• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกายประจำปี จำเป็นจริงๆ หรือ?


การตรวจร่างกายประจำปีโดยละเอียดนั้น ปัจจุบันนี้มีผู้แย้งว่าไม่จำเป็นเสียแล้ว เพราะเป็นการสิ้นเปลืองหลายอย่าง แต่ก็ยังมีผู้ชอบทำเพราะอ้างว่าจะได้ค้นพบโรคร้ายเสียแต่เนิ่นๆ เช่น มะเร็ง ถ้าพบแรกๆ แล้วมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่า แม้แต่ทางราชการไทยของเราทุกกรมกองยังคงมีการ “เช็ค” ร่างกายประจำปีเช่นเดียวกัน แต่เป็นการกระทำกับคนจำนวนมากในเวลาจำกัดและไม่มีการตรวจอะไรมาก นอกจากฟังหัวใจ วัดความดันและชั่งน้ำหนัก ซึ่งดูเป็นการลวกๆ เกินไป ครั้นจะไม่ตรวจเสียเลยก็ผิดระเบียบ ดังนั้นในต่างประเทศจึงมีผู้ดำเนินสายกลางคือตรวจละเอียดเฉพาะรายที่เสี่ยงมากๆ เช่นมีประวัติในครอบครัวว่ามีพี่น้องหลายคนเป็นมะเร็งหรือโรคอื่นๆ เช่น ความดันสูงเบาหวาน

แพทย์อเมริกากันหลายคนมีความเห็นว่าการตรวจอย่างละเอียดตั้งแต่หัวจรดเท่านั้นเป็นการสิ้นเปลืองและแพงมาก จะต้องใช้เงิน 1 หมื่นกว่าบาทต่อหัว

เขาจึงแนะนำว่า เราไม่จำเป็นจะต้องตรวจละเอียดทุกคน เราเลือกเอาแต่การตรวจหรือทดสอบที่มีความสำคัญเฉพาะเราเท่านั้น เช่น

1. การฉีดกระตุ้นป้องกันบาดทะยัก

และในคนสูงอายุ (ในอเมริกา) เขามีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบและไข้หวัดใหญ่ การป้องกันบาดทะยักนั้นโดยปกติเริ่มทำตั้งแต่อายุ 3 เดือน

2. การตรวจวัดความดัน

เป็นการตรวจที่เปลืองน้อยที่สุดแต่ในคุณค่าทางสุขภาพมาก เพราะโรคความดันโลหิตสูงนั้นถ้าพบเสียแต่เนิ่นๆ อาจรักษาและป้องกันมิให้มีโรคแทรก (เส้นเลือดแตก) ได้ และในระยะแรกๆ นั้น ภาวะนี้อาจควบคุมได้โดยการระวังอาหาร ออกกำลังกาย และยา

สำหรับผู้ที่สบายดีเป็นปกติทุกอย่าง แพทย์อเมริกาเขาแนะนำว่าควรวัดความดัน 5 ปีครั้งหนึ่งก็ได้ จนถึงอายุ 40 ต่อจากนั้นควรวัด 1-3 ปีต่อครั้ง แล้วแต่ประวัติครอบครัวหรือตัวเลขความดันครั้งสุดท้าย

3. การตรวจหาเลือดในอุจจาระ

เป็นการตรวจหาเลือดในอุจจาระที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้การทดสอบทางเคมี เรียกว่า ทดสอบไควแอค (Quaiac Test) เพราะเป็นการตรวจค้นมะเร็งลำไส้ได้เสียแต่เนิ่นๆ มีคำแนะนำว่าควรทำเมื่ออายุ 40 ปีไปแล้ว และต่อจากนั้น ควรทำทุกๆ 2 ปี แต่สมาคมมะเร็งของอเมริกาบอกว่าควรตรวจปีละครั้งเมื่ออายุ ได้ 50 ปี เพราะโรคมะเร็งมักจะไม่ค่อยเป็นก่อนอายุ 50 ปี

4. การทดสอบแป๊ปสเมียร์
(Pap Smear)
คือการป้ายเอาเซลล์จากปากมดาลูกมาย้อมสีดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นการค้นหามะเร็งปากมดลูกเสียแต่เนิ่นๆ ตอนแรกๆ แพทย์แนะนำปีละครั้งในหญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ต่อมาสมาคมมะเร็งแห่งอเมริกาแนะนำว่าในหญิงอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป ควรทำทุก 3 ปี ถ้าทำมาแล้ว 2 ครั้งห่างกัน 1 ปี และให้ผลลบ แต่ถ้าหญิงนั้นมีการปฏิบัติการทางเพศจะตรวจก่อน 1 ปีก็ได้

แป๊ปสเมียร์ยังคงเป็นการทดสอบที่ปลอดภัยที่สุด ประหยัดที่สุด และง่ายที่สุด ที่จะป้องกันการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปากมดลูกซึ่งพล่าชีวิตหญิงอเมริกันเสียปีละ 1 หมื่นคนได้

5. การตรวจด้วยการฉายเอกซเรย์เต้านม
หรือแมมโมกราฟี (Mammography)
 เรื่องนี้ยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ การฉายเอกซเรย์มีประโยชน์ในการค้นหามะเร็งเต้านมได้มากกว่าการตรวจคลำโดยมือของแพทย์ แต่ก็มีอันตรายจากรังสีเอกซ์ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทำเป็นประจำในหญิงที่อายุต่ำกว่า 50 ปี นอกจากจะมีการเสี่ยงสูง (คือมีประวัติมะเร็งในครอบครัว)

ปัจจุบันนี้ตกกันว่า อายุระหว่าง 35-40 ควรทำอย่างน้อย 1 ครั้งหรือ 2 ปีครั้ง ในระหว่างอายุ 40-50 (ตามที่แพทย์ประจำตัวจะเห็นสมควร) เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปแล้วควรทำปีละครั้ง สำหรับในอเมริกานั้นมีหญิงถึงแก่กรรมด้วยมะเร็งเต้านมปีละ 37,000 คน

การตรวจโดยการคลำเต้านมของตัวเองเดือนละครั้ง ควบกับการตรวจร่างกายทั่วไปและแมมโมกราฟี จะป้องกันได้มาก

6. การตรวจความดันภายในลูกตา
(Tonometry)
เป็นวิธีการป้องการโรคต้อหิน (Glaucoma) เสียแต่เนิ่นๆ โรคนี้ทำให้คนอเมริกันตาบอดปีละ 4,500 คน เรามีประวัติโรคต้อหินในครอบครัวควรทำปีละครั้ง และเมื่ออายุครบ 40 ปีไปแล้ว ควรทำทุก 2-3 ปี

7. การตรวจตาและหู

เพื่อดูว่าการมองเห็นและการได้ยินยังดีอยู่หรือเปล่า ควรทำทุก 5 ปี เมื่ออายุ 60 ปีไปแล้ว

8. การตรวจนับเม็ดเลือดและปัสสาวะ

การนับเม็ดเลือดแดงจะได้รู้ว่ามีภาวะเลือดจางหรือไม่ การกรวดน้ำปัสสาวะจะบอกสภาพของไต การอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ และโรคเบาหวาน ถ้ามีประวัติเบาหวานในครอบครัว ควรตรวจหาน้ำตาลปีละครั้ง นอกจากนั้นควรทำทุก 3 ถึง 5 ปี

พอจะสรุปได้ว่า การตรวจร่างกายอย่างละเอียดทุกอย่างทุกปีนั้นควรเลิกได้แล้ว เอาแต่เพียงเลือกตรวจบางอย่างทุก 2-3 ปี หลังจากอายุ 40 ไปแล้ว จะมีเหตุผลมากกว่า

ในประการสุดท้าย การรักษาสุขภาพให้ดีเป็นหน้าที่ของท่านเองที่จะทำได้ง่ายๆ เช่น
1. ป้องกันอุบัติเหตุ (เช่น นั่งรถยนต์ทางไกลควรรัดเข็มขัดนิรภัย ข้ามถนนบนทางม้าลายหรือสะพานลอย หรือข้ามด้วยความไม่ประมาท ฯลฯ)
2. หลีกเลี่ยงบุหรี่ได้เป็นดี
3. กินเพื่ออยู่ให้เหมาะสมกับอายุและการใช้พลังงาน
4. ออกกำลังกายกลางแจ้งสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการลงทุนน้อยที่สุด แต่มีผลตอบแทนมากที่สุด

 

ข้อมูลสื่อ

60-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 60
เมษายน 2527
พ.ต.นพ.สุพจน์ ขวัญมิตร