• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปรัชญาในการกินอาหารของการแพทย์ตะวันออก


การกินอาหาร เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพอนามัยดีนั้น นอกจากจะต้องกินอาหารให้ถูกต้อง ในทรรศนะของการแพทย์ตะวันตกซึ่งหมายถึงการกินอาหารให้ครบหมวดหมู่ของอาหาร ซึ่งมี 5 หมวดหมู่ด้วยกัน คือ คาร์โบไฮเดรต (แป้ง) โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ แต่บางท่านก็บอกว่ามีน้ำอีกอย่างหนึ่ง

แต่ในทรรศนะของการแพทย์ตะวันออกยังมองลึกลงไปอีกว่านอกจากกินให้ถูกต้องแล้ว ยังต้องกินให้เหมาะสมและสอดคล้องกับร่างกาย และการเปลี่ยนแปลงขอภูมิอากาศ ตลอดจนภูมิประเทศอีกด้วย ดังจะได้กล่าวดังต่อไปนี้
 

* ตารางที่ 1 แสดงการแบ่งความหมาย ยิน-หยางในลักษณะของคน 

       ยิน

           หยาง

    คนอ้วน
    คนแก่
    หญิง

        คนผอม

           เด็ก
           ชาย

1. ร่างกาย
เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนมีคุณภาพของร่างกายที่แตกต่างกัน (ตารางที่ 1) ถึงแม้กินของที่เหมือนกันเข้าไป การตอบสนองของร่างกายแต่ละปัจเจกบุคคลก็ไม่เหมือนกัน เช่น คนที่มีอาการท้องอืดแน่น มีแก๊สในกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย กินไม่ค่อยได้ เหนื่อย บางครั้งมีเสลด เหนียวใส น้ำลายเป็นฟอง เป็นต้น (การแพทย์อื่นเรียกอาการกระเพาะอาหาร-ม้ามพร่อง) ผู้ที่มีอาการดังกล่าวถ้ากินอาหารหรือผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็น (เป็นยิน) เช่น กล้วยหอม แตงโม เป็นต้น ก็จะทำให้อาการที่เป็นอยู่มากขึ้น
 

 *ตารางที่ 2 แสดงการแบ่งความหมายของ ยิน-หยางในลักษณะภูมิอากาศ 

         ยิน

        หยาง

        เย็น

        ชื้น

         ร้อน

         แห้ง


2. ภูมิอากาศ (ตารางที่2)
ในฤดูหนาว ถ้าอยู่ในประเทศที่มีอากาศหนาวเราจะเห็นพฤติกรรมความแตกต่างในการกินอาหารได้อย่างชัดเจน อย่างในประเทศรัสเซีย จะกินเนื้อหมูบางหั่นเป็นชิ้น ๆ คล้ายแฮม กินกับเหล้าอุ่น ๆ
ในประเทศอื่นก็เช่นกัน จะกินเนื้อแพะย่าง(มีขายอยู่ทั่วไป ข้างถนนในเป่ยจิง (ปักกิ่ง) เป็นไม้ ๆ คล้ายหมูปิ้งแล้วโรยพริกไทย พริกป่น เกลือ และเครื่องเทศอื่น ๆ ผสมกัน) หรือกินเนื้อสุนัขในทางใต้ เช่น กว่างโจว เป็นต้นทั้งนี้เพราะเนื้อสัตว์ทั้ง 2 ชนิด เป็นอาหารร้อน กินเข้าไปแล้วจะเพิ่มหยางในร่างกาย ทำให้สามารถต่อสู้กับความหนาวได้

เราจะเห็นพฤติกรรมอย่างนี้ได้ในหมู่ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย พอถึงหน้าหนาว(หรือฤดูฝนซึ่งเป็นส่วนน้อย) มักจะกินพวกยาบำรุงต่าง ๆ โดยเฉพาะเขากวางอ่อน ทั้งนี้ด้วยจุดประสงค์ 2 ประการ คือ
1. เพื่อบำรุงร่างกาย เนื่องจากยาบำรุงส่วนใหญ่มีคุณสมบัติร้อน ถ้ากินในฤดูร้อนจะทำให้เกิดอาการร้อนใน (มีอาการเจ็บคอ เป็นแผลในปาก ท้องผูกไม่ถ่าย หรือถ่ายไม่สะดวก บางครั้งมีอาการไข้ ปวดหัวตัวร้อนหรือไอร่วมด้วย)

