• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัณโรคปอด : โรคแห่งวรรณะ ??

คอลัมน์นี้ได้รับความร่วมมือจากชมรมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่เราจะนำความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคต่าง ๆ ในประเทศลงตีพิมพ์ติดต่อกัน โดยจะครอบคลุมไปถึงลักษณะของโรคที่ควรรู้ในฤดูกาลต่าง ๆ กัน ตลอดจนวิธีการป้องกันโรคนั้น ๆ ด้วย
โดยหวังว่าความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชุมชน เป็นการเสริมทรัพยากรระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อควบคุมและป้องกันโรคหากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับบทความ หรือมีคำถามเกี่ยวกับวิธีการควบคุมและป้องกันโรคใด ๆ ก็ตาม กรุณาเขียนถามาได้


ผมได้เขียนคอลัมน์ “กันไว้ดีกว่าแก้” มาประมาณ 1 ปี ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านมาตลอด อาจจะสังเกตเห็นว่า ที่ผมเขียนส่วนใหญ่ จะเป็นโรคติดเชื้อแบบเฉียบพลันทั้งสิ้น ฉบับนี้เราลองมาเปลี่ยนบรรยากาศพูดกันถึงโรคที่มีระยะของการติดเชื้อ และเป็นโรคแบบเรื้อรังกันบ้างนะครับ
 

     

ในบรรดาโรคติดเชื้อแบบเรื้อรัง ด้วยกันทั้งหมดแล้ว วัณโรคปอดนับเป็นโรคที่มีความสำคัญในแง่ของปัญหาสาธารณสุขมากที่สุดโรคหนึ่งในบ้านของเรา เหตุที่เรายังไม่สามารถกวาดล้างโรคนี้ได้โดยสิ้นเชิง อาจจะเนื่องจากเหตุดังต่อไปนี้ อันได้แก่
1. มีระยะของการดำเนินโรคค่อนข้างช้าและยาวนาน ทำให้ผู้ป่วยละเลยการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกมาเริ่มรับการรักษาที่ถูกต้อง ก็มักจะเป็นมากแล้ว

2. กว่าจะรู้ว่าเป็นวัณโรคก็อาจจะแพร่โรคไปยังผู้อื่นแล้ว

3. แม้ว่าปัจจุบัน การแพทย์จะมียาต้านวัณโรคที่มีประสิทธิภาพสูงหลายตัวไว้ใช้รักษาผู้ป่วยก็ตาม แต่เนื่องจากระยะเวลาของการที่ผู้ป่วยจะต้องกินยานานมากตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี แล้วแต่อาการและชนิดยาที่ใช้ ก็ทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งกินยาไม่ครบตามที่กำหนด หรือหยุดยาก่อนที่แพทย์จะสั่งให้หยุด ไม่ว่าจะจากเหตุผลที่ว่าอาการดีขึ้นแล้วเบื่อรับยา หรืออะไรก็ตาม (สุดที่จะลำดับออกมาได้หมด สำหรับเหตุผลของการหยุดยาในผู้ป่วย) ทำให้โรคไม่หายขาดยังมีสิทธิ์ที่จะลุกลามขึ้นมาอีก ทั้งยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อดื้อยา ยากต่อการรักษาในภายหลัง

4. แหล่งที่เหมาะแก่การแพร่โรคยังมีอยู่ค่อนข้างชุกชุมในบ้านเรา สถานที่เหล่านั้นได้แก่ ชุมชนแออัด ทำให้เอื้ออำนวยต่อการแพร่เชื้อระหว่างบุคคลสู่บุคคล

การที่บอกว่าโรคนี้ยังเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ก็เนื่องจากสถิติของอัตราตาย อัตราป่วย และอัตราติดเชื้อวัณโรคยังคงอยู่ที่อัตราที่ค่อนข้างสูง ตามสถิติของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี พ.ศ. 2529 พบว่าอัตราตาย 9.8 ต่อประชากรแสนคน (หมายความว่าในประชากรไทยทุก ๆ 100,000 คน จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 10 คน ด้วยสาเหตุของวัณโรคใน พ.ศ. 2529) ซึ่งแม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังคงเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 4 ที่สำคัญในปัจจุบัน นอกจากนี้ การจากสำรวจโดยกองวัณโรค กรมควบคุมโรคติดต่อของกระทรวงสาธารณสุขครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2526 ประมาณว่า ประชากรมีอัตราเสี่ยงต่อการติด เชื้อวัณโรคร้อยละ 2.3 ต่อปี (หมายความว่าในประชากร 100 คน จะมีโอกาสได้รับเชื้อเพิ่มขึ้นปีละ 2.3 คน) โดยประชาชนในชนบทมีอัตราสูงกว่าในเขตชุมชนเทศบาล


