คอลัมน์นี้ได้รับความร่วมมือจากชมรมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่เราจะนำความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคต่าง ๆ ในประเทศลงตีพิมพ์ติดต่อกัน โดยจะครอบคลุมไปถึงลักษณะของโรคที่ควรรู้ในฤดูกาลต่าง ๆ กัน ตลอดจนวิธีการป้องกันโรคนั้น ๆ ด้วย |
กรณีการสร้างทางด่วนขนานกับคลองประปา กลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ผู้คัดค้านการสร้างทางช่วงนี้ เกรงว่า สารตะกั่วที่ผ่านออกมาจากรถยนต์ จะตกลงไปในคลองและทำให้ระดับตะกั่วในน้ำประปาเพิ่มขึ้น จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากกรณีทางด่วนนี้เองที่ทำให้มีการพูดถึงอันตรายจากสารตะกั่วมากขึ้น
ผมจะขออนุญาตไม่พูดถึงทางด่วนและสารตะกั่วในน้ำประปา เพราะได้มีการให้ข้อมูลกันอย่างกว้างขวางแล้ว แต่อยากจะพูดถึงพิษภัยจากสารตะกั่วทั้งหมดที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราทุกคน
มนุษย์รู้จักสารตะกั่วประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว และเริ่มใช้ตะกั่วมาทำเครื่องใช้ต่าง ๆ ผสมกับโลหะอื่น ๆ ใช้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ทำสี และอุตสาหกรรมหลายชนิด รวมทั้งผสมในน้ำมัน เป็นต้น นับว่าเป็นสารที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่อะไรที่มีคุณอนันต์ย่อมมีโทษมหันต์ด้วยเสมอ
คงจะได้ยินและรู้จักชาวโรมัน จากภาพยนตร์หรือหนังสือต่าง ๆ ชาวโรมันมีความเก่งกล้าทั้งการรบ และวิทยาการแขนงต่าง ๆ จนแผ่ขยายอาณาจักรโรมันให้กว้างขวางเกรียงไกร แต่ในที่สุดอาณาจักรนี้ ก็ล่มสลาย เข้าทำนองว่ารบชนะคนอื่นหมดก็เริ่มตั้งตนในความประมาท มีการฉลองชัยชนะ มีงานเลี้ยงทุกวัน ผู้ปกครองและขุนทหารต่าง ๆ พากันมัวเมาอยู่แต่สุรานารี จนในที่สุด ก็ถูกศัตรูทำลายได้ แต่นักวิทยาสตร์ปัจจุบันสันนิษฐานว่า สารตะกั่วอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรนี้ต้องพบกับความพินาศ
มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ โดยแพทย์ของกรุงโรมว่า ผู้นำทางการเมืองและการทหารหลายคนมีอารมณ์แปรปรวน เซื่องซึม สติวิปริตไป ประชาชนและทหารจำนวนมาก เป็นโรคปวดข้อ คนปัญญาอ่อนมีเพิ่มขึ้น แต่ประชากรของกรุงโรมกลับเพิ่มขึ้นช้า ทั้งหมดนี้เข้าได้กับอาการของพิษจากสารตะกั่วที่สะสมอยู่ในร่างกายทีละเล็กละน้อยแต่เป็นเวลานาน ชาวโรมันสมัยนั้นไม่รู้ว่า หม้อ ไห เหยือก หรือถ้วยโลหะที่ทำจากเงินผสมตะกั่วนั้น เมื่อนำมาเก็บเหล้าองุ่นหรือใช้ดื่ม จะมีตะกั่วละลายออกมาเพราะฤทธิ์กรดของเหล้า
ตะกั่วมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์เลยแม้เพียงเล็กน้อย ดังนั้นถ้าจะถามว่า คนเราควรจะมีสารตะกั่วในร่างกายที่ตรวจโดยการวิเคราะห์เลือดสักเท่าใด คำตอบที่ดีที่สุดคือ ไม่ควรมีตะกั่วในร่างกายเลย หรือมีเท่ากับศูนย์ แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะตะกั่วได้เข้าใกล้ชิดกับทุก ๆ อย่าง ในชีวิตประจำวันของเรา ทุกวันนี้ เราหายใจเอาตะกั่วเข้าไป กินตะกั่วเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เหมือนชาวโรมันสมัยก่อน ดังนั้นจึงพบตะกั่วในเลือดอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ตะกั่วจะเข้าไปในร่างกายโดยการหายใจและโดยการกิน เมื่อเข้าไปแล้ว จะถูกขับออกมาเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะสะสมในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น
- ขัดขวางกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์ ผลที่สุดทำให้เกิดภาวะเลือดจาง ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่เติบโต
- ไปจับกับเนื้อเยื่อสมองทำให้ความเฉลียงฉลาดลดลง ความจำเสื่อม สมาธิเสีย โง่ทึบ ถ้าสะสมมาก ๆ ก็ทำให้สมองบวม เกิดการชักกระตุก หมดสติ และตายได้
- จับเส้นประสาท ทำให้รู้สึกมึนชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต
- ทำให้ระบบการทำงานของไตเสื่อม และยังมีการศึกษาที่แสดง ว่าสารตะกั่วอาจทำให้เกิดการเป็นหมันหรือแท้งบุตรได้มากกว่าธรรมดา เป็นต้น
อันตรายต่าง ๆ ที่กล่าวถึงนี้จะมีมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปริมาณ และระยะเวลาที่ร่างกายได้รับสารตะกั่ว แต่เด็กจะได้รับอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็กก่อนวัยเรียน (ต่ำกว่า 7 ขวบ) อันตรายที่สำคัญคือเรื่องสมองนั้น แม้ร่างกาย จะมีระดับตะกั่วไม่สูงมากจนทำให้เกิดอาการชัดเจน แต่มีการศึกษาที่ยอมรับกันแล้วว่า กลุ่มเด็กที่มีระดับตะกั่วในเลือดสูงฉลาดน้อยกว่ากลุ่มเด็กที่มีระดับตะกั่วในเลือดต่ำ ถ้าเจาะเลือดจากคนมาตรวจ ก็จะสามารถบอกได้ว่ามีตะกั่วอยู่ในปริมาณเท่าใด โดยวัดเป็นหน่วยไมโครกรัมต่อเลือดหนึ่งเดซิลิตร ในสหรัฐอเมริกาที่มีการศึกษาเรื่องอันตรายของตะกั่วอย่างกว้างขวาง ได้กำหนดไว้ว่าเด็กก่อนวัยเรียนไม่ควรมีระดับตะกั่วในเลือดเกิน 25 ไมโครกรัม ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขของไทยกำลังกำหนดค่าระดับตะกั่วในเลือดของเด็กไทยให้มีค่าต่ำกว่าที่เคยตั้งไว้เดิม 40 หรือ 50 ไมโครกรัม
ตะกั่วที่เข้าสู่ร่างกายของคนทั่วไปมาจากแหล่งที่สำคัญ ดังนี้
1. ตะกั่วในน้ำมัน ขณะนี้ น้ำมันเบนซินพิเศษที่ใช้กับรถจำนวนหลายแสนคันในประเทศไทย มีสารตะกั่วผสมอยู่ 0.45 ไมโครกรัมต่อน้ำมันหนึ่งลิตร วัตถุประสงค์เพื่อให้เครื่องเดินเรียบสม่ำเสมอ (ไม่น็อก) แต่ผลเสีย คือ ตะกั่วจำนวนมหาศาล จะถูกปล่อยออกมาจกรถยนต์ทำให้อากาศรอบตัวเรามีสารตะกั่วปนมากมาย
นอกจากเราจะหายใจเอาตะกั่วเข้าไปโดยตรงแล้ว ฝุ่นตะกั่วที่ฟุ้งกระจายก็จะตกลงไปในน้ำ ดังเช่น กรณีที่วิตกเรื่องทางด่วน หรือตกลงไปในอาหารที่วางขายตามท้องถนน ในต่างประเทศมีเด็กเล็กจำนวนมาก ที่เล่นข้างถนนมักจะหยิบเอาเศษอาหารที่ตกพื้นขึ้นมากินอีก อาหารเหล่านี้จะเปื้อนฝุ่นซึ่งมีตะกั่วอยู่ด้วย จัดเป็นสาเหตุของตะกั่วเป็นพิษที่สำคัญ
2. ตะกั่วจากโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการหล่อหลอมโลหะผสมตะกั่ว โรงงานผลิตแบตเตอรี่ เป็นต้น จะมีฝุ่นตะกั่วปริมาณสูงในอากาศ คนงานจะได้รับฝุ่นตะกั่ว ถ้าไม่มีเครื่องปิดจมูก ช่วยหายใจ และจะมีฝุ่นตะกั่วติดตามเสื้อผ้า รองเท้า มือ ถ้ากินอาหารโดยไม่ล้างมือก็จะกินเอาสารตะกั่วเข้าไป หรือถ้ากลับบ้านโดยไม่อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อย ก็เป็นการเอาฝุ่นตะกั่วนี้กลับไปบ้าน แพร่ให้เด็กเล็ก ๆ ต่อไป
