• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำตาลทำเป็นน้ำเชื่อมรักษาแผลเรื้อรัง

น้ำตาลทำเป็นน้ำเชื่อมรักษาแผลเรื้อรัง

  

⇔ แผลที่น่าเอือมระอา
รูปทางขวามือเป็นแผลเรื้อรัง
รูปแรกเป็นแผลที่ก้นกบ มักพบเสมอในผู้ที่เป็นอัมพาต แผลอย่างนี้รักษายากกว่าจะหาย บางทีเป็นแรมปี บางทีรักษาไม่หายเป็นไปจนตายก็มี ด้วยเหตุที่เรื้อรังหมอก็ระอา พยาบาลก็เอือมเพราะต้องเปลี่ยนแผลทุกวัน บางทีนอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้วยังขยายตัวกว้างออกไปอีกด้วย
รูปถัดไปเป็นแผลไม้ลวกบาดต่อมาเกิดการอักเสบเป็นหนองมีเนื้อตายเน่า หมอต้องตัดเอาเนื้อตายออก เจ้าของแผลเองก็เจ็บปวด การทำแผลแต่ละครั้งจึงเหมือนการทำโทษ ทั้งหมอทั้งคนไข้ไม่สบอารณ์เอาเสียเลย

คุณวรนุช เกียรติพงษ์ถาวร เป็นครูพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาลศิริราช ได้ทดลองใช้น้ำเชื่อมแช่อิ่มตัว ใส่แผลคนไข้เหล่านี้ ได้ทำกันจริงจังตามหลักวิทยาศาสตร์ มีการวัดและคำนวณตามหลักสถิติ ปรากฏว่าน้ำเชื่อมชนิดอิ่มตัวทำให้แผลเรื้อรังดังกล่าวหายได้เร็วจริงๆ


⇔เบื้องหลังก่อนจะนำมาใช้
อะไรมาบันดาลใจให้คุณวรนุชลองใช้น้ำเชื่อมรักษาแผลเรื้อรัง มันมีเบื้องหลังที่สมควรจะรู้กันไว้
เมื่อราว ๆ พ.ศ.2519 คุณหมอประเวศ (แมกไซไซ) เล่าให้ฟังว่า ในพงศาวดารจีน ถ้ามีการตัดหัวนักโทษสำคัญที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงก็ต้องเอาหัวนักโทษนั้นมาให้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตร เพื่อจะได้รู้ว่าไม่ผิดตัว
การนำหัวนักโทษมาต้องกินเวลาหลายวัน คนโบราณก็เอาหัวใส่ไหน้ำผึ้งมา แม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายวันหรือหลายเดือน หัวที่แช่น้ำผึ้งอยู่นั้นก็ไม่เน่า ยังสดและคงรูปดีอยู่ เพราะปรากฏว่ายังจำหน้าได้ทุกครั้งไป

ดังนั้น น้ำผึ้งคงมีคุณสมบัติอย่างน้อยสองอย่าง คือ
1.ระงับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์อันทำให้เกิดการเน่า
2.ถนอมเนื้อไว้ให้คงสภาพธรรมชาติ
คนเอาน้ำผึ้งมาใช้รักษาแผลเรื้อรังได้ผลมาแล้ว แต่น้ำผึ้งหายาก แพงมีปริมาณจำกัด และน้ำผึ้งปลอมปน จะทำให้เกิดโทษมากกว่าเกิดประโยชน์

หมอประเวศ จึงแนะว่าลองใช้น้ำเชื่อมดู เพราะคุณแม่ของหมอประเวศเคยเล่าให้ฟังว่า ถ้าทำน้ำเชื่อมให้มีความเข้มข้นมาก ๆ จนอิ่มตัว น้ำเชื่อมนั้นจะไม่บูดไม่เสีย แต่ถ้าจางจะบูด แสดงว่าน้ำเชื่อมเข้มข้นฆ่าเชื้อโรคได้ ดังนั้น อาจมีคุณสมบัติในการรักษาแผลคล้ายน้ำผึ้ง น่าจะได้ลองทำดู เพราะถ้าทำแล้วได้ผลดีก็มีประโยชน์มหาศาล เพราะหาง่ายราคาถูก ใครๆ ก็ทำใช้เองได้ จึงได้เริ่มมีการลองทำลองใช้กันประปราย แต่ไม่มีการศึกษาจริงจังอย่างที่คุณวรนุชทำ


