• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กวัยหนึ่งขวบถึงขวบครึ่ง

                                        

 

 

 

 

 

251.ฝึกขับถ่าย
วัยก่อนหนึ่งขวบ เราประมาณเวลาจับเด็กนั่งกระโถนเพื่อเป็นการประหยัดผ้าอ้อมเท่านั้น แต่ระยะหนึ่งถึงขวบครึ่งนี้ เราอาจฝึกนิสัยนั่งกระโถนให้เด็กได้ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการคือ
ประการแรก
ฤดูที่ฝึก ไม่ใช่ฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูที่เด็กฉี่บ่อย
ประการที่สอง เด็กที่จะฝึกเป็นเด็กที่ฉี่ไม่บ่อย แต่ละวันแกฉี่น้อยครั้งเมื่อเปรียบกับเด็กอื่น

ในช่วงฤดูหนาวอากาศเย็น เด็กจะฉี่บ่อยกว่าฤดูอื่น และไม่ค่อยยอมให้ถอดกางเกงเพื่อที่จะนั่งกระโถนเย็นๆโดยเฉพาะในแถบที่อุณหภูมิต่ำอากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ เด็กมักจะฉี่เสียก่อนที่จะถึงเวลานั่งกระโถนอยู่บ่อยๆ ถ้าเด็กฉี่แต่ละครั้งช่วงระยะห่างประมาณชั่วโมงครึ่งขึ้นไป เราก็พอจะกำหนดเวลาฝึกนั่งกระโถนให้แกได้ แต่ถ้าช่วงห่างไม่ถึงชั่วโมง ก็คงฝึกยังไม่ได้

ในกรณีที่เด็กอายุเกินหนึ่งขวบ แล้วและฉี่ไม่บ่อยนักในแต่ละวัน ประจวบกับเป็นช่วงฤดูที่อากาศไม่หนาว คุณแม่อาจให้แกเลิกนุ่งผ้าอ้อมได้เลย และคอยประมาณเวลาจับให้แกนั่งกระโถน ถ้าเด็กร้องต่อต้านขนาดหนักก็เลิกฝึก รอไปอีกสักระยะหนึ่ง

ก่อนให้เด็กนั่งกระโถน อาจชวนแกด้วยคำพูดก่อนว่า “ฉี่หน่อยนะลูก” และเมื่อนั่งกระโถนแล้ว คุณแม่ควรพูดว่า “ฉี่...ฉี่” ตามไปด้วย พอเสร็จเรียบร้อย ต้องชมเชยว่า “ลูกเก่งจังเลยฉี่เสร็จแล้ว
ทั้งนี้เพื่อให้เด็กจดจำว่าการกระทำแบบนี้คือการ “ฉี่” ต่อมาก็สนับสนุนให้เด็กพูดคำว่า ฉี่..ฉี่ไปด้วย ไม่นานนักเด็กจะเข้าใจว่าการขับถ่ายแบบนี้เรียกว่า “ฉี่” แต่ทว่า กว่าเด็กจะสามารถบอกแม่ได้ก่อนที่แกจะฉี่ เด็กก็ต้องผ่านความพยายามขนาดหนัก อยู่ระยะหนึ่ง

ตอนแรก แกจะบอกก็ต่อเมื่อฉี่ไปแล้ว รู้สึกเปียกแฉะและรู้ว่านั่นคือ “ฉี่” จึงแสดงออกมาเป็นคำพูด ถ้าหากคุณแม่ดุแกว่า “แหมอะไร ฉี่เสร็จแล้วถึงบอก ไม่ได้เรื่องเลย !” เด็กคงเสียใจและไม่อยากบอกอีกต่อไป

ขั้นต่อไป เด็กจะบอกเมื่อตนปวดท้องฉี่มากและกำลังจะฉี่ออกมา แต่แกไม่สามารถทนอั้นเอาไว้จนกระทั่ง คุณแม่มาช่วยได้ทัน จึงเปียกเสียก่อนคุณแม่ก็โมโหเอาอีกว่า “ทีหลังบอกให้เร็ว ๆ กว่านี้หน่อยซี่”

