• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อุบัติเหตุในโรงงาน….ป้องกันได้

บ่อยครั้งที่เรามักจะอ่านพบข่าวอุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือในงานก่อสร้างและก็มักจะพบอีกเช่นกันว่า อุบัติเหตุเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นในลักษณะที่เรียกว่าสุดวิสัย หากแต่เป็นสิ่งที่กล่าวได้ว่า ถ้าหากเราจะระมัดระวังหรือมีการป้องกันกันสักหน่อยแล้ว อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็ไม่น่าจะเกิดหมายถึงชีวิตและร่างกายทรัพย์สินเงินทอง ส่วนหนึ่งจะไม่ต้องสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย.. “หมอชาวบ้าน” ฉบับเดือนพฤษภาคมจึงขอต้อนรับวันแรงงานแห่งชาติไปคุยกับ น.พ.สมจิตต์ วิริยานนท์ หัวหน้าหน่วยเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลีนิค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ท่านได้ฝากข้อคิดเห็นถึงคนงานไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในงานและการป้องกัน

 

⇒ ปัญหาการเจ็บป่วยของคนงานในบ้านเราที่เป็นกันมากมีอะไรบ้างครับ ?
สำหรับเมืองไทยนะครับ ถ้าเรามองดูกันจริงๆ แล้วเรื่องของอุบัติเหตุมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในโรงงานที่มีเครื่องจักรต่างๆ สำหรับเรื่องอื่นๆ ก็จะรองๆ กันลงมา เช่น เรื่อง อันตรายจากสารพิษ พวกตะกั่วในโรงงานทำแบตเตอรี่,แมงกานีส ในโรงงานทำถ่านไฟฉาย,พวกยาฆ่าแมลงและยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งสารเคมีมีพิษบางอย่างในโรงงานผลิตภัณฑ์เคมี,อันตรายจากฝุ่นละออง เสียง แสง ในโรงงานทอผ้าและโรงงานทำแก้ว

สำหรับปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้น อยากจะแยกมองออกเป็น 2 ด้านคือ ด้านนายจ้างหรือเจ้าของโรงงาน กับด้านลูกจ้างหรือคนงานคือมีนายจ้างจำนวนไม่น้อยที่สนใจเรื่องสุขภาพอนามัยของคนงานสนใจที่จะหามาตรการป้องกัน แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายคนงาน และก็มีนายจ้างอีกจำนวนมากพอๆ กันที่ไม่สนใจในเรื่องสุขภาพอนามัยของคนงานไม่คิดที่จะวางมาตรการ ไม่มีวิธีการที่จะป้องกันอะไรทั้งสิ้น

เท่าที่ได้ไปสำรวจดูมาหลายๆ ร้อยโรงงาน ก็พบว่าบางโรงงานเขามีมาตรการดีมาก อย่างเช่น ขณะที่กำลังทำหน้าที่กลึงโลหะอยู่ เขาบอกให้ใส่แว่นตา ที่เราเรียกว่า GOGGLES เขามีให้ใส่ แต่พอเผลอก็ถอดออก เศษเหล็กก็กระเด็นเข้าตา พอถามว่า “ทำไมไม่ใส่” ก็ตอบว่า “มันรำคาญครับพอเหงื่อออกแล้วมันรำคาญ ผมต้องเช็ดฮะ” ถามว่า “แล้วไม่กลัวหรือ” ก็ตอบว่า “ไม่เป็นไรครับ” อย่างนี้เป็นต้น ผมคิดว่ามันน่าเสียดายที่ว่า มีโรงงานหรือเจ้าของโรงงานที่เขาตั้งใจจะช่วยแต่ไม่ได้รับความร่วมมือ
ขณะเดียวกันโรงงานที่เขไม่สนใจเลยมันก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างยิ่งเลวร้ายลงไปทีนี้ผลเสียมันตกอยู่ที่ใคร ตกอยู่ที่ผู้ประกอบอาชีพก็คือคนงานหรือลูกจ้างนั่นเอง

