• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปรัชญาการแพทย์ ตะวันออก – ตะวันตก


ความแตกต่างของปรัชญาตะวันออกและตะวันตกนั้น สามารถสะท้อนออกให้เห็นอย่างชัดเจนในเรื่องการแพทย์ ทั้งนี้เพราะการแพทย์เป็นวิชาที่นำเอาความรู้และความเจริญของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์สังคม และปรัชญามาใช้กับมนุษย์
ดังนั้น ปรัชญาความคิดทางการแพทย์ในแต่ละยุคสมัย จึงเป็นการสะท้อนออกของระบบความคิด ทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรมในแง่ของวิธีมองปัญหา วิธีการศึกษา ตลอดจนมรรควิธีในการแก้ปัญหาของคนในยุคนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน
 

แหล่งองค์ความรู้ของการแพทย์ทั้งสองระบบ
การแพทย์ตะวันออกนั้นเป็นการแพทย์ที่เกิดจากประสบการณ์ ในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บโดยตัวมนุษย์เอง จากการลองผิดลองถูก (trial and error) ที่มีการปฏิบัติที่ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก แล้วค่อย ๆ สะสมเป็นบทเรียน และสรุปเป็นเกณฑ์ขึ้น วิธีการศึกษาแบบนี้เป็นแบบการศึกษาโดยทางตรง
สำหรับการแพทย์ตะวันตกนั้น เป็นผลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ จากการทดลองกับสัตว์ เช่น หนู กระต่าย ลิง เป็นต้น แล้วนำผลสรุปจากการทดลองในสัตว์มาใช้กับมนุษย์ (ซึ่งมีคุณภาพต่างจากสัตว์) เป็นการศึกษาโดยทางอ้อม
                   

ปรัชญาการแพทย์ตะวันออก-ตะวันตก
ดังที่เคยกล่าวไว้ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 116 ประจำเดือนธันวาคม 2531 ว่า ทรรศนะการมองปัญหาแบบจุลภาคอันเป็นลักษณะเดิมของการแพทย์ตะวันตก (สมัยใหม่) นั้น ใช้วิธีการศึกษาแบบวิเคราะห์ ก่อให้เกิดการแก้ปัญหาเป็นส่วน ๆ หรือจุด ๆ หรือกลไกขึ้น
การวิเคราะห์คือ การศึกษา โดยแยกแยะคุณสมบัติ ส่วนประกอบ หรือปัจจัยต่าง ๆ ออกจากกันวิธีการศึกษาแบบวิเคราะห์ จะเห็นได้ชัดในเรื่องยาสมุนไพร ซึ่งจะมีการวิเคราะห์แยกแยะสารในสมุนไพรออกมาว่า มีสารอะไรบ้าง ตัวไหนเป็นสารออกฤทธิ์ (active ingredient) สารออกฤทธิ์มีกลไกในการออกฤทธิ์อย่างไร เป็นต้น เมื่อรู้ผลที่แน่นอนว่าสามารถนำไปใช้ได้ก็จะทำการสกัดสารตัวนั้นออกมา เป็นสารที่บริสุทธิ์วิธีการศึกษาแบบนี้ก่อให้เกิดการแก้ปัญหาเป็นส่วน ๆ หรือจุด ๆ หรือกลไกขึ้น ซึ่งปรากฏออกมาอย่างเป็นรูปธรรมของการใช้ยาสมุนไพรตัวเดียวหรือสารเดี่ยว ๆ

ดังนั้นถ้าเป็นกรณีที่ปัญหาเกิดเฉพาะที่ การแก้ปัญหาแบบนี้ก็จะสามารถแก้ได้ แต่เนื่องจากร่างกายมนุษย์นั้นเป็นระบบที่มีความเกี่ยวพันธ์และสัมพันธ์กัน มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าปัญหาเฉพาะที่ที่เกิดขึ้นเป็นผลเนื่องมาจากความผิดปกติของระบบ การแก้ปัญหาแบบกลไกก็จะแก้ปัญหาได้ชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ถึงที่สุดได้ จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวมการมองปัญหาแบบมหภาค จะต้องใช้วิธีการศึกษาแบบสังเคราะห์
การสังเคราะห์คือ วิธีการศึกษาโดยการผสมผสาน (intregrate) คุณสมบัติ ส่วนประกอบ หรือปัจจัยของสิ่งในลักษณะขององค์รวม


