• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษา (5)อาการเจ็บหนัก (ต่อ)

 ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”

 

 

 

อาการเจ็บหนักมาก และอาการเจ็บหนัก มีอะไรบ้าง ได้กล่าวไว้แล้วในฉบับก่อนซึ่งรวมถึงการฟื้นชีวิตของผู้ที่หมดสติทันทีและคลำชีพจรไม่ได้ด้วย
ผู้ที่หมดสติทันทีและคลำชีพจรไม่ได้(แม้ว่าอาจจะหายใจต่อได้อีก 1-2 นาที) ถูกถือว่าเป็นภาวะที่เจ็บหนักที่สุด และฉุกเฉินที่สุด เพราะถ้าทิ้งไว้โดยไม่รักษาเพียง 2-3 นาที คนไข้ก็จะตาย (หัวใจหยุดเต้นและหยุดหายใจ) และถ้าฟื้นชีวิตขึ้นมาได้หลังหัวใจหยุดเต้นและการหยุดหายใจเกิน 5 นาทีแล้ว คนไข้จะพิการ เพราะสมองเสื่อม หรือเสียจากการขาดเลือดและขาดออกซิเจนนานเกินไป

การช่วยชีวิตของคนที่หมดสติทันที และคลำชีพจรไม่ได้ จึงต้องทำทันที จะไปรอเรียกหมอก่อน หรือรอให้หมอมาถึงเสียก่อนจึงเป็นไปไม่ได้

ชาวบ้านทุกคน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ จึงควรจะศึกษาและฝึกวิธีช่วยชีวิต และวิธีฟื้นชีวิต ที่ได้กล่าวถึงในฉบับก่อน เพื่อที่จะสามารถช่วยชีวิตญาติ และคนไข้ได้ในทันทีที่พบ เพราะยิ่งช่วยคนไข้ได้เร็วเท่าใด โอกาสที่จะฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
ฉบับนี้จะกล่าวถึงอาการเจ็บหนักมากอย่างอื่นต่อไป

อาการหายใจลำบากมาก

อาการหายใจลำบากมาก ก็พอจะวินิจฉัยได้ทันที และอาจจะแบ่งออกเป็น

1.หยุดหายใจ
สังเกตได้จากการที่ทรวงอกและหน้าท้องไม่มีการเคลื่อนไหว ถ้าเอาเศษสำลี เศษผ้า หรือเศษกระดาษไปจ่อที่รูจมูกและที่ปาก จะไม่มีการเคลื่อนไหวของเศษสำลี เศษผ้า หรือเศษกระดาษนั้น คนไข้ที่หยุดหายใจจะต้องได้รับการช่วยหายใจทันที (ดูวิธีช่วยหายใจในฉบับก่อน) ส่วนคนไข้ที่หยุดหายใจเป็นพัก ๆ เช่นการหายใจแบบเชนสโต๊กส์ (Cheyne-stoke respiration) (ดู “มาเป็นหมอกันเถิด” ฉบับที่ 17) คนไข้มักจะไม่เขียว หรือเขียวเพียงเล็กน้อยในระยะหยุดหายใจ แต่ในระยะที่หายใจ จะแดงเป็นปกติ คนไข้ประเภทนี้ไม่ฉุกเฉิน และไม่ต้องรีบช่วยหายใจ นอกจากคนไข้จะเขียว

           


2.หายใจช้ามาก
สังเกตได้จาการที่นาน ๆ คนไข้จึงจะหายใจสักครั้ง คนไข้ที่หายใจช้ามากจนหายใจไม่พอ มักจะเขียว(ริมฝีปากสีม่วงดำ ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้าเป็นสีม่วงดำ ) ในบางรายคนไข้อาจจะไม่รู้สึกตัวและมีใบหน้าเหยเกเวลาหายใจเข้า (การหายใจใกล้ตาย หรือ air-hunger)
คนไข้ที่หายใจช้ามากจนเขียว (cyanosis) จะต้องได้รับการช่วยหายใจโดยเร็ว (ดูวิธีช่วยหายใจฉบับที่แล้ว) ส่วนคนไข้ที่หายใจช้าแต่ยังไม่เขียว มักไม่ฉุกเฉิน และไม่ต้องรีบช่วยหายใจ แบบที่กล่าวไว้


