• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เราพูดได้อย่างไร

ผู้ที่สนใจจะรักษาตนเองเบื้องต้นในยามเจ็บป่วย ก่อนอื่นก็ควรจะรู้จักตัวเองในยามไม่เจ็บป่วยเสียก่อน คอลัมน์ “ร่างกายของเรา” จะมาคุยกับท่านเกี่ยวกับเรื่องความเป็นไปในร่างกายของตัวเราเองในยามปกติหรือเรียกให้หรูอีกนิดคือ ว่าด้วยวิชากายวิภาคสรีรวิทยาระดับชาวบ้าน ซึ่งเราจะเล่าสู่กันฟังเป็นตอนๆไป

การสื่อความหมายในสรรพสัตว์ทำได้หลายอย่าง สัตว์ชั้นต่ำมีรูปแบบของสื่อความหมายที่ง่ายๆ เช่น การเอาหัวชนกัน การเอาหนวดแตะกันของมดเพื่อบอกว่าอาหารอยู่ที่ไหน การกระพือปีกของผึ้งเพื่อส่งสัญญาณให้ผึ้งงานทั้งหลายไปขนน้ำหวานดอกไม้ การร้องเพลงของนกเพื่อเรียกหาตัวเมีย การส่งเสียงขู่ของเสือเมื่อไม่ต้องการให้ใครมาแย่งเหยื่อ การเห่าของสุนัข เมื่อพบคนแปลกหน้า การกระดิกหางและส่งเสียงครางงี้ด ๆ เมื่อต้องการประจบเจ้านาย เหล่านี้เป็นการสื่อความหมายเพื่อความเข้าใจทั้งสิ้น

การสื่อความหมายของคนเราสลับซับซ้อนกว่ามากมาย ก็แน่ล่ะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐที่สุดก็ย่อมจะต้องมีวิธีที่พิสดารออกไป ภาษาพูดเป็นการสื่อสารความหมายเบื้องต้นที่สำคัญ และใช้มาแต่ดึกดำบรรพ์ นับว่าเป็นการเลียนเสียงของธรรมชาติและกลั่นกรองออกมาเป็นเสียงที่มีความหมาย
นอกจากนี้คนเรายังมีภาษาตา ท่าทางที่ต่างจากสัตว์ชัดเจนก็คือมีตัวอักษรเป็นภาษาเขียน

เราใช้ภาษาพูดอยู่ทุกวันแล้วคุณเคยสงสัยไหมว่าคุณพูดได้อย่างไร

เสียงพูดของเราเกิดจากลมที่เปล่งออกมาจากปอดผ่านอวัยวะต่าง ๆออกมาเป็นเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ อันเป็นภาษาพูด อวัยวะที่ทำให้เกิดเสียงก็คือกล่องเสียง เวลาพูดเราจะเปล่งลมจากปอดผ่านหลอดคอผ่านกล่องเสียงภายในกล่องเสียงมีสายเสียงซึ่งขึงอยู่ ตรงกลางกล่องเสียง เมื่อลมผ่านจะทำให้สายเสียงสั้นสะเทือนเกิดเป็นเสียงสูงต่ำ เสียงเมื่อผ่านกล่องเสียงแล้วก็จะกระทบคอ เพดานปาก ฟัน หรือริมฝีปาก ทำให้ออกมาเป็นเสียงพูดในที่สุด (รูปที่ 1)


กล่องเสียงอยู่ใต้คาง เป็นทางเข้าออกของอากาศที่จะไปสู่ปอด หรือที่คลำได้เป็นลูกกระเดือกนั่นแหละ กล่องเสียงเป็นกระดูกอ่อนยึดติดกันด้วยเอ็นและกล้ามเนื้อ ตรงกลางมีสายเสียง เมื่อเราเกร็งสายเสียงให้ตึงแล้วปล่อยลมออกมาจากปอดอย่างแรง เสียงที่เปล่งออกมาจะเป็นเสียงสูง ตรงข้ามถ้าเราหย่อนสายเสียงเราจะได้เสียงที่ต่ำลึก การเกร็งและหย่อนสายเสียงทำได้โดยการเกร็งหรือหย่อนกล้ามเนื้อในคอ โดยวิธีนี้เราสามารถเปล่งเสียงออกมาได้สูง ๆต่ำ ๆ หลายเสียง

ในเวลาที่เราไม่ได้พูดสายเสียงจะหย่อนและอยู่ห่างกัน เมื่อเราหายใจเข้า ลมหายใจจะผ่านรูระหว่าง
สายเสียงนี้เข้าสู่หลอดคอและสู่ปอด เมื่อเราพูดหรือร้องเพลงสายเสียงจึงจะถูกบังคับให้ปิดเปิดหย่อน
ตึงตามความต้องการของเสียงที่จะเปล่งออกมา เช่นเดียวกับการเป่าปี่ ลมที่ผ่านลิ้นของปี่ซึ่งทำด้วยไม้แผ่นบาง ๆ จะทำให้ลิ้นปี่สั่นสะเทือนเกิดเป็นเสียงขึ้น เวลาเราเป่านกหวีด เป่าแตรก็เช่นเดียวกัน ริมฝีปากของเราสั่นสะเทือนในขณะที่เราเป่าลมเข้าไปในรูของมัน นี่เป็นหลักง่าย ๆ ที่ลมเมื่อผ่านออกจากรูใหญ่แล้วเข้ารูที่เล็กกว่าในทันทีจะทำให้เกิดเสียงขึ้น เราจะทดลองได้โดยการเป่าลูกโป่งให้ใหญ่แล้วปล่อยให้ลมออกจากลูกโป่ง ลูกโป่งจะเกิดเสียงขึ้นมา (รูปที่ 2)

    

ลมที่ผ่านกล่องเสียงเท่านั้นยังไม่เป็นคำพูด หากเป็นแต่เสียงเท่านั้นเราต้องอาศัยลิ้น ริมฝีปากและขา
กรรไกรขยับ ม้วน กระดก เพื่อแปรเสียงที่ออกมาให้เป็นคำที่มีความหมาย คุณลองพูดโดยไม่ให้เสียง
กระทบลิ้น ไม่อ้าปากหรือใช้ริมฝีปากเลยซิ จะพบว่าเสียงที่เปล่งออกมาจะเป็นเสียงตลกที่ฟังไม่คุ้นหู ลองพูดคำว่า “แม่” โดยไม่ต้องอ้าปากดูซิ แทนที่จะเป็นแม่กลับเป็นเสียงอู้อี้ไป หรือลองพูดคำว่า “ปิด” โดยไม่ให้ริมฝีปากแตะกันดูซิ คุณไม่มีทางพูดได้เลยใช่ไหม

คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมเด็กจึงเริ่มพูดได้เมื่ออายุได้ขวบกว่า ๆ

คำตอบก็คือ ก่อนหน้านั้น เด็กเรียนรู้ที่จะฟังมาตั้งแต่แบเบาะ และเริ่มออกเสียงเลียนเสียงที่ได้ยินเมื่อเด็กพร้อมที่จะใช้อวัยวะต่าง ๆ ในการพูดได้ก็เป็นเวลาที่เขาอายุได้ขวบกว่า ๆ พอดี เมื่อเด็กอายุ 1 เดือนได้ยินเสียงแม่ทัก จ๋า จ้ะ เด็กอาจจะมองหน้าแม่เฉย ๆ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะเด็กไม่เข้าใจความหมายของคำว่า จ๋า จ้ะ แต่เมื่อแม่ทัก จ๋า จ้ะ อยู่ทุก ๆวัน เด็กก็จะเริ่มเข้าใจความหมาย และวันหนึ่งเด็กก็จะตอบแม่ว่า จ๋า(จ้ะ) เมื่อเด็กพร้อม ถ้าเด็กหูหนวกไม่สามารถได้ยินเสียงแม่ทักได้ เขาก็จะไม่มีวันตอบแม่ เพราะเขาไม่ได้ยินเสียงจึงไม่มีเสียงให้เลียนแบบและเขาจะพูดไม่ได้ เมื่อเด็ก ๆ ได้ยินเสียงที่ซ้ำไปซ้ำมา ก็จะเริ่มเข้าใจว่ามันหมายความถึงอะไร เช่นถ้าแม่พูดว่า “มานี่” แล้วทำท่าทางอ้าแขนรับ ตบไม้ตบมือเรียกเด็กก็จะเริ่มเข้าใจความหมายว่าเขาต้องวิ่งเข้าไปหาแม่เพราะแม่เรียกแล้ว กับเด็กอเมริกัน ถ้าแม่บอกว่า “come here” เด็กก็จะรู้กันว่าแปลว่า“มานี่” เหมือนกัน เมื่อแม่ชี้ไปบนเพดานแล้วบอกว่า “ไฟ” เด็กก็จะรู้ว่านั่นคือไฟและจะพยายามเลียนเสียงคำว่า “ไฟ”  (รูปที่ 3)

  

