• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไส้ติ่งอักเสบ ไม่น่ากลัว

เชิญเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง ขอเชิญท่านผู้อ่านร่วมเขียนเรียงความเล่าประสบการณ์ การดูแลรักษาสุขภาพตนเอง หรือให้แก่ผู้อื่น (สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงาน) ความยาวมาเกิน 2 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ปโดยประมาณ ส่งไปยังสำนักงานหมอชาวบ้าน ก่อนวันที่ 25 ของทุก ๆ เดือน คณะกรรมการจะตัดสินเรียงความทุกเดือน โดยคัดเลือกเรียงความที่เหมาะสมที่สุดลงตีพิมพ์ เรื่องใดที่ตีพิมพ์ลงในหมอชาวบ้าน ผู้เขียนจะได้รับสิทธิพิเศษเป็นสมาชิกหมอชาวบ้าน ฟรี 2 ปี (หรือจะสมัครให้ผู้อื่นก็ได้)


ผมเป็นนักเรียนโรงเรียนสาธารณสุขแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงที่ผมศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 จะแบ่งการเรียนออกเป็น 2 ภาค คือ 6 เดือนแรกเรียนทฤษฏีทั้งหมด 6 เดือนหลังจะออกฝึกปฏิบัติงานด้านการรักษาพยาบาล ผมถูกส่งไปฝึกงานที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครราชสีมาในการฝึกงานที่โรงพยาบาลชุมชน ต้องฝึกงานทุกแผนกที่มีในโรงพยาบาล ตั้งแต่ทำบัตร การพยาบาล การปฐมพยาบาล การตรวจรักษาโรค การฝึกงานเดือนแรก ซึ่งก็ยากพอสมควร เพราะที่โรงเรียนไม่ค่อยได้เห็นตัวอย่างเครื่องมือ และในชั้นเรียนก็มีนักเรียนมากด้วย โอกาสที่ทุกคนจะได้สัมผัสกับตัวอย่างก็น้อย เมื่อออกฝึกงานที่โรงพยาบาลชุมชนต้องฝึกการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ก่อนปฏิบัติกับคนไข้จริง

การฝึกงานที่โรงพยาบาลมีแผนกที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษคือ ศัลยกรรม ทั้ง ๆ ที่ขอบเขตการทำงานของผมไม่สามารถทำได้ แต่ผมมักจะหาโอกาสเข้าห้องผ่าตัดเมื่อมีคนไข้ที่ต้องผ่าตัด เช่น ไส้เลื่อน ไส้ติ่งอักเสบ ทำหมันหญิง ที่โรงพยาบาลแห่งนี้มีคนไข้ผ่าตัดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะไส้ติ่งอักเสบ ผมมีโอกาสช่วยหมอผ่าตัดเป็นประจำ ทำให้พบปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับไส้ติ่งอักเสบเสมอ
การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ จะต้องทำให้คนไข้หมดความรู้สึกก่อน อาจทำโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง หรือดมยาสลบ การฉีดยาชาเข้าไขสันหลังคนไข้นั้น จะทำให้คนไข้หมดความรู้สึกเฉพาะท่อนล่าง ส่วนท่อนบนจะรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ โรงพยาบาลที่ผมฝึกงานจะใช้วิธีฉีดยาชาเข้าไขสันหลังเสมอ เว้นแต่การทำหมันหญิง จะฉีดยาทำให้นอนหลับ

คนไข้ที่เป็นไส้ติ่งอักเสบจะมีวิธีการรักษา 2 อย่างคือ

อย่างแรก ฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งไม่ค่อยได้ผลดี
วิธีที่สอง โดยการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก แล้วเย็บหมัดไว้จะได้ผลดี
ไส้ติ่งอักเสบ มีสาเหตุจากการอุดกั้นของไส้ติ่ง หรือมีเศษอาหารตกลงไป ทำให้เกิดการอักเสบ และที่สำคัญคือ เมื่ออักเสบแล้วถ้าไม่รีบรักษาอาจแตกได้ ถ้าไส้ติ่งแตกคนไข้จะปวดท้องมาก เวลาผ่าตัดต้องล้างลำไส้ด้วย ถ้าล้างท้องไม่ดีอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบไส้ติ่งจะยาวประมาณ 3 นิ้ว อยู่ที่ลำไส้ใหญ่ส่วนต้นบริเวณท้องน้อยด้านขวาเยื้องหลัง ต่ำกว่าสะดือเล็กน้อย อาการของไส้ติ่งอักเสบจะเริ่มด้วยปวดท้อง บริเวณรอบ ๆ สะดือ คล้ายโรคกระเพาะอาหาร คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ต่ำ อาการปวดท้องจะปวดเป็นพัก ๆ กินยาไม่หาย ต่อมาอาการปวดจะย้ายลงมาตรงตำแหน่งที่ไส้ติ่งอยู่ จะปวดเสียดๆ ตลอดเวลา ปวดมากเวลาเคลื่อนไหว อยู่นิ่งจะปวดไม่มาก กดบริเวณที่ปวดจะปวดมาก ถ้าปล่อยมือออกทันทีจะปวดมากจนสะดุ้ง เดินตัวงอจะปวดน้อยอาการของโรคจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่รีบไปโรงพยาบาล ไส้ติ่งอาจแตกได้ ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต เมื่อไปโรงพยาบาลหมอจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และเจาะเลือดส่งตรวจเพื่อดูจำนวนเม็ดเลือดขาว ถ้ามีมากกว่าปกติ (ประมาณ 5,000-10,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร) จะบ่งบอกถึงการติดเชื้อในร่ายกาย หมอก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบได้