⇔สิ่งที่แม้แต่หมอหลายคนไม่เคยรู้
คุณหมอโสภณ คงสำราญ ท่านเป็นศาสตราจารย์ทางวิชาแบคทีเรีย คือวิชาที่ว่าด้วยเชื้อโรคและพวกจุลินทรีย์ต่าง ๆ ท่านได้ทดลองเอาเชื้อโรคหลายอย่างใส่ในน้ำเชื่อมชนิดเข้มข้นนี้ แล้วเก็บไว้ในตู้ฟักเชื้อโรค พบว่าแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค โดยเฉพาะโรคที่ทำให้เกิดแผลเรื้อรังและแผลเน่าตายหมดทุกชนิด

ดังนั้นจากการทดลองของคุณหมอโสภณก็พอจะยืนยันได้ว่า น้ำเชื่อมเข้มข้นมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคได้จริงตรงนี้ขอแถมไว้สักหน่อยพอเป็นความรู้ เพราะแม้แต่แพทย์เองหลายคนรวมทั้งตัวผมด้วยก็ไม่เคยรู้ ถ้าคุณหมอโสภณไม่บอก คือว่า ยาใส่แผลต่างๆ เช่น ยาเหลือง ยาแดง ตามขนาดความเข้มข้นของเภสัชตำรับหลวง ถ้าเอาเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแลเรื้อรังหลายชนิดใส่ลงไปเชื้อไม่ตายแสดงว่าคุณสมบัติในการทำลายเชื้อโรคของยาเหลือง ยาแดง ยังสู้น้ำเชื่อมไม่ได้


⇔การทำน้ำตาลเป็นน้ำเชื่อมเข้มข้น
น้ำเชื่อมที่คุณวรนุชนำมาทดลองใช้กับผู้ป่วยนี้ ทำที่แผนกเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช โดยเภสัชกรคือคุณประเทือง การปลื้มจิตต์
กรรมวิธีในการทำก็ไม่ได้แตกต่างไปกว่าน้ำเชื่อมที่ปู่-ย่าตายาย ของเราทำมาแต่โบราณ เนื่องจากขณะที่ทำใช้ความร้อนเข้าช่วย น้ำตาลจึงละลายในน้ำได้ดีเป็นพิเศษ คือน้ำ 1 ลิตร ละลายน้ำตาลประมาณ 1 กิโลกรัม แต่พอเย็นลงหรือทิ้งไว้นาน น้ำระเหยออกไปบ้าง จะทำให้น้ำตาลตกผลึกลงมาบางส่วน ทำให้ความเข้มข้นลดลงเล็กน้อย เหลือประมาณร้อยละ 80 ถึง 85 ก็คือ มีน้ำตาล 800-850 กรัมในน้ำ 1 ลิตรนั่นเอง ซึ่งก็ใช้ได้ดี ส่วนที่ตกผลึกก็เอาไปทำน้ำเชื่อมมาใช้ใหม่ได้อีกไม่เสียไปไหน


⇔วิธีทำแผลด้วยน้ำเชื่อม

เมื่อได้น้ำเชื่อมมาแล้วคุณวรนุชก็เอามาใส่แผล ก่อนใส่แผลคุณวรนุชวัดขนาดของแผลทั้งกว้าง ยาว และลึกพร้อมทั้งถ่ายภาพบันทึกความน่าเกลียดน่ากลัวของแผลไว้เปรียบเทียบด้วย หลังจากนั้นก็เอาน้ำเชื่อมที่เตรียมไว้ชุบผ้าปิดแผลให้ชุ่มและปิดไปบนแผล
ถ้าแผลใดลึกมาก ก็เทน้ำเชื่อมใส่ลงไปในโพรงแผลนั้นเลย
คุณวรนุช เปลี่ยนแผลวันละสองครั้ง เช้าครั้ง เย็นครั้ง ทั้งนี้เพราะน้ำเชื่อมบางส่วนจะถูกดูดซับเข้ามาในผ้าปิดแผล และน้ำเหลืองในร่างกายจะซึมออกมาผสมกับน้ำเชื่อมทำให้ความเข้มข้นลดลง และฤทธิ์ในการฆ่าแบคทีเรียเสื่อมไป