เมื่อกล่องเสียง ลิ้น และริมฝีปากของเด็กเติบโตดี เด็กก็จะสามารถใช้มันทำให้เกิดเสียงที่มีความหมายได้ไม่เพียงแต่ส่งเสียง อือ ๆ ออ ๆ แบบเด็ก 2-3 เดือน แล้วตอนนั้นเองที่เด็กจะเริ่มหัดพูดเมื่อเขารู้ว่าเขาพูดได้แล้ว เด็กจะเลียนเสียงทุกอย่างที่เขาได้ยิน จากคำที่ไม่ชัดฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่องเป็นคำที่ชัดขึ้น พูดได้ยาวขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นประโยค สามารถบอกความต้องการและความรู้สึกของตัวเองได้ เมื่อเด็กฝีกใช้ริมฝีปาก ลิ้น กล่องเสียงได้ดีขึ้นเรื่อย ๆเขาก็จะพูดเหมือนกับคนที่โตแล้ว

การร้องเพลง เป็นการฝึกหัดการหายใจ กล่องเสียง ลิ้น และริมฝีปากให้ทำงานประสานสอดคล้องกัน ความไพเราะของเพลงที่ร้องขึ้นอยู่กับการควบคุมสายเสียงให้สั่นสะเทือนได้จังหวะที่พอเหมาะกับเสียงที่ต้องการ


กล่องเสียงของเด็กหญิงกับเด็กชายจะไม่ต่างกัน แต่เมื่อเด็กชายเติบโตถึงวัยรุ่น เมื่อฮอร์โมนเพศชาย
มีมากขึ้น ฮอร์โมนเพศจะทำให้กล่องเสียงขยายใหญ่และกว้างกว่าของเด็กหญิง ในระยะนี้เองเด็กชายจะเริ่มมีเสียงแหบพร่าอย่างที่เรียกว่าเสียงแตก กล่องเสียงใหญ่ขึ้นนี้จะทำให้ลูกกระเดือกของผู้ชายเป็นสันนูนขึ้นมาเห็นได้ชัดกว่าของผู้หญิง และผู้ชายมีเสียงแหบห้าวกว่า การพูดค่อยแต่พอฟังได้ยิน และการใช้เสียงอย่างเหมาะสมเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการถนอมสายเสียง สายเสียงจะเสียหากร้องตะโกนหรือกรีดร้องอย่างสุดเสียงบ่อย ๆ คุณเคยเห็นนิสิตนักศึกษาที่เพิ่งกลับจากซ้อมเชียร์หรือไม่ นั่นแหละเสียงแหบเป็นเป็ดเลย การใช้เสียงมาก ๆ เป็นเวลานานทำให้สายเสียง สั่นสะเทือนอย่างแรงไม่ได้หยุด สายเสียงจะอักเสบและบวมเป็นเหตุให้เสียงแหบ ถ้าเป็นมาก ๆ จะพูดไม่มีเสียงออกมาเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องหยุดใช้เสียงเด็ดขาด ดื่มน้ำมาก ๆและควรไปหมอเสีย ถ้าเป็นหวัดและกล่องเสียงอักเสบจากเชื้อไวรัสด้วยจะเป็นอย่างเดียวกัน

อากาศที่เราหายใจเข้าไปผ่านจมูกและโพรงข้างหลังปาก ซึ่งเป็นทางเดินร่วมของอากาศและอาหาร
ที่จะเข้าสู่หลอดลมและหลอดอาหารตามลำดับ กล่องเสียงจึงเปรียบเหมือนประตูทางเข้าของอากาศ
ที่จะแยกไปสู่ปอด เวลาเราเคี้ยวอาหาร เราไม่ได้หยุดหายใจด้วยดังนั้นร่างกายจึงต้องมีเครื่องป้องกันไม่ให้อาหารตกลงไปในหลอดลม นั่นคือเหนือกล่องเสียงจะมีลิ้นปิดเปิดเรียกว่าอีพีกลอตติส ลิ้นเล็ก ๆ นี้จะกระดกปิดกล่องเสียงทันทีพร้อม ๆกับอาการกลืนของเรา ทำให้อาหารถูกกลืนเข้าไปในหลอดอาหารไม่หล่นเข้าไปในหลอดลม หากเราพูดหรือร้องเพลงขณะกินอาหาร จะทำให้อีพิกลอดติสเปิด เศษอาหารอาจจะหล่นลงไปในกล่องเสียง ทำให้สำลักหรือไอ ถ้าโชคร้ายอาหารก็จะลงไปอุดหลอดลม ทำให้หายใจไม่ออกถึงตายได้ ควรเข้มงวดบุตรหลานของท่านไม่ให้พูดขณะมีอาหารอยู่เต็มปาก
     

 

ข้อมูลสื่อ

62-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 62
มิถุนายน 2527
พญ.ลลิตา ธีระศิริ