3.หอบเหนื่อยมากจนพูดไม่ได้
สังเกตได้จากการที่คนไข้ต้องหายใจเร็วและลำบากตลอดเวลา เราจะรู้ว่าหายใจเร็วโดยนับการหายใจเข้าต่อนาที ในผู้ใหญ่ถ้าหายใจเกิน 20-24 ครั้ง/นาที แล้วแต่ขนาดของร่างกาย ก็ถือว่าหายใจเร็วได้ ส่วนในเด็กเล็ก ถ้าหายใจเกิน 30-40 ครั้ง/นาที แล้วแต่ขนาดของเด็ก ก็ถือว่าหายใจเร็วได้

เราจะรู้ว่าหายใจลำบากมาก เพราะปีกจมูกบานเข้าบานออกเวลาหายใจ ลูกกระเดือกวิ่งขึ้นวิ่งลงเวลาหายใจ กระดูกไหปลาร้าเคลื่อนขึ้นลงตามการหายใจ (ดูฉบับที่ 17) คนไข้ที่หอบเหนื่อยมาก จะต้องได้รับการช่วยเหลือทันทีโดย

3.1 ให้คนไข้นั่งหรือนอนหัวสูง ในท่าที่คนไข้สบายที่สุด อาจจะเป็นการนั่งพิงหมอนหลาย ๆ ใบ หรือนั่งฟุบกับโต๊ะที่มีหมอนรองอยู่

3.2 ใช้พัดหรือพัดลมเป่าอากาศไปที่ตัวคนไข้ตลอดเวลา เพื่อให้อากาศหมุนเวียนมากขึ้น และช่วยผ่อนคลายความร้อนให้คนไข้ที่หายใจลำบากจะรู้สึกร้อน เพราะต้องออกกำลังมากในการหายใจ การใช้พัด
ลมเป่า จะทำให้คนไข้สบายขึ้น

3.3 ถ้ามีออกซิเจน ควรให้ออกซิเจนแก่คนไข้ โดยเอาท่อออกซิเจนไปจ่อที่บริเวณปากและจมูกของคนไข้ แล้วใช้ขันหรือกรวยกระดาษ (เอาการะดาษแผ่นโต ๆ เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ม้วนเป็นรูป
กรวย
) ครอบปลายท่อไว้บริเวณปากและจมูก ถ้ามีที่ครอบปากและจมูกสำเร็จรูปหรือสายยางเล็ก ๆ สำหรับใส่เข้าไปในรูจมูกก็จะทำให้คนไข้ได้รับออกซิเจนดีขึ้น

3.4  รีบนำคนไข้ส่งโรงพยาบาล คนไข้ที่หายใจลำบากมาก เมื่อได้ช่วยการหายใจดังกล่าวข้างต้นแล้ว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะการพยาบาลตรวจรักษาเองต่อไป มักจะก่อให้เกิดอันตรายได้ คนไข้ที่หายใจลำบากมาก มักจะมีสาเหตุที่ร้ายแรงที่ทำให้เกิดอาการเช่นนั้น การตรวจรักษามักจะต้องการเครื่องมือ เครื่องใช้เพื่อช่วยในการหาสาเหตุ และรักษาสาเหตุด้วย

อาการชักตลอดเวลา

อาการชักตลอดเวลา มักจะวินิจฉัยได้ง่าย เพราะจะเห็นการกระตุกของแขน ขา หรือใบหน้า คนไข้มักจะไม่รู้สึกตัว หรือไม่ค่อยรู้สึกตัว คนไข้ที่รู้สึกตัว จะสังเกตได้โดยคนไข้ยังพูดหรือเคลื่อนไหว หรือมีลักษณะ เช่นชักมือหรือแขนหนี เมื่อหยิกหรือเอาเข็มแทง หรือเอาของร้อนไปแตะมือหรือแขน อาการชักมักเกิดขึ้นเวลาที่มีคนเห็นหรือมีคนอยู่ด้วย คนไข้ที่ชักมักไม่เกิดอาการบาดเจ็บ(โดยทั่วไป คนไข้ที่ชักมักจะหกล้มหรือแขน ขา ถูกกระทบกระแทกกับโต๊ะพื้น หรือสิ่งอื่น เกิดบาดแผล หรือการฟกช้ำ ดำเขียว หรือไม่ก็กัดปาก กัดลิ้นของตนเอง โดยไม่รู้ตัวในระหว่างชัก ทำให้เกิดแผลที่ปากหรือลิ้น)