การเตรียมคนไข้เพื่อทำการผ่าตัดต่อไป โดยให้งดน้ำหรืออาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด เพื่อให้ท้องว่างง่ายต่อการผ่าตัด และป้องกันการสำรอกเมื่อให้ยาระงับความรู้สึก ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะลงมีด และรอบ ๆ ให้สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ในเดือนที่ 3 ที่ผมไปฝึกงาน วันหนึ่งผมปวดหลัง คล้ายโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งปกติผมก็เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่แล้ว แต่ผมคลื่นไส้ และมีอาเจียนร่วมด้วย ผมไม่ได้คิดอะไรมาก คิดว่าปวดท้องธรรมดา จึงกินยาแก้ปวดท้อง แต่ก็ไม่หาย และเริ่มปวดทางด้านขวา ผมให้หมอตรวจดู สงสัยว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ ผมต้องนอนพักเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือ งดอาหารและน้ำ กลางคืนก็ปวดตลอดคืน เช้าก็ปวดแต่ไม่มากเดินตัวงอพอทนได้ เมื่อพยาบาลเจาะเลือดส่งตรวจ จำนวนเม็ดเลือดขาวสูงเกินปกติมาก หมอบอกว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบแน่นอน ต้องผ่าตัด ผมรู้สึกกลัวและตกใจ แต่พอนึกได้ว่าผมเคยช่วยหมอผ่าตัด ให้คนไข้รายอื่นๆ ไม่เห็นมีใครได้รับอันตราย มีแต่หานเป็นปกติทุกคน ผมเลยสบายใจ หลังจากทำความสะอาด ผิวหนังผมเข้าห้องผ่าตัดบ่ายโมง หมอฉีดยาชาเข้าไขสันหลังชาครึ่งท่อนล่าง

ผมขออนุญาตหมอดูการผ่าตัด ตลอดจากเงาสะท้อนหลอดไฟ เหมือนกันกับที่ผมเคยช่วยหมอทำให้คนอื่น ใช้เวลาไม่นานนักก็ผ่าเสร็จ เย็บผิวหนัง 4 เข็ม หมอสั่งให้นอนราบ 12 ชั่วโมงหลังผ่าตัด เพราะผู้ป่วยที่ฉีดยาชาเข้าไขสันหลังต้องนอนราบเพื่อให้ยาที่เหลือถูกขับออกจากไขสันหลัง ถ้าลุกขึ้นก่อนอาจทำให้ปวดศีรษะตลอดชีวิตได้ ผมนอนพักฟื้น 5 วัน ก็ทำงานโดยเริ่มจากงานเบา ๆ ก่อน และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนเป็นปกติหลังผ่าตัด 5 เดือน แผลหายเป็นปกติ แต่เวลาที่ผมใช้แรงมากจะรู้เจ็บที่แผล ผมก็ได้สอบถามหมอก็ได้รับคำตอบว่า ความรู้สึกนี้จะเป็นตลอดหลังผ่าตัด เพราะกล้ามเนื้อบริเวณที่เย็บจะเป็นแผลเป็น กล้ามเนื้อจะตึงกว่าบริเวณอื่น ทำให้รู้สึกเจ็บเวลาใช้แรงมากแต่ไม่มีอันตรายใด ๆ อาจจะเป็นเหตุผลนี้เองทำให้ชาวบ้านพูดกันว่าผ่าตัดแล้วทำงานหนักไม่ได้ ในการผ่าตัดทุกอย่าง จะทำให้สมดุลของกล้ามเนื้อเปลี่ยนไป ดังนั้น เวลาทำงานหนักหรืองานที่ต้องใช้แรงมากจะทำให้รู้สึกเจ็บได้แต่ไม่เป็นอันตราย สามารถทำได้เป็นปกติ ถ้าเราไม่เป็นกังวลอาการเจ็บก็จะไม่มี โรคมักขึ้นอยู่กับจิตใจเสมอสำหรับผมหลังผ่าตัดไส้ติ่งแล้ว จะไม่มีโอกาสเป็นไส้ติ่งอีกเลยครับ

ชีวิตอยู่แค่ลมหายใจเข้าออก
ตัวท่านหยุดหายใจเข้าออก ชีวิตก็คงหยุดแค่นั้น

 

ข้อมูลสื่อ

117-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 117
มกราคม 2532
ปรีชา