขาเป็นกันมาก
ถึงแม้ตอนนี้เรายังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ก็กำลังศึกษาสิ่งที่มีส่วนสัมพันธ์ที่ทำให้เกิด เท่าที่พบและศึกษากันอยู่ก็คือ
-ถ้าเผื่อไตอักเสบเนื่องจากโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดนิ่วได้
-ถ้าเผื่อมีกรดยูริคสูงในเลือด(โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเก๊าท์ ) ก็อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้
-ถ้าเผื่อคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ร้อนมากและดื่มน้ำไม่เพียงพอ อัตราการเกิดค่อนข้างสูง
-มีความสัมพันธ์บางอย่างที่ว่ากินโปรตีนที่ได้มาจากสัตว์ในจำนวนมากเกินไป อาจทำให้เกิดได้

การเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้นลักษณะการเกิดมักเกิดจากสิ่งแวดล้อมมากกว่า ในการศึกษาของคณะวิจัยพบว่า “ ผู้ได้รับสารฟอสเฟตน้อยมีส่วนทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ “ การที่เด็กมีฟอสเฟตน้อยจะทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ธาตุนี้มีใน เนื้อ นม ไข่ ถั่ว  สารฟอสเฟตจะไปทำให้ร่างกายสร้างสารอันหนึ่งที่เรียกว่า “ไพโรฟอสเฟต”ซึ่งขับออกมาทางปัสสาวะ ไพโรฟอสเฟตเป็นตัวสำคัญตัวหนึ่งทำให้ปัสสาวะไม่ตกตะกอนหรือตกตะกอนได้ยาก

ได้รับสารออกซาเลทมากเกิน
มีผักบางประเภทที่ชาวภาคอีสานหรือภาคเหนือมักกินกัน ซึ่งมีสารออกซาเลทสูง เช่น ผักติ่ว ผักโขม ผักกระโดน ผักแพว ชะพลู ใบมันสำปะหลัง หน่อไม้ ผักสะเม็ด เป็นต้น
เราได้ศึกษาและเห็นชัดว่าภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังจากเด็กหรือแม่เด็กก็ตาม กินผักเข้าไป ปัสสาวะจะขุ่นข้น
ที่น่าสนใจก็คือ สมมุติว่าแม่ที่ให้นมลูกอยู่ แม่กินผักดังกล่าวแล้ว เราตรวจปัสสาวะใน 48-72 ชั่วโมง ต่อมาปรากฏว่า ลูกที่กินนมแม่ถ่ายออกซาเลทออกมาด้วย อันนี้ก็อธิบายได้ว่า ทำไมมันเกิดในเด็กทารก เราเคยพบเด็กที่เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะมีอายุเพียง 3 อาทิตย์เท่านั้น

                                      
 

กินน้ำไม่เพียงพอ
เราคิดว่า การกินน้ำไม่พอเพียงมีส่วนทำให้เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ เราจะเห็นว่า ชาวชนบทได้รับน้ำไม่ค่อยเพียงพอ ชีวิตของเขาไม่ได้เปิดก๊อกน้ำก็ได้น้ำเหมือนคนในเมือง เขาต้องเดินทางไปตัก บางครั้งต้องเดินไกลเขาจึงทนต่อความกระหายน้ำมากเกิดความกระหายน้ำค่อนข้างน้อยปัสสาวะก็จะน้อยและข้น นอกจากนั้น เขาก็เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่ายโดยเฉพาะท้องเสียก็เสียน้ำกับอุจจาระ ถ้าเป็นไข้ก็ระเหยจากร่างกายไปมาก


⇔ที่ว่ากินน้ำบ่อที่มีหินปูนหรือเป็นน้ำกระด้างจะมีส่วนทำให้เป็นนิ่วจริงเท็จเพียงใด
เรื่องการดื่มน้ำกระด้างทำให้เกิดโรคนิ่วนั้น ไม่มีมูลความจริง