⇔ความดีที่ต้องพูดถึง
น้ำเชื่อมมีข้อดีหลายอย่าง
ประการแรกและสำคัญที่สุดคือ สามารถฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้แผลหายช้าได้จริง เพราะก่อนทำแผลด้วยน้ำเชื่อม ได้ทดลองเอาน้ำเหลืองภายในแผลและรอบ ๆแผลไปเพาะเชื้อดู ปรากฏวว่ามีเชื้ออยู่หลายชนิด มีสองชนิดที่รู้จักกันดีในวงการแพทย์ว่า ทำให้เกิดแผลเรื้อรัง หายช้า และดื้อต่อยาได้แก่ สูโดโมนาส และโปรเทียส
เมื่อทำแผลไปได้ 1 สัปดาห์ คุณวรนุชก็ส่งน้ำเหลืองจากแผลไปตรวจโดยวิธีการเพาะเชื้อดูอีก ปรากฏว่าเชื้อร้าย ๆ ที่ทำให้แผลเรื้อรังไม่ขึ้นเลย ทำกี่ครั้งก็ได้ผลแบบเดียวกันหมด คือมีผลสนับสนุนงานค้นคว้าของคุณหมอโสภณที่ว่าเชื้อดังกล่าวจะตายถ้านำมาใส่ในน้ำเชื่อม

ประการที่สอง คือ น้ำเชื่อมไม่เป็นพิษต่อเนื้อในร่างกาย เหตุผลอันนี้สำคัญมาก มียาหลายอย่างที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ดี แต่เมื่อใส่ในแผลแล้วทำให้ระคายเคืองบางอย่างดูดซึมเข้าไปในร่างกายทำให้เกิดพิษ ซึ่งอาจรุนแรงถึงกับตายก็มี
น้ำตาลเป็นของที่เรากินอยู่ทุกวัน นอกจากไม่เป็นพิษแล้วยังเกิดประโยชน์ด้วย แต่น้ำเชื่อมที่ใส่แผลมีความเข้มข้นมากอาจถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้บ้างแต่ไม่มากนัก ดังนั้นแม้แผลที่เป็นในคนเป็นเบาหวานก็ใช้ได้

ประการที่สาม คือ น้ำเชื่อมทำให้แผลหายเร็ว อันเป็นผลโดยตรงจากการทำลายเชื้อโรค และผลโดยอ้อม เนื่องจากน้ำตาลมีคุณสมบัติช่วยให้เนื้อของเรางอกมาปิดแผลได้เร็ว จากการศึกษาค้นคว้าของคุณวรนุชพบว่าแผลที่ลึกจะตื้นขึ้นมาภายในเวลาอันรวดเร็วมาก

ตรงนี้ต้องขอเล่าเกร็ดที่น่ารู้ให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง
มีผู้ป่วยแผลเรื้อรังอยู่ในความดูแลของผมสามคน ล้วนแต่เป็นแผลลึกและกว้าง มีหนองสกปรก แผลเหล่านี้ตามธรรมดาจะทำแผลไปจนสะอาด ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็น 10-20 วัน แล้วจึงจะเอาไปเย็บปิดได้ ผมเอาน้ำเชื่อมชนิดนี้ใส่สัก 5-6 วัน แผลก็สะอาดดีขึ้นมาก กะว่าจะเย็บปิด ได้สั่งให้แพทย์ประจำบ้านเอาไปใส่ชื่อเพื่อผ่าตัดที่ห้องผ่าตัดทั้ง 3 คน
วันรุ่งขึ้นปรากฏว่ามีชื่อเพียงคนเดียว ผมก็ชักฉุนที่สั่งแล้วไม่ทำตาม จึงไปถามแพทย์ประจำบ้านว่า สั่งให้ใส่ชื่อผ่าตัดทั้ง 3 คนทำไมใส่มาคนเดียว
แพทย์ประจำบ้านตอบว่า “ก็อีกสองคนแผลมันปิดเกือบสนิทแล้ว ผมเลยไม่ทราบว่าจะเอามาเย็บทำไมอีก”  เออ! โล่งอกไปที นึกว่าสั่งแล้วไปปฏิบัติตาม

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าใส่น้ำเชื่อมนั้นแผลหายเร็วจริง ๆ เผลอเดี๋ยวเดียวอดทำผ่าตัด
ประการสุดท้ายซึ่งก็น่าจะมีความสำคัญพอ ๆกัน คือราคาถูกและสามารถหาได้ทั่วไป ทำใช้เองก็ได้ เป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศล้วน ๆ ไม่ทำให้เสียดุลย์การค้าเลย มิหนำซ้ำยังช่วยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทางอ้อมอีกด้วย เรื่องราคานี้ได้ลองคิดคร่าว ๆ เพื่อเปรียบเทียบกับน้ำยาต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ปรากฏว่าประหยัดเงินของชาติไปได้หลายทีเดียว