เมื่อผ่าน 2 ขั้นตอนนี้ไปแล้ว เด็กจึงสามารถบอกฉี่และรู้ระยะที่จะต้องอั้นเอาไว้ด้วยคุณแม่ส่วนใหญ่อยากให้ลูกบอกฉี่ได้เร็ว ๆ เมื่อเด็กฉี่เสียก่อนที่จะบอกหรือบอกแล้วแต่ไม่ทัน คุณแม่มักจะดุหรือที่แย่กว่านั้นก็ตีก้นเอาด้วยเด็กจึงเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าบอกฉี่แล้วจะถูกลงโทษจึงไม่ยอมบอกอีก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าลูกของคุณจะบอกฉี่ก่อนหรือหลังจากที่ฉี่ไปแล้ว ขอให้คุณแม่ชมเชยทุกครั้งที่แกพยายามบอก ถ้าอยากให้เด็กควบคุมการขับถ่ายของตนเองได้ เราต้องยุให้แกรู้จักบอกฉี่เสียก่อน

การฝึกขับถ่ายนั้น ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ เราควรเริ่มเมื่ออายุกี่ปีกี่เดือน ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะสนับสนุนให้เด็กรู้จักบอกฉี่ได้อย่างไร การที่โรงเรียนอนุบาลหรือสถานเลี้ยงเด็กสามารถฝึกเด็กในเรื่องนี้ได้ดีกว่าทางบ้าน เพราะคุณครูหรือพี่เลี้ยงจะไม่ดุด่าหรือบ่นว่าเมื่อเด็กเกิดพลาดพลั้ง มีแต่คำชมเชยและให้กำลังในอยู่เสมอ

เหตุผลที่เราไม่ฝึกขับถ่ายในฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่เด็กฉี่บ่อย เพราะเด็กเองก็ไม่มีอารมณ์อยากนั่งกระโถน นอกจากนั้น เด็กยังเผลอฉี่รดกางเกงบ่อยๆ ทำให้เราชมเชยแกไม่ค่อยได้ด้วยถึงเด็กบางคนในวัยนี้สามารถบอกฉี่ได้แล้วในตอนกลางวัน แต่กว่าแกจะสามารถตื่นขึ้นมาบอกฉี่ในตอนกลางคืนนั้นยังอีกนาน คงต้องใช้ผ้าอ้อมไปก่อนในตอนกลางคืน

เรื่องบอกฉี่นี้ออกจะยากสักหน่อย สำหรับเด็กวัยนี้ แต่เรื่องอึนั้น เด็กส่วนใหญ่สามารถนั่งในกระโถนหรือในห้องน้ำได้แล้ว เพราะก่อนจะอึเด็กมักแสดงออกทางสีหน้าและทำท่าเบ่ง ทำให้คุณแม่สังเกตเห็น และพาไปห้องน้ำได้ทัน

 

 

 

 

 

252.เด็กเจ้าอารมณ์อาละวาด
เมื่อเด็กอายุเกินหนึ่งขวบสักเล็กน้อย เด็กที่แสงอารมณ์ออกมาภายนอกค่อนข้างรุนแรง เวลาแกไม่ได้ดังใจจะกระทึบเท้าเต้นเร่า ๆ บ้าง หรือนอนกลิ้งกับพื้นเตะแขนเตะขาร้องไห้จ้า มนุษย์เราเวลามีอารมณ์รุนแรงจะเหวี่ยงแขนขาอย่างเต็มที่ เพื่อปลดปล่อยอารมณ์ ด้วยการสลายพลังงานทางกาย

