• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารกับสุขภาพฟันเด็ก ในวัยประถมศึกษา

 

คอลัมน์นี้เปิดโอกาสให้ถามปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของช่องปาก การถามปัญหานั้น ผู้ถามจะต้องเล่าประวัติ การตรวจรักษา การใช้ยา การแพ้ยา(ถ้าเคย) ให้ละเอียดและโปรดแจ้งชื่อ อายุ เพศ ที่อยู่ให้ชัดเจน (ยินดีตอบให้เป็นการส่วนตัว) โปรดส่งจดหมายพร้อมกับซองเปล่าติดแสตมป์ จ่าหน้าถึงตัวท่านให้ชัดเจน ส่งไปยัง หมอชาวบ้าน ตู้ ปณ.กลาง 192 กรุงเทพฯ 10501


ในเด็กวัยเรียนหรือเด็กประถมศึกษานี้
อายุอยู่ในช่วงระหว่าง 7-12 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีฟันถาวรงอกขึ้นมาในช่องปากแล้ว และนอกจากนั้นยังเป็นระยะที่กำลังมีผลัดฟัน จากฟันน้ำนมเปลี่ยนเป็นฟันถาวรอีกด้วย โดยจะค่อย ๆ ผลัดเปลี่ยนฟัน เริ่มจากฟันหน้าล่าง ฟันหน้าบน ฟันกราม และฟันเขี้ยว จนในที่สุด เมื่ออายุ 13-14 ปี จะมีฟันถาวรขึ้นแทนฟันน้ำนมทั้งหมด
ในเด็กประถมต้น เมื่ออายุประมาณ 6-7 ปี ฟันกรามถาวรซี่แรกจะเริ่มขึ้นมาที่บริเวณด้านหลังของฟันกรามน้ำนมทั้ง 4 แห่ง ทั้งฟันบนและฟันล่าง ซ้าย-ขวา ฟันกรามถาวรซี่แรกนี้ ชาวบ้านมักเข้าใจผิดคิดว่า เป็นฟันน้ำนม เพราะงอกขึ้นมาโดยไม่ได้ไปทดแทนฟันน้ำนมซี่ใดเลย ฟันซี่นี้เป็นฟันที่มีอัตราการผุมากที่สุด โดยเฉพาะการผุที่ด้านบดเคี้ยวของฟันกรามถาวรซี่แรกนี้ พบบ่อยที่สุด

สาเหตุอาจมาจากการที่ฟันกรามถาวรเป็นฟันที่ทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหารที่สำคัญที่สุด ด้านบดเคี้ยวของฟันกรามนี้ จึงมีร่องและหลุมอีกมากมาย เพื่อทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนที่จะกลืนเข้าสู่ร่างกาย ที่บริเวณร่องและหลุมลึกบนด้านบดเคี้ยวของฟันกรามถาวรซี่แรกนี้เอง เป็นที่กักของเศษอาหาร และเชื้อจุลินทรีย์ในปากได้ง่าย รวมทั้งการทำความสะอาดในบริเวณนี้ ไม่ทั่วถึง เนื่องจากอยู่ลึกเข้าไปในปาก นอกจากนี้ที่บริเวณด้านแก้มของฟันซี่นี้ จะมีรูเล็ก ๆ ที่สามารถกักเศษอาหาร และเกิดฟันผุได้ง่ายอีกแห่งหนึ่งด้วย

จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่าร้อยละ 60 ของฟันผุในฟันถาวรเป็นการผุที่ฟันกรามถาวรซี่แรกนี้ ซึ่งผุได้เร็วมาก ในเด็กบางคนพบว่าฟันเริ่มผุทั้ง ๆ ที่ตัวฟันโผล่งอกขึ้นมาในปากยังไม่เต็มที่ด้วยซ้ำไป
ความรุนแรงของผุในฟันกรามถาวรซี่แรก ตั้งแต่ฟันเริ่มผุซี่แรกเล็กน้อย ซึ่งอาจไม่มีอาการ หรืออาการเพียงขั้นเสียวฟัน แต่ถ้าปล่อยไว้การผุจุลุกลาม เข้าไปในโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดอาการปวดฟัน และยิ่งนานต่อไป เชื้อโรคเข้าไปตามโพรงประสาทฟันไปเกิดเป็นหนอง ฝี ที่ปลายรากฟัน ก็อาจจะมีอาการปวดบวมมากขึ้น ต่อไปเมื่อฟันผุลุกลามมากขึ้น จนกระทั่งมีการทำงายเนื้อฟันเกือบหมดซี่ ซึ่งในกรณีนี้อาจไม่สามารถบำบัดรักษาโดยการเก็บฟันไว้ต่อไปได้ เป็นเหตุให้อาจต้องสูญเสียฟันถาวรซี่สำคัญไปตั้งแต่ยังเด็ก

ในวัยประถมศึกษานี้ เป็นช่วงระยะเวลาที่มีฟันน้ำนมและฟันถาวรผสมกันในปากเดียวกัน และเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณขากรรไกรบนและล่างก็ขยายตัวไปตามการเจริญของร่างกายส่วนอื่น ๆ แต่ตัวฟันน้ำนมไม่สามารถโตตามไปด้วยได้ ซึ่งมีผลให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน โดย-เฉพาะฟันกรามน้ำนมซึ่งเป็นบริเวณที่ทำหน้าบดเคี้ยวโดยตรง โอกาสที่เศษอาหารจะติดตามซอกฟันมีได้มาก ดังนั้น ฟันผุที่บริเวณด้านประชิดของฟันกรามน้ำนม จึงเกิดได้บ่อยและง่ายเช่นกัน

อาหารของเด็กในวันนี้ จึงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมหรือป้องกันการเกิดโรคฟันผุได้เป็นอย่างดี เศษอาหารที่ตกค้างอยู่บนรูและร่องฟันในด้านบดเคี้ยว หรือตามซอกฟันที่จะมีผลให้เกิดโรคฟันผุได้ ได้แก่ อาหารประเภทแป้งและน้ำตาล โดยเฉพาะอาหารที่มีความหนืดหรือเหนียว และสามารถติดฟันได้นาน ๆ เป็นการให้โอกาสแก่เชื้อจุลินทรีย์ในปาก ใช้อาหารเหล่านี้ในการเจริญเติบโต และสร้างเป็นกรดทำลายฟันต่อไป ตามธรรมชาติร่างกายของเด็กในวัยเรียนนี้ ต้องการอาหารประเภท โปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ และอาหาร ประเภทแร่ธาตุ เช่น ผัก ผลไม้ เพื่อใช้ในการเสริมสร้างความเจริญของร่างกายเป็นพิเศษ ซึ่งอาหารประเภทนี้ แม้บางชนิดจะมีความเหนียว เช่น เนื้อ ผักบางชนิด แต่อาหารเหล่านี้ เชื้อจุลินทรีย์ในปากไม่สามารถใช้ในการเจริญและสร้างกรดให้เกิดโรคฟันผุได้

นอกจากนี้ อาหารเหล่านี้ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีเส้นใย เช่น ผักสด ฝรั่ง ชมพู่ ยังทำความสะอาดฟันในขณะบดเคี้ยวอาหาร ทำให้บริเวณของฟันที่ได้รับการเสียดสี ปลอดจากการเกาะตัวของคราบจุลินทรีย์และสะอาด เป็นการป้องกันฟันผุไปในตัวด้วย แน่นอน อาหารประเภทไขมัน และแป้ง จำเป็นสำหรับการเจริญของร่างกายด้วย โดยเป็นสารที่ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย ในอดีตการกินอาหารประเภทนี้ เป็นไปตามสภาพเดิมที่ไม่ไดถูกแปรเปลี่ยนเป็นสารที่มีขนาดเล็กเช่น ในปัจจุบัน ผลเสียต่อฟันจึงไม่มากนัก ดังจะเห็นได้ว่า โรคฟันผุในเด็กเพิ่มมากขึ้นตามการเจริญของเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนอุปนิสัยในการกินอาหาร เช่น กินอาหารอ่อนและทำด้วยแป้งมากยิ่งขึ้น ได้แก่ พวกขนม คุกกี้ บิสกิต โดนัต ซึ่งนอกจากทำด้วยแป้งแล้วยังมีความหวานจากน้ำตาล และสามารถติดฟันได้นาน เป็นที่เพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ในปากที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคฟันผุในที่สุด

การเด็กในวัยเรียนมีฟันผุ โดยเฉพาะที่ลุกลามมากจนรูผุเป็นโพรงใหญ่ เมื่อกินอาหาร จะมีเศษอาหารไปตกค้างในรูผุนั้น ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นกะทันหัน และอาจจะรุนแรงในบางราย ทำให้เด็กเข็ดขยาด ไม่ยอมกินอาหารตามปกติ โดยจะเลือกกินเฉพาะอาหารอ่อน หรือเหลวซ้ำร้ายในบางรายที่ผู้ปกครองตามใจ หรือไม่ได้เอาใจใส่ใส่เท่าที่ควร กลับให้เด็กกินของหวานหรือลูกอมแทน หรือให้กินขนม โดยได้รับอิทธิพลจากการโฆษณาทางวิทยุ โทรทัศน์ เช่น แป้งกรอบ หรือขนมปังกรอบชนิดต่าง ๆ ซึ่งแม้จะไม่หวาน ก็อาจเป็นอาหารให้เชื้อจุลินทรีย์ทำลายฟันได้มากและรุนแรงขึ้นนอกจากนี้ ยังอาจมีผลทำให้ร่างกายได้รับอาหารไม่ครบส่วน การเจริญเติบโตของร่างกายก็จะไม่เต็มที่ตามอายุ ทั้งนี้จะพบว่าเด็กที่มีฟันผุเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง มักเป็นเด็กผอมเล็กกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน หรือในบางกรณีอาจเป็นเด็กอ้วน ถ้าได้รับอาหารนมทดแทนอาหารปกติมากเกินพอ แต่เด็กนั้นก็มักจะไม่แข็งแรง

ดังนั้น ฟันผุในวัยเด็กจึงมีผลเสียต่อสุขภาพในช่องปาก ทำให้ฟันไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ และถ้าเกิดอาการเจ็บปวดด้วย เด็กอาจหลีกเลี่ยงการแปรงฟันในบริเวณนั้น เป็นผลให้เหงือกอักเสบ และอาจมีหินปูนหรือหินน้ำลายมาจับพอกหนาตัว เป็นที่กักของเชื้อจุลินทรีย์ในปาก ทำให้อนามัยในช่องปากไม่สะอาด นอกจากนี้ ที่สำคัญคือ มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบโภชนาการของร่างกาย อันอาจทำให้การเจริญเติบโต ไม่ได้สัดส่วน การกินอาหารในเด็กวัยเรียนนี้ ควรจะต้องช่วยกันดูแล ทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน ให้เด็กได้รับอาหารครบทุกประเภท เป็นที่น่ายินดีว่า ในปัจจุบันหลาย ๆโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐ ได้ให้ความสนใจจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพแก่เด็กนักเรียน เช่น
โครงการอาหารกลางวัน ครูในโรงเรียนได้ระมัดระวังอาหารให้มีครบทุกหมู่ ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว การเคี้ยวอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะประเภทผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ ซึ่งมีกากที่ต้องการการบดเคี้ยวจากฟัน ยังกระตุ้นการหลั่งน้ำลายให้ออกมามาก เพื่อช่วยคลุกเคล้าอาหารในปาก และช่วยให้สภาวะความเป็นกรดในช่องปากเหมาะสม เป็นการเพิ่มสุขอนามัย ได้แก่ช่องปากด้วย

