• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม (ตอนที่ 2 )

 

               

 

24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร์ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขออำนาจอธิปไตยทั้ง 3 มาใช้กันเอง พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐพระองค์นั้น ก็พระราชทานให้ตามประสงค์แต่น่าเสียดาย ที่คณะราษฎร์ยังมีปัญญาญาณจำกัด มองไม่เห็นความสำคัญ จึงมิได้ทูลขอ “ทศพิธราชธรรม” คุณธรรมวิเศษสำหรับกำกับการใช้อำนาจอธิปไตยมาพร้อมด้วย จึงได้แต่ดาบอาญาสิทธิ์ที่ปราศจากฝักมาใช้ ดาบคมที่ไร้ฝัก อันตราย น่าหวาดเสียวเพียงใด ก็พอจะเห็นได้จากการล้มลุกคลุกคลานของระบบประชาธิปไตย หลายครั้งหลายหนตลอดเวลา 50 ปี

ข้อที่เราห่วงใย รัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบของท่านนายกฯ “ชาติชาย” เราห่วงกันตรงนี้ ตรงที่คณะ รัฐมนตรีของท่านจะสนใจกับฝักดาบวิเศษ-ทศพิธราชธรรม มรดกล้ำค่าของต้นตระกูลไทมากน้อยสักเพียงไรอย่างน้อย ถ้าพอทัดเทียมกับท่านนายกฯ ซึ่งมีนามว่า “เปรม” เจ้าของฉายา “สัตย์ซื่อ มือสะอาด” แล้ว เราก็จะอุ่นใจ วางใจได้ว่า เมืองไทยจะต้องรุดหน้าก้าวไปไกลอย่างสมศักดิ์ศรี และรัฐบาลชุดนี้ก็จะราบรื่นอยู่ได้ ครบเทอมแน่นอน

ทศพิธราชธรรม คุณธรรมของนักปกครอง สร้างความร่มเย็นให้แก่สังคมไทยได้จริง และโปรดทราบว่า มิใช่เป็นคุณธรรมเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น

สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เทศน์โปรดว่า “ทศพิธราชธรรมนี้ ไม่ใช่เฉพาะแต่พระมหากษัตริย์ จะทรงปฏิบัติต่อประชาชนเท่านั้น หากแต่ประชาชนเรานี้ย่อมปฏิบัติทศพิธราชธรรม ตอบเบื้องพระยุคลบาทของพระมหากษัตริย์ได้ด้วย”

ท่านอาจารย์พุทธทาส แห่งสวนโมกขพลาราม สอนพวกเราทุกคนให้ “ตามรอยพระยุคลบาท โดยทศพิธราชธรรม” และท่านเทศน์สอนเรื่องนี้ตลอดปี 2530

ผู้เขียนอยากจะยิงให้ตรงเป้าว่า ท่านผู้ใดมีหน้าที่จะต้องจับดาบอาญาศักดิ์ คือใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ปกครองบ้านเมืองแล้ว เขาผู้นั้นจะต้องอัญเชิญทศพิธราชธรรมไปใช้กำกับด้วย เพื่อไม่ให้ดาบบาดตัวอง และเพื่อมิให้ฉวัดเฉวียนไปเชือดเฉือนพี่น้องร่วมชาติเข้าด้วย
ท่านผู้มีเกียรติที่มีโชคดีได้รับเลือกตั้งให้มาเป็นผู้แทนราษฎรจำนวน 357 ท่าน ได้รับมอบฉันทะให้มาใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนชาวไทย ท่านจะต้อองอธิษฐานใจทันทีว่า “ข้าพเจ้าจะตามรอยพระยุคลบาท โดยทศพิธราชธรรม” ตั้งแต่บัดนี้ จะอาบน้ำชำระกาย-ใจให้สะอาดกว่าเดิม

สำหรับท่านผู้มีโชคสองชั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี ก็จะต้องตั้งประณิธานอย่างแน่วแน่ว่า “จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต บริสุทธิ์ ยุติธรรม” เพื่อสนองตอบเบื้องพระยุคลบาท ด้วยความจงรักภักดีอย่างยิ่ง
นักปราชญ์ท่านสอนไว้ว่า
ชีวิตของหมู่ชน อยู่ที่ผู้นำ ชีวิตของผู้นำอยู่ที่นิติธรรม”
แน่เหลือเกิน หมู่ชนจะต้องมีผู้นำ แต่มีผู้นำมากจะฉิบหาย มีผู้นำโง่จะวอดวาย มีผู้นำไม่ดีจะป่นปี้วุ่นวาย”

ทศพิธราชธรรม เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติ เราสามารถจัดเป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มพระคุณ-ศิลปะครองใจคน
1. ทาน การให้ปัจจัย 4 รวมทั้ง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้รับให้รักใคร่ ชื่นชม แยกลักษณะออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
- ให้บำบัดทุกข์แก่ผู้เดือดร้อน เรียกว่า “อนุเคราะห์”
- ให้บำรุงสุขด้วยความเอื้ออารีเจือจาน เรียกว่า “สงเคราะห์”
- ให้เพื่อยกย่องคนดี เทิดทูนผู้ทำคุณประโยชน์ เรียกว่า “บูชาคุณ”

2. ปริจจาคะ แปลว่า ความเสียสละ คือยอมเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อส่วนรวม และประเทศชาติแม้ชีวิต
ชีวิตของผู้เสียสละประดุจ “ดวงเทียน” ที่ให้แสงสว่างแก่ผู้อื่น โดยยอมเผาละลายตัวเองให้ด้วยความเต็มใจ

3. มัทวะ ความสุภาพ อ่อนโยนในบุคลิกลักษณะภายนอก และความอ่อนโยนซึ่งออกมาจากจิตใจ ไม่ถือตัว ด้วยอำนาจมานะ พร้อมที่จะฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

คุณธรรมกลุ่มนี้ เป็นชุดสร้างพระคุณ ครองใจคนได้จริง มาดูตัวอย่างจากพระปิยมหาราชดีกว่า เป็นพระราชหัตถเลขา อวยพรวันเกิดเสนาบดีครับ

กรมดำรง
เธอกับฉันเหมือนกับได้แต่งงานกันมานานแล้ว ขอให้เธอรับแหวนวงนี้ เป็นแหวนที่ฉันได้ใส่อยู่เองไว้เป็นของขวัญวันเกิด กับรูปที่ฉันถ่ายเมื่ออายุเท่าพระพุทธเลิศหล้าฯ อันนับว่าเป็นสิริมงคล
ขอให้เธอมีความสุขความเจริญมั่งคง และให้อายุยืน จะได้อยู่ช่วยกันรักษาแผ่นดินสืบไป

จุฬาลงกรณ์ ปร.”

ข้อมูลสื่อ

113-032
นิตยสารหมอชาวบ้าน 113
กันยายน 2531
ธรรมโอสถ
พอ.(พิเศษ)ทองคำ ศรีโยธิน