ข้อเข่าเสื่อม : ไม่แก่ก็เป็นได้
“โรคข้อเข่าเสื่อม” เกิดจากการใช้งานข้อต่อเนื่องยาวนานจนทำให้กระดูกอ่อน ผิวข้อสึกกร่อน ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดข้อขณะเคลื่อนไหว เข่าผิดรูปโก่งงอ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะคนแก่เท่านั้นที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม แต่วัยกลางคนก็เป็นได้ และพบเพิ่มขึ้นตั้งแต่อายุ 45 ปี ก็เริ่มมีอุบัติการณ์ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมสูงขึ้น
สาเหตุของโรคเกิดจาก 2 หลักใหญ่ๆ
1.แรงที่กระทำกับข้อเยอะเกินปกติและเป็นเวลานาน เช่น ในกลุ่มที่เป็นนักวิ่งมาราธอน จะพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมในอนาคตจะสูงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่าตัว
2.กลุ่มที่มีพยาธิสภาพในข้อเข่า เช่น มีอุบัติเหตุมาก่อน อาจจะมีกระดูกหักหรือมีผิวกระดูกที่บาดเจ็บมาก่อน อย่างนักฟุตบอลที่เอ็นฉีกขาด ทำให้พยาธิสภาพในเข่าเปลี่ยนแปลงไปไม่สมดุล เสียความมั่นคง
อีกปัจจัยก็คือ “โรคประจำตัว” เช่น พวกที่เป็นรูมาตอยด์ ข้ออักเสบอยู่บ่อยๆ ก็อาจจะทำให้ข้อเสื่อม สึกได้เร็วขึ้น ในกลุ่มคนอายุน้อยจะพบสาเหตุใหญ่ๆ ก็คือ เกิดอุบัติเหตุมาก่อน กระดูกหัก ทำให้แนวแกนขาเปลี่ยนไป อาจเป็นกระดูกหน้าแข้ง กระดูกต้นขาหัก หรือกระดูกตรงเข่าหัก ทำให้การรับแรงเปลี่ยนไปเกิดเสื่อมสึกได้
อาการข้อเข่าเสื่อม
อาการแรกจะเริ่มจากปวดเข่าบ่อยๆ แต่การปวดแบบนี้ก็มีหลายลักษณะหลายแบบ ปวดเวลาทำอะไร ส่วนมากข้อเข่าเสื่อมจะปวดตอนนั่งยอง นั่งคุกเข่า พับเพียบ จะเริ่มปวด หรือปวดตอนขึ้นลงบันได รู้สึกปวดมาก อยู่ท่านั้นนานๆ ไม่ไหว สัญญาณต่อมาคืออาจจะมีเข่าบวม เข่าอุ่น บวมร้อน เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีการอักเสบตรงข้อเข่า ข้อเข่ามีปัญหา การแบ่งระยะสำหรับข้อเข่าเสื่อมจะใช้ภาพเอกซเรย์เป็นหลักในการบอก ซึ่งจะมีตั้งแต่ข้อเข่าปกติ ข้อเข่าเสื่อมระยะต้น หรือว่าเสื่อมเล็กน้อย เสื่อมปานกลาง แล้วก็รุนแรง
การรักษา
ในระยะต้นหรือระยะกลาง การรักษาเริ่มตั้งแต่ “การใช้ยา” และ “ไม่ใช้ยา” ไม่ใช้ยาก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บางคนชอบนั่งเตี้ย นั่งยอง พับเพียบ คุกเข่า ก็เปลี่ยนมานั่งเก้าอี้แทน พยายามลดน้ำหนักในคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน จะช่วยลดแรงกระทำในข้อเข่า ออกกำลังกายเพิ่มกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง ช่วยรับน้ำหนักข้อเข่าให้ดีขึ้น กระชับขึ้น
การบริหารกล้ามเนื้อตรงนี้ใช้วิธีการ ไม่ใช้แรงกระแทก อาจนั่งแล้วก็ยกขาธรรมดาเป็นท่าพื้นฐาน นั่งเก้าอี้พิงหลังสบายๆ ยกขาขึ้นขนานกับพื้นแล้วก็ค้างไว้ ใช้ข้อเข่าเป็นจุดหมุดสัก 10 วินาทีแล้วก็เอาลง จะยกคู่ทั้งสองข้างหรือสลับกันก็ได้ แต่ต้องทำอย่างน้อยวันละสัก 100 หรือ 200 ครั้ง ยิ่งทำได้เยอะๆก็จะยิ่งได้ผลดีกลับมา
การออกกำลังกายแบบไม่กระแทก ที่เรียกว่าโลว์อิมแพ็ก เพื่อให้ได้ทั้งหัวใจ ปอด พัฒนาทั้งร่างกายของเรา เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน การเดินในน้ำ บางคนว่ายน้ำไม่เป็นก็ทำได้ เดิน วิ่ง ออกกำลังกายในน้ำ “น้ำเป็นตัวช่วยรับแรงกระแทกของเรา แล้วมีผลช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายได้ด้วย การออกกำลังกายในน้ำได้รับความนิยมในต่างประเทศมากในปัจจุบัน มีหลากหลายให้เลือก เต้นในน้ำก็มี”
หลังจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรักษาโดยที่ไม่ใช้ยาแล้ว บางกรณี คุณหมออาจจะแนะนำในเรื่องของการใช้ยาร่วมด้วย ทำให้การปวดหายได้เร็วขึ้น กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น ก็จะมียากิน ยาฉีด
(เครดิตข้อมูล : โรงพยาบาลกรุงเทพ)