• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหัวใจ

โรคหัวใจ

 

 ฉบับที่แล้ว “โรคหัวใจที่พบบ่อยในประเทศไทย” ได้กล่าวถึงโรคที่เรียกกันเองแต่ไม่ใช่โรค คือ
1.“โรคหัวใจอ่อน
2.“โรคหัวใจโต”
3.“โรคหัวใจวาย” กับ “ภาวะหัวใจล้ม”
    และโรคที่เกิดจากโรคหัวใจจริง ๆ คือ
4.โรคหัวใจรูห์มาติค
5.โรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคขาดเลือดเลี้ยงหัวใจ

ฉบับนี้ขอกล่าวต่อด้วยเรื่อง
6.โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
7.โรคหัวใจจากแรงดันเลือดสูง และโรคความดันเลือดสูง
8.โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือพิการ
9.โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหรือเป็นหนอง หรือมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
10.โรคหัวใจชรา
โรคหัวใจที่เกิดจากความผิดปกติที่ส่วนอื่นของร่างกายและโรคหัวในอื่นๆ
 

6.โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
เป็นโรคหัวใจไม่สมประกอบมาแต่กำเนิด

⇔มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
มีอยู่หลายอย่างเช่น กรรมพันธุ์ มารดาเกิดโรคติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนแรก มารดาสูงอายุในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะครรภ์แรก เป็นต้น

⇒ อาการที่ควรรู้จัก
ผู้เป็นโรคนี้ อาจจะตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตายขณะคลอด ตายหลังคลอด หรืออาจจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และแก่ตายไปตามธรรมชาติ โดยไม่ปรากฏอาการเลยก็ได้
ถ้าเด็กเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอย่างรุนแรงและถ้ามีชีวิตอยู่ เด็กอาจจะเขียวตั้งแต่คลอดออกมาแล้ว และอาจจะหายใจเร็ว (หอบเหนื่อย) มากกว่าเด็กอื่น เด็กจะดูดนมยากหรือไม่ค่อยจะดูดนม เติษโตช้า เมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น เด็กจะไม่ค่อยวิ่งเล่นกับเพื่อนฝูงหรือถ้าวิ่งเล่นก็จะสู้เพื่อนฝูงไม่ได้ เหนื่อยง่าย เวลาเหนื่อยมักจะนั่งยอง ๆ หรือเวลาเหนื่อยอาจเป็นลมหมดสติ
ถ้าโรคนี้มาปรากฏอาการเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว ส่วนมากจะเป็นอาการของภาวะหัวใจล้ม คือ หอบ เหนื่อย บวม (ดูหัวเรื่อง ภาวะหัวใจล้ม)

แล้วจะป้องกันรักษากันอย่างไร
อาจจะป้องกันโรคนี้ได้ โดยอย่าตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ในขณะตั้งครรภ์ ให้หลีกห่างจากคนเป็นโรคติดต่อและสถานที่มีคนหนาแน่นหรือแออัด เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเป็นโรคในขณะตั้งครรภ์
เมื่อเป็นโรคนี้หรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรจะรีบรักษาให้ถูกต้องตั้งแต่อายุน้อย ๆ เพื่อจะสามารถเจริญเติบโตเป็นปกติ เพราะโรคหัวใจแต่กำเนิดจำนวนมากสามารถทำการผ่าตัดให้หายขาดได้ หรือบรรเทาอาการได้ เมื่อไปหาหมอแล้วให้ถามหมอว่า เป็นโรคหัวใจอะไร ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร

 

 

 

 

 

 






7.โรคหัวใจจากแรงดันเลือดสูง และโรคความดันเลือดสูง

เป็นโรคที่เกิดจากความดันเลือดสูง

มันเกิดขึ้นได้อย่างไร :
อันที่จริงแล้ว โรคนี้ไม่ได้พิการที่ตัวหัวใจเองโดยตรง แต่เป็นการพิการที่หลอดเลือดแดงทั่วร่างกายจากสาเหตุต่าง ๆ กัน ผนังของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายที่เคยยืดหยุ่นง่าย จะค่อย ๆ แข็งกระด้างขึ้นตามอายุ ที่เราเรียกว่าภาวะหลอดเลือดแข็ง นอกจากภาวะหลอดเลือดแข็งที่เกิดขึ้นจากการเสื่อมตามธรรมชาติ (ตามอายุขัย) แล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ไปช่วยให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งได้ง่ายและเร็วขึ้น ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวในข้อ 5 เรื่องโรคหัวใจขาดเลือด

นอกจากนั้น แรงดันเลือดสูง ๆ ไม่วาจะจากสาเหตุใดก็ตามเช่น โรคไต เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต การตั้งครรภ์เป็นพิษ ก็จะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งได้ นอกจากแรงดันเลือดสูงจะทำให้เกิดอาการทางระบบหัวใจแล้ว ยังอาจจะทำให้เกิดอาการทางสมองและทางไตอีกด้วยเช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือตัน หรือไตพิการได้

⇔ อาการที่เราควรรู้
ความดันเลือดสูง อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ตามัว หรือไม่มีอาการก็ได้ เมื่อแรงดันเลือดสูงขึ้น หัวใจจะต้องทำงานมากขึ้น ทำให้หัวใจโต เมื่อหัวใจโตและต้องงานหนักขึ้น หัวใจก็จะได้รับเลือดและอาหารไปเลี้ยงไม่เพียงพอและสมรรถภาพในการทำงานจะเสื่อมลง ในที่สุดก็จะเกิดภาวะหัวใจล้ม เหนื่อยง่าย หอบ บวม (ดูหัวข้อ 3 ภาวะหัวใจล้ม) ถ้าแรงดันเลือดสูงมากหรือสูงอยู่นาน อาจทำให้หลอดเลือดในสมองแตก ตีบ หรือตัน ทำให้เป็นอัมพาต และอาจทำให้ไตพิการได้

⇒ แล้วเราจะป้องกันรักษากันอย่างไร
การป้องกันคือ การระวังอย่าให้อ้วน การอย่ากินของเค็ม การออกกำลังเป็นประจำ การทำจิตใจสงบ
การรักษาคือ การลดแรงดันเลือดให้ต่ำลง ถ้ามีภาวะหัวใจล้มร่วมด้วย ก็อาจจะต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจ ยาขับปัสสาวะ และยาอื่น ๆ เข้าช่วย
การปฏิบัติรักษาตัวเองในโรคหัวใจแบบนี้ คล้ายคลึงกับวิธีรักษาโรคหัวใจขาดเลือด

 

 

 

 






8.โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือพิการ

เป็นโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการอักเสบหรือการเสื่อมพิการของกล้ามเนื้อหัวใจ


⇒ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร :
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดขึ้นจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค เกิดจากสารพิษในอาหารและเครื่องดื่ม เกิดจากยาบางชนิด เกิดจากการแพ้ยาหรือสารบางอย่าง และในบางครั้งก็เกิดขึ้นโดยเราไม่ทราบสาเหตุ ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการนั้น มีสาเหตุที่สำคัญ ๆ เช่น การขาดวิตามินบีหนึ่ง การดื่มสุราเรื้อรัง การดื่มเบียร์บางชนิดที่มีสารเป็นพิษเจือปนเป็นต้น แต่โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการที่เรายังไม่ทราบสาเหตุก็ยังมีอยู่อีกมาก


⇒ อาการที่เราควรรู้ :
อาการของโรคหัวใจทั้ง ชนิดนี้ มักจะเป็นอาการของภาวะหัวใจล้ม แต่อาจมีอาการอื่น ๆ ซึ่งเป็นอาการของสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจทั้ง 2 ประเภทนี้เช่น
ถ้าเกิดจากเชื้อโรค ก็มักจะมีอาการไข้ มีแผล มีหนอง หรือมีอักเสบตรงส่วนที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
ถ้าเกิดจากพิษหรือยา ก็มักจะมีอาการเป็นพิษอื่นๆร่วมด้วย
ถ้าเกิดจากอาการแพ้ ก็มักจะมีผื่น มีการผิดปกติในเม็ดเลือดและอื่น ๆ ร่วมด้วย
ถ้าเกิดจากโรคสุราเรื้อรัง ก็มักจะมีอาการอื่น ๆ ของโรคสุราเรื้อรังร่วมด้วย
ถ้าเกิดจากการขาดวิตามินบีหนึ่ง ก็อาจจะมีอาการชามือชาเท้าหรือกล้ามเนื้อน่องแข็งตึง และเจ็บร่วมด้วย

⇒ แล้วจะปัองกันรักษาอย่างไร :
การป้องกันการหลีกเลี่ยงสาเหตุต่าง ๆ เท่าที่จะหลีกได้ เช่น หลีกเลี่ยงการติดเชื้อโรค อย่าใช้หรือกินยาและสารเป็นพิษ รวมทั้งสุราและเบียร์ กินอาหรที่มีวิตามินบีหนึ่งสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ เนื้อสัตว์ เป็นต้น

ส่วนการรักษา คือ การรักษาอาการของภาวะหัวใจล้ม ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ 3 ภาวะหัวใจล้ม
โรคหัวใจทั้งสองชนิดนี้ จะต้องหาสาเหตุและกำจัดสาเหตุโรคจึงจะหายขาด อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ทราบสาเหตุ การใช้ยาบรรเทาการอักเสบและเพื่อช่วยกำลังของกล้ามเนื้อหัวใจ ก็จะช่วยให้โรคนี้บรรเทาลงได้มาก ๆ



9.โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหรือเป็นหนอง หรือมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
เป็นโรคหัวใจที่เกิดจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แล้วทำให้เกิดน้ำหนอง หรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ


มันเกิดขึ้นได้อย่างไร :
โรคหัวใจชนิดนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ จะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อพยาธิ หรือเชื้อราก็ตามส่วนน้อยเกิดจากของเสียบางอย่างคั่ง เช่น ในภาวะไตพิการเกิดจากมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่หัวใจหรืออื่น ๆ


อาการที่เราควรรู้จัก :
ผู้ที่เป็นโรคนี้ อาจมีอาการเจ็บหรือแน่นในหน้าอกได้มาก ๆ และมักจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และอาการอื่น ๆ ตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้
ถ้าเกิดน้ำหรือหนองขึ้นในช่องเยื่อหุ้มหัวใจมาก ๆ น้ำหรือหนองเหล่านี้ก็ไปกดหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานไม่ได้ เกิดภาวะหัวใจล้ม มีอาการเหนื่อย หอบ บวม (ดูหัวข้อ 3 เรื่องภาวะหัวใจล้ม)


แล้วจะป้องกันรักษากันอย่างไร
การป้องกันคือ การกำจัดสาเหตุ และบรรเทาการบีบรัดหัวใจจากน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ทั้งนี้โดยใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาอื่น ๆ ที่เหมาะสม ถ้ามีน้ำหรือหนองอยู่มากพอจะเจาะออกได้ก็จำเป็นที่จะต้องเจาะออก หรือถ้าเจาะไม่ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเอาน้ำหนอง หรือเยื่อหุ้มหัวใจออกเพื่อไม่ให้หัวใจถูกบีบรัดได้  ผู้ที่เป็นโรคนี้ จึงต้องไปหาหมอและขอรับการรักษาและขอทราบวิธีการป้องกันและการปฏิบัติจากหมอ การรักษาตัวเองในโรคหัวใจประเภทนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุและคำแนะนำของหมอสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนโดยเฉพาะ

  

10.โรคหัวใจชรา
อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของเรา เมื่อเกิดแล้วจะเจริญเติบโตรับใช้เราอยู่ชั่วระยะหนึ่ง หลังจากนั้นการเจริญเติบโตก็ยุติ อวัยวะต่าง ๆ เหล่านั้นก็แก่ตัว และปรับตัวให้เหมาะสมต่อกันและกันและต่อสิ่งแวดล้อม  หัวใจของเราก็เช่นเดียวกัน หัวใจของเราเริ่มทำงานตั้งแต่เราอยู่ในครรภ์ของมารดา มีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงตั้งแต่แรกจนกระทั่งเราเกิดและเข้าสู่วัยหนุ่มสาว หลังจากนั้นหัวใจของเราจะเริ่มแก่ตัว เพื่อปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อม ถัดจากระยะนี้หัวใจของเราจะชราลง ถ้าเรามองดูและจับต้องผิวหนังของเด็กอ่อน เด็กโต หนุ่มสาว และคนสูงอายุ เราจะได้เห็นการเจริญเติบโต การแก่ตัว และการชราลงของผิวหนัง จากผิวที่เคยละเอียดอ่อนและหอมละมุน มาเป็นผิวที่หยาบขึ้นและไม่มีกลิ่นหอมของเด็กโต มาเป็นผิวที่หยาบกร้านและมีกลิ่นสาบของหนุ่มสาว มาเป็นผิวที่เหี่ยวย่นและเต็มไปดวยไฝฝ้าของคนชรา

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่เป็นไปตลอดเวลาจนเราไม่รู้สึกตัว หัวใจของเราก็เช่นเดียวกัน แต่เราไม่สามารถเห็นการชราของหัวใจได้ ทั้งที่เกือบจะถือกันได้ว่าหัวใจนั้นเป็นอวัยวะเดียวในร่างกายที่ทำงานให้เรารู้สึกได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน จะตื่นหรือหลับ จะดีใจหรือเสียใจ ตั้งแต่เราอยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต หัวใจจึงเป็นอวัยวะที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

ในปัจจุบัน การแพทย์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมากมาย แต่เราก็ยังไม่เข้าใจโรคหัวใจชรานี้อย่างถ่องแท้ เช่นเดียวกับที่เรายังไม่เข้าใจว่า ทำไมสิ่งมีชีวิตจึงต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย โรคหัวใจชราจึงยังเป็นหัวข้อเรื่องที่ต้องการการศึกษาค้นคว้าอีกมากทั้งในทางโลกและทางธรรม ส่วนต่าง ๆ ของหัวใจที่ชราลงที่เรารู้กันบ้างในปัจจุบันคือ ส่วนที่สืบเนื่องมาจากความชราของหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหัวใจต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจจากแรงดันเลือดสูง ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว นอกจากนั้นยังมีพวกโรคหลอดเลือดพิการต่าง ๆ เช่น เส้นเลือดขดหรือขอดจากความพิการของหลอดเลือดดำ จะทำให้ขาและเท้าบวม และหรือปวด ถ้าหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงขาเกิดตีบตันภาวะหลอดเลือดแข็ง จะทำให้ปวดขาเวลาเดินและมีอาการเป็นตะคริวง่าย ถ้าหลอดเลือดแดงใหญ่ข้างในทรวงอกหรือข้างในท้องโป่งพอง จะทำให้เกิดอาการเจ็บรุนแรง หรือเกิดอาการตกเลือดได้ เป็นต้น

⇒ แล้วจะป้องกันรักษากันอย่างไร
การรักษาโรคหัวใจชราเป็นการรักษาตามอาการและตามชนิดของโรคเท่านั้น เพราะยังไม่มียาและวิธีรักษาใด ๆที่จะสามารถทำให้ส่วนที่เสื่อมไปกลับคืนเป็นปกติเช่นเดียวกับที่ยังไม่มียาหรือวิธีรักษาใด ๆที่จะทำให้คนชรากลับเป็นคนหนุ่มสาวอย่างสมบูรณ์ได้อีก


  

การระวังรักษาตัวเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะชะลอการชราลงของร่างกายและหัวใจ ตัวอย่างของการรักษาตัวเองในเรื่องนี้ได้แก่
1.ให้มีน้ำหนักพอดี อย่าให้ผอมเกินไป โดยการกินอาหารให้พอเพียงและเหมาะสม อย่าให้อ้วนและมีน้ำหนักมากเกินขนาดด้วยการลดอาหารลง โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง และอาหารไขมัน พยายามกินผักให้มากขึ้น อาหารพวกเครื่องในสัตว์ก็ควรกินแต่น้อย

2. เลิกสูบบุหรี่ และถ้าดื่มสุรา ชา กาแฟ ก็แต่พอควร

3. พักผ่อนให้เต็มที่ โดยเฉพาะการนอนหลับที่สนิทและเพียงพอ และการหลีกเลี่ยงหรือผ่อนคลายภาวะเครียดทางจิตใจ เช่น ความกังวล ความโศกเศร้า ความดีใจ และอารมณ์อื่น ๆ อันเกินขอบเขต