ในระยะหลังนี้ ทางกรมแรงงานได้ตั้งกองทุนทดแทนขึ้นมาซึ่งเป็นการระดมเงินจากโรงงานต่างๆ ตามจำนวนคนงานและตามระดับของการเสี่ยงภัยและก็เอาเงินเข้ามาเป็นกองทุนเมื่อคนงานเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดเจ็บป่วยขณะทำงานนั้น ทางกรม แรงงานก็จะเอาเงินนี่จ่ายไป เป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งอันนี้เป็นข้อดีที่ผมดีใจมาก เทียบกับสมัยก่อนไม่ได้เลย สมัยก่อนที่ยังไม่มีกองทุนทดแทนนั้น คนงานเสี่ยงภัยอย่างมาก นิ้วขาดตั้ง 4-5 นิ้วไม่เคยมาแจ้ง แต่ว่าจะตกลงกับนายจ้างเป็นส่วนตัว เช่นว่าจะจ่ายชดเชยให้เป็นเงิน 1,000 บาท ก็ตกลงกันไปแล้วก็ไม่เอาเรื่อง แต่ความพิการที่เกิดขึ้นนั้น ตามพระราชบัญญัติแรงงานจริงๆ นั้น เขาจะต้องได้เงินมากกว่านี้เยอะ และจะต้องได้รับความช่วยเหลือ ตอนหลังนี้มีกองทุนทดแทนขึ้นมาก็ดีขึ้น แต่ดูจากตัวเลขการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุนั้นไม่ได้น้อยลง นับวันก็จะมากขึ้น และผมดูแนวโน้มจากสถิติกรมแรงงานพบว่ามันสูงขึ้นเรื่อยค่าทดแทนที่จ่ายให้นั้นมันสูงขึ้นๆ ก็แสดงว่ามาตรการในการป้องกันนั้นไม่ดี

 

ในเมื่อมีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นเช่นนี้ คุณหมอคิดว่าจะต้องมีมาตรการในการป้องกันได้อย่างไรครับ ?
สามัญสำนึกของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่สำคัญคือ นายจ้างจะต้องมีสำนึกในเรื่องสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง และตัวลูกจ้างเองก็ต้องมีความปรารถนาที่จะลดอันตรายของตนเองด้วย ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องร่วมมือซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิดที่จะกำหนดมาตรการขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือของบุคคลที่ 3 ด้วย ซึ่งอาจจะเป็นแพทย์ หรือพยาบาลประจำโรงงาน

หลักการในการวางมาตรการคือ ในโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องตั้งกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย
1. เจ้าของโรงงานหรือผู้จัดการ 1 คน

2. เจ้าหน้าที่เทคนิคหรือทางวิชาการ 2 คน อาจจะเป็น
- นักเคมี หรือวิศวกร หรือ นักอาชีวอนามัย 
- แพทย์หรือพยาบาลประจำโรงงาน

3. ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง หรือคนงาน 2 คน

กรรมการทั้ง 5 คน จะเป็นผู้พิจารณากฎเกณฑ์ต่างๆ โดยมีนโยบายที่จะป้องกันอันตรายและส่งเสริมสุขภาพของคนงาน อาจจะดำเนินการดังนี้

1.จัดให้มีการตรวจสุขภาพของคนงานก่อนเข้าทำงาน และคัดเลือกคนงานโดยคำนึงถึงสุขภาพ ความชำนาญและหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติเป็นหลัก

2.ต้องจัดการฝึกอบรมให้คนงานที่มีความชำนาญและคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือเครื่องจักรเป็นอย่างดีเสียก่อน เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้เครื่องจักรและมีการทดลองปฏิบัติงานจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงปล่อยให้ทำงานตามลำพังได้

3.มีผู้ควบคุมงานที่สามารถและเข้มแข็ง เป็นผู้แนะนำการทำงานให้ถูกต้องอย่างใกล้ชิด

4.มีวิศวกร หรือเจ้าหน้าที่ทางดานความปลอดภัยในการปฏิบัติงานในโรงงานเป็นผู้ควบคุมงานและให้คำแนะนำในการใช้เครื่องจักรและเครื่องป้องกันอันตรายต่างๆ

5.มีแพทย์ พยาบาล ประจำโรงงานเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยและให้การปฐมพยาบาลในกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น และให้คำแนะนำทางด้านวิชาการเกี่ยวกับอันตรายจากสารพิษรวมทั้งวิธีป้องกันด้วย

