• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เกาต์ : ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

เมื่อเร็วๆ นี้ผมมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยรายหนึ่งในอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา กับทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลอำเภอและสถานีอนามัย ที่รับผิดชอบพื้นที่ที่ผู้ป่วยรายนี้อาศัยอยู่

ผู้ป่วยเป็นชายอายุ 50 กว่าปี นอนพักอยู่บนแคร่ ในเพิงพักที่ปลูกแยกต่างหากจากตัวบ้าน ตามเนื้อตัวมีปุ่มเกิดขึ้นหลายแห่ง บางแห่งมีผ้าก๊อซปิดไว้ เขาเล่าว่าปุ่มเหล่านี้จะหมุนเวียนกันแตกออกเป็นแผลเรื้อรัง แผลที่แตกนี้จะมีเม็ดสีขาวๆ หลุดออกมาเรื่อยๆ ต้องคอยใช้น้ำยาทำแผลอยู่นาน 3-4 เดือนกว่าจะหาย

นอกจากนี้ยังพบว่ามือ 2 ข้างของผู้ป่วยกำไม่ได้ เนื่องจากข้อนิ้วมือบวมแข็ง และข้อเข่า 2 ข้างยึดติด เหยียดตรงไม่ได้ ต้องอยู่ในท่างอเข่าตลอดเวลา ทำให้เดินไม่ได้

เมื่อ 14 ปีก่อน ชายผู้นี้เคยเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอำเภอด้วยอาการปวดข้อ ข้อบวมอักเสบ แพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคเกาต์ ซึ่งเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ทำให้มีกรดยูริกสะสมพอกพูนตามข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ จนกลายเป็นปุ่มตามร่างกายดังกล่าว
แพทย์เล่าว่าผู้ป่วยเคยไปรักษาที่โรงพยาบาลอำเภออยู่ 2-3 ครั้ง ก็หายหน้าไปนาน 10 กว่าปี เมื่อเดือนก่อนเพิ่งกลับไปหาอีกครั้ง ขอให้แพทย์ออกใบรับรองความพิการเพื่อนำไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการ ขอเงินช่วยเหลือจากทางราชการ

เมื่อซักถามเพิ่มเติมจากผู้ป่วยและภรรยา จึงทราบว่าผู้ป่วยมีอาการข้ออักเสบเป็นครั้งคราว ได้ตระเวนเดินทางไปหาหมอตามโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เนื่องเพราะมีความกังวลใจที่อาการไม่หายขาด มักกำเริบอยู่เรื่อยๆ หลายปีมานี้ ผู้ป่วยต้องขายที่นา 20 ไร่ (เป็นเงิน 500,000 บาท) เพื่อการรักษาตัว

ผู้ป่วยไม่มีความรู้ว่าโรคเกาต์เป็นอย่างไร และต้อง ปฏิบัติตัวอย่างไร จะไปหาหมอเมื่อมีอาการข้ออักเสบ พอได้ยารักษาเพียงไม่กี่วันอาการทุเลา รู้สึกสบายดี ก็ไม่ได้ติดตามรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง พอผ่านไปสักระยะหนึ่งข้ออักเสบกำเริบใหม่ ก็เข้าใจว่าแพทย์คนก่อนรักษาไม่ได้ผลจึงเปลี่ยนโรงพยาบาลไปเรื่อยๆ

ในชุมชนมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกาต์อยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมแบบเดียวกับผู้ป่วยรายนี้ คือรอให้มีอาการข้ออักเสบกำเริบก็จะไปพบแพทย์ให้ยารักษา พอทุเลาดีก็ไม่ได้กลับไปพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นโรคเกาต์เรื้อรังและเกิดผลแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา

โรคเกาต์เกิดจากร่างกายมีกรดยูริกอยู่ในกระแสเลือดสูงเกินปกติ เนื่องจากความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (ผู้ป่วยมักมีพ่อแม่พี่น้องคนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ด้วย) ในช่วงที่มีระดับของกรดยูริกในเลือดสูงมากๆ ซึ่งมักจะเกิดขณะกินอาหารที่ให้กรดยูริกสูง (เช่น เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ปริมาณมาก พืชผักหน่ออ่อน ถั่วต่างๆ) หรือหลังดื่มเหล้าก็จะมีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบรุนแรง ถึงเดินกะเผลก ผู้ป่วยก็จะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อได้ยาต้านข้ออักเสบ มากินอาการก็ดีขึ้น จนรู้สึกเป็นปกติดี ก็หยุดการรักษา

ธรรมชาติของโรคนี้แปลก แม้ว่าจะไม่มีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ แต่กรดยูริกในเลือดก็จะยังอยู่ในระดับสูงเกิน (หากแต่ไม่มากจนทำให้ข้ออักเสบ) และจะค่อยๆ เข้าไปสะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย นานๆ เข้า ก็กลายเป็นปุ่มตามใต้ผิวหนัง ภาษาแพทย์เรียกว่า ตุ่มโทฟัส (tophus) ตุ่มนี้ถ้าแตกก็จะมีเม็ดของกรดยูริกมีลักษณะสีขาวๆ คล้ายผงชอล์กหรือยาสีฟันหลุดออกมาและกลายเป็นแผลเรื้อรังเป็นแรมเดือน แรมปี นอกจากนี้หากสะสมตามข้อและเส้นเอ็น ก็จะทำให้ข้อพิการได้ ดังกรณีผู้ป่วยรายนี้ บางรายจะมีกรดยูริกสะสมในไต ทำให้เป็นนิ่วในไต และโรคไตพิการเรื้อรังได้

การรักษาที่ถูกต้อง นอกจากกินยาต้านข้ออักเสบแล้ว ถึงแม้สบายดี ก็จำเป็นต้องกินยาควบคุมกรดยูริก (เช่น ยาเม็ดอะโลพูรินอล) ทุกวันอย่างต่อเนื่องตลอดไป และต้องคอยเจาะเลือดทุก 3-6 เดือน ตรวจดูระดับกรดยูริกว่ากลับอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ถ้ายังสูงก็ต้องปรับขนาดยาและควบคุมอาหารให้ได้ผลอย่างจริงจัง อย่างต่อเนื่อง จึงจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อนดังกล่าวได้

ชายผู้นี้ (เฉกเช่นผู้ป่วยโรคเกาต์ส่วนใหญ่) เป็นเพราะขาดความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ซึ่งถือว่าเป็นภัยเงียบหรือเพชฌฆาตเงียบ (เป็นโรคโดยไม่ปรากฏอาการชัดเจน กล่าวคือแม้ในช่วงที่ไม่มีอาการข้ออักเสบ โรคก็ยังดำรงอยู่ในร่างกาย แบบเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง) จึงไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่อง จนกลายเป็นคนพิการไปอย่างน่าเสียดาย
 

ข้อมูลสื่อ

360-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 360
เมษายน 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