 

     ภาพบาดแผลทับบริเวณก้นกบ
   
    ทำแผลด้วยน้ำเชื่อมชนิดเข้มขัน วันที่ 7                    วันที่ 21                                        วันที่ 28


⇔ดีกว่าในทุกกรณี(ทั้งคุณภาพและราคา)
เรื่องฆ่าเชื้อโรคนั้น ยังไม่มียาอะไรที่มีความเข้มข้นต่ำจนไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ดีเท่าน้ำเชื่อมเข้มข้น ข้อนี้ได้พิสูจน์มาแล้วอย่างปราศจากข้อสงสัยอะไรอีก
จากการศึกษาค้นคว้าของต่างประเทศพบว่า ทั้งซัลฟา เงิน สังกะสี และไอโอดีน สามารถดูดซึมเข้าในร่างกาย และถ้าดูดซึมเข้าไปมากพอจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

ไอโอดีนนั้นแม้มีคุณสมบัติทำลายเชื้อได้ดีจริง ๆ แต่ถ้ามีความเข้มข้นมากเกินไป ก็จะก่อให้เกิดการระคายต่อเนื้อที่กำลังเจริญมาปิดแผล ส่วนการกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้นนั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีใครทำให้ประจักษ์ทางแง่ของสถิติ จึงเปรียบเทียบได้ยาก แต่อย่างน้อยคุณวนุชก็ได้แสดงอัตราการหายของแผลโดยคิดเป็นร้อยละเอาไว้ทั้งทางกว้างและทางลึก เป็นตัวอย่างซึ่งถ้าใครต้องการจะค้นคว้าต่อไป อาจใช้เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบได้

พูดถึงเรื่องราคาแล้วเห็นชัดเจนที่สุด น้ำเชื่อมเข้มข้นทำจากน้ำตาล 1 กิโลกรัม ในน้ำ 1 ลิตร คิดราคาค่าน้ำตาลและค่าทำประมาณ 20 บาทต่อ 1 ลิตร ในการทำแผลวันหนึ่งใช้น้ำตาลประมาณ 100-200 มิลลิลิตร ถ้าทำแผล 15-20 วัน เท่า ๆ กันจะสิ้นเงินประมาณ 80 บาท
จากการสังเกตและประสบการณ์การทำแผลด้วยน้ำเชื่อม ใช้เวลาที่คิดเป็นวันน้อยกว่าการทำแผลด้วยสารเคมีอย่างอื่น ดังนั้นค่าใช้จ่ายก็จะถูกลงไปอีก


ภาพบาดแผลผ่าตัดติดเชื้อบริเวณบั้นเอวซ้าย

  
   ทำแผลด้วยนำเชื่อมชนิดเข้มข้น                                  วันที่14                                            วันที่21
                        

⇔อ้าว..แล้วมดจะขึ้นไหมละนี่
ปัญหาที่คนถามกันมากคือเรื่องมดขึ้น เพราะเป็นน้ำเชื่อมมดชอบ
ครั้งแรกๆ ที่ทำแผลด้วยเชื่อมก็กลัวมดขึ้นเหมือนกัน เคยเอาน้ำใส่ภาชนะรองขาเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่อมาก็เลิกไป เพราพบว่า เมื่อน้ำที่ใช้รองแห้งไปแล้ว มดก็ไม่ขึ้น

สำหรับผู้ป่วยนอกคือประเภทมาทำแผลที่โรงพยาบาลแล้วกลับไปบ้านก็มีวิธีป้องกันมดขึ้นให้ เมื่อปิดแผลเรียบร้อยแล้ว ก็เอาผ้าพันแผลชุบดี.ดี.ที.พอหมาด ๆ พันทับ ต่อมาก็พบว่าไม่จำเป็น เพราะมีคราวหนึ่งคนทำแผลลืมพันผ้าชุบ ดี.ดี.ที. เราคิดว่ารุ่งขึ้นผู้ป่วยคงกลับมาต่อว่าแน่ มดคงขึ้นมากัดจมเลย
แต่เปล่า ! ผู้ป่วยเล่าให้ฟังว่าไม่เคยมีมดขึ้นเลย เราจึงเลิกใช้ ดี.ดี.ที. และหมดความกังวลเรื่องมดขึ้นมาตั้งแต่บัดนั้น แต่ที่มดขึ้นก็มีเหมือนกัน โดยมากเกิดจากน้ำเชื่อมถูกทำให้เจือจางลงขณะทำแผล เช่นแผลที่ใกล้กับ ฝีเย็บ หรือแผลที่น้ำปัสสาวะไหลออกมาผสมเป็นต้น เมื่อกำจัดเรื่องน้ำปัสสาวะไหลมาผสมออกไปได้แล้ว ปัญหาเรื่องมดขึ้นก็หมดไป