6.จัดให้มีระบบการพักระหว่างการทำงาน หลังจากการทำงานได้ระยะหนึ่ง ควรจะพักสัก 10-15 นาที จะเป็นการผ่อนคลายความเครียด ลดอุบัติเหตุได้

เท่าที่ผ่านมา เรายังไม่มีการเน้นกัน พูดกัน ถึงเรื่องที่ว่าทำอย่างไรจึงจะลดปัญหาอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยของคนงานลงทั้งๆ ที่เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม,กรมแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุขที่จะไปให้คำแนะนำและวางมาตรการป้องกัน แต่สิ่งเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นไม่ได้ แม้ว่าระเบียบแผนมันจะมีก็ตาม แต่มันอยู่ที่ความร่วมมือกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทำยังไงถึงจะเน้นในเรื่องนี้ให้มันจริงจังเสียที ซึ่งผมเห็นว่า คณะกรรมการชุดนี้ จะต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ เราจะต้องเริ่มต้นจากหน่วยเล็กๆ ในโรงงานนี้ก่อน

 

⇒ สหภาพแรงงานจะมีส่วนในการช่วยลดอุบัติเหตุได้อย่างไรมากครับ ?
นอกเหนือจากการเรียกร้องขอเพิ่มค่าจ้างแรงงานแล้ว ผมมีความเห็นว่า สหภาพแรงงานน่าจะต้องวางมาตรฐานการป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นด้วย (สหภาพอาจจะมีที่ปรึกษาตั้งเยอะแยะ เช่น เจ้าหน้าที่ของกรมแรงงาน, กระทรวงอุตสาหกรรม) ว่าในการก่อสร้าง การสร้างนั่งร้านจะต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คนงานจะต้องมีความระมัดระวัง ไม่หยอก ล้อเล่นกันในขณะทำงาน จะต้องมีหมวกแข็งป้องกันการน็อค (HARD HAT)ใส่ มันก็ควรจะวางหลักได้โดยอาศัยนักวิชาการเหล่านี้ และก็วางระเบียบว่า ผู้ใช้แรงงานจะต้องปฏิบัติตามนี้ และแน่นอน เป็นวิธีการอันหนึ่งที่จะทำได้ แต่จะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้น ผมยังไม่แน่ใจนัก เพราะดูอย่างในต่างประเทศ กรมแรงงานของเขาแข็งมาก รับผิดชอบอยู่กรมเดียวยังต้องอาศัยสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมก่อสร้าง ซึ่งเขาก็จะออกกฎมาเลยว่า พวกทำงานก่อสร้างจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในเรื่องของความปลอดภัย อันนี้ผมคิดว่าในเมืองไทยนั้น ถ้าจะทำให้ได้บทบาทของสมาคมก็มีส่วนสำคัญเหมือนกัน เพราะว่าการที่เราจะวางหลักไว้อย่างเดียว แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ของกรมแรงงานหรือกระทรวงอุตสาหกรรม มาตรวจดูเป็นระยะๆ ผมคิดว่าคงจะสำเร็จลำบาก
สมาคมที่เกี่ยวข้องคงจะต้องช่วยกันเช่น เรามีสมาคมก่อสร้าง สมาคมอุตสาหกรรม สมาคมเวชศาสตร์อุตสาหกรรม และฝ่ายอาชีวอนามัยหรือแม้กระทั่งสมาคมพยาบาลซึ่งผมคิดว่าน่าจะต้องมีบทบาทและยิ่งมีสมาคมการกุศลอื่นๆ อีกเราควรจะต้องช่วยกัน นอกเหนือจากสหภาพแรงงานแล้วนะ

 

⇒ ถ้าทำอย่างนี้แล้วทางฝ่ายนายจ้างจะมีปัญหาไหมครับ ?
ดูแนวโน้มขณะนี้แล้ว คิดว่า ฝ่ายนายจ้างจะไม่มีปัญหาเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่ที่กองทุนทดแทนแล้ว เพราะว่าเงินรายจ่ายเขาได้จ่ายให้กับกองทุนทดแทนไปแล้ว ถ้าเมื่อเขาจะช่วยวางมาตรการในการป้องกันผมว่าเขาจะยินดีทีเดียว ทีนี้ทำยังไงจึงจะสร้างความเข้าใจกันอีกสักครั้งหนึ่ง อันนี้ผมยังตอบไม่ได้

