• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เสียว...ฟัน!!!


พูดถึงความเสียว คนหนุ่มคนสาวที่ชอบความตื่นเต้น อาจชอบทำอะไร ๆ ให้เสียวไส้หรือหวาดเสียว หรือเสียวกาย เสียวใจ แล้วแต่จิตใจของแต่ละคน
แต่ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ส่วนมากจะไม่ชอบ อาการเสียวฟัน ไม่ว่าจะอายุมากน้อยเพียงใดก็ตาม
ในผู้ใหญ่ที่สูงอายหน่อย อาจจะมีอาการเสียวฟันบ่อยกว่า ทั้งนี้อาจเป็นผลจากการกินอาหารบางชนิด เช่น เปรี้ยวจัด หวานจัด หรือบางครั้งเป็นผลจากการแปรงฟัน หรือแม้แต่ในขณะที่บ้วนปากด้วยน้ำดื่มเย็นจัด หรือร้อนจัด

ในเด็ก วัยรุ่น หรือวัยหนุ่มสาว อาการเสียวฟัน อาจเป็นผลจากอาหารบางชนิดเช่นเดียวกันผู้ใหญ่ แต่ทั้งนี้ มักจะมีอาการจากการที่มีฟันผุในปาก ที่ยังไม่ได้รับการรักษา ซึ่งบางครั้งเป็นอาการแรกเริ่ม ที่บ่งชี้ให้เจ้าของฟันทราบถึงความผิดปกติภายในปาก ที่อาจยังไม่ได้สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือรู้สึกด้วยสัมผัสจากลิ้นด้วยตนเอง
ที่เด่นชัดที่สุดที่แทบจะทุกคน บอกอาการเสียวฟันได้ตรงกัน ได้แก่ ในขณะถูกกรอฟันในการบำบัดรักษาทางคลินิกทันตกรรมชนิดต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การอุดฟัน เตรียมการใส่ฟันปลอมชนิดติดแน่น ที่เป็นสาเหตุให้กลัวหมอฟัน กลัวการทำฟัน ก็เพราะอาการเสียวฟันนี้เอง


⇒ทำไมฟันจึงเสียว
ธรรมชาติได้สร้างอวัยวะต่าง ๆ มาอย่างเหมาะสม ฟันก็เช่นกัน ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีชั้นนอกและชั้นใน คล้ายกับการที่มีชั้นผิวหนังห่อหุ้มชั้น กล้ามเนื้อภายใน โดยที่บริเวณตัวฟัน จะมีชั้นเคลือบฟัน (ena-mel) ครอบคลุมชั้นเนื้อฟัน (dentine) ไว้
ลักษณะของชั้นเคลือบฟัน ประกอบด้วยแร่ธาตุกว่าร้อยละ 90 และไม่มีเซลล์มาหล่อเลี้ยงจึงมีสภาพคล้ายเปลือก ทำหน้าที่ปกป้องภยันตราย ที่จะมากระทบชั้นเนื้อฟันภายใน และโดยที่ชั้นเนื้อฟันนี้ มีส่วนประกอบแร่ธาตุน้อยลงและมีส่วนประกอบอินทรีย์มากขึ้นจึงไม่แข็งแกร่งเท่ากับชั้นเคลือบฟัน นอกจากนี้ เนื่องจากชั้นเนื้อฟันนี้มีเซลล์หล่อเลี้ยงจึงสามารถรับรู้ความรู้สึกได้ดี

ในส่วนของรากฟัน โดยปกติส่วนนี้จะถูกปกคลุมด้วยเหงือกรัดแน่น จากคอฟันลงไปจนถึงปลายราก นอกจากนี้ ยังมีชั้นเคลือบรากฟัน (Cementum) บาง ๆ คลุมส่วนชั้นเนื้อฟันภายใน แต่ชั้นเคลือบรากฟันมีคุณสมบัติและส่วนประกอบใกล้เคียงกับชั้นเนื้อฟัน
การที่ทราบถึง ส่วนประกอบและคุณสมบัติของส่วนต่าง ๆ ของฟันนี้ เป็นประโยชน์ในการทำให้ทราบถึงสาเหตุของการเสียวฟัน
กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่ชั้นเนื้อฟัน หรือชั้นเคลือบรากฟัน ได้สัมผัส และรับความรู้สึกโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ความเข้มข้น ความเป็นกรด – ด่าง ของสารที่กระทบกับเนื้อฟัน เป็นสาเหตุให้ของเหลวในเนื้อฟันขยับตัว แล้วไปกระทบประสาทฟันภายในคลองรากฟัน แปรความรู้สึกเป็นอาการการเสียวฟัน ในที่สุด

