• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กวัยหนึ่งขวบถึงขวบครึ่ง

                               



 

 

253. ดุเด็กดีหรือไม่
ก่อนอื่นเห็นจะต้องขยายความคำว่า ‘ดุ’ เสียก่อน ตามปกติ ‘การดุ’ คือการตะเบ็งเสียงห้ามไม่ให้อีกฝ่ายทำอะไรที่ตนไม่ต้องการให้ทำ เพื่อให้ฝ่ายนั้นหันมาทำตามที่ตนต้องการ
สำหรับเด็กอายุขวบเศษนั้น เราต้อง “ดุ” ในกรณีที่แกทำอะไรอันตราย เช่น ดุขณะที่แกกำลังเอามือปัดจานข้าวบนโต๊ะลงมาบนพื้น หรือกำลังเข้าไปใกล้กระติกน้ำร้อน หรือกำลังหยิบไม้ขีด
การดุเช่นนี้ เป็นการห้ามเด็กอย่างทันทีทันควัน และหวังจะให้เด็กจดจำไว้ด้วยว่า ต่อไปจะทำเช่นนั้นอีกไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถึงเราจะห้ามเด็กได้สำเร็จในตอนนั้น เราก็ไม่รู้ว่ามันจะส่งผลถึงในอนาคตหรือไม่ แต่ถ้าคุณแม่ส่งเสียงร้องห้ามหลายครั้งเข้าเด็กคงจำได้ว่าถ้าแกทำเช่นนั้น คุณแม่จะส่งเสียงดัง ทำหน้าดุ ในที่สุดแกก็นึกได้ก่อนลงมือทำ

เด็กวัยขวบเศษนี้ คุณแม่ควรดุเฉพาะในเรื่องที่ต้องการห้ามอย่างทันทีทันควันเท่านั้น ในกรณีที่ต้องการให้เด็กทำอะไรดังใจของคุณแม่ ไม่ควรใช้วิธีดุ ควรใช้วิธีชมมากกว่า คนเราเวลาได้รับคำชมก็ดีใจ มีความสุขใจ คนเรานั้นอยากลืมความทุกข์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้ใครทำอะไรควรให้สิ่งนั้นผูกพันอยู่กับความสุขใจดีกว่า

เวลาคุณแม่อยากให้ลูกทำเช่นนี้ แต่ลูกกลับไม่ทำ ส่วนใหญ่ในวัยนี้เป็นเพราะหวังมากเกินไป หวังในสิ่งที่ลูกยังทำไม่ได้ เช่น ลูกฉี่รดกางเกงโดยบอกไม่ทัน แม่ก็ดุ เรื่องนี้เป็นเพราะเด็กยังบอกฉี่ไม่ได้ หรือในกรณีที่เด็กถูกดุเพราะฉีกหนังสือเล่นที่จริงเป็นเพราะเด็กวันนี้มีความสุขกับการฉีก เด็กไม่รับรู้ว่าการฉีกหนังสือทิ้งเกลื่อนเป็นการทำให้บ้านสกปรก

ถ้าเด็กทำอะไรไม่ได้ดังใจของคุณแม่ ขอให้หยุดคิดสักนิดก่อนที่จะดุแกว่า ทำไมเด็กถึงทำเช่นนั้น ที่เด็กฉีกหนังสือเล่นเป็นเพราะเด็กไม่ได้รับของเล่นที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ และไม่ได้เล่นออกกำลังกายเพื่อสลายพลังงานของแกอย่างเพียงพอ ใช่หรือไม่ ?
เวลาดุลูกเพื่อห้ามทำสิ่งใดที่เป็นอันตราย คุณแม่ต้องตะโกนเสียงดังและทำหน้าดุให้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อให้เด็กจดจำไว้ขึ้นใจว่า ถ้าแกทำเช่นนั้นคุณแม่จะเปลี่ยนจากคุณแม่ที่อ่อนหวานกลายเป็นคุณแม่ที่น่ากลัวขึ้นมาทันทันที

เด็กวัยนี้ ถึงคุณจะทำโทษก็ไม่มีความหมาย แกไม่สามารถจดจำความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำผิดกับการลงโทษไว้ได้ แกจำได้แต่เพียงว่า แกถูกคุณแม่ทำให้เจ็บตัว แน่นอน คุณแม่ตีลูกทันทีที่แกใช้ไม้ขีดไฟจุดเพื่อเป็นการห้ามแก กรณีเช่นนี้ การลงโทษ และการทำผิดเกิดขึ้นเกือบพร้อมกัน เด็กจึงจดจำได้ว่า ถ้าแกจุดไม้ขีดแกจะต้องเจ็บมือ 

 

 

 

 
254 อย่าทำให้เด็กกลัว
ไม่มีเด็กวัยไหนที่จะขี้กลัวเท่าเด็กวันนี้อีกแล้ว ถ้ามีใครทำให้แกกลัวขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง มีหวังต้องยุ่งกับแกอยู่นาน
ที่ทำกันบ่อยที่สุดก็คือการปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียว ในกรณีที่ไม่มีคนอื่นอยู่บ้านด้วย เวลาลูกนอนกลางวัน คุณแม่เกิดจำต้องทิ้งลูกไว้ออกไปซื้อของหรือไปธุระใกล้บ้าน เมื่อเด็กตื่นขึ้นมารู้ว่าอยู่คนเดียว เด็กจะตกใจลุกขึ้นและแผดเสียงร้อง แต่ไม่มีใครมาหาเลย ถ้าแกต้องร้องอยู่นานถึง 10-15 นาที เด็กจะตกอยู่ในความกลัวที่ตัวอยู่คนเดียว หลังจากนั้น แกจะไม่ยอมห่างคุณแม่แม้แต่นาทีเดียว คุณแม่เข้าห้องน้ำแกก็ตามติดไปทุบประตูห้องร้องไห้เรียกอยู่นั่นแหละ

บางครั้งตอนกลางคืน เมื่อลูกหลับแล้ว คุณพ่อคุณแม่ชวนกันออกไปเดินเล่น เด็กเกิดตื่นขึ้นมาโดยบังเอิญ พอรู้วาอยู่คนเดียวแกก็ร้องไห้หาแม่ แต่นานทีเดียวกว่าคุณแม่จะกลับมาเห็นผลลัพธ์ ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน เด็กวัยนี้บางคนกลัวการอาบน้ำเรื่องนี้จะต้องมีอะไรเป็นสาเหตุแน่ บางคนเคยถูกน้ำสบู่เข้าตาจนแสบ แกจังไม่ยอมให้สระผม แล้วเลยพาลไม่ยอมอาบน้ำไปด้วย
บางครั้งคุณพ่ออาบน้ำให้ลูกในอ่างเผลอทำลูกจมน้ำ แกจึงเข็ดไม่ยอมให้คุณพ่ออาบน้ำให้อีกเลย เด็กที่กลัวการอาบน้ำนั้นกว่าจะแก้ให้หายได้ ต้องใช้พลังหลอกล่อมากมาย เพราะฉะนั้นเราควรระวังไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเสียก่อนจะดีกว่า

เด็กที่เคยถูกหมอฉีดยา พอพาไปถึงหน้าร้านหมอแกก็ร้องไห้แล้ว เวลาไม่สบายพาไปหาหมอแกจะร้องดิ้นไม่ยอมให้ตรวจ หมอที่ชอบฉีดยา ตัวร้อนก็ฉีดยาลดไข้ เด็กไอก็ฉีดยาระงับไอ ไม่เหมาะสำหรับเด็กวัยนี้หรือวัยไหนทั้งนั้น หมอที่ใช้สมองรักษาคนไข้จะไม่ฉีดยา ถ้าเด็กยังมีสติดีพอที่จะกินยาได้ คุณแม่ต้องเลือกหมอให้ดีด้วย

 

ข้อมูลสื่อ

72-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 72
เมษายน 2528