“ยายไปอยู่โรงพยาบาลมากี่วัน” หลานชายถามยายด้วยความสงสัย
“เจ็ดวัน…..”
“หมอเขาว่ายายเป็นโรคอะไรล่ะ”
“เอ้อ…เขาว่าเป็นโรค วิติ๊ดซ่ำ…”
“โรคอะไรนะยาย”
“โรควิติ๊ดซ่ำ….”
ตกลงหลายชายก็รู้แต่เพียงว่า คุณยายป่วยด้วยอาการปวดตามข้อเท้า ข้อมือ ไปนอนโรงพยาบาล 7 วัน ได้ความว่าคุณยายเป็นโรค วิติ๊ดซ่ำ เท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันเป็นโรคมาจากต่างดาวหรือเปล่า
และถ้าเป็นเช่นนี้ ท่านก็ไม่จำเป็นต้องไปถามหมอที่ไหนหรอก เพราะยังไงๆ ก็ไม่มีใครรู้แน่ถ้าไม่ใช้วิธีการเดาเอา
ด้วยเหตุนี้ หากท่านมีญาติพี่น้องที่ป่วยไข้ และเผอิญโชคดีหรือร้ายก็ตาม ถูกหามเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้วกลับออกมาด้วยอาการปกติดังเดิมหรืออาจขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง อันแล้วแต่กรรมปางก่อน หากจะมีใครถามเขาว่า เขาเป็นโรคอะไร หมอทำอะไรให้บ้าง บางทีท่านอาจจะได้รับคำตอบแปลกๆ โดยเฉพาะชาวบ้านหรือชาวชนบทที่อยู่ไกลๆ
จึงไม่แปลกเลยถ้าท่านจะได้ยินชื่อโรคประหลาดๆ เช่น ไส้ขี่กัน กระดูกทับเอ็น หรือลำไส้บวม เป็นต้น ชื่อโรคทั้งหลายเหล่านี้ บางทีผู้ป่วยก็จำมาผิดๆ หรือบางทีหมอก็พยายามทำให้ง่ายขึ้น จนคนไข้พูดตามผิดๆ ถูกๆ เหล่านี้คือ สิ่งที่มีขึ้นเสมอ ในโรงพยาบาลบ้านนอก
ในการรักษาคนไข้
หมอทุกคนจะต้องถามคนไข้ก่อนว่า
ขณะนี้เป็นอะไร
มีอาการอย่างไร
ในอดีตที่ผ่านมาเคยเป็นโรคอะไร
เคยนอนโรงพยาบาลไหม
หมอผ่าตัดเอาอะไรออกบ้าง
ซึ่งสิ่งเหล่านั้น เป็นความจำเป็นของผู้ป่วยเองที่จะต้องรู้และจำไว้ เพราะการรู้สิ่งเหล่านี้จะทำให้การตรวจและวินิจฉัยโรคที่กำลังเป็นอยู่ถูกต้องยิ่งขึ้น
โรคบางชนิดก็อาจมีเหตุมาจากโรค หรือการรักษาที่เคยทำมาก่อนๆ ได้ เช่น โรคลำไส้อุดตัน อาจมีสาเหตุมาจากการเคยถูกผ่าตัดในช่องท้องมาก่อน เป็นต้น
จึงเห็นได้ว่า การรู้และจำได้ว่าตนเองเป็นโรคอะไรมาบ้าง หมอรักษาอย่างไรให้บ้างนั้น มีความสำคัญพอๆ กับการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ธรรมชาติของคนไข้ ย่อมต้องการรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร หมอทำอะไรให้กับตัวเองไปบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแก่ตัวเขาเอง และบางทีการได้รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร แม้บางครั้งอาจจะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้นัก ก็อาจทำให้คนไข้สบายใจขึ้น จิตใจหายตึงเครียด อันเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น
แต่ก็อย่างว่า บางคนบางทีรู้ว่าเป็นมะเร็ง ก็อาจกลับบ้านเก่าได้รวดเร็วทันใจได้เหมือนกัน แต่ว่ากันโดยทั่วไปแล้ว คนไข้ย่อมอยากรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร เพราะบางทีจะได้ระวังตัวไม่ให้เป็นซ้ำอีก หรือไปทำอะไรให้กระทบกระเทือนจนเกิดโรคนี้อีก
