มดลูกย้อยเพราะคลอดทางช่องคลอดจริงหรือไม่
Buchsbaum GM, et al. Pelvic organ prolapse in nulliparous women and their parous sisters. Obstet Gynecol December 2006;108:1388-93.
แต่ละปีมีสตรี จำนวนไม่น้อยที่เข้ารับการผ่าตัดตกแต่งช่องคลอดเพราะอวัยวะในช่องเชิงกราน ย้อยลงช่องคลอด และมีความเชื่อว่าการคลอดลูกทางช่องคลอดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดของภาวะ ดังกล่าว แต่ความเชื่อนี้เป็นจริงเสมอไปหรือไม่เพราะผู้หญิงบางคนที่เคยคลอดลูกทาง ช่องคลอดไม่มีภาวะดังกล่าว ในขณะที่สตรีบางคนที่ไม่เคยคลอดลูกกลับมีภาวะมดลูกย้อยได้.
ปัจจัย เสี่ยงอื่นๆ ของภาวะมดลูกย้อย ก็คือ คนผิวขาว, ดัชนีมวลกายสูง, อายุมากขึ้น, สูบบุหรี่, ท้องผูกบ่อย และเคยผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด นอกจากนี้ยังพบในคนที่มีประวัติมดลูกย้อยในญาติด้วย.
การวิจัยนี้ นักวิจัยศึกษาในคู่พี่สาวน้องสาว เพื่อดูความสำคัญของประวัติครอบครัวต่อการมีภาวะมดลูกย้อย.
การ ศึกษานี้ทำวิเคราะห์ข้อมูลในพี่สาวน้องสาวที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว 101 คู่ โดยคนหนึ่งไม่เคยคลอดลูกทางช่องคลอด ส่วนอีกคนหนึ่งเคยคลอดลูกทางช่องคลอดอย่างน้อยหนึ่งคน นักวิจัยเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามเกี่ยวกับประวัติการคลอด การผ่าตัดทางสูติศาสตร์ การใช้ยา และภาวะมดลูกย้อย (เช่น อาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ช่องคลอดตุง). จากนั้น ผู้เข้าร่วมเหล่านี้ได้รับการตรวจร่างกาย ท่าทางการเดิน ตรวจภายใน และตรวจ pelvic support โดยพี่และน้องได้รับการตรวจคนละวัน. ส่วนแพทย์ที่ตรวจร่างกายนั้นไม่ทราบประวัติเกี่ยวกับการคลอด และประวัติพี่น้อง ดัชนีวัดผลการศึกษา คือ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และภาวะอวัยวะในช่องเชิงกรานย้อย ตั้งแต่เกรด 2 ขึ้นไป.
ผลการศึกษา ปรากฏว่า กลุ่มหญิงที่ไม่เคยคลอดไม่มีความแตกต่างจากหญิงที่เคยคลอด อายุเฉลี่ย 60 ปี และดัชนีมวลกาย 28 กก./ตร.ม. เท่ากัน กลุ่มเคยคลอดมีประวัติตัดมดลูกร้อยละ 27 ส่วนกลุ่มไม่เคยคลอด มีประวัติ ร้อยละ 24 ผู้หญิงที่ไม่เคยคลอดมีประวัติการผ่าตัดทางช่องคลอด 10 ราย ส่วนหญิงที่เคยคลอดเคยมีประวัติผ่าช่องคลอด 24 ราย จำนวนเด็กที่คลอดโดยเฉลี่ย 3 คน.
กลุ่มที่ไม่เคยคลอดร้อยละ 82.2 ไม่มีภาวะมดลูกย้อย ส่วนกลุ่มเคยคลอดไม่มีร้อยละ 43.6 และพบว่าประวัติการมีมดลูกย้อยในพี่สาวหรือน้องสาวมีความสัมพันธ์กับการมี มดลูกย้อย.
การวัด pelvis support พบว่าสองในสามของคู่พี่สาวน้องสาว ได้ผลการตรวจวัดเท่ากัน การวิเคราะห์พบว่าการคลอด 1 ครั้งมีอัตราเสี่ยงต่อการมีมดลูกย้อยผนังด้านหลัง 2.8 เท่า และมีอัตราเสี่ยงต่อการย้อยผนังด้านหน้า 3.3 เท่า ส่วนดัชนีมวลกายนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะมดลูกย้อย.
สรุป ประวัติการมีมดลูกย้อยในครอบครัวเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของภาวะมดลูกย้อย และการคลอดทางช่องคลอดทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน.
เหตุผล หนึ่งของอัตราคลอดทางหน้าท้องมากขึ้นในทุกวันนี้ หญิงมีครรภ์ที่มีความเชื่อว่า การคลอดวิธีทางช่องคลอดทำให้ช่องคลอดหย่อนและมดลูกย้อยภายหลัง แต่การศึกษานี้ทำให้เห็นว่า ปัจจัยด้านพันธุกรรมก็มีความสำคัญ นอกเหนือไปจากวิธีการคลอด.
- อ่าน 3,358 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้