• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัดเยอรมัน


                                          

ข้อแนะนำในการปฏิบัติเกี่ยวกับโรคหัดเยอรมัน

1. โรคหัดเยอรมันที่พบในเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรงมีเพียงอาการไข้ ผื่นแดงขึ้นทั้งตัว ต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลังหู ท้ายทอย และลำคอด้านหลังอาจโตคลำพบได้ อาการต่างๆจะหายเป็นปกติในเวลา 3-5 วัน หลังผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองอาจโตนานเป็นเดือน ผู้ป่วยทั่วไปไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพียงแต่กินยาลดไข้ และยาแก้คัน ระงับอาการก็เพียงพอ

2. อาการไข้และมีผื่นขึ้นทั้งตัวนี้ อาจเกิดจากเหตุอื่นที่ไม่ใช่หัดเยอรมันก็ได้ ถ้ากินอาหารได้ นอนหลับ กินยาระงับอาการ 3-5 วันแล้วทุเลาก็ไม่มีปัญหา ถ้าอาการรุนแรง หรือมีอาการเกิน 5 วัน กินยาแล้วไม่ทุเลาควรปรึกษาแพทย์

3. ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคหัดเยอรมัน เพื่อลดการระบาด ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันใช้แล้ว ไม่แนะนำ "งานเลี้ยงหัดเยอรมัน"

4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน วัคซีนนี้เป็นเชื้อที่มีชีวิตแต่อ่อนฤทธิ์ ไม่ก่อโรคไม่ติดต่อ และไม่ทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ วัคซีนของบริษัทเมอเรียล(ฝรั่งเศส) ราคาขวดละ 62 บาท ฉีดได้ 10 คน  วัคซีนรวมคางทูมและหัดเยอรมัน บริษัทเมิร์คชาร์พแอนด์โดห์ม ราคาเข็มละ 150 บาท และวัคซีนรวมหัดคางทูมและหัดเยอรมันของบริษัทเดียวกันนี้ ราคาเข็มละ 200 บาท

วัคซีนฉีดเพัยงครั้งเดียว (0.5 มล. เข้าใต้ผิวหนัง) จะป้องกันได้ตลอดชีวิต ยกเว้นในเด็กเล็ก อาจต้องฉีดกระตุ้นซ้ำตอนวัยรุ่น วัคซีนนี้ไม่มีอันตราย แม้จะฉีดให้กับผู้มีภูมิคุ้มกันแล้ว

ผู้ที่สมควรฉีดมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กหญิงวัยรุ่น และสาวโสดวัยเจริญพันธุ์ ถ้าเป็นหญิงแต่งงานแล้ว แนะนำให้ฉีดในระยะที่มีรอบเดือน และคุมกำเนิดอย่างน้อย 2 เดือน คลีนิคที่ให้บริการวางแผนครอบครัว ควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันแถมให้ในระยะคุมกำเนิด 

แม้วัคซีนนี้จะไม่ทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่อาจมีผลบดบังอาการโรคถ้าติดเชื้อในธรรมชาติ เพราะวัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันได้หลังฉีดแล้ว 6-8 สัปดาห์

5. สตรีที่ป่วยเป็นโรคหัดเยอรมัน ให้คุมกำเนิดไว้ 3 เดือน เพื่อความแน่ใจว่าทารกจะปลอดภัย

6. ระยะระบาด ถ้าฝ่ายหญิงไม่เคยฉีดวัคซีน ไม่มีภูมิคุ้มกัน คู่สมรสไม่ควรเสี่ยงต่อการมีบุตรพิการ ควรคุมกำเนิดไว้ก่อน

7. การเจาะเลือด สตรีมีครรภ์ทุกคนไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจ เพราะห้องฏิบัติการให้บริการได้จำกัด และถ้าไม่มีประวัติชัดเจนการแปลผลเลือดจะไม่มีปัญหายุ่งยากได้

ถ้าเป็นสตรีมีครรภ์ป่วยเป็นไข้มีผื่น หรืออยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีไข้และผื่น อาจติดเชื้อหัดเยอรมันโดยมีอาการหรือไม่มีก็ได้ สตรีมีครรภ์ที่สงสัยว่าป่วยเป็นโรคหัดเยอรมัน หรือสัมผัสโรค (ไม่ว่าจะท้องกี่เดือน) ควรได้รับการเจาะเลือดและการรักษาจากแพทย์ การเจาะเลือดตรวจต้องเจาะอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน สุดแต่แพทย์เห็นสมควร ทางห้องปฏิบัติการจะตรวจโดยวิธียับยั้งการเกาะกลุ่มเม็ดเลือดแดง (Hemag glutination inhibition, HI) และถ้าจำเป็นแปลผลไม่ได้จะตรวจหา Rubella specific lgm 

8. ถ้ามารดาติดเชื้อหัดเยอรมัน ระยะไตรมาสแรก (3 เดือนแรก) แพทย์มักตัดสินยุติการตั้งครรภ์ให้ ถ้าเป็นในไตรมาสที่สอง (4-6 เดือน) การตัดสินใจมักก้ำกึ่ง และถ้าเป็นไตรมาสที่สาม (7-9 เดือน) โอกาสที่เด็กพิการจากหัดเยอรมันจะน้อยจนไม่น่าที่มารดาจะต้องเสี่ยงกับความบอบช้ำเนื่องจากทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด

การให้อิมมูโนโกลบูลินไม่มีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อทั้งในรายที่มีอาการและสัมผัสโรค อาจให้ในกรณีที่มารดาสัมผัสโรคและยืนยันที่จะเสี่ยงมีบุตรแม้จะพิการ  

ข้อมูลสื่อ

60-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 60
เมษายน 2527
รศ.พญ.จันทพงษ์ วะสี