ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กับโรค " เวินปิ้ง" ของแพทย์แผนจีน (1)
ขณะที่เขียนบทความนี้มีรายงาน เกี่ยวกับยอดผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อว่า ยอดผู้ติดเชื้อจริงน่าจะมีมากถึง 198,900 คน คณะรัฐมนตรี มีมติสั่งปิดโรงเรียนกวดวิชา ทั่วประเทศ 15 วัน และขอความ ร่วมมือร้านเกมคอมพิวเตอร์ ร้านอินเทอร์เน็ต ให้หยุดบริการช่วงเดียวกัน รวมถึงพิจารณาสั่งงดการจัดแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ
เพื่อเป็นการนำร่องและจุดประกายแนวคิดของแพทย์แผนจีนที่เคยมีบทบาทเกี่ยวกับไข้หวัดนก (ปี พ.ศ.2547) และสะท้อนแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งแน่นอนจะต้องเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในอนาคต
การแพทย์แผนจีนน่าจะมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นปัญหาของคนไทยและคนทั้งโลก
ความจริงแล้ว ไข้หวัดนกเกิดจากเชื้อไวรัส ชนิดเอ เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็เกิดจากเชื้อไวรัส ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) จัดอยู่ในกลุ่มโรค "เวินปิ้ง " ของแพทย์แผนจีน แนวทางการดูแลป้องกันและรักษาจึงคล้ายคลึงกัน ไม่ได้แยกชนิดของไวรัส แต่อธิบายตามหลักทฤษฎีใหม่ๆ 2 ทฤษฎี และแผนการรักษาคือ การขับสิ่งก่อโรคร่วมกับการปรับสมดุลของร่างกายเหมือนกัน ตามสภาพความเป็นจริงของผู้ป่วย
แพทย์จีนสมัยโบราณอธิบายการเกิดโรคที่มาจากภายนอก หรือที่เรียกว่าเสียชี่ ทำให้เกิดอาการไข้ตัวร้อนในเวลาอันรวดเร็ว บางรายก็ไม่รุนแรง หายได้เร็ว บางรายก็รุนแรง ไข้สูงมาก ไข้ไม่ลง ทำให้กระทบสารน้ำในร่างกาย ทำให้อวัยวะภายใน (เช่น ปอด ตับ ไต) ได้รับอันตราย
ปรมาจารย์จางจ้งจิ่ง (ค.ศ.150-219) สมัยฮั่นตะวันออก ได้วางหลักการวินิจฉัยแบบแยกสภาพร่างกายและโรค รวมถึงหลักการรักษาที่เรียกว่าเปี้ยนเจิ้งลุ่นจื้อ และทฤษฎี ซางหานลุ่น มาอธิบายการเกิดโรคที่เกิดจากลมและความเย็นมากระทบร่างกายภายนอกแล้วทำให้เกิดโรคโดยวิเคราะห์โรคจากเส้นลมปราณทั้ง 6 แพทย์จีนรุ่นก่อนๆ ได้ยึดถือทฤษฎีนี้มาตลอด ซึ่งประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง แต่ในบางครั้งเมื่อรักษากลับทำให้โรครุนแรงขึ้นหรือผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิต
โดยเฉพาะโรคกระทบจากภายนอกบางอย่างที่มีลักษณะติดต่อง่าย ระบาดรวดเร็ว ลักษณะการเกิด บางท้องที่ หรือตามฤดูกาลที่แน่นอน พอเริ่มเกิดโรคก็จะมีการระบาดกระจายแพร่ไปอย่างกว้างขวาง และมีคนตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอดีตไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน ตลอดเวลา 1 พันกว่าปี ตั้งแต่ยุคปรมาจารย์จางจ้งจิ่ง
กระทั่งสมัยราชวงศ์ชิง มีแพทย์จีนชื่อเย่เทียนซื่อ ได้เขียนตำรา " เวินเหร่อลุ่น " ใช้ทฤษฎี เว่ย-ชี่-หยิง-เสวี่ย มาอธิบายการ เกิดโรคที่ปัจจัยก่อโรคชนิด เวินเสีย และอธิบาย การเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพของโรค เรียกโรคกลุ่มนี้ ว่า "เวินปิ้ง " หรือ "เหร่อปิ้ง "
ทฤษฎี "ซางหานลุ่น " ของจางจ้งจิ่ง และทฤษฎี "เวินปิ้ง" เป็นทฤษฎีที่อธิบายการเกิดโรคที่กระทบจากภายนอกเหมือนกันแต่ปัจจัยการเกิดโรคคนละขั้ว
"ซางหาน" ปัจจัยก่อโรค คือลมเย็น
" เวินปิ้ง " ปัจจัยก่อโรค คือความร้อน- อุ่น
แม้ว่าบางครั้งอาการทางคลินิกบางระบบอาจคล้ายกัน เช่น ไข้ คอแห้ง หงุดหงิด ฝ้าบนลิ้นเหลือง ชีพจรเร็ว ทำให้แยกแยะสาเหตุได้ยาก ซึ่งเป็นสาเหตุของการรักษาที่ล้มเหลว และผิดพลาด ในอดีตที่ใช้ทฤษฎี "ซางหานลุ่น "