⇔จะหนีห่างจากโรคนี้ได้อย่างไร
นิ่วในไต

เรายังไม่รู้สาเหตุแน่ชัด เพียงแต่รู้ถึงความสัมพันธ์บางอย่างที่มีส่วนกับโรคนี้ ดังนั้นการป้องกันที่ควรจะเป็นและเท่าที่ทำได้ คือ
1. ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์ และดื่มน้ำให้มากพอเพียงแก่ร่างกาย
2.ควรกินอาหารให้ถูกส่วน ไม่ควรกินอาหารโปรตีนจากสัตว์มากเกินไปหรือน้อยเกินไป
3.ไม่ควรกินอาหารที่มีสารออกซาเลทสูง เช่น ในผักหรือผลไม้บางอย่างหรืออาหารที่มีกรดยูริคสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก มากเกินไป

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
เราได้พบศึกษาและทราบสาเหตุแล้วที่จะป้องกันคือ
1.ควรดื่มน้ำให้พอเพียง อย่าให้ร่างกานเกิดภาวะขาดน้ำ อันนี้ถ้าเป็นเด็กทารก การให้นมแม่ก็พอเพียงแล้ว
2. ควรกินอาหารให้ถูกต้อง พวกเนื้อ นม ไข่ และถั่ว ในชนบทเนื้อนมอาจหายาก ก็กินอาหารจำพวกถั่ว ซึ่งมีสารฟอสเฟตเช่นเดียวกัน
3. อย่ากินผักที่มีสารออกซาเลทสูงเป็นประจำเช่น ผักโขม ผักกระโดน ที่ได้กล่าวไว้แล้ว


⇔ถ้าเป็นแล้วจะทำอย่างไร
นิ่วในไต

ถ้าตรวจพบในระยะต้นๆหรือเพิ่งเริ่มตกตะกอน ทางแพทย์อาจแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆเพื่อให้นิ่วไม่ตกตะกอน หรืออาจใช้ยาบางอย่างร่วมด้วย แต่หากนิ่วแข็งตัวเป็นก้อนแล้ว ก็คงต้องใช้วิธีผ่าตัดอย่างเดียว

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
นั้นถ้ายังเป็นก้อนเล็กๆ แล้วมันเคลื่อนอยู่เรื่อยแพทย์ก็อาจจะแนะนำให้กินน้ำมากๆให้มันเคลื่อนหลุดออกมาได้ ถ้าไม่เจ็บปวดมากเกินไป หรืออาจให้กินเกลือฟอสเฟตช่วยในขณะที่นิ่วยังไม่จับตัวเป็นก้อน หรือถ้าก้อนไม่ใหญ่นักก็อาจใช้วิธีใส่เครื่องเข้าไปตามท่อปัสสาวะและคบให้ก้อนนิ่วแตก
แต่ถ้าใหญ่ก็มีวิธีเดียวผ่าตัดออก


⇔เมื่อต้องผ่าตัดต้องใช้เวลานานเท่าใดที่จะอยู่โรงพยาบาล
ตามปกติ ถ้าเข้ามาโรงพยาบาลโดยโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะที่ไม่มีโรคแทรกซ้อนก็คงใช้เวลาอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ นอกจากว่าเป็นนานจนทำให้อวัยวะใกล้เคียงเสียหายมากอย่างเช่น นิ่วที่ไต ถ้าเป็นมากๆอาจทำให้ไตเสียทำให้ต้องใช้เวลารักษานาน
มีข้อแตกต่างในการรักษาคือ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะหลังจากได้รับการผ่าตัดเอานิ่วออกแล้ว มักจะไม่เป็นอีก แต่นิ่วในไต ถึงแม้ผ่าตัดแล้วก็ยังเป็นอีก

ดังนั้น การป้องกันรักษาตัวไม่ให้เกิดโรคนิ่วจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
.

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

46-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 46
กุมภาพันธ์ 2526
โรคน่ารู้
ศ.นพ.อารี วัลยะเสวี