สำหรับชาวบ้านที่อยู่ใกล้โรงงานก็จะมีโอกาสรับฝุ่นตะกั่วมากกว่าปกติ ถ้าโรงงานนั้นไม่มีระบบระบายอากาศหรือการกำจัดฝุ่นตะกั่วที่ดี
3. ตะกั่วในอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ตัวอย่างที่ได้พบเห็นและควรระวัง เช่น
- เครื่องถ้วยชามที่มีลวดลาย เคลือบสีต่าง ๆ ในด้านใน หรือถ้วยโลหะที่ใช้ดื่ม เมื่อถูกอาหารที่มีฤทธิ์กรดหรือความร้อน สารตะกั่ว ที่ผสมอยู่ก็จะละลายออกมา คงจะพอได้ยินเรื่องหม้อหุงข้าวที่ทำจากปีกเครื่องบินและมีชาวบ้านซื้อมาใช้เพราะราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าจะมีสารตะกั่วปนออกมาเวลาหุง นอกจากนี้ไม่ควรอุ่นอาหารกระป๋องโดยยกกระป๋องขึ้นตั้งไฟ
- สีที่มีตะกั่วผสมซึ่งใช้ทาบ้าน เมื่อผ่านไปหลายปีมักจะลอกหลุด เป็นแผ่นเล็ก ๆ เด็ก ๆ จะชอบหรือเผลอหยิบกินทำให้ได้รับตะกั่ว กรณีเช่นนี้พบกันมากในต่างประเทศ แม้กระทั่งสัตว์ที่ขังไว้ตามสวนสัตว์ก็ยังป่วยเป็นพิษจากสารตะกั่ว เพราะชอบกัดแทะลูกกรงเหล็กที่ทาสีไว้ ในระยะหลังในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการกำหนดห้ามใช้ตะกั่วผสมในสีเกิน 0.06% ภายหลังออกกฎหมายฉบับนี้ออกมาปรากฏว่าเด็กที่ป่วยลดจำนวนลงอย่างมาก
นอกจากสีทาบ้านแล้ว ของเล่น เด็กที่ทาสีฉูดฉาดด้วยสีที่มีตะกั่วผสม ก็เป็นอันตรายมาก เพราะเด็กชอบ กัด อม หรือดูดของเล่น
- ท่อน้ำประปาที่เป็นเหล็กก็จะมีตะกั่วละลายออกมาได้ ปัจจุบัน จึงมีความพยายามจะใช้ท่อพีวีซีแทน
ยังมีแหล่งแร่สารตะกั่วในชีวิตประจำวันอีกหลายอย่าง แต่ที่สำคัญคงได้แก่ที่กล่าวมา ถ้าเราลด หรือเลิกใช้ตะกั่วในน้ำมันและเข้มงวด เรื่องระบบของโรงงาน ตลอดจนการผลิตเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ไม่เสี่ยงอันตรายต่อสารตะกั่วปนเปื้อน ปริมาณตะกั่วที่จะถูกปลดปล่อยออกมา จะลดลงไปอย่างมหาศาล และจะทำให้ปริมาณของตะกั่วในอากาศ ในอาหาร ในน้ำ ในดิน แลในร่างกายคนลดลงไปเป็นลูกโซ่
กรณีการสร้างทางด่วนทำให้ส่วนรวมได้พยายามมองปัญหาไปถึงต้นเหตุ คือ พยายามไม่ใช้ตะกั่วในน้ำมัน แม้จะต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต เปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ของรถ แต่นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มและสมควรจะทำ
ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ก็เห็นข่าวทางโทรทัศน์ นายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษประกาศเลิกใช้ตะกั่วในน้ำมัน ในประเทศไทย เองก็มีข่าวว่า การปิโตรเลียมรับปากนายกรัฐมนตรีที่จะทำให้สำเร็จในสิบปี ผมขอสรรเสริญความพยายามของทุกคน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ท่านกำลังทำสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันเด็ก ๆ และคนไทให้พ้นจากพิษภัยสารตะกั่ว อันเป็นการสร้างเสริมความมั่นคงของชาติด้วย
- อ่าน 9,417 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้