4. ออกกำลังกายตามความเหมาะสมและโดยสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงภาวะเครียดทางกายเช่น การออกกำลังเบ่งอุจจาระเพราะปล่อยให้ท้องผูก การวิ่งไล่รถเมล์หรือการออกกำลังกายอื่น ๆ ในยามคับขันหรือฉุกละหุก

5. อาศัยอยู่ในถิ่นฐานที่สงบปราศจากเสียง แสง และสิ่งทำลายสุขภาพอื่น ๆ เช่น ไอเสียรถยนต์ อากาศและน้ำที่เป็นพิษ ความโกลาหลวุ่นวายและการชิงดีชิงเด่นกันทำมาหากิน เป็นต้น

6. ระวังรักษาตัวอย่าให้เป็นโรคบ่อย ๆ ได้ง่าย เช่น อย่าให้ถูกอากาศร้อนจัดหรือเย็นจัดโดยกะทันหันหรือเข้า ๆออกๆจากสถานที่เย็นและร้อน หลีกเลี่ยงจากคนที่เป็นโรคติดต่อหรือจากสถานที่ๆเพาะพันธุ์ของเชื้อโรค เป็นต้น

7. รักษาโรคที่เป็นอยู่ให้หายโดยเร็ว หรือให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคเก๊าท์ โรคไขมันในเลือดสูงมาแต่กำเนิด เป็นต้น

8.ฝึกฝนตนเองให้มีความสงบและสันโดษ ให้มีความสุขและความพอใจในชีวิตและรู้จักระบายผ่อนคลายอารมณ์อันเป็นภัย เป็นต้น



โรคหัวใจที่เกิดมาจากความผิดปกติที่ส่วนอื่นของร่างกาย

เช่น ภาวะคอพอกเป็นพิษ ภาวะขาดอาหาร ภาวะเลือดจางมาก ๆ ภาวะน้ำคั่งจากโรคต่าง ๆ เป็นต้น
อาการของโรคหัวใจประเภทนี้ จะต้องมุ่งรักษาสาเหตุเป็นสำคัญ แต่การรักษาอาการเช่น การรักษาภาวะหัวใจ้ม จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกสบายขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจจะกลับไปทำมาหากินได้ตามปกติ แม้ว่าสาเหตุนั้นยังไม่หายหรือเป็นสาเหตุที่ยังไม่มีทางรักษาได้

การปฏิบัติรักษาตัวสำหรับโรคหัวใจประเภทนี้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจนี้ หมอผู้รักษาจะได้แนะนำการปฏิบัติรักษาตัวเองสำหรับผู้ป่วยตามสาเหตุที่เกิดขึ้นเป็นราย ๆไป
โรคหัวใจอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจที่ยังไม่ทราบสาเหตุ โรคเนื้องอกหรือมะเร็งหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดปกติโดยไม่มีสาเหตุ เป็นต้น



สรุป
โรคหัวในในผู้ใหญ่นั้นมีหลายชนิด บางชนิดเรียกได้ว่าไม่มีอาการอันเป็นแก่นสาร หรือไม่มีอันตราย บางชนิดก็ร้ายแรงเป็นอันตรายทำให้ตายได้ง่าย
การวินิจฉัย และการป้องกันรักษาที่ถูกต้องอาจจะทำให้ผู้เป็นโรคหัวใจสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ
โรคหัวใจก็เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ คือ ชนิดที่รักษาแล้วหายขาดนั้น มีจำนวนน้อย แต่ชนิดที่รักษาแล้วดีขึ้น แต่ไม่หายขาดนั้นมีเป็นจำนวนมาก การกินยาและการระวังรักษาตนเองโดยสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะสำหรับโรคที่ต้องรักษากันเป็นเวลานาน ๆ หรือตลอดชีวิต

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากหมอและจากการรักษาตัวเองที่ดี จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างค่อนข้างจะสะดวกสบาย ไม่ต้องทุกข์ทรมานหมือนผู้ป่วยด้วยโรคระบบอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก .
 

ข้อมูลสื่อ

41-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 41
กันยายน 2525
โรคน่ารู้
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์