• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คนท้องกับการวิ่งเพื่อสุขภาพ


การวิ่งเหยาะหรือวิ่งจ๊อกกิ้ง เป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพที่ดีมากและกำลังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นวิธีออกกำลังกายที่ง่าย ทำได้สะดวก และเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย
แต่สำหรับคนท้อง ยังเป็นปัญหาที่คลางแคลงใจกันอยู่ ว่าการวิ่งจะเกิดโทษหรือไม่ สำหรับผู้ที่วิ่งเหยาะเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อตั้งครรภ์ก็สามารถวิ่งเหยาะต่อไปได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้นจากปกติ
กล่าวคือ ในระหว่างอายุครรภ์ 1-3 เดือนแรก อาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หัวใจเต้นเร็ว ทำให้วิ่งได้ลำบาก นอกจากนี้อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ในระหว่างการออกกำลังกาย เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น น้ำหนักตัวมากขึ้น รูปร่างเปลี่ยนไป หน้าท้องโตขึ้น บั้นเอวแอ่นมากขึ้น ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนไป รวมทั้งอาจมีอาการขาบวม เส้นเลือดขอด ซึ่งล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการวิ่ง

นอกจากนี้ในระหว่างการตั้งครรภ์ ความตึงตัวของเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นต่าง ๆ จะลดลง ทำให้ข้อต่าง ๆ ขาดความมั่นคง เป็นผลให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย ด้วยเหตุดังกล่าวสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยวิ่ง จึงไม่ควรเริ่มต้นวิ่งเมื่อตั้งครรภ์ สำหรับผู้ที่เคยวิ่งอยู่ก่อนตั้งครรภ์และต้องการวิ่งต่อไป ควรลดความหนักลงจากปกติประมาณร้อยละ 25 โดยทั่วไปไม่ควรวิ่งให้หัวใจเต้นเร็วกว่านาทีละ 140 ครั้ง ระยะเวลาออกกำลังกายความหนักสูงสุด ไม่ควรเกิน 15 นาที ไม่รวมเวลาอุ่นเครื่องอีก 5-10 นาที และเวลาผ่อนคลายหลังวิ่งอีก 5-10 นาที หากคิดเป็นระยะทาง คนท้องไม่ควรวิ่งเหยาะเกิน วันละ 2 ไมล์

สถานที่วิ่งควรเลือกทางวิ่งที่เรียบ ถ้าเป็นสนามหญ้าหรือพื้นดินได้จะยิ่งดี ทางวิ่งที่แข็งหรือขรุขระ อาจทำให้เกิดอันตราย ถ้าอากาศร้อนร่วมกับความชื้นสูง ควรงดวิ่งในวันนั้น
การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเช่นการวิ่ง ซึ่งหากวิ่งอย่างที่ถูกต้องพอเหมาะพอดี จะเกิดผลดี ทำให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปได้อย่างปกติ สุขภาพแข็งแรง คลอดง่าย ลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอด และฟื้นตัวหลังคลอดได้รวดเร็ว หากออกกำลังกายด้วยการวิ่งไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ก็สามารถออกกำลังกายโดยวิธีอื่น ๆ ได้แก่ การว่ายน้ำ การปั่นจักรยานอยู่กับที่ กายบริหาร เป็นต้น

ข้อสำคัญต้องลดความหนักลง ร้อยละ 25 อย่าหักโหม และงดท่าผาดโผน หากเกิดอาการผิดปกติขึ้นควรปรึกษาแพทย์

 

ข้อมูลสื่อ

118-024
นิตยสารหมอชาวบ้าน 118
กุมภาพันธ์ 2532
วิ่งทันโลก
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์