เด็กวัยเรียนต้องการพลังงานมากเป็นพิเศษ จึงมักจะหิวบ่อยและต้องการกินอาหารว่างและขนมในระหว่างมื้ออาหาร ซึ่งของวางเหล่านี้ เป็นตัวการสำคัญที่เป็นเหตุให้เกิดฟันผุ ดังเป็นที่น่าสังเกตว่า สภาพร้านค้าย่อยที่ขายขนมในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือในชนบทห่างไกล ส่วนใหญ่มักจะมีขนมหวาน ประเภททอฟฟี่ ลูกอมชนิดต่าง ๆ รวมทั้งขนมปังกรอบ ฯลฯ ที่ราคาไม่แพงมากนัก แต่เป็นที่รู้จักดีในหมู่เด็ก ๆ โดยได้รับอิทธิพลจากการโฆษณาทางโทรทัศน์ ของว่างและขนมเหล่านี้ ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่กลับมีผลเสียต่อฟัน ทำให้เกิดโรคฟันผุ นอกจากนี้ การที่ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไปในช่วงก่อนอาหาร จะเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดชั่วคราว เป็นผลให้ไม่อยากอาหาร และกินอาหารน้อยกว่าปกติด้วย ทางเลือกอื่นสำหรับเด็กวัยเรียนนี้ ซึ่งทราบดีว่าต้องการอาหารประเภทโปรตีนมาก และอาหารโปรตีนนี้ไม่มีผลเสียต่อฟันด้วย จึงควรเริ่มต้นเสริมสร้างอุปนิสัยในการเลือกอาหารว่าที่มีประโยชน์ให้แก่เด็กในวัยเรียนนี้ เช่น ปลาหมึก หมูปิ้ง ลูกชิ้น น่องไก่ย่าง ฯลฯ ทดแทนอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ดังกล่าว

นอกจากนี้ อาหารประเภทถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสงต้ม ถั่วปากอ้าทอด ข้าวโพดฝัก ฯลฯ จะไม่ทำให้เกิดฟันผุผุแล้ว การที่ใช้ฟันทำหน้าที่บดเคี้ยวตามสมควร ในการกินอาหารโปรตีนเหล่านี้ ยังเป็นการบริหารเหงือกและฟัน เป็นการกระตุ้นการงอกของฟันถาวร ในรายที่จะมาผลัดฟันน้ำนมในช่วงของเด็กวันประถมศึกษานี้ อาหารเหล่านี้ยังกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรและใบหน้าให้ได้ส่วนสัด ซึ่งอาจมีผลในการลดสภาวะฟันเกซ้อนได้ในบางกรณี นอกเหนือไปจากการป้องกันโรคฟันผุด้วย จะเห็นได้ว่าอาหาร นอกจากมีผลทางโภชนาการต่อร่างกายทั้งระบบแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพในช่องปาก โดยเฉพาะต่อฟันในเด็กวัยเรียนนี้ โดยพบว่าอาหาร ฟัน และสุขภาพทั่วไปมีความเกี่ยวข้องเป็นวัฏจักร ดังนี้
วัฏจักร หรือวงจรที่เป็นประโยชน์ ให้คุณต่อร่างกาย ได้แก่ ฟันดี ไม่ผุ เคี้ยวอาหารได้ดี ร่างกายก็จะได้รับอาหารครบส่วน ถูกต้อง เหมาะสม ร่างกายจึงแข็งแรงเติบโต แต่ถ้าเป็นวัฏจักรที่เป็นโทษ กล่าวคือ ฟันผุ ปวดฟัน ไม่อยากเคี้ยวอาหาร ได้รับอาหารไม่ครบส่วน ร่างกายก็ไม่แข็งแรง และเจริญเติบโตไม่เต็มที่
 

จึงขอเชิญชวนให้ความสนใจในเรื่องอาหารกับสุขภาพฟันเด็ก เพื่อสุขภาพในช่องปากและสุขภาพ ร่างกายโดยทั่วไป ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดควบคู่กันไปด้วย

ข้อมูลสื่อ

111-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช