• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้ปวด-ยาลดไข้

“หมอกับชาวบ้านแม้จะเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่หมอก็มีวัฒนธรรมแบบหมอ ๆ และชาวบ้านก็มีวัฒนธรรมแบบชาวบ้าน ๆ วัฒนธรรมในที่นี้ หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ ค่านิยม ความถนัด ความเคยชิน ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมทั้งภาษาในการสื่อสาร “พูดจาภาษาหมอ” มิเพียงแต่เป็นเรื่องของการอธิบายศัพท์เกี่ยวกับสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายให้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมย่อยสองระบบเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ดีขึ้นระหว่างหมอกับชาวบ้าน
หากผู้อ่านมีข้อเสนอแนะเพียงใด ก็โปรดเขียนถึงคอลัมน์นี้ได้เลยครับ”


ป้าจันทร์มีอาการตัวร้อนเป็นหวัด ไปหาหมอ หมอให้ยาแก้ไข้ และยาแก้หวัดไปกิน 2-3 วันอาการก็ทุเลา อีกไม่กี่วันต่อมา ป้าจันทร์เดินลื่นเกิดอาการเท้าแพลง ปวดข้อเท้า จึงกลับไปหาหมอคนเดิมหมอคนเดิม หมอจ่ายยาแก้ปวดให้กิน

คุณหมอคะ ยาแก้ปวดเม็ดสีฟ้าขาวนี้ ใช่เป็นยาตัวเดียวกับที่คุณหมอให้กินแก้ไข้หวัดเมื่อวันก่อนหรือเปล่าค่ะ” ป้าจันทร์เห็นตัวยาที่หมอจ่ายให้มีรูปร่างและสีสันแบบเดียวกับที่ได้รับไปวันก่อน จึงอดสงสัยไม่ได้

“ถูกแล้วครับคุณป้า มันเป็นยาตัวเดียวกัน” คุณหมอตอบ

“แล้วทำไมใช้รักษาไข้หวัดก็ได้ รักษาเท้าแพลงก็ได้”
ป้าจันทร์ของเรารุกคำถามต่อ

คุณป้าครับ ยาเม็ดสีฟ้าขาวนี้เรียกว่า พาราเซตามอล จะใช้แก้อาการเป็นไข้ตัวร้อนก็ได้ และใช้บรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ก็ได้ครับ” คุณหมอตอบ

ป้าจันทร์จึงมาถึง “บางอ้อ” ว่ายาที่ใช้แก้ตัวร้อนนั้นเอามาใช้บรรเทาอาการปวดได้ด้วย

สุดาเป็นสาวโรงงาน มีอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ จึงไปหาหมอ
คุณหมอค่ะ ช่วยจัดยาดี ๆ ให้หน่อยนะคะ เคยไปของยาจากห้องพยาบาลของโรงงาน ไม่ว่าจะปวดหัวตัวร้อน ก็ได้ยาเพราเซตามอลตัวเดิมมาทุกครั้ง ยานี้อ่อนไปสำหรับหนูแล้วค่ะ...” สุดาชำกับเมื่อหมอตรวจเสร็จแล้ว

หมอคิดไม่ออกว่าจะให้ยาอะไรที่ปลอดภัยสำหรับสุดาดี
“ยาที่หนูเคยได้นั้นเป็นเม็ดสีอะไร” คุณหมอถาม

“สีขาวค่ะ”
หมอจึงจ่ายยาเม็ดสีเหลืองให้เธอไป

สุดากินแล้วก็รู้สึกว่าได้ผลดี กว่ายาที่เคยได้จากโรงงาน
ที่แท้ยาที่หมอจ่ายให้ก็เป็นพาราเซตามอลคือกันนั่นแหล่ะ เพียงแต่ต่างยี่ห้อ ต่างสีสันเท่านั้นเอง
หมอตรวจสุดาแล้ว รู้ว่าเป็นเพียงอาการปวดศีรษะธรรมดา ๆ ยาที่จะเลือกใช้ก็มีอยู่ 2 ตัว คือ แอสไพริน กับพาราเซตามอล แต่สุดาเคยเป็นโรคกระเพาะ หมอจึงไม่กล้าจ่ายแอสไพริน เพราะกัดกระเพาะ พาราเซตามอล จึงนับว่าปลอดภัยสำหรับเธอ
เมื่อคนไข้เชื่อว่าเป็นยาที่ดีกว่ายาของโรงงาน กินแล้วจึงรู้สึกว่าได้ผลดี ทั้ง ๆ ที่เป็นตัวยาชนิดเดียวกัน ความเชื่อหรืออุปาทานของคนไข้มีผลต่อการหายของโรคเป็นอย่างดี

ยาที่มีสรรพคุณลดไข้ (บรรเทาอาการตัวร้อน) จะมีสรรพคุณแก้ปวด หรือบรรเทาปวดได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นปวดศีรษะ ปวดเอว ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน ฯลฯ จึงเรียกรวม ๆ กันว่า “ยาแก้ปวดลดไข้” ที่แพทย์ใช้กันเป็นประจำก็มีให้เลือกอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ แอสไพริน (aspirin) กับพาราเซตามอล (paracetamal)  แต่ละชนิดอาจมียี่ห้อต่าง ๆ กันมากมาย ทำเป็นรูปร่างสีสันต่าง ๆ กันไปแล้วแต่บริษัทที่ผลิต หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือ ยาแก้ปวดลดไข้สารพัดยี่ห้อที่มีขายในท้องตลาด ไม่แคล้วเป็นแอสไพริน หรือไม่ก็พาราเซตามอลทั้งสิ้นยาแก้ปวดลดไข้ จัดเป็นยาที่ควรมีไว้ประจำบ้าน สำหรับใช้เมื่อคราวจำเป็น
สำหรับคนที่เป็นโรคกระเพาะ จะต้องหลีกเลี่ยงไม่ใช้แอสไพริน เพราะยานี้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
ส่วนพาราเซตามอล แม้ว่าจะไม่กัดกระเพาะ เช่น แอสไพริน แต่ถ้ากินมากเกินไปก็อาจมีอันตรายต่อตับได้

สรุปแล้วก็คือ ยาแก้ปวดลดไข้ ควรใช้เป็นครั้งคราวเมื่อมีอาการเท่านั้น

ข้อมูลสื่อ

118-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 118
กุมภาพันธ์ 2532
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช