• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เท้าและข้อเท้า

กระดูกนิ้วเท้าหัก
มักพบในผู้วิ่งเท้าเปล่า เกิดจากนิ้วเท้ากระแทกกับก้อนหินหรือฟุตบาธอย่างรุนแรง จนทำให้กระดูกนิ้วเท้าหัก เกิดอาการบวมแดงและเจ็บปวดมาก นิ้วเท้าที่หักจะมีลักษณะผิดรูปไป และกางออกทางด้านข้างได้มากกว่าปกติ เมื่อมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้นควรหยุดวิ่งทันที และกระชับนิ้วเท้านั้นให้อยู่กับที่ โดยใช้ไม้หรือกระดาษแข็งดามแล้วรัดด้วยหนังสติ๊ก หรือกระชับไว้กับนิ้วข้างเคียงก็ได้ โดยเอากระดาษทิชชูที่สะอาดหรือสำลีสอดไว้ระหว่างนิ้วทั้งสอง แล้วพันด้วยผ้าพันแผล หรือ พลาสเตอร์ อีกทีหนึ่ง ดังรูปที่ 1 และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษาต่อไป ในกรณีเช่นนี้ควรหยุดพักการวิ่งอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์ หรืออยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

                                                      

อาการอักเสบและการฉีกขาดของเอ็นร้อยหวาย
ในการวิ่งทางชันเป็นเวลานานๆ เช่นวิ่งขึ้นเขา หรือวิ่งอย่างรวดเร็วโดยใช้ปลายเท้าวิ่งเป็นระยะทางไกลๆ การวิ่งเช่นนี้จะทำให้กล้ามเนื้อน่องเกร็งอยู่ตลอดเวลา และอาจทำให้เอ็นร้อยหวายฉีกขาด และเกิดอาการอักเสบขึ้น

ถ้าเอ็นร้อยหวายฉีกขาดบางส่วนจะสามารถกระดกข้อเท้าลงได้แต่เจ็บปวดมาก และมีอาการบวมแดง ควรหยุดวิ่งทันที ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกให้ใช้น้ำแข็งประคบด้วยแล้วพันด้วยผ้าพันยืด ขนาด 4 นิ้ว โดยใช้ฝ่าเท้าตั้งฉากกับเท้าดังรูปที่ 1 หลังจาก 48 ชั่วโมง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณที่ปวดให้นิ้วหัวแม่มือหรือนิ้วชี้กดขยี้ไปมาขวางเส้นเอ็นนาน 1-2 นาที ให้หยุดพักการวิ่งจนกว่าอาการปวดหายไปจึงค่อยเริ่มต้นวิ่งใหม่

แต่ถ้าสังเกตเห็นมีตุ่มขึ้นมากองเหนือข้อเท้า และเจ็บปวดมาก กระดกข้อเท้าลงไม่ได้ แสดงว่ามีการขาดของเอ็นร้อยหวาย ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

ปวดฝ่าเท้า

ตามปกติของคนเราจะมีส่วนโค้งอยู่ 2 โค้ง คือ โค้งขวาง (โค้งผ่านกระดูกฝ่าเท้าทั้ง 5 ) โค้งยาว (โค้งนี้เริ่มจากส้นเท้าไปยังกระดูกผ่าเท้า) ดังรูปที่ 2 เพื่อกระจายน้ำหนักไปทั่วทั้งเท้า

                                                       

ผู้วิ่งที่มีฝ่าเท้าแบน บางท่าน ในขณะวิ่งอาจจะทำให้ปวดบริเวณหัวกระดูกฝ่าเท้าหรือปวดทั่วไปทั้งเท้าได้ วิธีป้องกันทำได้ไม่ยาก ใช้ฟองน้ำที่หนาหรือผ้าซ้อน 4-5 ชั้น วางไว้ที่ฝ่าเท้าต่ำกว่าบริเวณหัวกระดูกที่ปวดไปจนถึงส่วนหน้าของส้นเท้า และใช้ผ้าพันยืดพันให้กระชับเท้าไว้หรือใช้ พลาสเตอร์ปิดไว้ก็ได้ ดังรูปที่ 3



เมื่อใช้ผ้ารองแล้ว อาการปวดยังไม่ลดลง แนะนำให้ถอดรองเท้าวิ่งบนสนามหญ้าหรือพื้นทรายได้โดยใช้ส้นเท้าลงก่อนปลายเท้า

ผู้ที่จะวิ่งระยะทางไกลๆ หรือไม่ได้อุ่นเครื่องก่อนวิ่ง หลังจากวิ่งแล้ว มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่องให้ใช้ยาหม่องหรือบาล์มถู และบีบนวดที่กล้ามเนื้อนั้นๆ อาการก็จะดีขึ้น
 

ข้อมูลสื่อ

59-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 59
มีนาคม 2527