การนอนหงายนั้นเป็นท่าที่คนเราดิ้นเหวี่ยงแขนขาได้สะดวกที่สุด
สำหรับเด็กเจ้าอารมณ์ การลงนอนดิ้นเป็นท่าที่ธรรมชาติที่สุดของแกเป็นท่าแสดงอารมณ์โกรธและความไม่พอใจ แต่พ่อแม่มักเข้าใจว่าเป็นการแสดงความเรียกร้องของเด็กต่อพ่อแม่อย่างรุนแรง จึงผ่อนปรนเอาใจให้แกดังใจ โดยเฉพาะเวลาเด็กทำเช่นนั้นต่อหน้าสาธารณชน เช่น ในห้างสรรพสินค้า พ่อแม่กลัวเสียหน้า จึงยอมตามลูกโดยง่าย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางฝ่ายลูกก็เข้าใจว่า ถ้าตนแสดงอาการโกรธอย่างเต็มที่ทีไร ตนจะได้ทุกสิ่งดังใจหมาย บางครั้งเด็กไม่ต้องการเท่าไรนัก แต่แกก็งัดเอายุทธวิธีนอนดิ้นมาใช้ทุกครั้ง ถ้าหากคราวนี้คุณแม่ไม่ยอมล่ะก็ แกจะโกรธจริง ๆ และก่อสงครามกับคุณแม่จริง ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เอาไว้ว่า เด็กอายุขวบเศษบางคนจะทำเช่นนี้ เพื่อหาวิธีป้องกันเอาไว้ เพราสงครามครั้งแรกเป็นครั้งที่สำคัญที่สุด ถ้าเด็กโกรธลงนอนร้องไห้ดิ้นพราด ๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำไม่รู้ไม่ชี้ คอยจนกระทั่งพลังงานของแกค่อย ๆ สลายไปเอง เมื่อจบไปฉากหนึ่งแล้ว คุณแม่ค่อยเปลี่ยนบรรยากาศให้แก เมื่อเวลาผ่านไปเด็กจะลุกขึ้นมาเองอย่างแน่นอน

แต่เหตุที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายไม่สามารถรอจนกระทั่งลูกลุกขึ้นมาเองเป็นเพราะคุณป้าคุณน้า “ใจดี” ที่อยู่รอบด้าน มักจะยื่นมือเข้ามาช่วยอุ้มให้เด็กลุกขึ้นบ้าง หรือถ้าอยู่ในบ้านคุณย่าคุณยายทนดูหลานรักร้องไห้ชักดิ้นชักงออยู่ไม่ไหวจึงเข้ามาช่วยบ้าง และเมื่อผู้ใหญ่ยอมเด็กเข้าครั้งหนึ่งแล้ว
ต่อไปถึงตั้งเข็มไว้ว่าจะไม่ยอมอย่างเด็ดขาด ทางฝ่ายเด็กก็สู้ตายเหมือนกัน เพราะแกจดจำความสำเร็จครั้งแรกเอาไว้ได้อย่างแม่นยำ

เด็กที่อาละวาดเพียงแค่นอนดิ้นพราดๆ ยังนับว่าดี เด็กบางคนใช้ยุทธวิธีเอาหัวโขกพื้นโป๊ก ๆ โดนเข้าไม้นี้คุณแม่ก็กลัวว่าลูกเอาหัวโขกบ่อย ๆจะกลายเป็นเด็กหัวทึบ จึงรีบอุ้มขึ้นมาและยอมตามความต้องการของลูก ถ้าเด็กใช้วิธีหัวโขกพื้น คงต้องอุ้มเข้าไปในห้องและให้เอาหัวโขกที่นอนหรือเบาะรองนั่งแทน วิธีต่อสู้กับเด็กอาละวาดนั้น ต้องพยายามให้เด็กได้ใช้พลังงานนอกบ้านอย่างเต็มที่ ไม่ควรใช้วิธีแลกด้วยขนม

( อ่านต่อฉบับหน้า )

 

ข้อมูลสื่อ

71-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 71
มีนาคม 2528