• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขาเทียม

ณ วินาทีนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก “น้องธันย์” ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ สาวน้อยหัวใจแกร่งที่เพิ่งจะอายุครบ 15 ปีไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา แม้เธอจะต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างจากอุบัติเหตุรถไฟฟ้าที่ประเทศสิงคโปร์ แต่กลับไม่ท้อถอยต่อโชคชะตา เพราะมีกำลังใจที่ดี มุ่งมั่นที่จะกลับมาเดินเหินได้อีกครั้งโดยมีตัวช่วยคือ ขาเทียมราคาข้างละ 1.2 ล้านบาท
  
ก่อนที่จะไปรู้จักกับขาเทียมที่แพงที่สุดในโลก  เรามาทำความรู้จักกับขาเทียมที่ใช้กันทั่วไป รวมถึงต้นเหตุของความพิการขาขาดว่าเกิดจากอะไร และการสูญเสียขามีกี่ระดับ จาก  พญ.ดารณี สุวพันธ์ ผอ.ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ  กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
  
พญ.ดารณี อธิบายว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจเมื่อปี  2549 มีคนพิการประมาณ 1.8 ล้านคน โดยมีคนพิการขาขาดประมาณ 70,000 คน  โดยระดับที่สูญเสียขามีหลายระดับ คือ ขาดระดับนิ้วเท้า  ขาดกลางฝ่าเท้า ขาดที่ระดับข้อเท้า ขาดระดับหน้าแข้ง ขาดระดับเข่า ขาดระดับเหนือเข่า  ขาดระดับตะโพก และขาดระดับเชิงกราน  โดยขาขาดที่มีนั้นมีทั้งข้างเดียวและ 2 ข้าง โดยขาขาดระดับข้อเท้าขึ้นไป คือ ไม่มีเท้า จึงจะมีการใส่ขาเทียมให้กับผู้พิการขาขาด
  
สาเหตุของขาขาดเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้
  
1. เกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกจนต้องตัดขา ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน บางคนขี่รถมอเตอร์ไซค์เมาสุรา พอเกิดอุบัติเหตุรุนแรงก็จะถูกตัดขา
  
2. ภาวะผิดปกติของหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดอุดตัน  คือ มีเส้นเลือดบริเวณขาอุดตัน ซึ่งส่วนหนึ่งมีต้นเหตุจากการสูบบุหรี่
  
3. เนื้องอก หรือโรคมะเร็ง
  
4. พิการแต่กำเนิด เกิดมาไม่มีขา
  
ขาเทียมมี 2 แบบคือ
  
1. แกนนอก หรือ ขาแข็ง ข้างนอกจะเป็นเรซินมีลักษณะแข็ง น้ำหนักค่อนข้างมาก แต่มีราคาถูกกว่า
  
2. แกนใน หรือ ขานิ่ม จะมีแกนอยู่ข้างในส่วนข้างนอกจะมีฟองน้ำหุ้มไว้ มีน้ำหนักเบา จับไปจะรู้สึกนิ่มเหมือนขาจริง  มีราคาสูงกว่าแบบแกนนอก
  
การเลือกขาเทียมสำหรับคนไข้ จะพิจารณาจากอายุ  สาเหตุการตัด อาชีพ สิ่งแวดล้อม ความสวยงาม เศรษฐกิจ โดยผู้พิการขาขาดจะมีตั้งแต่เด็กไปจนถึง ผู้สูงอายุ  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงาน  โดยราคาขาเทียมมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักล้านบาท เนื่องจากวัสดุที่นำมาประกอบขาเทียม เช่น ข้อเข่าเทียม ฝ่าเท้าเทียม มีราคาสูง และบางส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
  
ทั้งนี้ถ้ามีความพิการคือขาดตั้งแต่ระดับกลางฝ่าเท้าขึ้นมา ผู้ป่วยจะได้รับสิทธิในการรับขาเทียม จากการรักษาพยาบาลทั้ง 3 ระบบ คือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขึ้นอยู่กับสิทธิที่ผู้ป่วยสังกัดอยู่ ซึ่งแต่ละกองทุนจะให้สิทธิไม่เหมือนกัน ทั้งที่ควรได้สิทธิที่เท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน
  
พญ.ดารณี กล่าวว่า การใส่ขาเทียมจะทำให้คุณภาพชีวิตคนพิการดีขึ้นอย่างชัดเจน สมมุติว่าคนหนึ่งขาขาดหนึ่งข้าง หากไม่ใส่ขาเทียมก็จะต้องใช้ไม้ค้ำยัน หรือต้องนั่งรถนั่งคนพิการไปตลอดชีวิต แต่ถ้าให้ขาเทียมอย่างถูกต้อง เหมาะสม เขาก็สามารถเดินได้ เข้าสู่สังคม ประกอบอาชีพได้ เดี๋ยวนี้อาจไม่รู้เลยว่าใครขาขาดหากเขาใส่กางเกง แม้แต่ใส่กระโปรงในเมืองนอก ใส่ถุงน่องยังไม่รู้เลย เพราะการเดินจะใกล้เคียงกับปกติมาก
  
