• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอน 3 ทำไมนักวิ่งจึงคิดว่าตัวเองเป็นนักรักที่ดีด้วย


ในสองตอนที่แล้วได้พูดถึงว่าการสอบถามบรรดานักวิ่ง ในเรื่องชีวิตเพศให้ผลออกมาอย่างไร และมีฮอร์โมนกันสารกับสารเคมีตัวใดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ขึ้นในตัวนักวิ่งบ้าง วันนี้เราจะพูดถึงเรื่องเบา ๆ คือในแง่ศิลปปรัชญามากกว่าวิทยาศาสตร์ นักวิ่งมองตนเองว่าเป็นนักรักไปด้วยได้อย่างไร
 

นักวิ่งมีความฟิตสูง
ความฟิตในทีนี้ไม่ใช่ฟิตแบบเตะปี๊ปดัง แต่หมายถึงความแข็งแรงของร่างกาย
กิจกรรมทางเพศ เช่นเดียวกับกิจกรรรมด้านอื่นๆ เช่น การกีฬา ผู้ที่มีร่างากายแข็งแรงย่อมได้เปรียบผู้มีร่างกายอ่อนแอ
นักวิ่งมีความเคยชินกับการใช้พลังานขนาด 500 -700 แคลอรีต่อชั่วโมงในการวิ่ง กิจกรรมทางทางเพศซึ่งใช้พลังงานราว 240 แคลอรีต่อชั่วโมง จึงถือเป็นงานค่อนข้างเบา

นายแพทย์โรนัลด์ ลอร์เร๊นซ์ นายกสมาคมแพทย์นักวิ่งแห่งอเมริกา (American Medical Joggers Assiociaeion) คำอธิบายดังนี้ “กิจกรรมทางเพศต้องใช้แรงไม่น้อย การวิ่งทำให้เพิ่มความแข็งแรง ระบบการทำงานของหัวใจดีขึ้น เป็นผลให้ประกอบกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
หญิงและชายเมื่อมีความตื่นตัวทางเพศ เลือดจะไหลไปเลี้ยงบริเวณอวัยวะเพศมากขึ้นเป็นผลให้มีการคั่งของเลือดในบริเวณนั้น การไหลเวียนเลือดที่ดีจึงมีความจำเป็นต่อเรื่องเพศ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า การวิ่งทำให้มีการไหลเวียนของเลือดไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ดีขึ้น

 

การวิ่งทำให้แก่ช้าลง
ในคนที่มีอายุมากขึ้นกิจกรรมทางเพศจะลดลงเป็นเงาตามตัว นายแพทย์อัลเฟร็ด คินสี้ย์ ผู้ริเริ่มการศึกษาทางเพศขึ้นในอเมริกา พบว่าสถิติการร่วมเพศในคนอายุ 20 ปี เฉลี่ยตกสัปดาห์ละ 3 ครั้ง อัตรานี้จะลดลงครึ่งหนี่ง เมื่ออายุมากขึ้นทุก ๆ 20 ปี

การวิ่งชะลอความแก่ได้อย่างไร ความแก่ถ้าดูกันอย่างชาวบ้านก็ใช้ความเหี่ยวย่น ตีนกา กิริยางก ๆ
 เงิ่น ๆ ฯลฯ แต่ถ้าจะดูอย่างมีหลักวิชาการแพทย์ ใช้วิธีวัดหน้าที่การทำงานของส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย สิ่งหนึ่งที่เป็นดรรชนีชี้บ่งถึงความแก่ได้เป็นอย่างดีคือ อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุด

เรื่องของอัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุด หรือที่เรียกกันว่า VO2max  นี้เป็นเรื่องยาว เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจขออธิบายสั้น ๆว่า มันเป็นผลรวมของการทำงานร่วมกันระหว่างหัวใจ ปอด การหมุนเวียนเลือด ความยืดหยุ่นของเส้นเลือด จำนวนเส้นเลือดในกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ตลอดจนความสามารถของกล้ามเนื้อในการเอาออกซิเจนจากเลือดไปใช้

รวมความแล้วคือว่าคนที่มีหัวใจดี ปอดแข็งแรง การหมุนเวียนของเลือดไม่ติดขัดหรือตีบตัน เส้นเลือดไม่มีไขมันไปพอกพูนให้แข็งตัว มีเส้นเลือดแตกแขนงเลี้ยงกล้ามเนื้อแต่ละมัดมาก และกล้ามเนื้อมีความสามารถในการหยิบฉวยเอาออกซิเจนจากเลือดที่ไหลผ่านได้เก่ง จะเป็นผู้ที่มี  VO2max  สูง ความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งหมดเกิดได้จากอานิสงส์ของการวิ่ง