ธรรมชาติของคนเจ็บไข้เป็นเช่นนี้
จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพูดจากันขึ้นระหว่างสองฝ่าย คือคนไข้กับหมอผู้ให้การรักษา
ตามปกติแล้ว โรคส่วนมากมักจะมีชื่อเป็นภาษาต่างด้าว หมอที่เรียนมาก็เรียนเป็นภาษาต่างด้าว จนบางครั้งนึกไม่ออกว่า ชื่อภาษาไทยของโรคนั้นคืออะไรก็มี ถ้าเจอหมอที่ค่อนข้างจะมีหัวทางภาษาหน่อย เข้าใจใช้คำพูดให้ง่ายขึ้น คนไข้ก็อาจเข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าไปเจออย่างชนิดฝรั่งคำ ไทยคำ ก็อย่างว่า ท่านอาจจะได้ยินชื่อโรคแปลกๆ อย่างที่ว่ามาแล้วก็ได้
หมอบางคนอาจเลี่ยงการบอกชื่อโรคซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ให้เป็นภาษาง่ายๆ ให้คนไข้เข้าใจ เช่น โรคที่มีชื่อว่า “เนฟโฟรติค ซินโดรม” (Nephrotic Syndrome)
ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าเป็นยังไง
หมอก็อาจบอกด้วยภาษาง่ายๆ ว่า ไตมันเสีย ทำหน้าที่กลั่นกรองปัสสาวะตามปกติไม่ได้ อะไรเหล่านี้ เป็นการบอกเลี่ยงไปเพื่อให้คนไข้เข้าใจ
แต่ก็มีหมอบางคนเหมือนกันที่ถือว่า ไม่ใช่ธุระอะไรของคนไข้ที่จะรู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร รู้ไปก็แค่นั้น เลยไม่บอกเอาดื้อๆ
คนไข้จะถามหมอก็เกรงใจ ครั้นถามไปบางทีก็ถูกบอกปัด ดีไม่ดีแถมว่าให้เจ็บใจเสียอีก จึงเป็นอันว่า ไม่ต้องเข้าใจกันชาตินี้
ผลที่ตามมาก็คือ คนไข้ไม่สบายใจ ทั้งๆ ที่หายจากโรคแล้ว แต่จิตใจก็ยังกังวลว่า ตูข้านี้เป็นโรคอะไรกันแน่ เมื่อถูกถามทีหลัง จึงมักไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะโรคบางโรคถ้ารู้แน่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นทดสอบค้นคว้าหาเหตุให้เปลืองเงินเปลืองทองกันอีก รักษาต่อกันไปได้เลย
จึงเห็นว่า ความจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร หมอทำอะไรให้บ้างนั้น สำคัญแค่ไหน
เมื่อท่านอยากรู้ ก็จงถามหมอที่ท่านรักษา ถามทุกอย่างที่ท่านข้องใจ
หากหมอท่านพูดภาษาอะไรฟังไม่รู้เรื่อง ก็โปรดถามท่านอีกครั้ง ให้ท่านแปลหรืออธิบายเป็นภาษาไทยง่ายๆ ให้ฟัง
เมื่ออธิบายให้ฟังแล้วก็จงจดจำไว้ ถ้าจำเองไม่ได้ก็ขอให้ญาติช่วยจำ
ไม่ต้องเกรงอกเกรงใจ คนไข้ย่อมมีสิทธิ์รู้ทุกอย่างที่ตนเป็นอยู่เสมอ
ถามกันให้รู้เรื่องก่อนออกจากโรงพยาบาล
ไม่ต้องกลัวว่าหมอท่านจะพูดภาษาง่ายๆ ให้เข้าใจไม่ได้
เพราะบางที
หมอบางท่านที่พูดอะไรฟังไม่รู้เรื่องในโรงพยาบาล
แต่พออยู่ในคลีนิคของตัวท่านเอง
ท่านยังสามารถพูดได้จนแทบจะทูนใส่หัวกันเลยก็มี….!
- อ่าน 4,320 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้