ถ้าคนไข้ชักแล้วยังรู้สึกตัวให้ถือว่าไม่ฉุกเฉิน และส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุทางจิตใจซึ่งต้องให้การรักษาทางจิตใจ และใช้เวลาในการพูดคุยให้คนไข้และญาติเข้าใจ เนื่องจากภาวะนี้ไม่ใช่อาการเจ็บหนัก จึงจะเอาไว้กล่าวถึงในเรื่องของการตรวจรักษา “อาการชัก” ที่ไม่เจ็บหนักในโอกาสต่อไป

สำหรับคนไข้ที่ชักตลอดเวลาและไม่รู้สึกตัว ต้องรีบให้การรักษาดังนี้

1. ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ หรือนอนหงายและตะแครงศีรษะไปด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลักน้ำลาย หรืออาหารที่อาเจียนออกมาเข้าไปในหลอดลม และถ้าสามารถล้วงฟันปลอมหรือสิ่งอื่นในปาก ที่อาจหลุดและสำลักไปอุดกั้นหลอดลมได้ ก็ต้องทำด้วย

2. ใช้ผ้าพันไม้บรรทัด หรือไม้กดลิ้นแล้วใส่ไว้ในปาก ดันลิ้นให้พ้นฟัน เพื่อกันไม่ให้คนไข้กัดลิ้นตนเองขณะชัก

3. นำโต๊ะ เก้าอี้ ของมีคม และสิ่งอื่นไปให้ห่างจากตัวคนไข้ เพื่อกันการกระทบกระแทก และอุบัติเหตุอื่น

4. ถ้าคนไข้มีไข้ (ตัวร้อน) โดยเฉพาะในรายที่ร้อนจัด จะต้องรีบใช้น้ำเย็นราดตัวคนไข้ หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็งเช็ดตัวคนไข้ เพื่อให้อาการไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว คนไข้ที่ชักเพราะเป็นไข้ พบบ่อยในเด็กเล็กที่ต่ำกว่า 6 ขวบ เพราะฉะนั้นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ถ้ามีไข้ต้องระวังอย่าให้ตัวร้อนจัด (ไข้สูงกว่า 38 หรือ 38.5 องศาเซลเซียส) เพราะเด็กอาจชักได้

 

การทำให้อาการไข้หรืออาการตัวร้อนลดลง อาจทำได้โดย

ก.เช็ดตัวคนไข้ด้วยน้ำเย็น ราดตัวคนไข้ด้วยน้ำเย็น หรือให้คนไข้แช่ในน้ำเย็น แต่ถ้าคนไข้ถูกน้ำเย็นแล้วเกิดอาการหนาวหรือสั่น ควรใช้วิธีเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นแทนและอาจใช้กระเป๋าน้ำแข็ง (ถุงใส่น้ำแข็ง) แล้วใช้ผ้าขนหนูห่ออีกชั้นหนึ่ง วางไว้บริเวณขาหนีบ รักแร้ ซอกคอ และศีรษะ

ข.ให้ยาลดไข้ เช่นพาราเซตามอล ½ เม็ด สำหรับเด็กเล็ก 1 เม็ดสำหรับเด็กโต สำหรับเด็กหรือคนที่เคยชักเวลามีไข้ควรจะใช้ยากันชักร่วมกับยาลดไข้ไปด้วย ยากันชักคือ ยาฟีโนบาร์บิตัล (phenobabital 30 หรือ 60 มิลลิกรัม) 1 เม็ด

5.สำหรับคนไข้ที่กำลังชักอยู่ ควรฉีด Diazepam (ชื่อการค้า เช่นValium, Stesolid ) เข้าเส้น ฉีดช้า ๆ (อย่าฉีดเร็ว ขณะที่ฉีดควรสังเกตการหายใจและลักษณะทั่วไปของคนไข้ด้วยถ้าคนไข้หายใจช้าลง หรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่นที่ไม่มีมาก่อนการฉีดยาจะต้องหยุดฉีดยาทันที) ในผู้ใหญ่ฉีดเข้าเส้นครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม (ครึ่งถึงหนึ่งหลอด) ถ้าฉีดเข้าเส้นไป 1 หลอด (10 มิลลิกรัม) แล้วยังไม่หยุดชักใน 5-10 นาที ให้ฉีดซ้ำได้อีก 1 หลอด และซ้ำได้อีกทุก 5-10 นาที อีก 3-4 ครั้ง ถ้ายังไม่หายชัก อาจใช้ Seconal หรือ Pentothai ฉีดเข้าเส้น แต่ยา 2 ตัวหลังนี้อันตรายกว่า Diazepam จึงควรฉีดในสถานที่ที่จะแก้พิษจากยา (เช่น การหยุดหายใจหรือความดันเลือดตก) ได้ เช่น ที่โรงพยาบาล เป็นต้น ยาอื่นที่จะระงับการชักได้ เช่น Dilantin แบบฉีดก็มีอันตรายมากเช่นกัน

เมื่อให้การปฐมพยาบาลและการรักษาขั้นต้นดังกล่าวแล้ว ควรจะรีบพาคนไข้ไปโรงพยาบาล ยกเว้นในกรณีที่เด็กชักจากภาวะไข้ และเมื่อลดความร้อนลงแล้ว เด็กหยุดชักและอาการไข้ (ตัวร้อน) นั้นเป็นลักษณะของไข้หวัด ก็อาจจะระวังไม่ให้เด็กตัวร้อนจัดอีก และให้ยากันชักฟีโนบาร์บิตัล 1 เม็ดก่อนนอนทุกวัน จนกว่าอาการตัวร้อนของเด็กจะหาย ถ้าเด็กยังชักอีก หรือมีอาการผิดปกติอื่น เช่นคอแข็ง ไข้ไม่ลดลง หรือไม่ดีขึ้น หรืออื่น ๆ ควรรีบนำคนไข้ส่งโรงพยาบาล

อาการตกเลือดอย่างรุนแรง

       

 

ถ้าเป็นการตกเลือดที่มีมีเลือดออกให้เห็นชัดเจนจากบาดแผล ควรจะห้ามเลือดโดยเร็ว โดยใช้มือกดลงไปบนบาดแผลที่เลือดออก ถ้ามีผ้าเช็ดหน้า หรือเศษผ้าที่สะอาด อาจจะพับอีกทีหนึ่ง ถ้ายังไม่ได้ผลคือยังมีเลือดออกอย่างมากอีก ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่บาดแผลใหญ่มาก และมีการฉีกขาดของหลอดเลือด (เส้นเลือด) ใหญ่หรือหลายเส้นด้วยกัน ถ้าเป็นบริเวณแขน หรือขา ให้กดบริเวณที่มีหลอดเลือดใหญ่ผ่าน (ดูรูป)

     

หรือใช้เชือก หรือเศษผ้ายาว ๆ รัดรอบต้นแขน หรือต้นขา หรือเหนือบริเวณที่มีบาดแผล แล้วรัดให้แน่นพอที่เลือดจะหยุดไหลหรือไหลออกมาเพียงเล็กน้อย(ซึม ๆ ) แล้วรับนำส่งโรงพยาบาล

ในกรณีที่เลือดออกข้างใน เช่น เลือดออกในกะเพาะลำไส้ ทำให้อาเจียนเป็นเลือดและอุจจาระเป็นสีดำ เลือดออกในปอด ทำให้ไอออกมาเป็นเลือดสด ๆ เป็นจำนวนมาก เลือดออกในบริเวณที่กระดูกหักทำให้บริเวณนั้นบวม ตึง และปวดมาก เลือดออกในช่องท้อง เช่น จากมดลูกแตก หรือปีกมดลูกแตก จากการตั้งครรภ์ เป็นต้น รีบให้การรักษาดังนี้

1.ให้คนไข้นอนราบลง ศีรษะไม่ต้องหนุนหมอน ถ้ามีอาการมาก ควรใช้หมอนรองเท้า และขา ให้เท้าและขาสูงกว่าลำตัว

2.พูดปลอบโยนให้กำลังใจ และพยายามทำให้คนไข้สงบ ไม่ตกใจ ไม่กระวนกระวาย

3.ถ้าให้น้ำเกลือได้ รับให้น้ำเกลือที่มีกลูโคสผสมอยู่ เช่น กลูโคส 5% ในน้ำเกลือ (5% Destrose in Normal Saline Solution) เข้าเส้นประมาณ 20-30 ซีซี(มิลลิกรัม) ต่อนาที

4.รีบนำคนไข้ส่งโรงพยาบาล

  

 

อาการเจ็บหนักรองลงไป

สำหรับคนไข้ที่มีอาการเจ็บหนักรอง ๆ ลงไป ให้การตรวจรักษา หรือปฐมพยาบาลดังนี้

1. ให้คนไข้พักในท่าที่คนไข้สบายที่สุด เช่น ถ้าคนไข้นั่งแล้วสบายก็ให้นั่ง ถ้าคนไข้นอนหงายแล้วสบายก็ให้นอนหงาย ถ้าคนไข้นอนตะแคงแล้วสบายก็ให้นอนตะแคงเป็นต้น
ถ้าคนไข้ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือบอกไม่ได้ว่าท่าไหนสบาย ก็ให้พิจารณาดูเองว่า ถ้าจับคนไข้วางไว้ในท่าใดแล้ว คนไข้มีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวายน้อยที่สุด หน้าตา มือเท้า และริมฝีปากเขียวน้อยที่สุด หรือแดงมากที่สุด การหายใจและชีพจรดีที่สุดก็ถือว่าท่านั้นเป็นท่าที่คนไข้สบายที่สุด

                                      

 
ถ้าคนไข้หมดสติ ให้นอนหงาย และตะแคงศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง ยกเว้นแต่ในกรณีที่คนไข้ได้รับการกระแทกกระเทือนบริเวณกระดูกคอ จนคอแข็ง แขน ขา กระดุกกระดิกไม่ได้ หรือเจ็บบริเวณต้นคอ หรือหลังคอมาก ก็ให้คนไข้นอนหงายหน้าตรง และห้ามเคลื่อนไหวศีรษะและคอโดยเด็ดขาดที่ให้คนไข้หมดสตินอนหงายเพราะคนไข้ที่หมดสติจะไม่มีแรงยืดตัวให้นั่งอยู่ได้ และที่ให้ตะแคงศีรษะไปด้านหนึ่ง ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นตกไปทางด้านหลัง ซึ่งจะไปอุดกั้นทางหายใจ และป้องกันการสำลักของที่อาเจียนออกมาเข้าไปในหลอดลม

ถ้าคนไข้มีใบหน้าสีแดง ควรให้นอนในท่าศีรษะสูงกว่าลำตัว ถ้าใบหน้าสีขาวซีด ควรให้นอนในท่าศีรษะต่ำ คือนอนหงาย ธรรมดา ไม่ต้องหนุนหมอน แต่อาจใช้หมอนหนุนเข่า และเท้าให้สูงกว่าตัวได้

ถ้าคนไข้หอบเหนื่อยมาก ให้อยู่ในท่านั่งพิง หรือนอนพิงหมอนหลาย ๆ ใบ หรือในท่านั่งก้มไปข้างหน้า หรือในท่าที่คนไข้รู้สึกสบายที่สุด

2. ถ้าคนไข้ยังรู้สึกตัว ควรพูดให้กำลังใจ และอาจให้ยาดม เช่น พิมเสน ของหอม หรือของฉุน ๆ เช่นแอมโมเนียดมก็ได้

3. รีบเรียกหาคนมาช่วยเหลือ แต่อย่าให้คนมามุงล้อมคนไข้ เพื่อให้อากาศโปร่งไม่อึดอัด และเพื่อความสะดวกในการรักษาพยาบาล ควรพักหรือเป่าลมให้คนไข้ เพื่อให้คนไข้เย็นลง และให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้น ยกเว้นแต่ในกรณีที่คนไข้บ่นหนาว

4. รีบขยายและคลายเครื่องนุ่มห่มที่คับให้หลวม ถ้ามีฟันปลอมอยู่ ก็ควรถอดออก

5. รีบช่วยการหายใจของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ หรือหายใจช้ามาก (ดูวิธีช่วยหายใจฉบับที่แล้ว)
ถ้าคนไข้หมดสติทันทีและคลำชีพจรไม่ได้ ให้ช่วยแบบคนไข้หัวใจหยุดเต้น (ดูวิธีช่วยในฉบับก่อน)
6. รีบให้น้ำเกลือ (5%กลูโคสในน้ำเกลือ) เข้าเส้นถ้าทำได้ โดยเฉพาะในกรณีที่คนไข้ตกเลือด หรือมีอาการมือเท้าเย็นซีด และมีเหงื่อออกตามหน้าและมือเท้า
ในกรณีที่คนไข้หอบเหนื่อยและหัวใจโตควรให้น้ำกลูโคส(5%กลูโคสในน้ำ) เข้าเส้นอย่างช้า ๆ แทน

7. รีบห้ามเลือด ถ้ามีเลือดออก (ดูอาการตกเลือดอย่างรุนแรงข้างต้น)

8. ถ้าตัวร้อนจัด แต่ไม่หนาวสั่น ให้เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ถ้ามีอาการหนาวสั่น ให้ใช้ผ้าห่มคลุม หรือใช้กระเป๋าน้ำร้อนช่วย

9. ถ้าชัก ให้ดูในเรื่องอาการชักตลอดเวลา

10. ถ้ามีบาดแผล ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วราดด้วยเหล้าแรง ๆ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน ถ้ามีรอยฟกช้ำที่สงสัยว่ากระดูกจะหัก ให้มัดส่วนนั้นไว้ไม่ให้เคลื่อนไหว (ดูรูป)แล้วรีบพาคนไข้ไปหาหมอ ถ้ามีขวดยา ถุงยา สลากยา หรือยาพิษอะไรที่สงสัยว่าผู้ป่วยจะกิน หรือถูกต้อง ให้นำติดตัวไปด้วย

                               

ในกรณีที่สงสัยว่าคนไข้กินยาพิษ หรือกินยาเกินขนาด ให้ดูริมฝีปากและลำคอมีรอยไหม้หรือเปล่า หรือมีกลิ่นน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันเบนซินหรือเปล่า ถ้าไม่มี และคนไข้ยังพอรู้สึกตัวบ้าง เช่น หยิกเจ็บ เป็นต้น ควรพยายามล้วงคอให้อาเจียนออกมา ถ้าล้วงคอแล้วไม่อาเจียน อาจใช้น้ำเกลือแก่ ๆ เช่น น้ำปลา หรือไข่ดิบกรอก เพื่อให้คนไข้อาเจียน

แต่ถ้ามีรอยไหม้ตามริมฝีปาก ในปากหรือคอ หรือมีกลิ่นน้ำมันก๊าด หรือน้ำมันเบนซิน อย่าทำให้ผู้ป่วยอาเจียนด้วยวิธีใด ๆ เพราะจะทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น
ถ้าคนไข้กินยาฆ่าหญ้าพวกกราม๊อกโซน หรือพวกที่ลงท้ายด้วยคำว่าโซน ควรให้คนไข้กินดินสอพองเข้าไปให้มากที่สุดเท่าที่จะกินได้ คนไข้ที่มีอาการเจ็บหนักมากหรือเจ็บหนักรองลงไป หลังจากให้การปฐมพยาบาลข้างต้นแล้ว ต้องรีบนำคนไข้ไปพบหมอทันที
     

ข้อมูลสื่อ

65-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 65
กันยายน 2527
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์