 

ปัญหาที่ว่าคนงานมีความรำคาญเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ในการป้องกัน คุณหมอมีความเห็นว่า เราควรจะมีแนวทางแก้ไขเพื่อให้คนงานมีความร่วมมือได้อย่างไรครับ ?
ปัญหานี้ ถ้าเรามีคนเป็นหัวหน้า ที่รู้จักและเข้าใจ มาชี้แจงแนะนำกับคนงานว่า ถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วจะเกิดผลอย่างไร ผมเชื่อว่าความร่วมมือคงเกิดขึ้นได้ แต่มาตรการบังคับก็ต้องมี ว่า ถ้าเขาไม่ใช้อะไรจะเกิดขึ้น…กองทุนทดแทนจะไม่จ่าย และสหภาพแรงงาน ก็จะต้องมีบทบาทอย่างมากในเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ว่า ทรัพยากรบุคคลของเราจะต้องสูญเสีย ถ้าเขาแขนขาดไป เขาก็จะทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าเขาระวังนิดเดียวแขนก็จะไม่ขาดและยังทำงานเลี้ยงครอบครัวได้ต่อไป อันนี้มันมีผลสะท้อนต่อเนื่องกัน ถ้าคนงานเจ็บป่วยลงโรงงานก็กระทบกระเทือน ผลผลิตก็น้อยลง ถ้าเผื่อคนงานจำนวนมากทุพพลภาพผลผลิตในระดับชาติก็ลดลงเหมือนกัน

 

⇒ เกี่ยวกับ “ความไม่รู้”ของคนงาน เป็นปัญหาด้วยหรือไม่ครับ ?
อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง ความไม่รู้ และความเมินเฉยคือรู้แต่ไม่ยอมทำ อันนี้สำคัญมากเลย เราไม้ได้ฝึกคนของเราไว้สำหรับอย่างนี้ ความจริงเรื่องอย่างนี้เราควรจะแทรกเข้าไปในระดับตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาหรือในโรงเรียนอาชีวะ ให้เขารู้จักเรื่องของความปลอดภัย ปลูกฝั่งเด็กตั้งแต่เริ่มต้นตั้งแต่ประถมศึกษาได้ยิ่งดี

 

ถ้าคนงานหรือสหภาพแรงงานมีความสนใจมาก ในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน อยากให้มีการอบรมความรู้ คุณหมอคิดว่าจะมีหน่วยงานใดจะช่วยเหลือได้บ้างครับ ?
เท่าที่ผมเห็น กรมแรงงานก็มีจัดอยู่บ่อยๆ เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม กองอาชีวอนามัยก็ช่วยได้ นอกเหนือจากนั้น คณะสาธารณสุขศาสตร์ก็มีภาควิชาอาชีวอนามัยหรือแม้แต่สมาคมเวชศาสตร์อุตสาหกรรมก็เคยจัด ผมเชื่อว่าถ้าต้องการจริงๆ แม้กระทั่ง คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีก็ช่วยได้

 

⇒ ขอเรียนถามคุณหมอถึงหลักการในการป้องกันอุบัติเหตุอย่างไรบ้างครับ ?
1.ที่สำคัญที่สุดคือ ก่อนคนงานจะเข้าไปทำงานใช้เครื่องมือเครื่องจักรอะไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการจัดฝึกอบรมเป็นอย่างดี จนกระทั่งเราแน่ใจว่าเขามีความชำนาญเพียงพอแล้ว จึงจะให้ทำงานได้ ในขณะเดียวกัน คนคุมงานก็มีความสำคัญ จะต้องดู แลใกล้ชิดและหมั่นย้ำเตือนกับคนงานให้มีความระมัดระวังอยู่เสมอ จนกระทั่งคนงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย และในการคัดเลือกคนงานก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ผู้ที่มีอุปนิสัยเลินเล่อไม่ค่อยระมัดระวังก็ไม่ควรทำงานเกี่ยวกับการใช้เครื่องจักร มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของร่างกาย คนงานที่เป็นโรคหัวใจก็ไม่ควรแบกของหนัก คนงานที่เป็น โรคลมชัก ก็ไม่ควรทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร อันนี้จะเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุลงได้