⇔เก็บไว้นานจะบูดไหมล่ะ
น้ำเชื่อมนี้เก็บไว้ได้นานแค่ไหน?
เสียหรือบูดได้หรือเปล่า ?
ไม่เคยปรากฏว่าน้ำเชื่อมเข้มข้นอย่างนี้เสียหรือบูด ไม่ว่าจะเก็บไว้นาน 6 เดือน หรือ 1 ปี อาจมีการตกผลึกของน้ำตาล เนื่องจากน้ำระเหยออกไป แต่ส่วนที่เป็นน้ำเชื่อมก็ยังใช้ได้ มีคุณสมบัติในการรักษาแผลเหมือนเดิม ส่วนน้ำตาลที่ตกผลึกก็เอามาละลายน้ำเชื่อมใส่แผลได้อีก เรียกว่า ไม่เสียอะไร


⇔สิ่งควรรู้ก่อนและหลังทำแผล
ภาชนะที่ใส่คลอดจนผ้าทำแผลไม่จำเป็นต้องนึ่งด้วยความร้อนให้ปลอดเชื้อ เพียงแต่เป็นภาชนะที่ล้างสะอาดและผ้าที่ซักสะอาดก็ใช้ทำแผลได้ ความชื้นจะทำให้ความเข้มข้นของน้ำเชื่อมเสียไป ภาชนะหรือผ้าจะต้องแห้ง ที่จริงภาชนะหรือผ้าที่ปลอดเชื้อเป็นของดี แต่ไม่สามารถจะหาหรือทำได้ทุกแห่งทั่วประเทศ แม้แต่โรงพยาบาลใหญ่ เช่น ศิริราช ยังพบว่าเครื่องทำให้ปราศจากเชื้อด้วยความร้อนที่เรียกว่า เครื่องนึ่งหรือโอโตเคลฟ เสียอยู่บ่อย ๆ ยิ่งตามสถานีอนามัยด้วยแล้วเครื่องนึ่งนี่แทบจะบอกได้เลยว่า เสียใช้การไม่ได้ร้อยละ 50 ของที่มีอยู่ แล้วยิ่งชาวบ้านจะหาเครื่องนึ่งมาจากไหน

น้ำเชื่อมมีข้อได้เปรียบที่ตัวมันเอง ฆ่าเชื้อโรค ดังนั้นภาชนะที่สะอาดและแห้งก็เพียงพอที่จะใช้เก็บน้ำเชื่อมได้ การทำแผลด้วยน้ำเชื่อม ควรเปลี่ยนแผลอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพราะน้ำเชื่อมจะถูกทำให้เจือจางไปโดยน้ำที่ซับออกมาจากร่างกาย และถูกดูดซับโดยผ้าปิดแผล แผลที่เป็นโพรงหรือแผลลึกเหมาะสำหรับการรักษาด้วยน้ำเชื่อม เพราะเทลงไปในโพรงได้เลย ไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไร
ถ้าโพรงลึกควรล้างด้วยน้ำเกลือนอร์มัล หรือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เสียก่อน ใช้ผ้าปราศจากเชื้อเช็ดก้นแผลให้แห้ง แล้วจึงใส่น้ำเชื่อม


⇔ของฝากก่อนจาก
การใช้น้ำเชื่อมรักษาแผลไม่ใช่ของใหม่ทำกันมานานแล้ว แต่ทิ้งหรือเลิกไปเพราะหลงคำโฆษณาของผู้ที่ค้ากำไรจากสารเคมีที่มีทั้งพิษและราคาแพง
การใช้น้ำเชื่อมนอกจากจะไม่มีพิษ ราคาถูก ช่วยเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังได้ผลดีกว่าอีกด้วย.
 

ข้อมูลสื่อ

43-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 43
พฤศจิกายน 2525
เรื่องน่ารู้
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์