สำหรับเทคโนโลยีขาเทียมที่จะใส่ให้กับ “น้องธันย์” เป็นระบบแกนใน ส่วนประกอบที่สำคัญคือใช้ข้อเข่าเทียมที่ควบคุมการทำงานด้วยไมโครโปรเซสเซอร์ มีน้ำหนักเบา เดินสวย สามารถทำกิจกรรมได้ใกล้เคียงกับคนปกติ  แต่ก็ยังมีเทคโนโลยีใหม่กว่านี้ ที่ใช้ในต่างประเทศ  คือ  ไม่ต้องทำเบ้า โดยจะฝังเดือยขาเทียมเข้าไปยึดกับกระดูกขาที่ขาดได้เลย แต่ปัญหาคือจะมีแผลตรงบริเวณรอบ ๆ บริเวณที่มีการยึดกับกระดูก ต้องทำความสะอาดทุกวัน ทำให้ไม่เป็นที่นิยมนัก
  
คราวนี้มาทำความรู้จักกับขาเทียมแพงที่สุดในโลก ที่ นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้จัดหาขาเทียม “ซี-เลก” ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยไมโครโปรเซสเซอร์ มาใส่ให้กับ “น้องธันย์” ราคาข้างละ 1.2 ล้านบาท รวม 2 ข้าง 2.4 ล้านบาท
  
ขาเทียมดังกล่าวนำเข้าจากประเทศเยอรมนี โดย บริษัทออตโต บ๊อก เซาท์ อีสต์ เอเซีย จำกัด เป็นขาเทียมสำหรับคนพิการขาขาดระดับเหนือเข่า โดยทางผู้แทนบริษัท ให้ข้อมูลว่า ขาเทียมนี้ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อประมาณปี  2532 โดยนักประดิษฐ์ชาวแคนาดา จากนั้นบริษัทแม่ที่ประเทศเยอรมนี ได้ทำการวิจัยและพัฒนาต่ออีกประมาณ 10 ปี จนผลิตรุ่นแรกออกมาจำหน่ายประมาณปี 2540 ราคาเริ่มแรกอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านกว่าบาทต่อข้าง แต่ปัจจุบันราคาประมาณ 1.2-1.7 ล้านบาทต่อข้าง สำหรับประเทศไทยเคยสั่งเข้ามาให้กับคนพิการขาขาดครั้งแรกเมื่อปี  2548  จนถึงปัจจุบันมีคนไทยพิการขาขาดใช้ขาเทียมนี้เพียง 8 คนเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากมีราคาแพง ในจำนวนนี้เป็นผู้ชาย 7 คนผู้หญิง 1 คน สำหรับ “น้องธันย์” เป็นคนที่ 9 ส่วนทั่วโลกมีคนใช้กว่า 35,000 คน
    
 ขาเทียม 1 ข้าง มีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ประกอบด้วย
  
1. ชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ มีวงจรไมโครโปรเซสเซอร์เป็นหัวใจสำคัญของระบบ ทำหน้าที่รับและประมวลผลสัญญาณจากชุดเซ็นเซอร์และควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อเข่าแบบเรียลไทม์
  
2. ชุดเซ็นเซอร์ข้อเข่า ตรวจจับการเคลื่อนไหว และความเร็วข้อเข่าก่อนส่งข้อมูลให้ไมโครโปรเซสเซอร์ประมวลผลและสั่งการ
    
3. แบตเตอรี่ ให้พลังงานในการควบคุมข้อเข่าต่อเนื่อง 45 ชม. พอแบตเตอรี่หมดก็ชาร์จไฟและนำมาใช้ต่อ
  
4. ระบบไฮดรอลิก  ควบคุมโดยไมโครโปรเซสเซอร์ ปรับระดับแรงต้านในการเหยียดและงอเข่าให้เหมาะสมในทุกช่วงจังหวะการเดิน
    
5. แกนหน้าแข้งเทียมพร้อมเซ็นเซอร์วัดแรงโมเมนต์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำหนักที่ลงขาเทียม ทำให้ไมโครโปรเซสเซอร์ควบคุมจังหวะการเดินได้แม่นยำ
      
6. เฟรม คาร์บอน คาร์บอนไฟเบอร์เป็นวัสดุน้ำหนักเบา แข็งแรง ตัวเฟรมทำหน้าที่ปกป้องระบบอิเล็กทรอนิกส์ ชุดไฮดรอลิก และแบตเตอรี่ ดังนั้นห้ามให้น้ำเข้าเพราะจะทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวเสียหาย
  
7. รีโมตคอนโทรลแบบไร้สาย ใช้ปรับรูปแบบการเดิน การทำกิจกรรม เช่น ขี่จักรยาน เล่นโรลเลอร์สเกต
  
ผู้แทนบริษัท ให้ข้อมูลด้วยว่า  ขาเทียมดังกล่าวจะรับประกันเพียง 3 ปีเท่านั้น  โดยค่าประกันขาเทียมราคา 2.7 แสนบาทจะรวมอยู่ในราคาครั้งแรก  แต่ถ้าจะต่อประกันออกไปอีก 2 ปี เป็นรับประกัน  5 ปี จะต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 2 แสนบาท ขาเทียมดังกล่าวมีอายุการใช้งานสูงสุดประมาณ 7 ปี  ทั้งนี้เมื่ออายุครบ  2 ปี จะมีการส่งขาเทียมเข้าศูนย์ตรวจเช็ก หรือศูนย์ซ่อม ที่ประเทศเยอรมนีเป็นเวลา 2 เดือน ระหว่างเข้าศูนย์จะมีขาเทียมสำรองให้ใช้
  
ท้ายนี้ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับผู้พิการทุกท่านจงเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่อโชคชะตา ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุขตลอดไป.

นวพรรษ บุญชาญ

 

แหล่งที่มา: 
เดลินิวส์-x-ray-สุขภาพ