• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

“โรคเซ็ง” (เบื่องาน)

“โรคเซ็ง” (เบื่องาน)

แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ The Acupressure Health Book โดย Frank Bahr.M.D.

ความรู้เรื่องการกดจุดเป็นของเก่าแก่และมีมานานหลายพันปีซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวจีน ศาสตร์แห่งการกดจุดได้แพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะในยุโรป Dr.Frank Bahr ท่านเป็นแพทย์ชาวเยอรมัน เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจุดโดยเฉพาะ ท่านได้ศึกษาและเขียนตำราการกดจุดไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ เหมาะสำหรับนำมาเผยแพร่แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ เพราะกดจุดก็คือ ศาสตร์แขนงเดียวกับการฝังเข็มที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี แต่การกดจุดเป็นการฝังเข็มโดยไร้เข็ม ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเข็มเหมือนฝังเข็ม และไม่มีอันตรายใดๆ ต่อผู้ทำ ถ้าท่านกดถูกวิธีและมีประสิทธิภาพก็จะได้ผลในการรักษาทั้งยังช่วยเสริมการรักษาของแพทย์ให้หายเร็วขึ้น แต่ถ้าท่านทำแล้วไม่ได้ผล ก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร

เมื่อเกิดความเครียดอยู่เรื่อยๆ จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่อหน่ายสิ่งต่างๆ ไม่อยากทำงาน ซึ่งเรามักจะได้ยินเพื่อนร่วมงานของเราบ่นเสมอว่า “รู้สึกเซ็งๆ อยากจะลาพักงานสักเดือน” หรือแม้แต่ตัวเราเองเชื่อแน่ว่าทุกคนคงเคยมีความรู้สึกเบื่องาน อยากจะไปเที่ยวไกลๆ พักผ่อนให้สบายใจ แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่

เราลองมากดจุดเพื่อแก้เซ็งกันดู ถ้าได้ผลจะช่วยให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าอาการอ่อนเพลียเป็นมาก คุณควรให้แพทย์ตรวจร่างกายดูด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคร้ายแรงซ่อนอยู่ภายใน

อาการ

คุณเองจะรู้สึกว่าตัวคุณผิดปกติไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเคย รู้สึกเบื่องาน และบางครั้งคุณมักจะถูกเพื่อนแนะนำให้หยุดพักงานไปเปลี่ยนบรรยากาศเสียบ้าง นั่นแสดงว่า ตัวคุณมิได้รู้สึกเพียงผู้เดียว เพื่อนร่วมงานยังเห็นตรงกับคุณ คุณควรไปเที่ยวพักผ่อนหรือกดจุดแก้โรคเซ็งได้แล้ว

สาเหตุ

ความอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากงานที่หนักมากไป และเกิดความเครียด ความขัดข้องใจ อยากจะพูด อยากจะทำในสิ่งที่ตนคิดก็ไม่อาจทำได้ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัญหาด้านจิตใจซึ่งแก้ไม่ตก จึงแสดงออกมาทางร่างกาย เช่น อาการอ่อนเพลีย เฉื่อย ชา รู้สึกเซ็ง หรือปัญหาด้านสุขภาพผู้ที่เจ็บป่วยบ่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เซ็งในชีวิตได้เช่นกัน

ตำแหน่งที่กดจุด

กดจุดบนร่างกาย

1. จุด “เส้าชง” (Shao-chong) จุดกระตุ้นหัวใจและจิตใจ

 

วิธีหาจุด:

จุดอยู่ที่มือข้างซ้าย อยู่ใกล้กับฐานของเล็บด้านข้างของนิ้วก้อยด้านที่ติดกับนิ้วนาง

วิธีนวด:

นวดอ้อมใต้เล็บมายังด้านตรงข้าม

 

2. จุด “เหอกู่” (Ho-Ku)

 

วิธีหาจุด:

จุดอยู่ต่ำกว่าข้อที่โคนนิ้วชี้ประมาณ 2 นิ้วมือ และห่างจากนิ้วหัวแม่มือ ½ นิ้วมือ

วิธีนวด:

นวดเข้าหาข้อมือ

 

3. จุด “เลี่ยเชีย” (lieh-ch’uch) จุดสำหรับเมื่อร่างกายอ่อนเพลีย

วิธีหาจุด:

จุดอยู่ที่ท้องแขนในแนวเดียวกับหัวแม่มือ และอยู่เหนือฐานของฝ่ามือ 2 นิ้วมือ

วิธีนวด:

นวดเข้าหาหัวแม่มือ

 

4. จุด “จู๋ซานหลี่” (tsu-san-li) จุดนี้สำหรับผู้ที่เหนื่อยง่ายจากประสาทเครียด

วิธีหาจุด:

วางฝ่ามือของผู้ถูกนวดลงบนหัวเข่า กางนิ้วออกเล็กน้อย จุดจะอยู่ที่ปลายสุดของนิ้วนางพอดี

วิธีนวด:

นวดลงล่าง

 

กดจุดที่ใบหู

หูขวา:

จุดกระตุ้นฮอร์โมนและระงับอาการทางประสาท

จุดที่ 1 จุดอยู่บริเวณรอบแอ่งหู

วิธีนวด:

นวดจากส่วนที่สูงที่สุดถึงส่วนที่อยู่ล่างสุด

จุดช่วยกระตุ้นประสาท

 

จุดที่ 2 จุดอยู่ที่เส้นหูส่วนที่โผล่มาจากแอ่งหู (ดูรูปประกอบ)

วิธีนวด:

นวดขึ้นบนและเอียงไปทางด้านหน้า

 

จุดที่ 3 จุดอยู่บริเวณหน้าหู

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน

 

 

หูซ้าย:

นวดเช่นเดียวกับหูขวา แต่ทิศทางตรงข้าม

ข้อแนะนำ:

เมื่อคุณรู้สึกเซ็งหรือเหนื่อยอ่อน คุณควรหาทางนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดการดื่มสุรา และพยายามพักผ่อนให้เต็มที่ในวันหยุดสัปดาห์ร่วมไปด้วย

ข้อแนะนำทั่วไปก่อนกดจุด

1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย มือที่จะกดจุดไม่ควรจะเย็น ถ้าเย็นควรทำมือให้อุ่นก่อนโดยแช่ในน้ำอุ่น หรือใช้ผ้าห่มมือไว้

2. ถ้าท่านมีผิวหนังที่แพ้ง่าย อาจจะโลชั่นหรือแป้งฝุ่นทาบริเวณที่จะกดจุดก่อนลงมือกดจุด

3. ระหว่างทำการกดจุด บางรายอาจมีเหงื่ออกมาก ควรให้พักระหว่างการกดจุดได้

4. ในวันที่อากาศหนาวเย็น เมื่อกดจุดเสร็จเรียบร้อย ก่อนออกไปนอกบ้านควรสวมเสื้อให้อบอุ่น

ข้อแนะนำก่อนกดจุด

1. การกดจุด หมายถึง การนวดจุดนั้นๆ โดยใช้ปลายนิ้วมือที่เล็บสั้น

2. อ่านและดูรูปทีแสดงตำแหน่งการกดจุดให้เข้าใจ แล้วลองกดจุดที่อยู่บนร่างกาย สำหรับจุดที่อยู่บนใบหูแจจะใช้กระจกส่องช่วยหาจุด หรือวานให้ใครคนใดคนหนึ่งดูจุดนั้นในรูปแล้วชี้ตำแหน่งให้

3. เมื่อท่านกดถูกจุดๆ นั้นจะให้ความรู้สึกได้ดีกว่าบริเวณรอบๆ และควรกดจุดให้แรงพอ

4. นิ้วมือที่นิยมใช้กดจุด มักใช้นิ้วชี้ โดยให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับผิวหนัง และนวดไปตามทิศทางที่ลูกศรชี้ในภาพ นวด (ถู) ออกไปเป็นระยะทาง 1 นิ้ว การนวดควรนวดประมาณ 30 ครั้งต่อ10 วินาที หรือ 70-100 ครั้งต่อนาที

5. จุดบนใบหูอาจจะใช้ปลายนิ้วก้อยหรือปลายดินสอ, ปากกามนๆ นวดได้ เพราะบริเวณใบหูเล็กและแคบกว่าร่างกาย

6. การกดจุดตามหลักของจีนได้กำหนดเวลาในการกดจุดแต่ละครั้งไว้ ดังนี้

  • เด็กอายุ 0-3 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด ½ -3 นาที
  • เด็กอายุ 3-6 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-4 นาที
  • เด็กอายุ 6-12 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-5 นาที
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ใช้เวลากดทั้งหมด 3-7 นาที
  • เด็กโตตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10 นาที
  • ผู้ใหญ่ ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10-15 นาที

7. จุดที่กดอยู่บนร่างกาย ควรกดหรือนวดทั้ง 2 ข้างของลำตัว (ร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ข้างขวาและซ้าย)

8. ระยะต่างๆ ที่ใช้ในการวัด จะวัดจากความกว้างของนิ้วของผู้กดจุดเอง

ข้อมูลสื่อ

82-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 82
กุมภาพันธ์ 2529
ลลิตา อาชานานุภาพ