                

ถ้าเราใช้ทฤษฏีกล่องดำ (black box theory) มาอธิบายการศึกษาแบบนี้ก็จะได้ดังภาพที่ 1
เมื่อเราได้วัตถุเข้าไปในกล่องทางด้านเข้า (input) หลังจากผ่านกระบวนการต่าง ๆ ในกล่องดำ ก็จะได้วัตถุทางด้านออก (output) ออกมา
การแพทย์ตะวันออกได้ใช้วิธีการศึกษาแบบนี้กับมนุษย์ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า แล้วจึงสรุปออกมาเป็นกฎเกณฑ์ โดยสามารถบอกได้ว่า ถ้าร่างกายผิดปกติมีอาการอย่างไร แล้วใส่ข้อมูลหรือวัตถุ กลุ่มยาหรือตำรับยา (input) เข้าไป ก็จะได้ผลลัพธ์ (output) ที่แน่นอนออกมา เป็นการศึกษาโดยสรุปหัวและท้าย โดยไม่ต้องเปิดกล่อง (ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางกายวิภาคมากมายเหมือนแพทย์ตะวันตก) แต่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของอวัยวะในในด้านกว้างไม่ลงในรายละเอียด

สำหรับการศึกษาสมุนไพรก็เช่นกันจะไม่วิเคราะห์สาร แต่จะศึกษายาเป็นกลุ่มยาหรือตำรับยา แล้วตรวจสอบด้วยการดูความสัมพันธ์ ระหว่างข้อมูลป้อนเข้า (input) กับผลลัพธ์ (output)
ดังนั้นการศึกษายาสมุนไพร เราควรจะแยกแยะทรรศนะทั้งสองแบบซึ่งมีพื้นฐานความคิดทางปรัชญา ที่ต่างกันให้ชัดเจน จึงจะสามารถนำเอาสมุนไพรไปรับใช้ปรัชญา ความคิดของการแพทย์ทั้งสองระบบได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ควรนำเอาปรัชญาความคิดของการแพทย์อย่างใดอย่างหนึ่งไปครอบงำอีกอย่างหนึ่ง
แต่ควรนำเอาปรัชญาการแพทย์ทั้งสองมาผสมผสานกัน (intregrate) ให้กลายเป็นการแพทย์แบบใหม่ ที่มีคุณภาพใหม่ขึ้น

แต่ก่อนที่จะผสมผสานการแพทย์ทั้งสองแบบเข้าด้วยกันนั้น ควรจัดระบบความคิดของการแพทย์ตะวันออกให้เป็นระบบการแพทย์ที่มีลักษณะเป็นตัวของตัวเอง และมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนก่อน
ถ้าการแพทย์ตะวันออกยังไม่มีหลักทฤษฎี หลักการวินิจฉัยโรค หลักการรักษา หลักการใช้ยา และตำรับยาที่เป็นของตนเองแล้ว การรวมกัน (combine) ของการแพทย์ทั้งสองก็จะเกิดการพัฒนาในเชิงปริมาณ (quantity) เท่านั้น การก้าวกระโดดในเชิงคุณภาพ (quality) ก็จะไม่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกันการแพทย์ตะวันตก ซึ่งเป็นระบบการแพทย์ที่แข็งกว่าก็จะครอบงำการแพทย์ตะวันออก ทำให้การแพทย์ตะวันออกตกอยู่ในสังกัด และจะถูกทำลายไปในที่สุด
เราจะต้องทำความเข้าใจกับทัศนะทางปรัชญาที่กล่าวมาให้แจ่มชัด ซึ่งสามารถสืบทอดและพัฒนาการแพทย์ตะวันออกให้กลายเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพ ในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บเคียงบ่าเคียงไหล่กับการแพทย์ตะวันตกสืบต่อไป

 

ข้อมูลสื่อ

119-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 119
มีนาคม 2532
วิทิต วัณนาวิบูล