2. เนื่องจากคนที่มีร่างกายอ่อนแอไม่แข็งแรง พอถึงหน้าหนาวมักกลัวหนาว การกินอาหารหรือยาที่มีคุณสมบัติร้อนจะทำให้ลดอาการกลัวหนาวได้อีกด้วย
การเปลี่ยนของภูมิอากาศนั้นมีอิทธิพลต่อสรรพสิ่งในโลกนี้ สำหรับมนุษย์นั้น พอถึงปลายฤดูหนาวซึ่งคาบเกี่ยวไปถึงต้นฤดูใบไม้ผลิ (ในเมืองไทยเราจะสั้นมาก แยกกันไม่ชัด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ) อากาศเริ่มร้อนเนื่องจากเรากินอาหารพวกหางเข้าไปเยอะ หยางในร่างกายสูงพอ อากาศเปลี่ยนเป็นร้อน ก็เท่ากับเป็นการเสริมหยางในร่างกายมากยิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้เกิดอาการร้อนในได้
สำหรับผู้ที่ไปเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศในเขตอบอุ่น หรือหนาวในฤดูหนาว ซึ่งมีอากาศหนาวกว่าเมืองไทยมาก บางแห่งอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์หรือติดลบ

การเปลี่ยนแปลงของอากาศที่มากกว่า 20-30 องศาเซลเซียส จะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง เกิดอาการดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองไทยเราก็ควรที่จะกินอาหารหรือยา (ในกรณีที่อุณหภูมิแตกต่างกันมาก และมีเวลาเดินทางสั้นควรใช้ยา แต่ถ้าเป็นการท่องเที่ยวหลายเมือง และระยะเวลายาวอาจค่อยเที่ยวจากเมืองที่มีอากาศหนาวแล้วลงมาทางใต้เรื่อย ๆ ให้อุณหภูมิค่อย ๆ สูงขึ้น) ยาที่ใช้ควรเป็นยาพวกขับร้อน ถอนพิษและระบายเล็กน้อย อาหารก็ควรกินพวกยินเพื่อปรับร่างกายก่อน

สำหรับประเทศไทยการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมินั้นไม่แตกต่างกันมากนัก เราเพียงแต่ปรับอาหารบางอย่าง เช่น ฟัก มะระ แตงโม ส้มโอ เป็นต้น ก็จะไม่เกิดอาการดังกล่าวได้ เราจะเห็นได้ว่าปรัชญาการแพทย์ตะวันออกนั้น มองปัญหาในแง่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา และกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย มนุษย์มีความสัมพันธ์และเกี่ยงโยงกันเป็นส่วน ๆ ที่เอกเทศเฉพาะไม่ได้ มันสอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นการปรับร่างกายให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมก็เท่ากับเป็นการป้องกันและรักษาไปพร้อม ๆ กันด้วย

 

* ตารางที่ 3  แสดงลักษณะภูมิอากาศในแต่ละภาคของไทย 

 

                ยิน

              หยาง

ภาคเหนือ
ภาคใต้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กรุงเทพฯ

         ร้อนเย็น

         ร้อนชื้น

         ร้อนแห้ง

         ร้อนอบอ้าว

 

3. ภูมิประเทศ
ภูมิประเทศก็มีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ในแง่การเกิด การดำเนิน และการพัฒนาของโรคได้ ร่างกายมนุษย์ในแต่ละปัจเจกบุคคลจะตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทางภูมิประเทศในลักษณะที่ต่างกัน (ตารางที่ 3)
ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหาร-ม้ามพร่อง ในข้อสอง ถ้าไอยู่ในภูมิประเทศที่ชื้นแฉะ แถบภูเขาที่ป่าไม้ทึบ เช่น จังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย หรือกาญจนบุรี ซึ่งมีความชื้นสูง (ขนาดเสาบ้านยังขึ้นรา) จะทำให้รู้สึกอยากหลับ หลับได้ทั้งวัน หลับแล้วก็ไม่หายง่วง แขนขาเมื่อยล้าไม่มีกำลัง อาการต่าง ๆ ที่เป็นอยู่จะเพิ่มมากขึ้น

ที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาการแพทย์ตะวันออกซึ่งกล่าวถึงปัจจัยของร่างกาย ภูมิอากาศ และภูมิประเทศที่มีผลกระทบต่อการเกิด การดำเนิน และการพัฒนาของโรคถ้าหากเราสามารถนำเอาแนวความคิดนั้นมาผสมผสานกับความรู้ทางการแพทย์ตะวันตก ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการต่อสุขภาพ และพลานามัยของประชาชน
 

ข้อมูลสื่อ

118-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 118
กุมภาพันธ์ 2532
วิทิต วัณนาวิบูล