ทฤษฎี " เวินปิ้ง " เน้นทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับการบุกรุกเข้าร่างกายระดับเว่ย-ชี่-หยิง-เสวี่ย ต่อมาได้พิจารณาเพิ่มเติมโดย อู่จวีทงปี ค.ศ.1758-1836 โดยทฤษฎีการอธิบายการเกิดโรคและการรักษา ใช้หลักทฤษฎี " ซานเจียวเปี้ยนเจิ้ง " ซึ่งอธิบายโรครุกรานร่างกายในแนวดิ่ง คือจากส่วนบนซ่างเจียว คือปอด สู่ส่วนกลาง คือจงเจียว คือกระเพาะอาหารและส่วนล่าง คือเซี่ยเจียวได้แก่ตับและไต
โรคเวินปิ้ง เป็นโรคที่เกิดจากภายนอกกระทบที่มีอาการของโรครุนแรง กระจาย ระบาดรวดเร็ว รุนแรง อันตรายกว่าโรคที่กระทบลมเย็น การรุกรานที่รวดเร็ว จากภายนอกเข้าสู่ระดับเว่ยและพลัง (ชี่) คือ จะเข้าสู่ระดับปอด กระเพาะอาหาร และลำไส้ เมื่อเสียชี่ร้อน สะสมลึกอยู่ภายใน และซึมลึกสู่ระดับหยิงและเลือด แล้วเข้าสู่อวัยวะภายใน คือตับและไต ซึ่งทำให้เสียสารน้ำและยิน ทำให้เสียชีวิตง่าย
ทฤษฎีเวินปิ้งยังแยกรายละเอียดของการกระทบความร้อนออกเป็น 9 ประเภท เช่น ลมอุ่น อุ่นร้อน ชื้นอุ่น ร้อนพิษ เป็นต้น
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จัดเป็นโรค " เวินปิ้ง " ประเภท " เวินอี้" ที่เกิดจากการกระทบ ของเสียชี่ภายนอกที่มีอาการรุนแรง และแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เป็นอันตรายถึงชีวิต
แนวคิดการป้องกันและรักษาแบบแผนปัจจุบัน
นอกจากการดูแลอนามัยส่วนบุคคล การล้างมือ ใช้ช้อนกลาง หน้ากากปิดจมูกเพื่อป้องกันการรับเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย เป็นต้น ยังแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่มีลักษณะสายพันธุ์ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสชนิดที่ระบาดเพื่อสร้างภูมิ แต่เนื่องจากไวรัสมักจะกลายพันธุ์ตลอดเวลา บางครั้งความคล้ายคลึงของวัคซีน และไวรัสที่ระบาดต่างกันกว่าร้อยละ 80 บ่งชี้ว่าวัคซีนอาจไม่ได้ผลต่อการป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ หากมีอาการมากต้องส่งรักษาที่โรงพยาบาล
แนวคิดการป้องกันและการรักษาแบบแพทย์ แผนจีน
ป้องกันและรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระยะเริ่มต้น
มีหลักการคือ การขับพิษร้อนและเสริมน้ำให้กับร่างกายเป็นหลัก(ขับปัจจัยก่อโรค-ป้องกันการเสียน้ำจากไข้สำหรับคนทั่วไป)
ประกอบด้วย 12 ตัว (เหมาะสำหรับขณะที่เริ่มมีอาการไข้หรือเมื่อมีการติดเชื้อใหม่ๆ)
ซางเย่ (ใบหม่อน) 12 กรัม
จวีฮว่า (ดอกเก๊กฮวย) 12 กรัม
ผีผ่าเย่ 12 กรัม
ยี่หยี่เหริน 15 กรัม
ซิ่งเหริน 10 กรัม
เก๋อเกิน 15 กรัม
หลูเกิน 15 กรัม
เจี๋ยเกิน 12 กรัม
เหลียนเชี่ยว 12 กรัม
ต้าชิงเย่ 15 กรัม
จินหยินฮวา 12 กรัม
กันเฉ่า 6 กรัม
ล้างให้สะอาด ใส่น้ำท่วมยา ต้มไฟร้อนๆ 15 นาที กินต่อเนื่อง 3-5 วัน ในช่วงที่ระบาด
(หมายเหตุ ผู้ที่อ่อนแอ ต้องใช้ยาเสริมพลังร่างกายร่วมกับกลุ่มยาข้างต้นเข้าไปด้วย)
นอกจากนี้ต้องสนใจการกินอาหาร การพักผ่อน การนอนหลับ จะควบคุมอารมณ์ทั้ง 7 การงดดื่มน้ำเย็น หลีกเลี่ยงการกระทบความเย็น-ความร้อนที่เปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน การทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ
การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทำให้เจิ้งชี่ แข็งแรง คือเป็นรากฐานสำคัญที่จะชี้ขาดว่าเมื่อติดเชื้อแล้วโรคจะรุนแรงหรือไม่ เข้าทำนอง ว่า " เจิ้งชี่ " ยังดำรงอยู่ เสียชี่ไม่สามารถทำอะไรได้
- อ่าน 4,197 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้