2.การที่โรงงานเป็นจำนวนมาก นิยมให้คนงานทำงานเกินเวลาทำงานในเวลากลางคืนโอกาสที่จะง่วงนอนหรือเกิดการเมื่อย ล้าจากการทำงานก็มีมาก โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็ง่าย ผู้ที่รับผิดชอบควรจะวางมาตรการหรือหาทางแก้ไข

3.การทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีเช่น แสงสว่างน้อยเกินไปหรือมากเกินไป ทำให้นัยน์ตาล้ามีอันตรายเกิดขึ้นได้ หรือทำงานในที่ๆมีเสียงดังเกินไป ในที่ๆ ร้อนจัดมาก ๆ ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่พบได้เสมอ ถ้าจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมก็จะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้

4.การแต่งกายควรต้องให้รัดกุม ผมยาวก็ควรจะรวบผม และมีหมวกผ้าคลุมให้เรียบร้อย เสื้อผ้าจะต้อง
กระชับมิให้เกะกะจนถูกดึงเข้าไปติดกับสายพานของเครื่องจักรได้

5.ในขณะทำงานไม่ควรหยอกล้อเล่นกัน และควรจะรับผิดชอบเฉพาะหน้าที่ของตน ไม่ควรไปก้าวก่ายในงานของคนอื่น

6.สำหรับเรื่องยา การกินยาแก้หวัด ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท หรือยาเม็ดเจริญอาหารจะทำให้ง่วงนอน ถ้ากินแล้วก็ควรจะพักผ่อนไม่ควรมาเกี่ยวข้องกับเครื่องจักร จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และในระหว่างทำงาน เหล้าเบียร์ต้องห้ามเด็ดขาด แม้กระทั่งบุหรี่ก็เช่นกัน ไม่ควรสูบในเวลาทำงาน การสูบบุหรี่ ถ้าทำงานเกี่ยวกับสารพิษต่างๆ โอกาสที่สารพิษนั้นจะเข้าไปสู่ร่างกายทางปากก็ง่าย เช่นโรงงานทำยาฆ่าแมลงเราเน้นมากเรื่องนี้

นอกเหนือจากเรื่องอุบัติเหตุแล้ว ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องอื่นๆ ในด้านการป้องกันก็คือ เวลาทำงานควรใส่เครื่องป้องกันซะ

ถ้าทำงานเกี่ยวกับเสียงก็ต้องใส่เครื่องกันเสียง

ถ้าเกี่ยวกับแสงก็ต้องใส่แว่นตากันแสง

เกี่ยวกับเศษเหล็กก็ต้องใส่แว่นตาชนิดพิเศษ

หรือทำงานเกี่ยวกับการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังก็ต้องใส่ถุงมือ

ทำงานก่อสร้างก็ต้องใส่หมวกแข็งเสื้อผ้าต้องรัดกุม

ถ้าทำงานในโรงงานที่เกี่ยวกับสารพิษ เมื่อเสร็จงานแล้ว ควรถอดเสื้อผ้าเก็บ ไม่ควรจะต้องใส่เดินกลับบ้านและจะต้องล้างมือ ล้างหน้า อาบน้ำ ให้สะอาดก่อนจะเปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนจะกลับบ้าน

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปลีกย่อยซึ่งถ้าจะพูดกันก็ต้องพูดกันนานผมคิดว่า เราต้องตัดสินใจกันแล้วว่าโครงการอย่างนี้เราจะเริ่มกันหรือไม่ ถ้าเริ่ม เราจะเริ่มได้เลยผมมั่นใจว่ามีผู้รู้อีกมากมายทีเดียวที่ยินดีจะช่วยเหลืองานอันนี้อยู่แล้ว


 

ข้อมูลสื่อ

25-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 25
พฤษภาคม 2524
อื่น ๆ
รศ.นพ.สมจิตต์ วิริยานนท์