การศึกษาที่ทำในคนทั่วไปพบว่าเมื่ออายุมากขึ้นอัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดจะค่อยๆลดลง แต่การศึกษาในนักวิ่งพบว่า อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดเพิ่มขี้น และถ้ามีการฝึกซ้อมสม่ำเสมอ จะทำให้ค่านี้คงอยู่ในระดับสูงไปเรื่อย ๆ ได้

เฟร็ด คาชช์ จากห้องทดลองของการออกกำลังของซานดิเอโก้ ได้ศึกษานักวิ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลา 10 ปี เขาพบว่า การวิ่งสามารถป้องกันการเสื่อมสมรรภาพที่เกิดจากความแก่ได้ 4 อย่างด้วยกัน หนึ่งในจำนวนนี้คือ สมรรถนะในการใช้ออกซิเจนสูงสุด จากผลการทดลองนี้ นายแพทย์คาชช์ สรุปว่า “ความเสื่อมตามอายุ ไม่เพียงแต่สามารถหยุดยั้งได้ แต่ยังอาจทำให้กลับคืนมาได้ (โดยการวิ่ง)”

อนิจจัง วัตสังขารา สังขารนี้ย่อมมีเสื่อมเป็นธรรมดา แต่ถ้าให้เลือกระหว่างคนแก่ที่ต้องตะบันน้ำกิน ไปไหนมาไหนต้องมีลูกหลานจูงกับคนแก่ที่กระฉับกระเฉงไม่ต้องพึงใคร ท่านผู้อ่านจะเลือกเอาข้างไหนครับ

โดยทั่วไปความต้องการทางเพศของคนเราไม่เพิ่มขึ้นตามอายุ มีแต่จะลดลง มีผู้เสนอทฤษฏีว่า กิจกรรมทางเพศที่ลดลงเป็นเนื่องมาจากความเสื่อมของสังขาร ดังนั้น อะไร ก็ตามที่ช่วยชะลอความแก่ จะชะลอความเสื่อมโทรมทางเพศด้วย

 

การวิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง
การศึกษาในผู้ที่เริ่มหัดมาวิ่งพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจอันแรกเกิดขึ้น คือ ความเชื่อมั่นในตนเองมีสูงขึ้น มีผู้พยายามอธิบายว่า เป็นผลเนื่องมาจากเมื่อวิ่งไปแล้ว เกิดความเชื่อว่า ร่างกายแข็งแรงขึ้น รูปร่างสวยงามขึ้น ความเชื่อมั่นในร่างกายจะพาให้ความเชื่อมั่นทางจิตใจคล้อยตามไป
การเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่วิ่งเพื่อสุขภาพ กับผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังนักวิ่งจะมีความเชื่อมั่นในตนเองดีกว่า และมีความพอใจกับทรวดทรงองค์เอวของตนมากกว่าด้วย

สำหรับผู้ชาย ความเชื่อมั่นในตนเองมีความหมายต่อกิจกรรมทางเพศมาก จิตแพทย์เดวิด เบอร์กอยน์ จากเมืองฟินิกซ์ มลรัฐอริโซน่า กล่าวว่า “ผู้ชายที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องก้ามตายด้าน และการหลั่งอสุจิเร็วเกินไป ในทางตรงกันข้าม ความเชื่อมั่นในตนเองที่ต่ำอาจทำให้เกิดปัญหาทางเพศได้”

ความเชื่อมั่นใจตนเองมีผลต่อผู้หญิงไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย ในการศึกษาที่ทำโดยหนังสือพิมพ์ “นิวยอร์คไทม์” พบว่าผู้เข้าร่วมวิ่งมาราธอนที่เป็นหญิง มีความเชื่อว่าการวิ่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองมากกว่านักวิ่งชาย การสำรวจที่ทำกันหลายครั้งบ่งว่า นักวิ่งที่ออกมาวิ่งเพื่อลดน้ำหนักเป็นหญิงมากกว่าชาย นิตยสารสำหรับผู้หญิงฉบับหนึ่งชื่อ “แกลมเมอร์” สอบถามความเห็นของผู้หญิง 33,000 คน ในจำนวนนี้ 75 เปอร์เซ็นต์คิดว่า ตัวเองอ้วนเกินไป และ 65 เปอร์เซ็นต์ คิดว่ารูปร่างของตนมีส่วนเชื่อมโยงกับความต้องการและความสุขทางเพศ การวิ่งทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าตัวเองน้ำหนักลดลง จึงมีส่วนทำให้คุณเธอรู้สึกว่ามีเสน่ห์เพิ่มขึ้น

 

การวิ่งช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียด
เห็นจะมีนักวิ่งน้อยคนที่ไม่รู้ว่าการวิ่งช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี นายแพทย์
ซิดนี่ย์ อเล็กซานเดอร์
แห่งโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด กล่าวว่า “คนที่มีร่างกายแข็งแรงไม่ค่อยมีอาการซึมเศร้า อาการซึมเศร้านี้เป็นต้นเหตุสำคัญของชีวิตทางเพศที่ไม่สมหวัง นักวิ่งมักมีกำลังวังชาดี มีความภูมิใจในร่างกายของตนเอง และอาจมีรูปร่างที่ดึงดูดเพศตรงข้าม ปัจจัยทั้งหมดนี้มีผลดีต่อชีวิตเพศ”
มีผู้ทำการศึกษาไว้ว่า คนจำนวนสองในสาม เคยมีความซึมเศร้าในตอนหนึ่งตอนใดของชีวิต เมื่อใดที่คนเราซึมเศร้า ความรู้สึกทางเพศจะเหือดหายไปด้วย การวิ่งมีฤทธิ์ต่อต้านความซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี จึงมีประโยชน์ในแง่นี้ด้วย ที่ควบคู่ไปกับความซึมเศร้าคือความวิตกกังวล ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาทางเพศที่พบบ่อย ผลการวิจัยหลายอันยืนยันตรงกันว่า การวิ่งช่วยลดความวิตกกังวล นักวิ่งเป็นกลุ่มชนที่มีความวิตกกังวลในระดับที่ต่ำกว่าธรรมดา ทั้งนี้เนื่องมาจากการวิ่ง มีผลคล้ายยาระงับประสาทตามธรรมชาติ

 

การวิ่งเปรียบเสมือนยาครอบจักรวาล
ในยุคที่ผู้คนพากันออกมาวิ่งตามท้องถนนเหมือนบ้าคลั่งนี้ แพทย์ที่เป็นนักวิ่งหลาย ๆคน ได้นำเอาการวิ่งไปใช้ในการป้องกันและรักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยของตน โดยแทบจะไม่เลือกว่าโรคนั้นคืออะไร ตั้งแต่อาการปวดหัว ตัวส่าย ไปจนถึงโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ไขข้อ ฯลฯ จะเรียกว่า การวิ่งเป็น “ ยาครอบจักรวาล” ชนิดหนึ่งก็ได้
ทำไมการวิ่งจึงมีฤทธิ์เป็นยา “ยาครอบจักรวาล”
ตอนแบบกำปั้นทุบดินคือ การวิ่งทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เมื่อมีความสมบูรณ์แข็งแรงขึ้น โรคภัยไข้เจ็บย่อมห่างหายไปเอง
ไม่แต่เท่านั้น มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการวิ่งทำให้ประสาททั้งห้า ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ฉับไว้ แหลมคมขึ้นด้วย ด้วยเหตุผลข้อนี้ ทำให้จิม ฟิกซ์ ผู้แต่งหนังสือ “The Complete Book of running” (อันมีชื่อเสียงและขายดีเป็นเทน้ำเทท่า) กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า “ประโยชน์อีกอย่างของการวิ่งออกกำลังคือ “เรื่องเพศ” ทั้งหญิงและชายจะมีความสุขสูงขึ้น เหตุผลที่จะอธิบายเรื่องนี้ไม่ใช่ความลึกลับดำมืดแต่อย่างใด การที่มีสุขภาพดีไม่ใช่เรื่องของหัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่รวมถึงประสาทรับความรู้สึกทุกอย่าง นักวิ่งจะไม่คิดถึงแต่ตัวเอง หากมีน้ำจิตน้ำใจต่อผู้อื่นด้วย เขาจึงประสพความสำเร็จในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งทางเพศ”

มนุษย์เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกเราต้องเรียนรู้การมีสัมพันธ์ภาพที่ดีต่อผู้อื่นรอบข้าง สิ่งที่ดีในตัวเราอาจส่งผลดีต่อคนข้างเคียง และให้ผลสะท้อนที่ดีกลับมาได้

การวิ่งไม่เพียงส่งเสริมสุขภาพกาย แต่ยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง และลดความเครียด ซึมเศร้า และวิตกกังวล รวมกันทั้งหมดนี้จึงเป็นเสมือน “ยาครอบจักรวาล”
สำหรับท่านผู้อ่าน การวิ่งอาจไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตทางเพศของท่าน แต่ก็ยังเป็นการออกำลังที่น่าทดลอง และเช่นเดียวกับกิจกรรมอย่างอื่น ๆ การฝึกฝนเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จ
 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

67-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 67
พฤศจิกายน 2527
อื่น ๆ
นพ.กฤษฎา บานชื่น