⇒ อะไรเป็นสาเหตุของเชื้อวัณโรค

เชื้อวัณโรคมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Mycobacterium tuberculosis (อ่านว่า ไมโคแบคทีเรียทูเบอร์คูโลซิส) แต่นิยมเรียกย่อ ๆ ว่า “ทีบี” เชื้อนี้ จะมีชีวิตอยู่ได้ในร่างกายคนและสัตว์เลือดอุ่นบางชนิดเท่านั้น เมื่ออยู่นอกร่างกายจะถูกความแห้งแล้งและแสงแดดตายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นในสมัยโบราณเมื่อเรายังไม่มียาต้านวัณโรคที่มีประสิทธิภาพ การรักษา จึงแนะนำให้ผู้ป่วยอยู่ในที่โปร่ง มีแสงแดดเข้าถึง (ซึ่งไม่แนะนำให้มีการรักษาแบบนี้ในสมัยนี้โดยไม่ใช้ยาร่วมด้วยนะครับ)
ระยะที่เชื้อจะติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปสู่บุคคลหนึ่ง จะแพร่โดยทางเสมหะของผู้ป่วย โดยระยะติดต่อนั้น สุดแท้แต่ระยะที่ยังมีเชื้อในเสมหะของผู้ป่วย


⇒อะไรเป็นสิ่งบอกเหตุว่าเราเป็นวัณโรคหรือไม่

 


มีผู้ป่วยวัณโรคจำนวนไม่น้อย ที่ทราบว่าตัวเองป่วย แต่ไปตรวจพบจากการถ่ายภาพรังสีทรวงอก ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของเนื้อปอดน้อยมักจะไม่ค่อยมีอาการจนไม่รู้ว่า ตัวเองผิดปกติ แต่ถ้ามีอาการมักจะประกอบไปด้วยสิ่งต่อไปนี้คือ ไข้แบบเรื้อรัง มักเป็นเกิน 1 สัปดาห์ขึ้นไปไข้มักเป็นไข้ต่ำ ๆ เกิดขึ้น ตอนบ่ายและกลางคืน ร่วมกับมีเหงื่อออกมาก บางรายอาจมีไข้สูงได้ อาการร่วมอื่นของวัณโรคที่สำคัญ คือ ไอ ในระยะที่เป็นมากจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด อาการไออาจมีเสมหะปนเลือด และเจ็บหน้าอก


ดังนั้น พอจะสรุปได้ว่า ถ้าหากว่าป่วยด้วยไข้ ไอมากกว่า 1 สัปดาห์ ถ้าทดลองรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรไปรับการตรวจโดยแพทย์ เพราะการวินิจฉัยต้องอาศัยการตรวจทางรังสี ที่จะบอกว่าเนื้อปอดมีการอักเสบ ส่วนการติดเชื้อวัณโรคสามารถบอกได้โดยการตรวจเสมหะ โดยการย้อมสีแล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ เมื่อพบเชื้อก็จะบอกได้ว่าผู้ป่วยเป็นวัณโรค
อาจมีผู้ป่วยบางรายสงสัยว่า ทำไมการตรวจเสมหะจะต้องเอาเสมหะตอนเช้า และจะต้องตรวจตั้ง 3 วันติดต่อกัน เหตุผลก็คือ เสมหะตอนเช้ามีโอกาสพบเชื้อได้สูงกว่าเวลาอื่น ๆ และเนื่องจากเชื้อวัณโรค มักจะพบได้ยาก การนัดตรวจ 3 วัน ติดต่อกันจึงช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่แพทย์ในการที่จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วย เป็นวัณโรคหรือไม่ นอกจากนี้ยังใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการติดตามผลการรักษาได้ด้วย


⇒เป็นวัณโรคแล้วต้องเสียชีวิตหมดเหมือนในอดีตหรือไม่

ปัจจุบันเราถือว่าการรักษาวัณโรคไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินความสามารถของแพทย์สมัยใหม่อีกต่อไป ถ้าหากผู้ป่วยไม่ปล่อยให้การอักเสบ ลุกลามจนทำลายอวัยวะต่าง ๆ มากเกินไปแล้ว การรักษาปัจจุบันนี้จะให้ผลดีมากเมื่อผู้ป่วยกินยาตามกำหนดและสม่ำเสมอ


“กันไว้ดีกว่าแก้ย่อมดีแท้แน่นอน!

การป้องกันวัณโรคมีหลักการใหญ่ ๆ อยู่ 2 ประการ คือ

1. การทำลายแหล่งเชื้อไม่ให้แพร่ไปยังบุคคลอื่น ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าแหล่งรังโรคของวัณโรค คือ มนุษย์และสัตว์บางชนิดเท่านั้น ดังนั้น การทำลายก็คือ การรักษาผู้ป่วยให้หายขาด ไม่มีเชื้อปะปนออกมากับเสมหะ อันจะทำให้ผู้ใกล้ชิดที่ไม่มีภูมิคุ้มกันติดเชื้อและป่วยไปด้วย การรักษาด้วยยาต้านวัณโรคจึงมีบทบาทป้องกันตรงจุดนี้ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคติดต่อจัดตั้งกองควบคุมวัณโรคขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะค้นหาผู้ป่วยรายใหม่โดยเร็วและให้การรักษา เพื่อตัดการแพร่เชื้อไปสู่สังคมนั่นเอง ตัวผู้ป่วยเองหากมีความรู้และแสวงหาการวินิจฉัยที่ถูกต้องแต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถป้องกันการแพร่กระจาย ไปยังบุคคลอื่นในครอบครัว และที่ทำงานได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ การตรวจร่างกายประจำปี ก็มักจะมีการถ่ายภาพรังสีทรวงอก ก็ด้วยเหตุผลข้างต้น คือ พยายามวินิจฉัยการติดเชื้อให้เร็วที่สุดนั่นเอง

                                   

2. การสร้างภูมิต้านทานของบุคคลต่อการติดเชื้อวัณโรค
2.1 การกินดีอยู่ดี ถือเป็นการสร้างภูมิต้านทานต่อโรคติดเชื้อใด ๆ ขั้นพื้นฐาน
- กินดี หมายถึง กินอาหารที่มีคุณค่าให้ครบถ้วน
- อยู่ดี หมายถึง การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อากาศถ่ายเท มีแสงแดดส่องถึง

2.2 นอกจากนี้ การสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อวัณโรคโดยตรงก็คือ การฉีดวัคซีนบีซีจี ข้อแนะนำของโครงการส่งเสริมภูมิคุ้มกันของกระทรวงสาธารณสุขคือ การฉีดให้แก่เด็กอายุน้อยที่สุด ดังนั้น เด็กที่คลอดที่โรงพยาบาลทุกรายจึงได้รับวัคซีนก่อนออกจากโรงพยาบาล และจะได้รับวัคซีนอีกครั้ง เมื่อเด็กเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 (อายุ 7-8 ปี)

2.3 การควบคุมวัณโรคในประเทศไทย ทำอะไรไปแล้วบ้าง
กองวัณโรคมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในงานควบคุมวัณโรค โดยมีศูนย์วัณโรคเขต 11 แห่ง กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค การรักษานั้นท่านอาจไปรับการบำบัดได้จากสถานบำบัดของศูนย์วัณโรคโดยตรง หรือจากโรงพยาบาลต่าง ๆ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สถานีอนามัยหรือสำนักงานผดุงครรภ์ใกล้บ้านของท่าน โดยสถานบริการดังกล่าวจะมีระบบส่งต่อผู้ป่วยไปรับการตรวจวินิจฉัยและการบำบัดรักษาที่ถูกต้องต่อไป

 

ข้อมูลสื่อ

119-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 119
มีนาคม 2532
นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์