การที่เนื้อฟัน มีโอกาสสัมผัสโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าว เกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อชั้นเคลือบฟันในบริเวณตัวฟัน หรือชั้นเคลือบรากฟันในบริเวณรากฟัน สูญเสียไปจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
- อาจเป็นผลจากการสร้างกรดของเชื้อจุลินทรีย์ในบริเวณรอบฟันผุ
- การสึกกร่อนของชั้นเคลือบฟัน จากการใช้ฟันผิดหน้าที่ หรือจากการบดเคี้ยวมากจนเกินปกติ
- จากการแปรงฟันไม่ถูกวิธี ใช้แปรงแข็ง และออกแรงมากเกินไปในขณะแปรงฟัน ซึ่งนอกจากจะทำลายชั้นเคลือบฟันแล้ว ยังมีผลให้เหงือกร่น ชั้นเคลือบรากฟันสูญเสียไปด้วย
- ในรายที่มีกระเป่าปริทันต์ลึก เหงือกไม่รัดรากฟันแน่นเท่าที่ควร มีผลให้ชั้นเคลือบรากฟันสัมผัสกับการเปลี่ยนแปลวงในปากโดยตรง ฯลฯ

ในกรณีเหล่านี้ อาหารรสเปรี้ยว ซึ่งหมายถึงมีความเป็นกรดมากกว่า หรือ อาหารหวานจัดที่มีความเข้มข้นสูงกว่าปกติ หรือแม้แต่น้ำเปล่า ที่มีความเย็นจัด หรือร้อนจัดมากระทบ สัมผัสโดยตรงกับชั้นเนื้อฟัน หรือชั้นเคลือบรากฟัน ที่มีเซลล์หล่อเลี้ยงอยู่ก็สามารถรับความรู้สึก ที่เรียกว่าเสียวฟัน ในสถานการณ์ที่ต่างกัน แต่เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ การกรอฟัน ซึ่งหมายถึงการตัดส่วนด่าง ๆ ของฟันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดเนื้อฟัน ที่สามารถรับรู้ความรู้สึกได้ แม้ในปัจจุบันที่ใช้เครื่องกรอความเร็วสูง และมีน้ำหล่อเลี้ยงในขณะกรอฟัน ชั้นเนื้อฟันยังคงรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และถ่ายทอดความรู้สึก เป็นความเสียวฟัน ในที่สุด


⇒ การแก้ไข หรือป้องกันการเกิดอาการเสียวฟัน
ในเด็ก อาการเสียวฟัน มักจะชี้บ่งถึงมีฟันผุในปาก ซึ่งบางครั้งอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น ฟันผุในบริเวณด้านข้างของฟันติดต่อกันระหว่างฟัน 2 ซี่ ดังนั้น จึงมักจะสังเกตว่า เด็กมักจะเสียวฟันในขณะกินอาหาร หรือภายหลังมื้ออาหาร เนื่องจากเศษอาหารไปติดในบริเวณฟันผุ แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ ในขณะกินอาหารเย็นจัด หรือแม่แต่หวานจัด เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลันนี้ จะไปกระทบกับชั้นเนื้อฟันที่รู ฟันผุ ทำให้เกิดอาการเสียวฟันขึ้น ทันทีทันใด
การแก้หรือป้องกัน ก็ได้แก่ การป้องกันโรคฟันผุ หรือถ้าเกิดฟันผุขึ้นแล้วก็ต้องรีบไปรับการบำบัด-รักษา โดยการอุดฟันที่ผุ หรือในรายที่ฟันผุไม่มากอาจใช้สารเคลือบร่องฟัน หรือรอยฟันผุเล็กน้อย ไม่ให้ลุก-ลามจนมีอาการเสียฟันต่อไป

ในผู้ใหญ่ หรือคนสูงอายุ อาการเสียวฟัน นอกจากเกิดฟันผุได้เช่นเดียวกับในเด็กแล้ว อาการเสียว-ฟันอาจเกิดจาก ฟันสึกที่บริเวณคอฟัน หรือจากบริเวณโรคปริทันต์ ที่เป็นเหตุให้เหงือกร่น ซึ่งการแก้ไข ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ที่สำคัญ ได้แก่ การแปรงฟันให้ถูกวิธี ใช้แปรงขนอ่อนแปรง โดยไม่ต้องออกแรงมาก และแปรงในช่วงสั้น ๆ
นอกจากนี้ การหมั่นแปรงฟันให้คอฟันสะอาด ไม่เป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์ ตลอดจนการแปรงฟัน-แปรงเหงือกเพื่อให้เหงือกได้รับการกระตุ้นจากเลือดที่มาหล่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยส่งเสริมสุขภาพในปาก และป้องกันการเสียวฟันได้ดีด้วย

ที่สำคัญ ก็คือ การดูแลสุขภาพในปากให้สมบูรณ์ดีอยู่เสมอ นอกจากจะป้องกัน อาการเสียวฟันที่เกิดขึ้น ประจำในแต่ละวันแล้ว ยังสามารถจะป้องกันการเสียวฟัน ที่เกิดจากการกรอฟันไม่ว่าจะเป็นการกรอ-ฟัน เพื่ออุดฟันที่ผุ เพื่อครอบฟัน เพื่อใส่ฟันปลอม ฯลฯ ซึ่งเป็นการเสียวฟัน ที่ไม่เป็นที่ปรารถนา และสา- มารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ ด้วยตัวของท่านเอง

แล้วท่านจะได้ไม่ต้องกลัวหมอฟันอีกต่อไป
 

ข้อมูลสื่อ

109-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 109
พฤษภาคม 2531
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช